ภารกิจของกรมพลาธิการทหารบก ส่วนใหญ่เป็นการตระเตรียม การสร้าง การจัดหา รวบรวมเก็บรักษาจัดหา เบิก-จ่ายเครื่องสรรพยุทธ ยุทธภัณฑ์ ยุทธอาภรณ์ ตลอดจน รับ-ส่ง สรรพสิ่งของต่างๆ ของกองทัพบก ซึ่งรวมถึงการรับ-ส่ง เครื่องภาชนะ เครื่องแต่งกาย เสบียงอาหาร และการจัดเลี้ยงให้แก่กองทหารโดยเฉพาะการจัดเลี้ยงให้แก่นายทหารระดับผู้ บังคับบัญชาชั้นสูง ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่จะเป็นเจ้านายชั้นสูง ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจัดหาภาชนะที่ดีมีคุณภาพมาใช้ในการจัดเลี้ยง ซึ่งเป็นที่มาของวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์กรมพลาธิการทหารบก เดิมวัตถุเหล่านี้เก็บรักษาไว้ในหลายพื้นที่ ต่อมาได้ถูกรวบรวมและเก็บรักษาไว้ณ กรมพลาธิการทหารบกในปัจจุบัน โดยการปรับปรุงพื้นที่เดิมของแผนกธุรการ กรมพลาธิการทหารบก ให้เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ และเคลื่อนย้ายวัตถุโบราณ และเครื่องแต่งกายรวมทั้งสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการในอดีตจากห้องพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว เข้าสู่พิพิธภัณฑ์ถาวร โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ เป็นแหล่งรวบรวมเก็บรักษาวัตถุสิ่งของที่ใช้ในสายงานของพลาธิการในอดีต เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและเห็นถึงขีดความสามารถ ในการพัฒนาสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการในอดีตจนถึงปัจจุบัน
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์กรมพลาธิการทหารบก
เดิมวัตถุโบราณเหล่านี้เก็บรักษาไว้ที่คลังเก็บสิ่งอุปกรณ์หลายแห่ง เช่น เครื่องลายคราม เครื่องกระเบื้องเคลือบ เครื่องแก้ว และเครื่องโลหะ เก็บรักษาไว้ที่คลังกองเกียกกาย บางโพ ส่วนเครื่องแต่งกาย เครื่องสนาม และอุปกรณ์สายพลาธิการอื่น ๆ เก็บรักษาไว้ที่ แผนกธุรการ กรมพลาธิการทหารบก ในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม และคลังวัดโพธิ์ ปากคลองตลาด
ในปลายปีพุทธศักราช 2536 พลตรี สิทธิชัย สัมมาทัต เจ้ากรมพลาธิการทหารบกในขณะนั้น ได้มีดำริให้จัดทำห้องพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ โดยการปรับปรุงพื้นที่เดิมของแผนกธุรการ กรมพลาธิการทหารบก ให้เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ และเคลื่อนย้ายวัตถุโบราณ และเครื่องแต่งกายรวมทั้งสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการในอดีต จากห้องพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว เข้าสู่พิพิธภัณฑ์ถาวร ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ ชั้น 2 อาคารกองบัญชาการ กรมพลาธิการทหารบก โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ เป็นแหล่งรวบรวมเก็บรักษาวัตถุสิ่งของที่ใช้ในสายงานของพลาธิการในอดีต เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและเห็นถึงขีดความสามารถ ในการพัฒนาสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการในอดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับวัตถุโบราณที่จัดแสดงนั้น ทางพิพิธภัณฑ์ กรมพลาธิการทหารบก ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านนอกจัดแสดง เครื่องแต่งกายทหารบกและสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการในอดีต
ส่วนด้านในจัดแสดง เครื่องลายคราม ภาชนะดินเผา เครื่องกระเบื้องเคลือบ เครื่องแก้ว และเครื่องโลหะ เช่น เครื่องลายครามและภาชนะดินเผา ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ กรมพลาธิการทหารบก นั้น ส่วนใหญ่เป็นของที่ทำขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พอจะจำแนกได้คือ อ่างน้ำลายคราม ถ้วยน้ำชา และ กาน้ำลายคราม กาน้ำชา และ ปั้นชา
เครื่องลายครามที่กล่าวมานี้ ส่วนใหญ่จะเขียนลายเป็นรูป ตนหาฟืน นักปราชญ์ ภาพวิว ลายรูปสัตว์ เช่น มังกร กิเลน (ม้าผสมมังกร) สิงโต ไก่ฟ้า เป็ด ลายพันธ์พฤกษา มีลายดอกเบญจมาศ ลายก้านขดคู่กับดอกโบตั๋น ลายพวกนี้จะอยู่ที่ตัวภาชนะ ส่วนลายประแจจีน ลายไข่มุก ลายหัวยู่อี ลายดอกบ๊วย ลายใบกล้วย กลีบบัว จะตกแต่งอยู่ที่ส่วนปากหรือส่วนก้นของภาชนะ นอกจากนี้ยังมีลายอักษรจีนที่เขียนประวัติและคำสอนของนักปราชญ์ ชาวจีน เป็นต้น
เครื่องกระเบื้องเคลือบ เครื่องแก้วและเครื่องโลหะ จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ขณะเดียวกันได้มีการส่งพระราชโอรสและข้าราชการไปศึกษายังต่างประเทศเมื่อ สำเร็จการศึกษากลับมาบางท่านเข้ารับราชการทหาร จึงมีการสั่งซื้อเครื่องกระเบื้องเคลือบ เครื่องแก้ว และเครื่องโลหะมาใช้ กรมยกกระบัตรทหารบกและ กรมเกียกกายทหารบก สมัยนั้นซึ่งมีหน้าที่จัดหาภาชนะและจัดเลี้ยงให้กับเจ้านายชั้นสูงและกองทัพ จึงมีการสั่งซื้อและสั่งทำเครื่องกระเบื้องเคลือบ เครื่องแก้ว และเครื่องโลหะ จากยุโรปและสหรัฐอเมริกามาใช้ กล่าวคือ เป็นการออกแบบส่งไปสั่งทำที่ยุโรป เช่น
1. ชุดอาหารกระเบื้องเคลือบที่มีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ สพปทจ.5 อันเป็นนาม "สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 5" ซึ่งทรงใช้ในระหว่างครองราชย์ระยะแรก ๆ ราว พ.ศ.2413 ก่อนที่จะทรงเปลี่ยนเป็น จ.ป.ร.
