พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย ก่อตั้งโดยผศ.ทวีศักดิ์ อ่วมน้อย อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานีอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยรังสิต อาคารจัดแสดงอยู่ในวัดบางหลวง โดยการจัดแสดงในห้องพิพิธภัณฑ์ของวัดบางหลวง มีการจำลองห้องต่างๆของบ้านไทยและวิถีชีวิตพื้นบ้านได้แก่ ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องครัว ห้องขนม ฯลฯ และวิถีชีวิตชาวบ้านในอดีต ได้แก่ การทำนา การดักสัตว์ การหุงหาอาหาร และจัดแสดงผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่รับแรงบันดาลใจจากข้าวของพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยความมุ่งหวังว่า จะทำให้เกิดมุมมองใหม่สองด้านคือ 1. ด้านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จะทำให้ผู้เข้าชมมองภาพได้อย่างชัดเจนถึงวิถีชีวิต ซึ่งครอบคลุมเรื่องของการกิน การนอน การประกอบอาชีพ และการดักสัตว์ในอดีต 2. ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย จะทำให้ผู้เข้าชมมองเห็นว่าเครื่องใช้ไม้สอยในอดีตนั้นแฝงไปด้วยภูมิปัญญาในด้านต่างๆสามารถนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้ใช้ได้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน

ที่อยู่:
วัดบางหลวง ต.บางหลวง อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000
โทรศัพท์:
086 018 3347
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ของเด่น:
ชิ้นงานผลงานนักศึกษาสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ไทย
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์วัดบางหลวง: อีกมิติหนึ่งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

ชื่อผู้แต่ง: ทวีศักดิ์ อ่วมน้อย | ปีที่พิมพ์: 2550

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า: ปีที่ 33 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2550

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย

จากการสั่งสมความรู้ของผศ.ทวีศักดิ์  อ่วมน้อย  ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย  จึงนำมาสู่การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย  อาคารจัดแสดงอยู่ในวัดบางหลวง  อีกหนึ่งการต่อยอดความคิดให้กับการอนุรักษ์ความเป็นท้องถิ่น
       
การจัดแสดงในห้องพิพิธภัณฑ์ของวัดบางหลวง  มีการจำลองห้องต่างๆของบ้านไทยและวิถีชีวิตพื้นบ้านได้แก่  ห้องรับแขก  ห้องนอน  ห้องครัว ห้องขนม ฯลฯ  และวิถีชีวิตชาวบ้านในอดีต ได้แก่ การทำนา  การดักสัตว์  การหุงหาอาหาร เป็นต้น
 
ในขณะเข้าชมได้ปรากฏร่องรอยความเสียหายจากอุทกภัยใหญ่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2554  ซึ่งน้ำได้เข้ามาท่วมในห้องนี้ทั้งหมด  แต่ด้วยมุมมองที่กว้างไกล  อาจารย์ทวีศักดิ์ได้นำชมด้วยเรื่องราวแนวคิดด้วยแววตาที่แจ่มใส  โดยมองว่าไม่ใช่อุปสรรคในการทำพิพิธภัณฑ์ของอาจารย์  สิ่งของต่างๆก็เป็นเพียงการจำลองให้เกิดความคิดในการประดิษฐ์ชิ้นงานใหม่ๆ เท่านั้น
 
การจัดทำพิพิธภัณฑ์ช่วงแรกได้งบประมาณมาจากมหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์เกษียณอายุการทำงานในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551  พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 โดย ผศ.ทวีศักดิ์  อ่วมน้อย  อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมทำวิจัยเกี่ยวกับโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานีอย่างยั่งยืนกับ อาจารย์ทัศนวดี ไพโรจน์บริบูรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ  คณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ  และอาจารย์สัญญา สุขพูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบภายใน คณะศิลปกรรม 
 
ช่วงแรกเพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม จึงได้จัดให้มีการทอดผ้าป่าของใช้ในครัวเรือนที่วัด  เพื่อนำมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง และจัดตั้งศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย   ด้วยความมุ่งหวังว่า  จะทำให้เกิดมุมมองใหม่สองด้านคือ
 
1. ด้านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน  จะทำให้ผู้เข้าชมมองภาพได้อย่างชัดเจนถึงวิถีชีวิต ซึ่งครอบคลุมเรื่องของการกิน การนอน การประกอบอาชีพ และการดักสัตว์ในอดีต
 
2. ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย  จะทำให้ผู้เข้าชมมองเห็นว่าเครื่องใช้ไม้สอยในอดีตนั้นแฝงไปด้วยภูมิปัญญาในด้านต่างๆสามารถนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่  เพื่อให้ใช้ได้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน

การแสดงแนวความคิดและจัดทำขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม  มุ่งหวังให้เป็นประโยชน์ต่อนักจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหรือผู้สนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน  ให้สามารถนำไปพัฒนาในสาขาอื่นๆให้เป็นรูปธรรม  โดยมีความเห็นว่าการจัดทำควรจัดแสดงในที่เดียวกันเพื่อให้ผู้ชมได้ทราบว่า  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนั้นเปรียบเสมือนคลังสมองที่คอยให้ผู้สนใจเปิดออกมา  นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป แทนที่จะพยายามสร้างในส่วนของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอย่างเดียว  แต่ไม่ได้คิดในส่วนของการพัฒนา ตามแนวทางนี้เมื่อเยาวชนได้เห็นประโยชน์จากเครื่องใช้ในอดีตอย่างเป็นรูปธรรม  ก็จะกลับมาช่วยกันอนุรักษ์เครื่องใช้เหล่านี้อย่างรู้คุณค่า 
 
การจัดกิจกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์  ที่ผ่านมาได้เคยจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษา  และระดับมัธยมศึกษา  ได้แก่ กิจกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์  การออกแบบตัวขนมคุกกี้  การออกแบบเซรามิค  และการอบรมมัคคุเทศก์  นอกจากนี้ยังได้จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ส่งไปให้แก่บุคลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
 
ประกอบการอธิบาย อาจารย์เริ่มด้วยการยกตัวอย่างผลงานของนักศึกษาที่เคยได้รับรางวัลระดับชาติในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่  รองเท้าได้แนวคิดมาจากการแผ่นพับใบตอง  แพ็คเกตขวดไวน์ได้แนวคิดมาจากข้าวต้มมัด  เก้าอี้ได้แนวคิดมาจากฉิ่ง  เก้าอี้ได้แนวคิดมาจากการเข้าไม้ โคมไฟ ได้แนวคิดมาจากลูกข่าง  ขณะนำชมอาจารย์จะย้ำอยู่เสมอว่า  ที่นี่ไม่ได้จัดแสดงสิ่งของพื้นบ้านในลักษณะคุณค่าความเก่าแก่หรือความสวยงาม 
 
อาจารย์กล่าวถึงการวิเคราะห์ 6 มิติ  โดยยกตัวอย่างผลงานของนายสุรธิป   พรเจริญชัยศิลป์  ที่เรียนวิชาผลิตภัณฑ์ไทย  โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไทยโดยใช้ “พัด”เป็นฐานแนวความคิด  การวิเคราะห์  6 มิติดังกล่าว ได้แก่   รูปแบบของพัด  วัสดุ กรรมวิธีการผลิต ลักษณะทางกายภาพ ทางด้านประโยชน์ใช้สอย ทางด้านภูมิปัญญา  ในการสร้างงานจากพัดได้กลายมาเป็นโคมไฟ  ในกรณีนี้นักศึกษาได้นำเอารูปแบบและแนวคิดการพับเข้าและทางออกมาเป็นฐานความคิด  โดยเปลี่ยนประโยชน์การใช้สอย  จากของเดิมใช้พัดเพื่อคลายความร้อน มาเป็นโคมไฟฟ้าประดับ  ในการสร้างชิ้นงานใหม่ๆ อาจจะต้องมีการแก้ไขกันหลายครั้ง  ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้นไป
 
