พิพิธภัณฑ์วัดโคกหม้อ


พิพิธภัณฑ์วัดโคกหม้อเกิดขึ้นจากแนวคิดของ พระครูศีลสังวรวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดโคกหม้อองค์ปัจจุบัน ท่านได้เก็บรวมรวมของเก่า โบราณวัตุถุอันมีคุณค่าไว้จำนวนหนึ่ง จึงคิดที่จะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น นำสิ่งของมาจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ ท่านพระครูศีลสังวรวิสุทธิ์ ได้นำเยาวชนและคุณครูจากโรงเรียนวัดโคกหม้อ เข้ามามีส่วนร่วมโดยการอบรมให้เป็นมัคคุเทศก์น้อย ห้องจัดแสดงมี 3 ห้องหลัก ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับกุฏิพระสงฆ์ เพื่อง่ายแก่การดูแลรักษา ห้องจัดแสดงที่ 1 จัดแสดงงหินแร่ต่างๆ ลูกปัดโบราณ กำไลเปลือกหอยยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ใน จ.ลพบุรี เครื่องกระเบื้อง ฯลฯ ห้องจัดแสดงที่ 2 จัดแสดงเงินตราไทย ห้องจัดแสดงที่ 3 เป็นเรื่องของเครื่องใช้ทำจากกระเบื้องที่สวยงาม และพระพุทธรูป เครื่องรางของขลัง ตำราสมุดข่อย ส่วนภายนอกอาคารบริเวณชายคาจัดแสดงสิ่งของที่มีขนาดใหญ่ อาทิ หินแร่ต่างๆ ส่วนประกอบของหลังคาโบสถ์ โม่หิน โอ่งมังกร เข้าชมกรุณาติดต่อล่วงหน้าทางพิพิธภัณฑ์จะมีมัคคุเทศก์น้อยนำชม

ที่อยู่:
วัดโคกหม้อ หมู่ 9 ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมือง จ.ลพบุรี
โทรศัพท์:
036-656737,089-0827023
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน เวลา 9.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดโคกหม้อ

พิพิธภัณฑ์ภายในวัดหลายแห่งสร้างขึ้นเพื่อให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน แต่หากไม่มีการดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม พิพิธภัณฑ์นั้นก็จะขาดชีวิต และอาจถูกทิ้งให้เป็นโกดังเก็บของเท่านั้น แต่ที่พิพิธภัณฑ์วัดโคกหม้อนั้นเรียกตัวเองว่าเป็น แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นวัดโคกหม้อ 
 
พิพิธภัณฑ์วัดโคกหม้อแห่งนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของ พระครูศีลสังวรวิสุทธิ์ (พระอาจารย์พิเชษฐ์ สีลสุทโธ เจ้าอาวาสวัดโคกหม้อองค์ปัจจุบัน) ซึ่งท่านได้เก็บรวมรวมของเก่า โบราณวัตุถุอันมีคุณค่าไว้มากมายจึงคิดที่จะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น นำสิ่งของมาจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ ท่านพระครูศีลสังวรวิสุทธิ์ ได้นำเยาวชนและคุณครูจากโรงเรียนวัดโคกหม้อที่อยู่ติดกับวัด มามีส่วนร่วมโดยการอบรมให้เป็นมัคคุเทศก์น้อยที่ช่วยเล่าเรื่องให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมในวัด

ห้องจัดแสดงทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์วัดโคกหม้อมี 3 ห้องหลัก ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับกุฏิพระสงฆ์ เพื่อง่ายแก่การดูแลรักษา เมื่อเดินเข้าไปภายในจุดแรกที่พบคือรูปปั้นพระพิฆเณศ ตั้งเป็นซุ้มสำหรับบูชา ถัดไปเป็นบริเวณห้องจัดแสดงมีเด็กๆ มัคคุเทศก์น้อยคอยแนะนำอยู่เกือบทุกจุด ห้องจัดแสดงที่ 1 เด็กๆ อธิบายเรื่องหินแร่ต่างๆ ว่าชื่ออะไรบ้าง เช่นเหล็กไหล หินแร่จากกาะล้าน หินพระธาตุจากเขาสามร้อยยอด ลูกปัดโบราณที่ทำจากหินคานิลเลียน และลูกปัดแก้วที่สวยงาม ตรงกันข้ามเป็นตู้จัดแสดงกำไลเปลือกหอยยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ใน จ.ลพบุรีรวมทั้งกำไลสำริด เครื่องประดับสำริดอีกหลากหลาย และที่น่าสนใจในจุดนี้คือหอยสังข์สำริดจากปราสาทเมืองต่ำ 
 
