ศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี


ศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี ดำเนินการโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด โดยปรับปรุงศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีสถาปัตยกรรมงดงาม เป็นโบราณสถาน และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัด ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด นิทรรศการภายศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี ใน จัดแบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่ โซน 1 แนะนำจังหวัดปทุมธานีและสถานที่สำคัญ โซน 2 ย้อนอดีตเมืองประทุม ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน โซน 3 ศาสนาและประเพณี นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนาผ่านวิถีของชาวเมืองปทุมฯ เช่นชาวมอญ ชาวจีนฯ ประเพณีตักบาตรพระร้อย ประเพณีส่งข้าวแช่ การถวายธงตะขาบ การเล่นลูกหนู โซน 4 ภูมิปัญญาสรรสร้าง นำเสนอภูมิปัญญาในเชิงช่างฝีมือต่างๆ โซน 5 โลกแห่งการเรียนรู้ นำเสนอข้อมูลและแนะนำสถานที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งของการเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัด

ที่อยู่:
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ศาลากลางจังหวัดปทุมธานีหลังเก่า ถนนเทศปทุม อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000
โทรศัพท์:
0-2581-1237, 0-2593-4270
โทรสาร:
0-2593-4406
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 8.30 - 16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
ของเด่น:
สถาปัตยกรรมอาคารศาลากลางหลังเก่า,นิทรรศการประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดงศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี...

โดย:

วันที่: 24 ธันวาคม 2556

ไม่มีข้อมูล

เปิดตำนานเล่าขานเมืองปทุมธานี

ชื่อผู้แต่ง: ศรายุทธ ปิ่นประทีป และ วิโรจน์ ใจอารีรอบ (บรรณาธิการ) | ปีที่พิมพ์: 2555;2012

ที่มา: โรงพิมพ์ มติชน ปากเกร็ด

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มิถุนายน 2557


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี

เมืองแห่งดอกบัว เป็นเอกลักษณ์ลำดับต้นๆของการจัดตกแต่งศูนย์ประวัติศาสตร์แห่งนี้  ด้วยพิจารณาว่าต้องการให้ที่นี่เป็นแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมข้อเท็จจริงของชุมชนให้ได้มากที่สุดของจังหวัดปทุมธานี เรื่องราวของ “เมืองแห่งสายน้ำและวัฒนธรรม”จัดแสดงอยู่ในอาคารโบราณสีเหลืองสวยงามในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่วงปี พ.ศ.2460 เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกกับแบบไทยเดิม  ก่อนหน้านี้เคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัด ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ก่อนทำเป็นพิพิธภัณฑ์ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้บูรณะซ่อมแซม โดยมีเจ้าอาวาสวัดหงษ์ปทุมาวาสให้การสนับสนุนด้วย
 
การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2553  อดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายปรีชา  บุตรศรี มีความคิดให้ใช้อาคารนี้อย่างคุ้มค่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไปและเยาวชนรุ่นหลัง  ประกอบกับท่านเป็นคนที่มีความรู้และสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มาก ห้องนิทรรศการกับคณะทำงานจึงได้เกิดขึ้นมา   พร้อมกันยังเป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดปทุมธานี
 
การเข้าเยี่ยมชมมีคุณคุณลัษมา ธารีเกษ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เป็นผู้นำชม  การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน  ส่วนแรกทำเป็นโถงโค้ง  กล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดปทุมธานี  ส่วนที่สอง ภูมิปัญญาสรรค์สร้าง ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญา  สำหรับส่วนที่สามยังทำไม่เสร็จ เป็นเรื่องแหล่งเรียนรู้  โลกแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะมีโมเดลสถาปัตยกรรม และสื่อมัลติมีเดีย
 
ก่อนจะมาเป็นนิทรรศการ ได้มีคณะทำงานประกอบด้วยปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มีการลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลเพื่อสืบค้นร่องรอยหลักฐานเก่า มีการสัมภาษณ์ ค้นคว้าเอกสารตำราต่างๆ โดยจะเน้นที่ภูมิปัญญาท้องถิ่น
 
งานประเพณีที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานีมี 2 ช่วงคือ วันออกพรรษาและวันสงกรานต์  ช่วงเทศกาลออกพรรษาเป็นงานตักบาตรพระร้อย  เป็นประเพณีสืบทอดกับมานับร้อยปี ตามพุทธประวัติ ในช่วงเข้าพรรษาพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระมารดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอออกพรรษาพระองค์จึงได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์โดยมีเหล่าเทวดาออกมาร่วมถวายสักการะ พุทธศาสนิกชนจึงถือว่าการทำบุญตักบาตรหลังออกพรรษาเป็นงานใหญ่ได้บุญมาก กำหนดการตักบาตรเริ่มกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 11 เรียงกันไปในแต่ละวัด ตามที่ตกลงกันว่าวัดใดเป็นเจ้าภาพในวันนั้นๆ
 