ในการจัดห้องพิพิธภัณฑ์ ที่นี่ยังมีสิ่งน่าสนใจอยู่ที่รูปปั้นควายแม่ลูก  โดยหลังตัวควายจะทำเป็นแบบกำลังลากเลื่อน  อาจารย์ทวีศักดิ์อธิบายว่า ในภาคกลางมีการใช้เลื่อนลากข้าว  ส่วนภาคเหนือภาคอีสานจะใช้เกวียน
หลังการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์  วัดบางหลวงสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์  ยังมีความน่าสนใจจากการเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2532   เป็นวัดตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง ชาวบ้านใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนามาตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงปัจจุบัน  สิ่งสำคัญของวัดคือพระอุโบสถทรงไทยโบราณ  ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยและภาพจิตรกรรมฝาผนัง  เป็นภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์มอญ 2 องค์   ด้านติดลำคลองของวัดมีสะพานโค้งสีขาวข้ามคลองบางหลวง  ดูสวยงามแปลกตา  ริมคลองมีบ้านเรือนชาวบ้าน
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
สำรวจภาคสนาม วันที่  3  มิถุนายน 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : พิพิธภัณฑ์อยู่ในวัดบางหลวง ตำบลบางหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ห่างจากศาลากลางจังหวัดเก่าไปตามถนนปทุมธานีสายในประมาณ 3 กม. พอข้ามคลองบางหลวงก็ถึงวัด
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  3  เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555
                ทวีศักดิ์  อ่วมน้อย.(2546).การบริหารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง  อำเภอเมือง จังหวัด  ปทุมธานี. สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยรังสิต. ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2555,จาก http://www.rsu.ac.th/rri/showresearchdatabase.php?id=107
                วัดบางหลวง จังหวัดปทุมธานี.(2555).  ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2555,จากhttp://www.holidaythai.com/Thailand-Attractions-1005.htm  
                วัดบางหลวง จังหวัดปทุมธานี.(2554). ค้นเมื่อ12 กันยายน 2555,จากhttp//www.oknation.net/blog/loongdali/2011/03/09/entry-1 
                เอกสารประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวงและศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย
 

 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย

หากกล่าวถึงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านในอดีต มีน้อยคนนักที่จะเห็นคุณค่า และอนุรักษ์ไว้ เพราะต่างคิดว่าเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก และล้าสมัยสำหรับใครหลายคน มีน้อยคนนักที่จะเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาบรรพบุรุษไทย ผศ.ทวีศักดิ์ อ่วมน้อย อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เล็งเห็นถึงคุณค่าของภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย จึงร่วมกับ จ.ปทุมธานี อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเหล่านั้นไว้ โดยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย จ.ปทุมธานี

ผศ.ทวีศักดิ์ อ่วมน้อย อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของไทย ได้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา มีน้อยคนนักที่เก็บสะสมผลิตภัณฑ์พื้นบ้านเหล่านั้นไว้ในเชิงอนุรักษ์ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงมองว่าผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ใช้กันมาแต่สมัยโบราณมีคุณค่ามาก และขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้ร่วมทำวิจัยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยรังสิต อีก 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์ทัศนวดี ไพโรจน์บริบูรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ และอาจารย์สัญญา สุขพูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบภายใน คณะศิลปกรรม ทำวิจัยเกี่ยวกับโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานีอย่างยั่งยืน โดยการจัดให้มีการทอดผ้าป่าของใช้ภายในครัวเรือน เพื่อนำมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง และจัดตั้งศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย อ.เมือง จ. ปทุมธานี ซึ่งหลังจากการทอดผ้าป่า ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดแสดงสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อาทิ ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องครัว ห้องขนม ฯลฯ และวิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีต อาทิ การทำนา การดักสัตว์ การหุงหาอาหาร เป็นต้น

ส่วนที่ 2 ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย จัดแสดงผลงานการออกแบบจากแนวคิดผลิตภัณฑ์ไทย ของอาจารย์ และนักศึกษา ที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ และระดับนานาชาติ สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มาร่วมแสดงมากมาย

จากโครงการดังกล่าว ประชาชนให้ความสนใจ ต่างแวะเวียนกันเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ร่วมกันบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ และเงินอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อสมทบทุนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ สำหรับผู้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ จะได้รับความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในอดคีต และการพัฒนาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทย โดยทางศูนย์ฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ให้แก่นักเรียนโรงเรียนใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง อาทิ หัดออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิกพื้นฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิประจำท้องถิ่น และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคลังสมองของจังหวัดปทุมธานี เป็นวิทยากรรับเชิญคอยให้ความรู้ในด้านต่างๆ แก่ผู้ที่สนใจในกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย" ผศ.ทวีศักดิ์ กล่าว

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย ตั้งอยู่ ณ วัดบางหลวง อ.เมือง จ.ปทุมธานี เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันอาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น.


ข้อมูลจาก: http://www2.rsu.ac.th/web/insidersu/sarnrangsit/mar2006/Interview.html [accessed 20081124]
ชื่อผู้แต่ง:
-