พิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หอย


พิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หอย  ก่อตั้งโดยเจ้าอาวาสวัดที่ท่านเป็นผู้ชื่นชอบสะสมของเก่าอยู่ก่อนแล้ว จึงจัดแสดงไว้บริเวณศาลา ต่อมาได้รับการบริจาคเพิ่มเติมจากชาวบ้านและคนที่มาเที่ยวชมซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์ที่ขุดพบในบริเวณวัด ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นศาลาชั้นเดียวเปิดโล่ง ภายในมีวัตถุสิ่งของสารพัดชนิดจัดแสดงอยู่ อาทิ ถ้วยชามดินเผา ตุ่มสามโคก หม้อ ไห สิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน เปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ใบเสมาของวัด กระดูกช้าง เชือกปะกำคล้องช้าง ส่วนของชิ้นเล็กอย่างลูกปัดโบราณ กำไล เครื่องมือสำริด เหรียญ ช้อนส้อมทองเหลือง ทัพพี อยู่ในตู้กระจก  นอกจากนี้ในวัดยังได้เก็บรากไม้ของต้นไม้ขนาดใหญ่ พระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมาก โต๊ะไม้แกะสลัก ไม้กลายเป็นหิน โม่หิน และอื่น ๆ

ที่อยู่:
วัดเจดีย์หอย หมู่ที่ 4 อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี 12140
โทรศัพท์:
0-2599-3057, 085-188-9424, 089-025-8031, 081-643-1492
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2526
ของเด่น:
ซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์ ฆ้องอธิษฐาน เปลือกหอยมือเสือยักษ์ เรือ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย: -

วันที่: 16 ตุลาคม 2555

ไม่มีข้อมูล

มีฟอสซิลหอย มีเจดีย์ มีพิพิธภัณฑ์

ชื่อผู้แต่ง: ศรัณย์ ทองปาน | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หอย

ชื่อผู้แต่ง: เอนก นาวิกมูล | ปีที่พิมพ์: 14,167(ม.ค.42)หน้า24-25

ที่มา: สารคดี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์เจดีย์หอย

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 02-05-2549(หน้า 32)

ที่มา: ข่าวสด

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หอย

ด้วยจุดเด่นที่ไม่เหมือนที่ใด  วัดเจดีย์หอยจึงเป็นที่รู้จักของผู้คน  และได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด  ในแต่ละวันมีผู้คนเข้ามาเที่ยววัดไหว้พระทำบุญและร่วมสร้างเจดีย์หอยองค์ใหญ่กันอย่างมากมาย
 
การสร้างเจดีย์หอยที่สามารถดึงจิตศรัทธาของประชาชนเข้าวัด  เริ่มมาจากเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน ท่านเจ้าอาวาสพระครูสุนทรคุณธาดา(หลวงพ่อทองกลึง สุนฺทโร) เดินทางมาเสาะหาที่ตั้งวัดตามนิมิตของท่าน  จนมาพบสถานที่ในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี จึงได้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น ครั้นเมื่อมีการขุดบ่อน้ำจึงได้พบว่าใต้ดินลึกลงไปเต็มไปด้วยซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์  ท่านจึงนำมาก่อเป็นเจดีย์  ดังที่เห็นอยู่ด้านหน้าวัด อันเป็นที่มาของชื่อวัดเจดีย์หอย 
 
จากการศึกษาทางด้านธรณีวิทยาและวิวัฒนาการของธรรมชาติ  พบว่าส่วนของกรุงเทพฯและปริมณฑลต่างเคยเป็นทะเลมาก่อน  นอกจากที่วัดนี้แล้วยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หอยนางรม(Oyster fossils)ในที่อื่นๆเช่นเดียวกัน อย่างเช่น ในบ่อดินบ้านดอนพุทรา อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ในชั้นดินโคลนทะเล เป็นต้น
 
ปัจจุบันวัดได้นำซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์จำนวนมากมายมากองไว้เป็นภูเขาลูกย่อมๆ ภายในวัด  เพื่อรอสร้างขึ้นเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ความสูง 59 เมตร  ในบริเวณวัดยังมีสวนสมุนไพรและห้องขายยาสมุนไพร  หลวงพ่อทองกลึง  ประวัติท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เส็ง วัดบางนา จังหวัดปทุมธานี  ท่านได้ศึกษาคาถาการต่อชีวิต การรักษาโรค ศึกษาด้านโหราศาสตร์อย่างแตกฉาน จนได้รับการยกย่องว่าเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่เส็ง 
 
