พิพิธภัณฑ์วัดสิงห์


วัดสิงห์เป็นวัดโบราณ ในบันทึกพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดคู่เมืองสามโคก พิพิธภัณฑ์วัดสิงห์อยู่ในกุฏิโบราณ วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุที่ได้มาจากกรุโบราณของวัด อาทิ พระพุทธรูปโบราณ  แท่นพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงถวายแด่พญากราย พระภิกษุเชื้อสายเจ้ารามัญผู้เป็นเจ้าอาวาสขณะนั้น ภาพถ่ายรอยพระพุทธบาทไม้ซึ่งพระพุทธบาทไม้ของจริงนั้นวัดสิงห์ได้นำไปเก็บรักษาไว้อย่างดี จะนำออกมาให้ประชาชนกราบไหว้สักการะเฉพาะวันงานประจำปีของวัดสิงห์เท่านั้น ส่วนที่เป็นของพื้นบ้านที่สำคัญ อาทิ ตุ่มสามโคกที่เป็นของแท้ดั้งเดิม ลักษณะเป็นตุ่มดินเผาเนื้อดินสีแดงสีหมากสุก อิฐมอญแปดรู  นอกจากนี้วัดสิงห์ยังมีเจดีย์ โบสถ์ วิหารเก่าแก่ ทรงคุณค่าทางโบราณคดี และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปลงรักปิดทองปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธไสยาสน์(หลวงพ่อเพชร) ที่ชาวบ้านนับถือบูชา

ที่อยู่:
วัดสิงห์ ต.สามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 12160
โทรศัพท์:
02-978-0535
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
ของเด่น:
พระพุทธรูปโบราณ ตุ่มสามโคก เตียงพญากราย
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์วัดสิงห์

วัดสิงห์เป็นวัดโบราณ ในบันทึกพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดคู่เมืองสามโคก  บริเวณนี้มีการอพยพเข้าออกมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวมอญมาหลายยุคสมัย  ตามการสันนิษฐานวัดแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถหรือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ช่วงปี พ.ศ.2202-2210  ที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา  มีคลองเชื่อมสำหรับเรือเข้าออกเรียกว่า คลองวัดสิงห์
       
พิพิธภัณฑ์วัดสิงห์จัดแสดงอยู่ด้านหลังของกุฏิพระสงฆ์  พระสรยุทธ  อนาลโย  ได้ให้สัมภาษณ์และพานำชม   ท่านบอกว่าถัดไปจากกุฏิหลังนี้คือ กุฏิโบราณ  ตอนนี้กำลังบูรณะซ่อมแซม เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้สามารถจัดแสดงได้เต็มรูปแบบ พร้อมกันกับการบูรณะวิหารโถง(ศาลาดิน) ที่ถล่มลงมา หลังจากได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในปี พ.ศ.2554 แล้วทางกรมศิลปากรได้จัดงบประมาณมาบูรณะซ่อมแซมจำนวน 12 ล้านบาท โดยจะดีดพื้นวิหารขึ้นจากพื้น 2 เมตร  การก่อสร้างปัจจุบันล่าช้า  เนื่องจากต้องรอช่างที่มีความชำนาญสูงมาก่อสร้างซ่อมแซม
 
วัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุที่ได้มาจากกรุโบราณของวัด ปัจจุบันยังไม่ได้ทำทะเบียนครบทุกชิ้น  เป็นพระพุทธรูปโบราณ  แม้จะเป็นชิ้นส่วนไม่สมบูรณ์เต็มองค์ แต่ด้วยศิลปะฝีมือช่างชั้นเยี่ยม ความสวยงามยังคงปรากฏอย่างแจ่มชัด ส่วนที่เป็นของพื้นบ้านมีตุ่มสามโคกที่เป็นของแท้สามใบ ลักษณะเป็นตุ่มดินเผาเนื้อดินสีแดงสีหมากสุก อิฐมอญแปดรู ใช้ในการก่อสร้างสมัยก่อน  แท่นพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงถวายแด่พญากราย  พระภิกษุเชื้อสายเจ้ารามัญผู้เป็นเจ้าอาวาสขณะนั้น 
 
เหตุการณ์วันนั้นมีการบันทึกว่า ในคราวเสด็จประพาสเมืองสามโคก ในเทศกาลออกพรรษาเดือน 11 ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2358 ในครั้งนั้นชาวมอญและชาวบ้านได้พากันนำดอกบัวมาทูลเกล้าฯถวายเป็นจำนวนมาก พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานนามให้แก่เมืองสามโคกใหม่ว่าเมืองประทุมธานี ดังปรากฏในนิราศภูเขาทองที่ประพันธ์โดยสุนทรภู่ “...ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว...”ดังนั้นพระแท่นบรรทมนี้จึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่มีความเชื่อมโยงไปถึงต้นกำเนิดของนามจังหวัดปทุมธานี
 
พระสรยุทธ อนาลโย ได้พูดถึงตุ่มสามโคกว่าในปัจจุบันไม่น่าจะมีใครผลิตเพื่อจำหน่ายแล้ว ท่านตั้งข้อสังเกตว่าตุ่มสามโคกมีความทนทานน้อยกว่าโอ่งมังกรราชบุรีที่กันรั่วซึมได้ดี  น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่การผลิตตุ่มสามโคกหายไป  แต่ความสำคัญของตุ่มสามโคกยังมีอยู่ตรงที่สามารถเชื่อมโยงบอกเล่าวิถีชีวิตผู้คนในช่วงเวลาอดีตได้ 
 
