พิพิธภัณฑ์บ้านแพรก


ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ 49 หมู่4 ต.สำพะเนียง อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา 13240
โทรศัพท์:
0-3538-6120,089-2168757 ติดต่ออ.ประสาน เสถียรพันธุ์
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2526
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์บ้านแพรก

พิพิธภัณฑ์บ้านแพรก ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ โดยมีอาจารย์ประสาน เสถียรพันธุ์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาสังคมศึกษา และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ อาจารย์พยายามผลักดันให้พิพิธภัณฑ์บ้านแพรกเป็น “ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี” ท่านจึงศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ชุมชน วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่มีคุณค่าของท้องถิ่น ประโยชน์จากการสืบค้นข้อมูล สามารถนำมาพัฒนางานสอนต่อไปด้วย โดยสร้างพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้เกิดความรู้ และภูมิใจในท้องถิ่นของตน

ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ต่างๆ
ฐานแรก เศษกระเบื้องเล่าเรื่องโบราณ เป็นเศษกระเบื้องที่ชาวบ้านแพรกเก็บมาได้จากทุ่งนารอบๆ หมู่บ้าน ซึ่งเส้นทางบริเวณนี้เป็นเส่นทางเดินของแม่น้ำลพบุรีสายเก่า และยังเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณสมัยเก่าที่มีขนาดใหญ่ เมื่อเข้าสู่ฐานนี้ อาจารย์ประสาน จะให้เด็กนักเรียนวาดลวดลายของกระเบื้องลงสมุดเพื่อศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของกระเบื้อง ฝึกให้เด็กรู้จักสังเกต และสามารถแยกประเภทของกระเบื้องว่ามาจากที่ไหน แหล่งเตาเผาใด ซึ่งอาจจะมาจาก เตาเผาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี หรือ เตาเผาศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย หรือ เตาเผาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ทั้ง 3 เตาเป็นแหล่งเตาเผาขนาดใหญ่ ซึ่งอายุของเครื่องกระเบื้องแต่ละชิ้นมีอายุยาวนานกว่าร้อยปีแล้ว นักเรียนสามารถศึกษาจากเอกสาร หนังสืออ้างอิง ที่อาจารย์ประสานได้เตรียมไว้ให้กับเด็กนักเรียน ทำให้นักเรียนสามารถเชื่องโยงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชนได้

ฐาน เปิดตำนานรักชาวบ้านแพรก จัดแสดงสิ่งของแทนใจเพื่อเป็นสื่อการแสดงความรัก ความผูกพันที่มีให้กัน เป็นเรื่องเล่าของชาวบ้านในแถบนี้ เช่น เรือรัก เรือนหอรอรัก ตำนานคานรัก เครื่องกรอด้ายสายใยรัก พายลายหงส์ทอง เหมเก็บศพอนุสรณ์ความรักของพระนนท์ ยกตัวอย่างเรื่องคานรัก เป็นคานหงส์ที่ชายหนุ่มทำให้กับหญิงสาวที่ตนเองรัก แกะสลักอย่างสวยงามปราณีต มีอักษรที่ซ่อนเป็นปริศนาไว้ในลายคาน “ตำรวจโปร่งฝากรักผวา” ญาติของฝ่ายหญิงไม่ชอบฝ่ายชายที่เป็นตำรวจ จึงเป็นอุปสรรคทำให้ทั้งคู่ไม่ได้แต่งงานกัน ฝ่ายชายยังยืนยันในความรักที่มั่งคงต่อหญิงสาว แม้ไม่ได้แต่งงานกัน ก็ขอมอบไม้คานไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความรัก

ฐาน ลิเกหอมหวล ราชาลิเกของเมืองไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เจ้าของคณะคือ นายหอมหวล นาคศิริ ชอบการแสดงพื้นบ้าน เพราะมีมารดาเป็นแม่เพลงที่สามารถร้องเพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย ได้ไพเราะ ฐานลิเกหอมหวลทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่านายหอมหวลเป็นคนบ้านแพรกโดยกำเนิดนั่นเอง

ฐาน ตุ๊กตากับภูมิปัญญาไทย จะมีตุ๊กตาหลากหลายชนิด เช่น ตุ๊กตาแก้บน ตุ๊กตาแขนอ่อน การปั้นตุ๊กตาให้เด็กเล็กเล่น ถือว่าเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งเมื่อลูก หลาน ร้องไห้ งอแง ปู่ ย่า ตา ยาย ก็จะปั้นตุ๊ก และสอนให้เด็กๆ ปั้นเองจนลืมที่จะงอแงไป หรือการปั้นตุ๊กตาเพื่อการแก้เคล็ดอย่าง ตุ๊กตาเสียกบาล เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ จะมีการปั้นตุ๊กตาแม่อุ้มลูก และหักคอตุ๊กตาทิ้ง ไปไว้ที่ทางสามแพร่งเพื่อให้เป็นตัวตายตัวแทน และไม่ให้ผีเอาตัวลูกไป

ฐาน สมุดข่อยโบราณ ที่มีมากกว่า 300 เล่ม ตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นตำรายาสมุนไพร ตำรากฏหมาย แบบเรียนจินดามณี ตำราโหราศาสตร์ สุภาษิตสอนหญิง ซึ่งอาจารย์ประสาน อยากให้ผู้เชี่ยวชาญมาทำการบันทึก ลอกแบบ และเก็บรักษาไว้

ฐาน หุ่นฟางวิถีไทย ชาวบ้านแพรกส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีการสร้างหุ่นฟางเพื่อไล่สัตว์ไม่ให้มากินพืชผล ในปัจจุบันหุ่นฟางกำลังจะหายไปจากท้องนา อาจารย์ประสานจึงสร้างหุ้นฟางเพื่อรักษา และทำให้เด็กนักเรียนได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนเดิม

ฐาน พัดสานบ้านแพรก แสดงภูมิปัญญาของชาวบ้านแพรก ในการทำเครื่องจักสานอย่างการสานพัด ฐานนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้การสานพัดโดยมีชุดนิทรรศการให้ชม ตั้งแต่การเลือกไม้ การจักตอก การย้อมสี การจักสาน การตัดเข้าเล่ม การทำขอบ การทำด้ามพัด การเข้าด้าม จนสำเร็จเป็นพัดสานบ้านแพรก

ฐาน เครื่องจักสานโบราณ แสดงภูมิปัญญาของชาวบ้านแพรกในการทำเครื่องจักสาน สิ่งของเครื่องใช้ในสมัยก่อน เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพต่างๆ อุปกรณ์ในการทำนา อุปกรณ์ในการจับสัตว์น้ำ ตะกร้า กระจาด ต่างๆ

ฐาน มหรสพและการแสดงพื้นบ้าน แสดงการละเล่นพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้านการเล่นกาฟังไข่ ม้าก้านกล้วย เดินกะลา บ้องเต ก้อยโต่ง ควายกล่อม อีกมากมายที่เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่เคยได้ยิน และเคยได้ลองเล่น

ฐาน เรือกับวิถีชีวิตของคนไทย จัดแสดงเรือชนิดต่างๆ ที่เคยใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านแพรก เพราะบริเวณนี้เดิมเป็นล่องน้ำของแม่น้ำลพบุรี จึงมีการใช้เรือกันทุกครัวเรือน

สำรวจวันที่ 27 มิถุนายน 2552 โดยณัฐพัชร์ ทองคำ
ชื่อผู้แต่ง:
-