อีกหนึ่งที่โดดเด่นของวัดนี้  คือเปลือกหอยมือเสือยักษ์ความกว้างเป็นเมตรที่หลวงพ่อทองกลึงนำมาจากจังหวัดระนอง  และฆ้องสองใบ ท่านสั่งทำมาเพื่อตีบอกเวลาเรียกประชุม ในเวลาต่อมาฆ้องทั้งสองใบไม่ต้องใช้ไม้ตี  ใช้มือลูบก็ดัง  ฆ้องนี้จึงได้ชื่อว่าฆ้องอธิษฐาน คนที่มาเที่ยววัดเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์  บางคนลูบแล้วดัง บางคนก็ไม่ดัง
       
คุณบุญมี จงสอน ประชาสัมพันธ์วัด ได้พาเดินชมพิพิธภัณฑ์  เราจะเห็นสิ่งของมากมายเต็มไปหมด มีทั้งของแปลก ของเก่า ของหายาก ของศักดิ์สิทธิ์  พิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หอย  เกิดมาจากผู้คนนำสิ่งของมาบริจาคให้กับวัด  การจัดซื้อจัดหาของวัดและมีคนนำมาขาย  ในศาลาพิพิธภัณฑ์จะวางสิ่งของกองไว้  โดยพยายามจัดสิ่งของกลุ่มเดียวกันไว้ด้วยกัน  มีโอ่งที่มีรอยเปลือกหอยเกาะ ถ้วยชามดินเผา ตุ่มสามโคก หม้อ ไห สิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน พายสมัยสุโขทัย แผงไม้แกะสลัก เปลือกหอยชนิดต่างๆ ใบเสมาของวัด กระดูกช้าง เชือกปะกำคล้องช้าง ส่วนของชิ้นเล็กอย่างลูกปัดโบราณ กำไล  เครื่องมือสำริด  เหรียญ ช้อนส้อมทองเหลือง ทัพพี  อยู่ในตู้กระจก 
       
ใกล้กับศาลาพิพิธภัณฑ์ที่เห็นเป็นควันลอยขึ้นมา  มีห้องอบสมุนไพร  ด้านนอกมีคุณลุงกำลังขะมักเขม้นใส่ฟืนเข้าไปในเตาไอน้ำขนาดใหญ่ เดินเข้าไปใกล้สัมผัสกับไอร้อนและได้ยินเสียงปะทุของเตาถ่าน ที่นี่ได้รับความนิยม ดูจากผู้คนจำนวนมากมาใช้บริการ ชุดอบสมุนไพรผู้หญิงสวมผ้าซิ่นกระโจมอก ห้องอบสมุนไพรนี้วัดทำมา 13 ปีแล้ว  สรรพคุณคือ รักษาอาการปวดเมื่อย ภูมิแพ้ ครั่นเนื้อครั่นตัว สมองไม่ปลอดโปร่ง  สมุนไพรหลักที่ใช้ได้แก่ มะกรูด ตะไคร้ ไพล ขมิ้น   ตรงผนังห้องอบเขียนข้อห้ามและข้อปฏิบัติไว้  ข้อห้ามของการเข้าอบสมุนไพรได้แก่ ผู้หญิงมีครรภ์ เป็นโรคความดัน(รุนแรง) เป็นไข้หวัด(รุนแรง) เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคผิวหนังร้ายแรง คุณผู้หญิงมีรอบเดือน เป็นโรคหัวใจ(รุนแรง) เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพ  ส่วนของสมุนไพรในปี๊บมีเขียนไว้ว่า ยาต้ม ยาดอง ยาเลือด พร้อมยาอบตัว ติดต่อได้ที่ลุงฉ่ำ  อีกศาลาใกล้กันเป็นศาลานวดจับเส้น เคล็ด-ขัด-ยอก แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
       
ยังมีอีกหลายสถานที่ในวัดที่สามารถเข้าเยี่ยมชม วัดมีพื้นที่ทั้งหมด 113 ไร่  สระน้ำขนาดใหญ่ของวัดที่ปัจจุบันเป็นบ่อให้อาหารปลาและเต่า  เดิมคือบริเวณของการขุดซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์  ได้ขุดไปจนถึงความลึกระดับประมาณ 6-8  เมตร   การยุติการขุดก็เนื่องจากยิ่งลึกมากยิ่งขุดได้ยากขึ้น  ประกอบกับท่านเจ้าอาวาสได้เคยบอกว่า ทางวัดได้เคยมีทั้งเจ้าฟ้ามหากษัตริย์และพระผู้ใหญ่มาเยี่ยมเยือน เป็นมงคลดีแล้วจึงให้หยุดขุด โดยทางวัดได้ประมวลภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ขณะทรงเสด็จทอดพระเนตรการขุดซากหอยนางรมยักษ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2538  มาใส่กรอบติดไว้ 
 