ถัดมาเป็นข้าวสารกลายเป็นหินซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเด็กๆ อธิบายว่าเป็นก้อนแร่ที่มารวมตัวกัน บางส่วนจัดวางไว้ในอ่างดิน หรือตู้กระจก เขียนอธิบายไว้ว่าข้าวสารหินอายุ 2,500 ล้านปี จากเขายายเฒ่า ต.ชอนสารเดช อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ประชาชนสามารถเช่าข้าวสารหินที่พระอาจารย์ปลุกเสกแล้วไปบูชาได้ ด้านหลังส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาต่างๆ  เป็นรูปปั้นไม้สักแกะสลัก เช่น พระพิฆเนศ 3 เศียร ตัวเจี๊ยบ๊วยตัวเป็นเต่า หัวเป็นมังกร ปากคาบเงินจีน เป็นลักษณะโบราณของจีน เชื่อกันว่าจะหันหน้าเข้าบ้านเพื่อเป็นศิริมงคลในการทำมาค้าขาย เจริญรุ่งเรือง เจ้าแม่กวนอิม  เจ้าพ่อกวนอู หลวงปู่ทวด พระสีวลี พระพุทธปางนาคปรก ฯลฯ

ถัดมาเป็นรูปปั้นฤาษีหน้าต่างๆ ปั้นขึ้นมาจากเนื้อดินผสมผงว่าน ฤๅษีมีหลากหลายหน้าตา เช่น ฤๅษีหน้ากวาง  ฤๅษีหน้าวัว  ฤๅษีหน้ายักษ์ ฤๅษีหน้าครุฑ และฤๅษีหน้านาคราช ในเรื่องอภินิหาริย์ความเป็นมาที่ฤๅษีมีหลากหลายหน้าตา เด็กๆ เล่าว่าเป็นเพราะฤๅษีชอบแสดงฤทธิ์กันเลยกลับสู่ร่างเดิมไม่ได้ ต้องเอาน้ำมนต์มาราดตัว แต่เพื่อนของฤๅษีก็เอา น้ำมนต์ไปเททิ้งเลยไม่สามารถกลับร่างเดิมได้ 
 
ตู้ถัดมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายยุคทั้งเครื่องเคลือบเขียวไข่กา ตุ๊กตาแม่อุ้มลูกสมัยสุโขทัย ตลอดจนเครื่องกระเบื้องแบบจีนเขียนลายคราม ถัดมามีรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ เช่นหลวงพ่อคูณ หลวงพ่อแพ หลวงพ่อเปิ่น ฯลฯจำลองขนาดเล็กทำจากขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสที่ไม่ละลายแม้ไม่ได้เก็บในห้องแอร์

ห้องจัดแสดงที่ 2 แยกเป็นอีกอาคารอยู่ตรงข้ามกับห้องจัดแสดงแรก มีป้ายเขียนชื่อห้องว่า พิพิธภัณฑ์เงินตราไทย ด้านในมัคคุเทศก์น้อยรอเล่าเรื่องให้ฟังอย่างตั้งใจและเป็นห้องที่จัดลำดับเงินตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ตลอดจนมีป้ายอธิบายละเอียดที่สุดเมื่อเทียบจากทุกส่วนจัดแสดง เริ่มจากตู้เงินโบราณ ซึ่งมีทั้งเงินจีนแบบต่างๆ เช่นเงินไซซี เงินมีดสำริดที่มีลักษณะเหมือนใบมีด ต่อมาเป็นเงินไทยโบราณจากภาคต่างๆ จากภาคอีสานเช่นเงินลาดเงินฮ้อย เงินรูปดอกไม้และผักชีจากภาคเหนือ และเงินทรงวงแหวนที่หาดูได้ยากมาก ถัดมามีแผ่นภาพแสดงลำดับของเหรียญเงินยุคต่างๆ ให้ผู้สนใจศึกษาหาความรู้ได้มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการผลิตเงินตราในประเทศไทย เหรียญไหนที่ทางพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่มีจัดแสดง ก็สามารถมาดูได้ที่รูปภาพเหล่านี้ ด้านในมีห้องเล็กสองห้อง ห้องหนึ่งแบ่งเป็นเรื่องเหรียญเงิน และอีกด้านเป็นเรื่องของธนบัตร 

