พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ร.ร.ท่าช้างวิทยาคม


ที่อยู่:
โรงเรียนท่าช้างวิทยาคม หมู่ที่ 3 ต.ท่าช้าง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา 13260
โทรศัพท์:
035-761-274, 089-986-7773 (ผู้อำนวยการโรงเรียนท่าช้างวิทยาคม)
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.30 น. ตามเวลาราชการ (กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
ปีที่ก่อตั้ง:
2532
ของเด่น:
เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนท่าช้าง วิถีของการทำมีดรัญญิก, สมุดไทยและสมุดข่อยโบราณที่ได้รับตกทอดมาในชุมชน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

อุปกรณ์สักยันต์โบราณ

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 9/17/2546

ที่มา: เดลินิวส์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ร.ร.ท่าช้างวิทยาคม

ชุมชนในบริเวณนี้เป็นชุมชนของชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทร์เมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ลาวเวียง) อาชีพและความชำนาญหลักคือการตีมีด/ดาบ/อาวุธ และเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กหลากหลายประเภท จำนวนของผู้ที่ตีมีดนี้มีกว่า 200ครัวเรือน และมีดจากแหล่งนี้เองที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งตีมีดอรัญญิกที่มีชื่อเสียง ด้วยเทคนิควิธีละเอียดทำให้เหล็กมีความเหนียวและคมเป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบันเทคนิคแบบดั้งเดิมก็เริ่มที่จะเลือนหายไปแล้วตามเครื่องมือแบบสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนที่ ทำให้การทำมีดในชุมชนเริ่มเปลี่ยนเป็นการทำเพื่อเป็นของที่ระลึกมากกว่าจะได้ใช้งานจริง
 
ประวัติพิพิธภัณฑ์โรงเรียนท่าช้างวิทยาคม
        ในช่วงที่มีการก่อตั้งโรงเรียนเมื่อ พ.ศ.2521บริเวณที่ตั้งโรงเรียนก็เป็นพื้นที่ของวัดร้างที่ชาวบ้านเรียกกันในชื่อวัดท่าขุนนาง ในตอนหลังเริ่มเรียกเพี้ยนมาเป็น “วัดท่านา (ร้าง)”ทำให้เมื่อช่วงที่ก่อสร้างอาคารเรียนมีการพบโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม (เศษอิฐ,เศษกระเบื้องหลังคา) ชิ้นส่วนพระพุทธรูป  ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผา และชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ทางโรงเรียนมีการเก็บรวบรวมไว้แต่ยังไม่ได้มีแนวคิดที่จะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์
 
กระทั่งในช่วง พ.ศ.2532 – 2533เมื่อ อ.วิฑูร อาศัยสุข ย้ายมาจาก จ.อุทัยธานี และได้รับทุนสนับสนุนให้มีการจัดแสดงวัตถุที่สะสมไว้ อ.วิฑูร ที่สอนทางด้านศิลปะ มีพื้นฐานในเรื่องของการจัดแสดงก็เริ่มจัดแสดงวัตถุที่มี และออกขอรับบริจาควัตถุต่างๆ จากชาวบ้าน ในช่วงแรกไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากชาวบ้านยังไม่เห็นหน้าตาของพิพิธภัณฑ์ เมื่อเริ่มจัดแสดงไปแล้วช่วงเวลาหนึ่งชาวบ้านและผู้ปกครองนักเรียนจึงเริ่มนำข้าวของมาบริจาคให้จนมีจำนวนมากมายดังที่เห็นในปัจจุบัน
       
อาคารจัดแสดงปรับปรุงมาจากห้องเรียนเดิม และปัจจุบันเป็นห้องเรียนวิชาศิลปะด้วย ทำให้ปีกหนึ่งของอาคารใช้จัดแสดงผลงานทางศิลปะของนักเรียน และอุปกรณ์ในการทำงานศิลปะ      
 
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
        การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งเนื้อหาและวัตถุจัดแสดงได้เป็น 9กลุ่ม ดังนี้
 