ในวันงานจะมีการจับฉลากหมายเลข  เพื่อเรียงลำดับเรือรับบิณฑบาตที่มีจำนวนมาก  โดยมีเรือพระพุทธนำขบวนเป็นเรือลำใหญ่  จัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้กลางลำเรือ มีวงปี่พาทย์บรรเลงอยู่หน้าเรือ โดยมีเรือขนาดเล็กของพระสงฆ์พายตามมาคอยรับบาตร ลูกศิษย์วัดประจำหัวท้ายเรือจะคอยช่วยรับบาตรและพายเรือ ขบวนเรือตักบาตรพระร้อยมีความยาวนับกิโลเมตร
 
ช่วงสงกรานต์มีประเพณีแห่หางหงส์ธงตะขาบ  สำหรับการทำข้าวแช่ของชาวมอญ จัดเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีกำลังส่งเสริม  ปัจจุบันช่วงเทศกาลสงกรานต์ในตลาดเมืองปทุมธานีจะมีข้าวแช่จำหน่ายอยู่หลายร้าน  แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาอื่นมีอยู่ที่วัดศาลเจ้า 
 
การหุงข้าวแช่แบบโบราณจะต้องมีการตำข้าว 7 ครั้ง ฝัดข้าว 7 หน ขัดข้าวให้สะอาด 7 รอบ คัดเมล็ดข้าวสารนำไปหุงบนเตาไฟบริเวณนอกชายคาบ้านแต่เช้า  เมื่อข้าวสุกพอเมล็ดสวยเทใส่กระบุงลงไปผัดเมล็ดข้าวในน้ำเย็นสะอาด  จนกว่าเมล็ดข้าวสวยหมดยางข้าว  เทใส่ผ้าขาวบาง  วางลงในกระบุงให้สะเด็ดน้ำ การเตรียมน้ำข้าวแช่ ต้องเตรียมแกลบและรำอ่อนผสมเคล้าให้เข้ากัน นำมาติดไฟให้เกิดควัน ใช้หม้อดินครอบอบประมาณครึ่งชั่วโมง เอาแกลบและรำออก ตักน้ำฝนลงหม้อดิน อบด้วยดอกมะลิอีกหนึ่งคืน เครื่องข้าวแช่ส่วนใหญ่ประกอบด้วย  หัวไชโป๊ะผัดไข่ ปลาป่น เนื้อฝอยหวาน ไข่เค็ม ขนมหวาน เช่น กาละแม ข้าวเหนียวแดง ผลไม้
 
การทำข้าวแช่ของชาวมอญจัดว่ามีความสำคัญมากเพราะถือว่าข้าวแช่เป็นอาหารศักดิ์สิทธิ์สำหรับการบูชาเทพยดา  หลังการนำไปวางบูชาไว้ที่ศาลเพียงตา สำรับอื่นๆจะนำไปถวายพระที่วัด และให้ญาติผู้ใหญ่เพื่อแสดงความเคารพ  เป็นการทำความรู้จักญาติพี่น้องต่างหมู่บ้านต่างชุมชนด้วย
 
ภายในพิพิธภัณฑ์  แรกเข้าไปจะมีการฉายวีดีทัศน์บอกเล่าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองปทุมธานี ภายในห้องฉายจัดไฟสวยงามเป็นกลีบบัว จากนั้นจะเล่าต่อเนื่องขยายความด้วยบอร์ดนิทรรศการ  มีรายละเอียดทั้งภาพและตัวหนังสือติดไว้ทั้งผนังห้อง  ส่วนของโมเดลที่น่าสนใจ มีการจำลองแม่น้ำและงานประเพณีตักบาตรพระร้อย  ส่วนของหุ่นจำลอง  แต่งกายแบบชาวมอญมีขบวนแห่หางหงส์ธงตะขาบ ใกล้กันเป็นเสาหงส์  ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่เราจะพบเห็นได้ในวัดด้านหน้าเจดีย์ของชาวมอญ
 