ขณะนี้วัดได้กำลังก่อสร้างพิพิธภัณฑ์จำลองการขุดซากหอยนางรมยักษ์  โดยได้งบประมาณสนับสนุนจากทาง อบจ. 2 ล้านบาท ส่วนเพิ่มเติมวัดต้องดำเนินการเอง  อาคารนี้จะอยู่คู่ไปกับเจดีย์หอยหนึ่งเดียวในโลก หนึ่งเดียวในประเทศไทย
 
ส่วนของศาลาใกล้กับลานจอดรถก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ เป็นที่แสดงเรือ คุณบุญมีบอกว่าเรือเหล่านี้ชาวบ้านไม่ได้ใช้จึงนำมาถวายวัด  ท่านเจ้าอาวาสได้ให้ช่างมาซ่อมไว้ทุกลำ  ถ้าเดินต่อไปจากตรงนี้จะเห็นช่างกำลังซ่อมเรือ นอกจากนี้ก็ยังมีสิ่งของรอซ่อมอีกมากมาย  มีเครื่องสีฝัด เกวียนและชิ้นส่วนเกวียนตั้งเรียงรายในบริเวณใกล้เคียง  ช่วงของน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว  ทางวัดได้ช่วยชาวบ้านโดยให้ยืมเรือเหล่านี้ไปใช้  นอกจากเรือลำเล็กยังมีเรือบ้านลำใหญ่อยู่อาศัยได้อีก 2 ลำ  ลำหนึ่งที่ตั้งไว้ใกล้ศาลาจัดแสดงเรือ ท่านเจ้าอาวาสได้นำมาตกแต่งทำใหม่เกือบทั้งหมด อีกลำหนึ่งใกล้กับส่วนจัดสร้างเจดีย์หอย  เรือลำนี้แต่เดิมจะถูกทำลายทิ้ง  เนื่องจากเจ้าของเรือเสียชีวิตบนเรือ ทายาทจึงไม่อยากเก็บไว้
       
นอกจากนี้ในวัดยังได้เก็บรากไม้ของต้นไม้ขนาดใหญ่  พระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมาก  โต๊ะไม้แกะสลัก  ไม้กลายเป็นหิน โม่หิน และอื่นๆอีกมากมาย
       
คนมาที่วัดเจดีย์หอย  ได้ทั้งทำบุญไหว้พระ ร่วมสร้างเจดีย์หอย  เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์  ให้อาหารปลา ได้อบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ  หรือจะไปนวดแก้เคล็ดขัดยอก  แล้วยังได้เดินเลือกซื้อของในร้านค้าของชาวบ้าน จึงเป็นคำตอบว่าทำไมผู้คนจึงมายังวัดแห่งนี้กันอย่างไม่ขาดสาย
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  3 มิถุนายน 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : วัดเจดีย์หอยตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อเงิน  อำเภอลาดหลุมแก้ว การเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 346(ปทุมธานี-บางเลน) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 21-22 แล้วแยกเข้าวัดไปอีก 10 กิโลเมตร
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555
                ป้ายคำบรรยายซากดึกดำบรรพ์หอยนางรม(Oyster fossils)ของพิพิธภัณฑ์ Bio-Geo Path   
                วัดเจดีย์หอย จ.ปทุมธานี.(2554).ค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2555,จาก http://www.holidaythai.
                      com/Thailand-Attractions-998.htm
                วัดเจดีย์หอยมีดีมากกว่า...หอย.(2551).ค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2555. จาก http://www.amulet.
                     in.th/forums/view_topic.php?t=1077
                ศรันย์ ทองปาน.(2549).พิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หอย.วารสารเมืองโบราณ.ค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม            2555, จาก http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&new_
                     topic=5&pagenum=9
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หอย

เมื่อราวปี พ.ศ.2523 วัดเจดีย์หอย ถูกสร้างขึ้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เป็นวัดใหม่ ก่อตั้งโดยพระครูสุนทรคุณธาดาหรือ หลวงพ่อกลึง สุนทโร ได้ใช้ทุนทรัพย์ของท่านเอง แต่แรกวัดเป็นเพียงแค่สำนักสงฆ์ และเริ่มการลงมือปลูกสวนสมุนไพรก่อน แต่เนื่องจากบริเวณนี้ไม่มีน้ำใช้และน้ำดื่ม จึงมีการขุดดินเพื่อสร้างสระน้ำ จนเจอเปลือกหอยนางรมจำนวนมากอายุราว 1,000 ปี จึงได้ทำการขุดเปลือกหอยเหล่านั้นขึ้นมาสร้างเป็นเจดีย์ โดยวางเรียงกัน ไม่ใช้ปูนเป็นตัวเชื่อม โดยมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสร้างวัด ขณะนี้อยู่ในการดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถและศาสนสถานต่างๆ จากกิจกรรมแรกของวัดคือการปลูกสวนสมุนไพร

ต่อมาก็เป็นการสร้างโรงเก็บของเก่าจวบจนกระทั่งทุกวันนี้โรงเก็บของเก่าแปรสภาพเป็น เรือนพิพิธภัณฑ์ของเก่า ที่คอยให้ความรู้แก่ประชาชนที่มาวัด สืบเนื่องมาจากหลวงพ่อเป็นคนชอบสะสมของเก่า สะสมมาตั้งแต่ก่อนจะสร้างวัดเจดีย์หอยเสียอีก พอลูกศิษย์ลูกหาหรือคนที่มาเที่ยววัดทราบข่าว ก็นำของที่ไม่ใช้แล้วบ้าง ของที่เป็นมรดกครอบครัวบ้าง ของที่มาเจอบ้าง ของที่ขโมยมาบ้างมาให้ทางวัด โดยทางวัดจะทำการตกลงว่าเจ้าของพอใจที่จะให้หรือขาย หลวงพ่อให้เหตุผลในการตั้งพิพิธภัณฑ์ของเก่าไว้ว่า นอกจากจะสนองความชอบการสะสมของเก่าของท่านเองแล้ว ของเก่ายังเป็นแหล่งให้ชนรุ่นหลังไว้ศึกษาหาความรู้ความเป็นมาต่างๆ ของที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์มีมากมายหลายประเภท ไม่มีกฎเกณฑ์ในการจัดการ เพราะของส่วนใหญ่ได้จากการบริจาค เมื่อมีคนมาบริจาคก็ทำการบันทึกเป็นใบอนุโมทนาบัตร แต่ไม่มีการทำทะเบียนหรือติดป้ายบอกใดๆทั้งสิ้น ของส่วนใหญ่ก็จะเป็นโบราณวัตถุที่ขุดเจอตอนขุดบ่อหน้าวัด เครื่องถ้วย ชาม โอ่ง อ่าง กาน้ำ ฐานดินเผา ไห ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่หาได้ในปัจจุบัน แต่ก็มีของบางส่วนที่เป็นของโบราณในยุคอยุธยา ลพบุรี ที่เก็บอยู่ในห้องพิเศษ มีของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โคมไฟ ตราชั่ง วิทยุ เครื่องโม่แป้ง

นอกจากนี้ยังจัดแสดงของใช้ต่างที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตารีด โทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ แผ่นบันทึกข้อมูล เครื่องใช้ในการเกษตรกรรมของใช้ในวิถีชีวิตชนบท เช่นเรือเก่า ชลอม ถังไม้เก็บน้ำ บายศรี เครื่องปั่นน้ำ แจกัน เขาควาย และมีของประเภทของป่า เช่น กระดูกปลาวาฬ หนังสัตว์ต่างๆ เขาควาย จะเห็นได้ว่ามีของหลากหลายประเภท ของบางชิ้นสามารถหยิบจับได้ แต่ห้ามเคลื่อนย้าย เรือนพิพิธภัณฑ์ของเก่าวัดเจดีย์หอยแห่งนี้ มีผู้คนเข้ามาชมมากมาย ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มาทำบุญหรือมาทำธุระที่วัด พิพิธภัณฑ์เปิดให้ชมทุกวันไม่มีวันหยุด ไม่คิดค่าเข้าชม เพียงแค่มีการทำบุญบริจาคให้ทางวัด


เรียบเรียงจาก: ยุวดี ศรีห้วยยอด.พิพิธภัณฑ์ของเก่าวัดเจดีย์หอย, รายงานวิชาหลักการพิพิธภัณฑ์. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล,เอกสารไม่ตีพิมพ์: นครปฐม, 2546 คลิกอ่าน"มีฟอสซิลหอย มีเจดีย์ มีพิพิธภัณฑ์"
ชื่อผู้แต่ง:
-