2. ชุดอาหารกระเบื้องเคลือบสีขาว ที่มีเครื่องหมายจักรภายในมีรูปพระเกี้ยวอยู่ตรงกลาง และมีอักษรเขียนว่า กรมทหารบก มีอายุประมาณ พ.ศ. 2433 ถึง พ.ศ. 2475
3. ชุดอาหารกระเบื้องเคลือบ มีรูปหน้าเสืออยู่ตรงกลางระหว่างคำว่า "กองเสือป่า" กับคำว่า "กรุงเทพ" ด้านล่างพิมพ์คติพจน์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เสือป่าและลูกเสือว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" เป็นชุดกระเบื้องเคลือบที่ทำขึ้นใช้ในกิจการเสือป่า สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสั่งทำจากบริษัท COPELAND ประเทศอังกฤษ กรมเกียกกายทหารบก ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดเลี้ยงได้นำมาใช้ระหว่างการฝึกซ้อมการประลองยุทธ์ ประมาณ พ.ศ. 2454 ถึง พ.ศ. 2468
4. ชุดล้างหน้ากระเบื้องเคลือบ ประกอบด้วย ชามอ่างใส่น้ำ เหยือกใหญ่ เหยือกเล็ก ที่ใส่สบู่ ที่ใส่แปลงถูฟัน และกระโถน เขียนลายดอกไม้สีต่าง ๆ เคลือบดีบุกใส สั่งซื้อจากประเทศอังกฤษ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ 6
5. ชุดจัดเลี้ยงแก้วเจียระไน ประกอบด้วย แจกัน ถาดใส่ผลไม้ ชาม ที่เขี่ยบุหรี่ เหยือกน้ำแข็ง เหยือกน้ำ แก้วน้ำ พาน และโถใส่ของ ซึ่งเป็นเครื่องแก้วเนื้อดีจากยุโรป
6. เครื่องโลหะ ประกอบด้วย ชุดล้างหน้าโลหะ ชุดน้ำชาลายชื่องกระจก ชุดน้ำชาเงินดุน โถใส่ข้าวมีพระบรมนามาภิไธยย่อ สพปมจ.5 เหยือกใส่นม มีพระบรมนามาภิไธยย่อ จปร. ถังใส่น้ำแข็ง ซึ่งมีการสั่งซื้อและสั่งทำจากยุโรป
สำหรับเครื่องแต่งกายทหาร เครื่องสนามและอุปกรณ์สายพลาธิการที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ กรมพลาธิการทหารบก แห่งนี้มีหลายอย่างที่หาดูได้ยาก เช่น
1. หมวกเหล็กแบบฝรั่งเศส และเครื่องแบบพร้อมเครื่องสนามและหน้ากากป้องกันไอพิษ เป็นของที่เริ่มมีใช้ครั้งแรกเมื่อครั้งที่กองทัพไทยเข้าร่วมรบกับกองทัพ สัมพันธมิตรในคราวสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2461) ณ ประเทศฝรั่งเศส และใช้เรื่อยมา จนถึงสงครามเกาหลี (พ.ศ. 2493)
2. หมวกแฮลเม็ต ยอดครุฑ โลหะชุบทองและโลหะเงินทหารรักษาพระองค์ เป็นของที่ใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. เครื่องหมายแสดงยศอินทรธนู ยศร้อยเอก ทหารปืนใหญ่ (พื้นสีเหลืองมีจักร 3 จักร) และอินทรธนูแข็ง ยศร้อยโท ทหารม้า (พื้นสีน้ำเงินมีจักร 2 จักร) เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2411 ถึง พ.ศ. 2475
4. เครื่องหมายแสดงยศ บั้งนายสิบกองพันทหารราบที่ 9 ทหารรักษาวังในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นบั้งพื้นสีแดงชาด มีแถบทองประกอบกับตราพระมหามงกุฎเพชราวุธอยู่เหนือบั้ง
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
การทหารและสงคราม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องถ้วย เครื่องแบบทหาร กรมพลาธิการทหารบก
พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี
จ. นนทบุรี
พิพิธภัณฑ์ของเล่น Tooney Museum
จ. นนทบุรี
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก
จ. นนทบุรี