โบราณวัตถุในเขตวัดท่าขุนนางเป็นส่วนแรกที่พบเมื่อเดินเข้าสู่ห้องจัดแสดง ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนของพระพุทธรูปที่พบภายในโรงเรียน และเศษอิฐ และโบราณวัตถุประเภท ชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงชาย และเศษภาชนะดินเผาก็แยกไปจัดแสดงแยกต่างหากออกไปด้วย
 
เครื่องมือเกี่ยวกับการตีเหล็กเป็นเครื่องมือที่ชาวบ้านใช้มาตั้งแต่อดีต (เทคนิคดั้งเดิม) กระทั่งถึงเครื่องจักรสมัยใหม่ เครื่องมือดั้งเดิมประกอบด้วย ทั่งตีเหล็ก ลูกพะเนิน หรือค้อนพะเนิน (ค้อนที่ใช้ในการตี) ค้อนแต่งมีด กระบอกสูบลม (ทั้งแนวตั้งและแนวนอน) ม้าหรือเหล็กที่ใช้รองในการแต่งทรงเครื่องมือ
 
ประเภทของมีดและดาบ เป็นเครื่องมือเหล็กที่ชาวบ้านผลิตขึ้น มีทั้งแท่นแสดงดาบโบราณ-ปัจจุบัน มีดประเภทต่างๆ อาทิ มีดที่ด้ามทำจากเขาควายดำ และเขาควายขาว มีดสอยเงาะ มีดกรีดยาง  มีดปอกกล้วย มีดผ่าทุเรียน มีดปอกอ้อย และ มีดหวดหญ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน (ชุดมีดที่ใช้ในครัวเรือน,กระต่ายขูดมะพร้าว) เครื่องใช้ในการทำเกษตร (เคียวเกี่ยวข้าวทั้งแบบไทยและพม่า, คันฉายหรือขอฉาย) เครื่องใช้ในการจับสัตว์น้ำ (สระโอกรีดปลาหลด)
 
วิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรมจัดแสดงข้าวของในการทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนา และเครื่องใช้ในการดักสัตว์ขนาดเล็ก (ดักนก ดักปลา และดักหนู) เครื่องจักสานที่ใช้ในบ้าน
 
สมุดไทยและสมุดข่อยถือว่าเป็นวัตถุเด่นอีกประเภทหนึ่งเป็นของที่ได้รับบริจาคมาจากผู้ปกครองของเด็กๆ ในโรงเรียน ตำราเหล่านี้มีทั้งหนังสือเทศน์ ตำราเรียน และกฎหมายในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากในอดีตคนในชุมชนแถบนี้เป็นผู้รู้หนังสืออยู่หลายคน จึงมีตำราพวกนี้อยู่ติดบ้าน
 
ยาไทยโบราณเป็นส่วนที่จัดแสดงยาไทยแผนโบราณที่เก็บรักษาไว้ในโหลแก้วจำนวนหลายโหล บรรจุตัวยา อาทิ ฝาง ขมิ้นชัน รากบัว ชะเอม เหงือกปลาหมอ และการบูร เป็นต้น
 
ภาชนะประเภทต่างๆ ประกอบด้วยภาชนะดินเผาทั้งที่ขุดเจอในบริเวณใกล้เคียง (หม้อตาล, หม้อดินเผา) ไหเคลือบสีน้ำตาล เครื่องถ้วยจีน และสังคโลก เป็นต้น
 
ชุดเหล็กสักยันต์เนื่องจากในชุมชนเคยมีช่างสักยันต์ แต่ในภายหลังเสียชีวิตลงและลูกหลานไม่มีใครสืบต่อจึงได้มอบอุปกรณ์ทั้งหมดให้กับทางโรงเรียน มีทั้งเข็มสัก ขวดใส่หมึก และตราประทับที่เป็นลวดลายของยันต์แบบต่างๆ
 
ของใช้ในวัดเป็นเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับพระสงฆ์และการประกอบกิจในพุทธศาสนา เช่น กระโถน ขันทองเหลือง บาตรพระ พาน และพระพุทธรูปขนาดเล็ก
 
