ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม


ผู้ที่ริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียนคือ อาจารย์สุธาทิพย์ ศุกระโยธิน ผู้อำนวยการคนก่อนของโรงเรียน ที่รวบรวมข้าวของจากแหล่งต่างๆ ทั้งคนรู้จักและอาจารย์ในโรงเรียน เพื่อจะนำมาจัดทำพิพิธภัณฑ์ โดยใช้พื้นที่ห้องเรียนจำนวน 3 ห้อง ในการจัดแสดงเนื่องจากโรงเรียนจำเป็นต้องใช้พื้นที่สร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม  จึงย้ายข้าวของในพิพิธภัณฑ์ไปเก็บไว้ที่ห้องสมุดและตามกลุ่มสาระวิชาต่างๆ ลักษณะการจัดแสดงภายในมีทั้งแสดงวัตถุและภาพ    ส่วนสิ่งของจัดแสดง เช่น  เครื่องเบญจรงค์ อาวุธในวรรณคดีไทย เครื่องเขิน เครื่องทองเหลือง และยังมีตู้จัดแสดงสกุลเงินต่างๆ ทั้งเหรียญและธนบัตรของประเทศต่างๆ  หม้อดินประดับลายแกะสลักที่มีลายละเอียดและงดงามฝีมือชาวมอญที่เรียกว่า หม้อทะนน  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนด้วย  งานศิลปะจำลองบ้านเรือนไทยฝีมือของอาจารย์สุธาทิพย์ ศุกระโยธิน และนักเรียนในวิชาศิลปะ ด้านนอกของศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนตกแต่งด้วยเรือเก่าและเครื่องปั้นดินเผา และจัดสวนหย่อมรอบๆ ไว้อย่างร่มรื่น

ที่อยู่:
โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม 68/1 หมู่ที่ 9 ถนนติวานนท์ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์:
0-2588-2827,0-2591-6304
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม

จะเลือกนั่งเรือ หรือนั่งรถก็ได้ถ้าจะมาชมศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนนทบุรี โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม  เดินจากถนนใหญ่เข้ามาในซอยราว 100 เมตร ก็เห็นป้ายชื่อโรงเรียนตัวใหญ่ “โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม” 
 
ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมประจำอำเภอ  ในปี 2540 โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม ได้จัดทำพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียนอยู่ก่อนแล้ว ผู้ที่ริเริ่มคือ อาจารย์สุธาทิพย์ ศุกระโยธิน ผู้อำนวยการคนก่อนของโรงเรียน ที่ท่านรวบรวมข้าวของจากแหล่งต่างๆ ทั้งคนรู้จักและอาจารย์ในโรงเรียน เพื่อจะนำมาจัดทำพิพิธภัณฑ์ โดยใช้พื้นที่ห้องเรียนจำนวน 3 ห้อง ในการจัดแสดง
 
อย่างไรก็ดีเนื่องจากโรงเรียนจำเป็นต้องใช้พื้นที่สร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม  จึงย้ายข้าวของในพิพิธภัณฑ์ไปเก็บไว้ที่ห้องสมุดและตามกลุ่มสาระวิชาต่างๆ จนมาถึงสมัยของผู้อำนวยการท่านปัจจุบัน  ท่านสนับสนุนที่จะสร้างศูนย์วัฒนธรรมแยกออกมา และต้องการจะเพิ่มส่วนจัดแสดงที่เกี่ยวกับภาษาขึ้น  
 
ปัจจุบันนอกจากศูนย์วัฒนธรรมจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนแล้ว ในวันเสาร์- อาทิตย์ชุมชนยังมาใช้ศูนย์วัฒนธรรมเป็นที่ประชุม หรือจัดงานวัฒนธรรม อย่างไรก็ดีเนื่องจากอาคารจัดแสดงเป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยแบบเปิดโล่ง จึงมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของข้าวของที่จัดแสดง ทำให้ไม่สามารถนำข้าวของที่มีทั้งหมดมาจัดแสดงได้ครบ 
หัวข้อที่จัดแสดงในศูนย์วัฒนธรรมมีความหลากหลาย เนื่องจากวัตถุประสงค์ของทำไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นนนทบุรี หากแต่พยายามที่จะมีหัวข้อในเรื่องวัฒนธรรมในภูมิภาคอื่นด้วย  เนื่องจากต้องให้นักเรียนหรือผู้ที่เข้ามาชมได้เรียนรู้สิ่งอื่น นอกเหนือจากเรื่องราวใกล้ตัวด้วย 
 
ลักษณะการจัดแสดงภายในมีทั้งแสดงวัตถุและภาพ  โดยผนังด้านหนึ่งของอาคารมีการประดับภาพพระบาทตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายและภาพวาดติดอยู่ตามต้นเสา อาทิ ภาพเก่าในอดีตเกี่ยวกับการหาบเร่ขายของคนจีน ภาพวาดเกี่ยวกับวรรณคดีไทย  ส่วนสิ่งของจัดแสดง เช่น  เครื่องเบญจรงค์ อาวุธในวรรณคดีไทย เช่น ตรี คฑา จักร สามง่าม เครื่องเขิน เครื่องทองเหลือง และยังมีตู้จัดแสดงสกุลเงินต่างๆ ทั้งเหรียญและธนบัตรของประเทศต่างๆ  หม้อดินประดับลายแกะสลักที่มีลายละเอียดและงดงามฝีมือชาวมอญที่เรียกว่า หม้อทะนน  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนด้วย  งานศิลปะจำลองบ้านเรือนไทยฝีมือของอาจารย์สุธาทิพย์ ศุกระโยธินและนักเรียนในวิชาศิลปะที่อาจารย์ท่านรับผิดชอบสอนอยู่ก่อนที่ท่านจะเกษียณ
 
 นอกจากนั้นยังมีสิ่งของอื่นๆ ในท้องถิ่นและจากภูมิภาคต่างๆ  เช่น กระติ๊บข้าวเหนียว เครื่องจักสาน เช่น เข่งปลาทูที่ถือว่าในอดีตแทบนนทบุรีมีชื่อเสียงมากเรื่องของการสานเข่งปลาทู พัดใบลาน เตารีดสมัยก่อน และงานฝีมือขึ้นชื่อของนนทบุรีอีกชิ้นคือ หัวโขนจำลอง เครื่องถ้วยชามลายครามจำลองจากสมัยต่างๆ  และวิวัฒนาการของเครื่องโทรศัพท์สมัยต่างๆ  ตุ๊กตาจำลองของเทพเจ้าต่างๆในศาสนาฮินดู  
 
ด้านนอกของศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนตกแต่งด้วยเรือเก่าและเครื่องปั้นดินเผา และจัดสวนหย่อมรอบๆ ไว้อย่างร่มรื่น นักเรียนมักใช้เป็นที่หลบร้อน ถือได้ว่า ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนนทบุรี โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม เป็นแหล่งเรียนรู้เล็กๆ ที่มีความหลากหลายในการใช้งานทั้งการเรียนการสอน และแหล่งพักผ่อนของนักเรียนและคนในชุมชน 
 
เมธินีย์  ชอุ่มผล  เรื่องและภาพ
สำรวจวันที่ 25 มิถุนายน 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-