ท่านบอกให้แวะชมเตาเผาตุ่มสามโคก อยู่ฝั่งตรงข้ามของวัด ทางอบจ.ปทุมธานีและกรมศิลปากรได้เข้าบูรณะและทำหลังคาครอบไว้เป็นอย่างดี  ลักษณะเป็นเนินเตาเผาสามโคกตั้งเรียงรายกัน โดยโคกที่หนึ่งอยู่บริเวณสี่แยกวัดสิงห์ ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สภาพเป็นลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ สูงราว 4-5 เมตร บริเวณเนินและโดยรอบพบอิฐหักและชิ้นส่วนภาชนะดินเผา แบบหม้อ โอ่ง และครกกระจัดกระจายทั่วไป จึงทำให้ชาวบ้านเรียกโคกนี้ว่า “เตาโอ่งอ่าง”พื้นที่โดยรอบเป็นชุมชน   
 
ส่วนเนินโคกเตาที่สองอยู่ห่างไปประมาณ 50 เมตร อยู่หลังที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ขนาดของโคกเตี้ยกว่าโคกที่หนึ่ง พบเศษภาชนะดินเผาและแนวผนังอิฐเตี้ยๆมีรอยไหม้ปรากฏ  ส่วนโคกที่สาม สันนิษฐานว่าอยู่ใกล้กับโคกที่สองและถูกรื้อเพื่อนำอิฐไปใช้ในการก่อสร้าง
 
เตาเผาตุ่มสามโคกเป็นเตาเผาที่ชาวมอญได้สร้างไว้ในครั้งที่อพยพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก  เพื่อผลิตเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่ายโดยจะขนส่งทางเรือที่เรียกว่า เรือกระแชง ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา  ลักษณะเรือเป็นเรือที่มีท้องเรือโค้งกลม  มีประทุนเป็นหลังคาโค้งคุ่ม  สินค้าเป็นพวกตุ่ม อ่าง ครก หม้อ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ไม้ฟืน
 
เมื่อถามถึงการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญ ท่านให้ความเห็นว่ายังพอมีให้เห็นอยู่บ้างแต่ไม่เข้มแข็ง เนื่องจากขาดผู้นำในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ประกอบกับสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป  งานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์มีงานตักบาตรพระร้อยในวันออกพรรษาช่วงนั้นเป็นฤดูน้ำหลากตามธรรมชาติ  แต่ละวัดจะนำเรือเข้าร่วมงาน
 
สมัยก่อนชาวมอญมีฐานะดีจึงช่วยกันสร้างวัดขึ้นมาตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างมากมาย  และยังมีประเพณีการทำข้าวแช่ตามแบบโบราณ  ในวันสงกรานต์มีการเตรียมสำรับข้าวแช่ไปวางไว้ที่ศาลเพียงตา หรือ “ฮ้อยซังกราต์”(บ้านสงกรานต์) เพื่อบูชาเทพยดา สำรับอื่นๆก็จะนำไปถวายพระที่วัด และส่งให้ญาติผู้ใหญ่เพื่อแสดงความเคารพ ขอพรผู้ใหญ่
 
ในรายละเอียดของวัตถุจัดแสดงอื่นๆ สิ่งที่สะดุดตามีอีกอย่างหนึ่งคือ แผ่นกระเบื้องของวิหารโถง(ศาลาดิน)ที่กำลังบูรณะ ของเดิมเป็นกระเบื้องกาบู  เชิงชายทำเป็นบันแถลงรูปสามเหลี่ยมปลายเรียวโค้งรูปเทพพนมสลับกับรูปดอกบัว และที่เห็นแต่ภาพถ่ายแขวนไว้คือ รอยพระพุทธบาทไม้ การตกแต่งงานไม้ที่กรอบและการตกแต่งพระพุทธบาทโดยการปิดทองร่องกระจก มีความงดงามและทรงคุณค่ามาก  ท่านบอกว่า พระพุทธบาทไม้ของวัดสิงห์ได้นำไปเก็บรักษาไว้อย่างดี จะนำออกมาให้ประชาชนกราบไหว้สักการะเฉพาะวันงานประจำปีของวัดสิงห์เท่านั้น
 
หลังเข้าชมพิพิธภัณฑ์ วัดสิงห์ยังมีเจดีย์ โบสถ์ วิหารเก่าแก่ ทรงคุณค่าทางโบราณคดี ให้ได้เยี่ยมชมกันต่อ พระพุทธรูปสำคัญของวัดคือหลวงพ่อโต  พระพุทธรูปลงรักปิดทองปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธไสยาสน์(หลวงพ่อเพชร) โกศบรรจุอัฐิหลวงพ่อพญากราย
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น / ผู้เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 30 สิงหาคม 2556
----------------------------------------------------
การเดินทาง การเดินทางไปวัดสิงห์ ไปได้ทั้งทางเรือ และทางรถยนต์ โดยถนนสายปทุมธานี-สามโคก เพียง 3 กม. และมีทางแยกซ้ายเข้าไปประมาณ 2 กม.ป้ายบอกทางเข้าวัดที่ปากซอยค่อนข้างเล็ก ต้องสังเกตให้ดี
-----------------------------------------------
อ้างอิง  : 
กระทรวงวัฒนธรรม.(2556).พิพิธภัณฑ์วัดสิงห์.ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2556, จาก
http://www.m-culyure.in.th/moc_new/album/177074/
ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 30 สิงหาคม 2556
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี.(2554). ปทุมธานี เมืองแห่งสายน้ำ
และวัฒนธรรม.กรุงเทพฯ:ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เอส.เอส.กรุ๊ป.,พิมพ์ครั้งที่ 2.
              
 
ชื่อผู้แต่ง:
-