ส่วนที่เป็นวัตถุจัดแสดง มีซากโบราณวัตถุที่ปั้นจากเตาโอ่งอ่าง ที่อำเภอสามโคก ใช้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่รู้จักกันว่า ตุ่มสามโคก  ตอนนี้ทางกรมศิลปากรได้บูรณะเตาโอ่งอ่างขนาดใหญ่ไว้ให้คนไปเที่ยวชม  สำหรับหม้อตาล สมัยก่อนเมืองปทุมธานีมีต้นตาลโตนดเยอะมาก  ที่เห็นเป็นเรือจำลอง เรียกว่า เรือกระแชง เป็นเรือใช้บรรทุกของ สมัยก่อนใช้บรรทุกตุ่มสามโคกไปขายด้วย จึงเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่  ลักษณะคล้ายเรือเอี๊ยมจุ๊นแต่เล็กกว่า  ท้องเรือโค้งกลม ลักษณะเด่นคือมีประทุน มีหลังคาโค้งคลุม คำว่า กระแชง คือเครื่องบังแดดฝน เย็บด้วยใบเตยหรือใบจาก  ต่อมาใช้สังกะสีหรือผ้าใบ แต่ก็ยังเรียกว่าเรือกระแชงเหมือนเดิม  การเคลื่อนที่ใช้ถ่อหรือแจว ถ้ามีเรือยนต์ก็จะผูกลากจูงกันไปเป็นขบวน เรือมีหลายขนาด  สินค้าอื่นที่บรรทุกไป ได้แก่ ข้าว ไม้ฟืน หิน อิฐ ทราย เป็นต้น  เมื่อถามคุณลัษมา  ทำให้ทราบว่าปัจจุบันไม่มีเรือกระแชงใช้บรรทุกสินค้าเหมือนสมัยก่อนแล้ว
 
ช่วงมหาอุทกภัยปี พ.ศ.2554 ที่นี่ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน แต่ก็ได้มีการซ่อมแซมส่วนนิทรรศการถาวรและทำพื้นใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว  ส่งผลให้การจัดแสดงของส่วนที่สามต้องล่าช้าเพราะต้องรองบประมาณรอบใหม่  แม้ยังไม่ได้เปิดเป็นทางการ  แต่ก็เปิดให้เข้าชมได้  ที่ผ่านมาจะมีนักเรียนมาขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ มีทุกระดับชั้น ส่วนใหญ่เป็นระดับมัธยม ถ้าต้องการผู้นำชมจะมีอาจารย์วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย  ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี  อาจารย์มีบทบาทสำคัญในคณะทำงานศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี  อาจารย์เป็นอีกท่านหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยบรรยาย
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น / ผู้เขียน
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม วันที่ 18 กรกฎาคม 2556
----------------------------------------------------
การเดินทาง: จังหวัดปทุมธานีเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ด้วยถนนหลายสาย จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดปทุมธานีได้ 5 เส้นทาง ดังนี้
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) หรือถนนวิภาวดีรังสิต หรือโทลล์เวย์ จนถึงรังสิต แล้วแยกซ้ายเข้าใช้เส้น ทางหมายเลข 346 (รังสิต-ปทุมธานี) จนถึงอำเภอเมืองปทุมธานี
- ใช้ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ออกจากทางด่วนที่ทางออกบางพูน-รังสิตแล้วใช้เส้น ทางหมายเลข 346 (รังสิต-ปทุมธานี) จนถึงอำเภอเมืองปทุมธานี
- ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปากเกร็ด-ปทุมธานี
- ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-บางใหญ่-บางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว-ปทุมธานี
- ใช้ถนนวงแหวนตะวันออก ออกที่ทางออกรังสิต แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก) เลียบคลองรังสิตมุ่งหน้าไปยังรังสิต แล้วใช้สะพานต่างระดับข้ามถนนพหลโยธินเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 346 (รังสิต-ปทุมธานี) ไปจนถึงอำเภอเมืองปทุมธานี
ศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี  อยู่ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด อาคารศาลากลางเก่า  ใกล้กับตลาดและใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา
-----------------------------------------------
อ้างอิง :
ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2556
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี.(2554). ปทุมธานี เมืองแห่งสายน้ำและวัฒนธรรม.กรุงเทพฯ :ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เอส.เอส.กรุ๊ป.,พิมพ์ครั้งที่ 2.
อนันต์ วิจิตรประชา.(2553).ผู้ว่าเปิดโครงการศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี.ค้นเมื่อ 15 กันยายน  2556, จาก http://www.rangsitcity.com/index.php?lay=show&Id=539122865&Ntype=2
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของหอวัฒนธรรมนิทัศน์จังหวัดปทุมธานี

จังหวัดปทุมธานี ได้อนุมัติงบประมาณ ปี 2552 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ดำเนินโครงการศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี เพื่อพัฒนาศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ซึ่งเป็นโบราณสถาน และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และเพิ่มพื้นที่ในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ แก่ปราชญ์ท้องถิ่น ศิลปิน ภูมิปัญญาชาวบ้าน ผู้ประกอบการสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ตลอดจนช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ในจังหวัดปทุมธานีด้วย

นิทรรศการภายศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี ใน จัดแบ่งออกเป็น 5 โซน ดังนี้

โซน 1 แนะนำจังหวัดปทุมธานี

คุยเฟื่องเรื่องเมืองประทุม(ธานี)Standy boardของผู้คนต่างสาขาอาชีพ ต่างเพศต่างวัย เล่าเรื่องราวชีวิตของเขาในเมืองปทุมธานี สังคมเมืองเล็กที่มีความสำคัญไม่แพ้มหานครใหญ่ ผ่านช่วงเวลาในมุมมองต่างๆ กัน

- Modelสายน้ำผ่านเมืองแผนที่จังหวัดติดตั้งไฟวิ่งแสดงถึงเส้นทางต่างๆ โครงข่ายของแม่น้ำเจ้าพระยา คลองเล็กคลองน้อยที่สำคัญ ทั้งคลองขุดและทางน้ำธรรมชาติ เช่น คลองรังสิต คลองเชียงราก ฯลฯ รวมถึงสถานที่สำคัญของเมืองปทุมธานี เช่น วัด พิพิธภัณฑ์ สถานที่ราชการ ชุมชน และสถานที่สำคัญของจังหวัด

โซน 2 ย้อนอดีตเมืองประทุม

- บอร์ดข้อมูล/วีดิทัศน์/Voice Overนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองสามโคกโบราณผ่านหลายยุคหลายสมัยจนเข้าสู่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์และกลายเป็นเมืองปทุมธานีและจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน รวมถึงที่มาของชื่อเมืองทั้งอดีตและปัจจุบัน

- สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

- สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย: สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

- สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์: พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

- เสด็จประพาสต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

- รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

- รัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

- สมัยปัจจุบัน

โซน 3 ศาสนาและประเพณี

จัดแสดงบอร์ดข้อมูลรากแก้วของศรัทธาและสื่อInteractiveนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนาผ่านวิถีของชาวเมืองปทุมฯ เช่นชาวมอญ ชาวจีนฯ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดประเพณีและวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตของผู้คนและการประกอบสัมมาอาชีพ ถือเป็นเอกลักษณ์ที่ยังคงคุณค่าของท้องถิ่นสืบทอดจากคนรุ่นก่อนจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีตักบาตรพระร้อย ประเพณีส่งข้าวแช่ การถวายธงตะขาบ การเล่นลูกหนู

โซน 4 ภูมิปัญญาสรรสร้าง

- พุทธศิลป์แห่งศรัทธาบอร์ดข้อมูลและสื่อInteractiveนำเสนอเรื่องราวสะท้อนถึงอัตลักษณ์สำคัญของท้องถิ่นและสะท้อนถึงความสูงส่งด้านพลังศรัทธา ปัญญา และการเข้าถึงสุนทรียะทั้งในแบบจารีต ช่างหลวงและช่างพื้นบ้านในงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม งานประดับตกแต่ง เช่น หน้าบัน เสาหงส์ ธงตะขาบ ฯลฯ

- ภูมิปัญญาท้องถิ่นบอร์ดข้อมูล ดิสเพลย์ และการทำจำลอง เพื่อเสนอเรื่องราวของงานฝีมือ งานช่างพื้นบ้านท้องถิ่นที่อยู่คู่ชุมชนมาตั้งแต่ การตั้งบ้านตั้งชุมชน เช่นงานหัตถกรรม งานเครื่องปั้นดินเผา การตอกกระดาษ การแทงหยวก รวมถึงงานแสดงพื้นบ้าน เช่น วงปี่พาทย์มอญ การแต่งกาย และการทำอาหาร

โซน 5โลกแห่งการเรียนรู้

- ศูนย์ศึกษาและแหล่งเรียนรู้บอร์ดข้อมูลและสื่อInteractiveนำเสนอข้อมูลและแนะนำสถานที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งของการเรียนรู้นอกโรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี ทั้งด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดีทั้งของภาครัฐและเอกชน

หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ หออัครศิลปิน องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ

- แหล่งพักผ่อนหย่อนใจบอร์ดข้อมูลและสื่อInteractiveนำเสนอข้อมูลสถานที่

ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของเมืองปทุมธานี เช่น ตลาดน้ำ สวนสนุก ฯลฯ

 

ข้อมูลจาก: http://www.m-culture.in.th/album/129767

ชื่อผู้แต่ง:
-