การบริหารจัดการ
        ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือเรื่องงบประมาณที่มีเพียงงบของทางโรงเรียนเท่านั้น และเพียงพอแค่ค่าน้ำค่าไฟ ถ้าหากต้องการซ่อมแซมห้องจัดแสดงก็ต้องอาศัยแรงจากอาจารย์และนักเรียนในโรงเรียน กรณีน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2554ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ได้รับผลกระทบมากเช่นกันวัตถุหลายชิ้นจมน้ำเสียหาย ส่วนของทะเบียนวัตถุนั้นมีการจัดจำแนกออกเป็นหมวดและให้ทะเบียนไว้แล้ว แต่เนื่องจากวัตถุมีจำนวนมากนี้เอง ผู้ดูแลจึงเลือกที่จะให้ทะเบียนเฉพาะวัตถุชิ้นที่มีความสมบูรณ์เท่านั้น
 
ในด้านกิจกรรมของทางพิพิธภัณฑ์ หลักๆ แล้ว เป็นกิจกรรมเพื่อการเรียนการสอน ให้ความรู้กับชุมชน และเป็นที่ดูงานของหน่วยงานราชการที่มาเยี่ยมชมชุมชน โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับแหล่งทำมีดอรัญญิก และกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ นักเรียนในโรงเรียนมีการตั้งชมรมกระบี่กระบอง โดยมีการเชิญครูดาบมาจากจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อฝึกสอนนักเรียนในชมรม เป็นการสร้างเรื่องเล่าและการแสดงที่สอดรับกับแหล่งตีมีด (และอาวุธ) ของชุมชน ในยามที่ต้องต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ชุมชน และโรงเรียน
 
การเดินทาง
        ออกจากกรุงเทพฯ โดยรถยนต์ ใช้ถนนสายพหลโยธินมุ่งหน้าไปทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตช่วงที่จะตัดกับถนนกาญจนาภิเษก (หมายเลข 9)ใช้ช่องทางเบี่ยงที่มุ่งทางออกถนนกาญจนาภิเษก/บางปะอิน/อยุธยา ตัดเข้าสู่ช่องทางหลวงหมายเลข 1(เอเชีย) มุ่งหน้าไปอำเภอบางปะอิน เมื่อผ่านช่วงที่เป็นอำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแล้วมีจุดสังเกตคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ หันตราอยู่ทางด้านซ้ายมือ เมื่อข้ามสะพานข้ามทางรถไฟไปประมาณ 2กิโลเมตร ให้ชิดซ้ายเพื่อออกทางขนานจุดสังเกตคือเมื่อเห็นสะพานขนาดใหญ่เพื่อข้ามแม่น้ำป่าสักให้เลี้ยวซ้ายออกจากทางขนานก่อนขึ้นสะพาน เพื่อกลับรถใต้สะพาน (U-Turn) เมื่อกลับรถแล้วจะพบถนนทางด้านซ้ายมือคือ ถนนหมายเลข 3063เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนน วิ่งตรงเรื่อยๆ ประมาณ 14กิโลเมตร จะเห็นป้ายทางซ้ายมือเขียนว่าเทศบาลตำบลอรัญญิก และจะพบซุ้มทางเข้าด้านซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าตรงไปเรื่อยๆ เมื่อเจอสามแยกเลี้ยวขวา จะเห็นป้ายทางซ้ายมือเขียนว่าชุมชนบ้านหัวคุ้งลาว ตรงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอสามแยก จะเห็นป้ายบอกทางไปโรงเรียนท่าช้างวิทยาคม เลี้ยวซ้ายไปตามป้าย ประมาณ 2กิโลเมตร จะพบโรงเรียนอยู่ทางด้านซ้ายมือ
 
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล / เขียน
ข้อมูลจาก สำรวจภาคสนาม วันที่ 9 กันยายน 2556

 
อ้างอิง
สัมภาษณ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนท่าช้างวิทยาคม อาจารย์เจริญ บัววี วันที่ 9 กันยายน 2556
สัมภาษณ์ อาจารย์วิญญู อาศัยสุข ผู้ก่อตั้งและดูแลพิพิธภัณฑ์ (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้วแต่ยังมาดูแลพิพิธภัณฑ์อยู่เนื่องจากเป็นคนในท้องถิ่นเอง) วันที่ 9 กันยายน 2556
 
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-