ห้องเหรียญเงินเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกายที่ 4 ที่นำเหรียญเมกซิโกเข้ามาใช้ก่อน และเริ่มสร้างโรงกษาปณ์ ผลิตเหรียญตรามงกุฏของรัชกาลที่ 4 จากนั้นจึงเริ่มมีพัฒนาการเรื่องการผลิตเหรียญในประเทศไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตู้จัดแสดงที่น่าสนใจคือ ตู้เหรียญสตพรรษมาลาซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานให้แก่พระบรมวงษานุวงศ์ที่มีความจงรักภักดี เป็นรูปต่างๆ ห้องธนบัตรได้รวบรวมธนบัตรในวาระพิเศษต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ไว้มากมาย และมีธนบัตรยุคต่างๆ ของไทย ตั้งแต่ธนบัตรใบละบาท ธนบัตรไทยถีบที่เกิดในยุคสงครามโลกต้องนำธนบัตรเก่ามาตีพิมพ์มูลค่าใหม่ทับลงไป ซึ่งมีป้ายอธิบายเรื่องธนบัตรยุคต่างๆ ไว้อย่างละเอียดชัดเจน

ห้องจัดแสดงที่ 3 เป็นเรื่องของเครื่องใช้ทำจากกระเบื้องที่สวยงาม แต่ก็มีพระพุทธรูปหรือเครื่องรางค์ของขลังจัดแสดงร่วมอยู่ด้วย เช่นหินพระธาตุศักดิ์สิทธิ์จากเขาสามร้อยยอดที่นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปต่างๆ  พระฤกษ์พระชัยที่คนสมัยอยุธยาจะนำมาประกอบพิธีก่อนออกรบกัน พระสังกัจจาย และตำราสมุดข่อยนอกจากนี้ยังมีพวกมีดหมอ ไม้งิ้วดำ กะลาตาเดียวและกะลาไม่มีตาหรือที่เรียกว่ามหาอุตย์ และอาวุธโบราณทั้งมีด ดาบ และปืน 
 
ในเรื่องของภาชนะเริ่มจากหม้อตาลสมัยอยุธยาทำจากดินเผา ถัดมาจึงเริ่มเป็นภาชนะเครื่องเคลือบสีและรูปทรงต่างๆ แบบจีนส่วนมากจะเป็นชุดน้ำชา ถัดมาเป็นเครื่องภาชนะที่ทำจากแก้วสีสรรค์สวยงาม และเครื่อง ทองเหลืองพวกถาดและภาชนะต่างๆ ริมซ้ายมือของห้อง เป็นพวกเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ หินบดยาโบราณ ลูกคิดและตะเกียงเก่าที่บางชิ้นยังคงสภาพดีอยู่ ในส่วนนี้มีโกษฐ์เก็บกระดูกปิดทองจัดแสดงไว้ด้วย

ส่วนภายนอกอาคารบริเวณชายคาต่างๆ ก็ยังได้จัดแสดงหินแร่ต่างๆ ไว้อีกหลายชนิดเช่นหินที่มีลักษณะเหมือนกระดองเต่ายักษ์เขียนป้ายอธิบายไว้ว่าเต่ากลายเป็นหิน ด้านหลังสุดในส่วนกลางแจ้ง จัดแสดงช่อฟ้าใบระกาของโบสถ์เก่า แต่ไม่ทราบว่าการเก็บไว้กลางแจ้งจะเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ อาจต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดเก็บสิ่งของ นอกจากนี้ยังมีโม่หินโบราณและโอ่งมังกรเคลือบจัดแสดงอยู่ด้านนอกอาคารอีกด้วย

ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีโบชัวร์ ที่เล่าเรื่องต่างๆ ภายในชุมชนว่ามีของดีอะไรอีกบ้าง เช่นวัดช้างเผือก ที่อยู่ใกล้เคียงมีซากโบราณสถานสมัยพระนารายณ์ อยุธยา ศาลตาแขวงบ้านโพธิ์ผีให้ ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ กลุ่มปั้นโอ่งอ่าง กลุ่มสตรีโพธิ์เก้าต้นทำขนมบ้าบิ่นระดับโอทอป 4 ดาว และกลุ่มแม่บ้านทำดอกไม้จันทร์ ในโบชัวร์ยังมีแผนที่แสดงจุดเรียนรู้ต่างๆ ในชุมชน ให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวชมด้วยตัวเองได้

ในแง่การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์โคกหม้อนั้นแม้จะยังไม่มีการจัดลำดับหมวดหมู่ที่ถูกต้องนัก แต่เมื่อได้มาเดินชมพร้อมกับมัคคุเทศก์น้อยที่น่ารักและกระตือรือร้นในการเล่าเรื่องสิ่งของต่างๆ ให้ฟัง ก็ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความน่าสนใจขึ้น เพราะเป็นการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและปลูกฝังให้เยาวชนเป็นคนกล้าแสดงออก ซึมซับความรักและหวงแหนของมีค่าต่างๆ ในชุมชนได้อีกด้วย

มัณฑนา ชอุ่มผล  ผู้เขียน/ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก: การสำรวจเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2554
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ: