วัดต้นเชือกเป็นวัดเก่าแก่ของนนทบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2324 มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือคือ หลวงพ่อวิหาร พระประธานในวิหาร ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยา นอกจากนี้อดีตเจ้าอาวาสสำคัญของวัด 3 รูปยังได้รับความนับถือและศรัทธาจากชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์วัดต้นเชือก ริเริ่มโดยอดีตนายก อบต. บ้านใหม่ ที่ต้องการอนุรักษ์ข้าวของและเรื่องราวในอดีตให้เด็กรุ่นหลังได้รู้ เช่นเรื่องกุฏิสามเจ้าอาวาส โดยของที่จัดแสดงมีทั้งของวัดและคนที่บริจาครวมถึงซื้อหาเข้ามาเพิ่มเติม อาทิ และเนื่องจากบ้านใหม่ได้รับการกล่าวถึงในนิราศพระแท่นดงรัง ของท่านสุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์จึงนำเสนอ ชีวิตและงานของสุนทรภู่ และนำคำกลอนมาจัดแสดง
โดย: -
วันที่: 03 เมษายน 2555
โดย: -
วันที่: 18 มิถุนายน 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดต้นเชือก
วัดต้นเชือกสร้างเมื่อ พ.ศ. 2324 แต่เพิ่งจะมาเจริญรุ่งเรืองประมาณ พ.ศ. 2490 ในตำบลบ้านใหม่มีวัดเพียงหนึ่งวัด พุทธศาสนิกชนในตำบลบ้านใหม่และตำบลใกล้เคียงมาทำบุญอยู่เป็นจำนวนมาก มีหลวงพ่อวิหาร พระประธานในวิหาร ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านนับถือสักการะกันเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังมีอดีตเจ้าอาวาสสำคัญของวัด ๓ รูป และนี่เองคือที่มาส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์วัดต้นเชือก คุณสรเดช คลังทอง ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์กล่าวถึงความคิดริเริ่มของอดีตนายก อบต. บ้านใหม่ ซึ่งในปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาจังหวัดนนทบุรี หรือ สจ. วสุ ผันเงิน“ท่าน สจ.วสุ เป็นคนอนุรักษ์ของเก่า ไว้ให้เด็กรุ่นหลังได้รู้ เช่นเรื่องกุฏิสามเจ้าอาวาส เราไม่สามารถรู้เรื่องเจ้าอาวาสสามองค์ในอดีตได้ เราสามารถถามจากผู้เฒ่า และมีรูปเก่าอยู่ แล้วมาสร้างเป็นหุ่นขี้ผึ้ง ให้รู้ว่า อ.ไพ อ.เพลิน อ.ย้อย ที่ปู่ย่าตายายและพ่อแม่เรานับถือ ได้รับรู้เรื่องราวที่ 'กุฏิ 3 เจ้าอาวาส' แล้วก็อาคารเกี่ยวกับกวีสามท่าน เพื่อให้เด็กๆ มาศึกษา เช่นในวันภาษาไทย สุนทรภู่ได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่น คือถือว่าเป็นกวีเอก ท่านผ่านที่นี่”
กวีที่คุณสรเดชกล่าวถึงนั้น หมายถึง กรมหลวงวงษาธิราชสนิท, สุนทรภู่, และนายมี หมื่นพรหมสมภัสสร คุณสรเดช ยกตัวอย่างบทประพันธ์ของสุนทรภู่ เพื่ออธิบายให้เห็นว่า บทกลอนสามารถสะท้อนให้เห็นภาพอดีตบ้านใหม่ ครั้งเมื่อท่านเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์
ท่านผ่านที่นี่ ท่านไม่ได้ขึ้นมาบนนี้ แต่ท่านแต่งกลอนเมื่อ 169 ปีก่อน สามารถให้เราเห็นภาพได้ มองเห็นอดีตของเรา ท่านมาเมื่อ พ.ศ.2385 ท่านจะไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ขณะที่ท่านผ่าน กวีท่านก็แต่งกลอนบอกเล่าเรื่องราว ท่านกล่าว
“ถึงบ้านใหม่ธงทองริมคลองลัด ที่หน้าวัดเห็นเขาปักเสาหงส์
ขอความรักหนักแน่นให้แสนตรง เห็นคันธงแท้เที่ยงอย่าเอียงเอน
ได้ชมวัดศรัทธาสาธุสะ ไหว้ทั้งพระปฏิมามหาเถร
นาวาล่องคล้องแคล้วเขาแจวเจน เฝยและเณรน้ำพร่างกระจ่างกระจาย
ดูชาวบ้านพรานปลาทำลามก เที่ยวดักนกยิ่งนกเนื้อมาเถือขาย
เป็นทุ่งนาป่าไม้ลำลายลาย พวกหญิงชายชาวเถื่อนอยู่เรือนโรง
ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน น่าสำราญเรียงรันควันโขมง
ถึงชวากปาช่องชื่อคลองโยง เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ
มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก ล้วนต้มเปลือกเปลือปละสวะไสว
ที่เรือน้อยลอยล่องค่อยคล่องไป ที่เริอใหญ่โป่งโล้งที่โยงควาย
เวทนากาสรสู้ถอนถีบ เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย
ถึงแต่งชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยง”
คุณสรเดชให้คำอธิบายความหมายของบทกลอนว่า “คลองบางใหญ่ของเราเป็นร่องน้ำธรรมชาติ เป็นร่องน้ำโบราณ ไม่ได้เกิดจากการขุด พอเราอยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้าย และแม่น้ำนครชัยศรีฝั่งขวา ขณะที่น้ำขึ้นก็จะซัดขี้เลนเข้าคลองเล็กๆ อย่างคลองบางใหญ่ ทำให้ขี้เลนมาตกอยู่หน้าวัดต้นเชือก ถ้าเรือเล็กๆ พอกะท่อนกะแท่นไปได้ ถ้าเรือใหญ่ๆ 'โก้งโล้งต้องโยงควาย' จะมีการโยงควายกัน เขาเลยเรียกว่าวัดต้นเชือก” นี่เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายถึงการผูกโยงศิลปินในระดับชาติเข้ากับความเป็นท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังได้ยกตัวอย่างของผลงานของนายมี หมื่นพรหมสมภัสสร จากนิราศพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี ท่านเดินทางมาถึงตรงนี้ ก็แต่งบทกลอนว่า
“มาตะบึงลุถึงหัวโยงเชือก เป็นโคลนเทือกท้องนาชลาสินธุ์
คลองก็เล็กน้ำก็ตื้นเห็นพื้นดิน ไม่น่ากินน้ำท่าระอาใจ
ต้องจ้างเรือโยงเรือเหลือลำบาก ให้ควายลากเรือเลื่อนเขยือนไหว
ผูกระนาวนาวนืดเป็นพืดไป ทั้งเจ๊กไทปนกันสนั่นอึง
ไม่พักแจวพักถ่อให้รอรา เป็นราคาจ้างประจำลำละสลึง
ความก็เดินดันดังกันกังกึง พอเชือกตึงเรือตามกระนาบมา”
คุณสรเดชได้กล่าวสรุปถึงขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับการสร้างเรื่องราวของบ้านใหม่จากผลงานของกวีสยาม “เราอยู่คลองบางใหญ่ เราก็สืบค้นว่ามีนิราศของกวีที่ท่านเคยผ่านมา แล้วเป็นสถานที่ที่หอสมุดแห่งชาติก็กำหนด [วิเคราะห์] จากนิราศและตามบทกลอน เป็นสถานที่บ้านเราด้วยอยู่ในนิราศพระปฐมฯ เพราะการกล่าวบทกลอนทำให้เราเห็นภาพในอดีตที่ผ่านมา คำบอกเล่าของกวีก็ทำให้เราเห็นว่าบ้านเราเป็นอย่างไร อยู่กันประมาณไหน เพราะเวลาที่ท่านผ่าน ท่านก็พรรณนาเรื่องราวในอดีตได้ทั้งหมด เพราะเราไม่สามารถรู้เรื่องราวในอดีตได้”
ส่วนการจัดแสดงในบริเวณอื่นๆ เช่น ใน “กุฏิ 3 เจ้าอาวาส” คุณสรเดชอธิบายว่า “เจ้าอาวาสทั้งสามท่าน ช่วยเหลือชาวบ้านตลอด น้ำท่วมอะไรท่านไม่เคยทิ้ง องค์นี้คือ พระอาจารย์จู (พระครูนนทกิจพิศาล) ได้สร้างโรงเรียนสตรนนทบุรี บางใหญ่ (นนทกิจพิศาล) แล้วก็มีพระอธิการไพ และอาจารย์เพลิน”
หรือข้าวของในการจัดแสดง “ของที่จัดแสดงในนี้ สจ.วสุซื้อมาบ้าง แล้วหากมีคนที่เห็นด้วยกับการทำพิพิธภัณฑ์ก็เอาของมาให้ด้วย บางวันมีตาเอาไหมาให้ คุณตาเป็นคนในชุมชน หลายท่านก็เอาของมาให้ ภาพเก่าเล่าเรื่อง ส่วนเนื้อหาโดยส่วนใหญ่ เอามาจากหนังสือหลายๆ เล่ม จากหอสมุดแห่งชาติ ไปถ่ายเอกสาร เช่น ชีวิตและงานของสุนทรภู่ แล้วเอากลอนมาตีแผ่บรรยาย”
เขายังกล่าวเสริมด้วยว่า “นอกจากนี้ เรามีโครงการสร้างห้องสมุด รอเงินสนับสนุน แถวๆ นี้ไม่มีห้องสมุด หอพระไตรจะสอนศาสนา เพื่อให้เด็กรู้จักศาสนาบ้าง แต่ชื่อไม่ได้เป็นอย่างเป็นอย่างการ อาคารนี้สร้างใหม่ เป็นเงินอุดหนุน ส่วนหอระฆังสร้างใหม่ เพื่อให้คนมาเที่ยวตีระฆัง” ทั้งหมดนี้ คุณสรเดชกล่าวถึงประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับ โดยพวกเขาจะได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตผ่านบทกลอนของกวี และได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา และเจ้าอาวาสที่เคยมีบทบาทในอดีต
คุณสรเดชกล่าวว่าพื้นที่ที่เป็นพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในความรับผิดชอบ ๓ ท้องถิ่น อบต.บางใหญ่ อบต.บ้านใหม่ และเทศบาลบางใหญ่ แม้ว่าในกระบวนการสร้างพิพิธภัณฑ์และหุ่นขี้ผึ้งได้รับเงินบริจาคจากผู้ร่วมสมทบทุนและศรัทธา แต่สำหรับการดำเนินงานกลับต้องอาศัยเงินส่วนตัวของ สจ.วสุ ผันเงิน “ดังจะเห็นได้ว่าเรื่องความสะอาด อาจไม่มากนัก เพราะเราต้องช่วยตัวเอง เราต้องดิ้นกันเอง ทั้งขายก๋วยเตี๋ยว นำชม สจ. อุดหนุนบ้าง แต่เราจะอยู่ได้ เราต้องช่วยตัวเองด้วย หลักๆ มีเจ้าหน้าที่ 3 คน และจ้างคนทำก๋วยเตี๋ยว 1 คน ผมกับนุ้ย รับเงินส่วนตัวจาก สจ. แล้วมีคุณอารมณ์ ทำความสะอาด คือพอขายก๋วยเตี๋ยวได้ก็แบ่งกันไป ก็แบ่งให้คุณอารมณ์กับน้องโอ๋”
นี่เป็นปัญหาของการเมืองท้องถิ่น ที่เมื่อผู้มีอำนาจเปลี่ยน โครงการต่างๆ ก็เป็นอันต้องไปตามผู้มีอำนาจเหล่านี้
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนาม วันที่ 18 มิถุนายน 2554
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
พิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย
จ. นนทบุรี
ศูนย์สารนิเทศโภชนาการ อมร นนทสุต กรมอนามัย
จ. นนทบุรี
พิพิธภัณฑ์วางแผนครอบครัว
จ. นนทบุรี