โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
ชื่อผู้แต่ง: กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร | ปีที่พิมพ์: มปป.
ที่มา: กรุงเทพฯ:กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน
ย่านคลองสาน เป็นอีกเขตหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่ย่านนี้จะเป็นย่านการค้าขายที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ เขตคลองสานแห่งนี้รวบรวมเรื่องราวของเขตนี้ไว้อย่างครบถ้วนพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนชั้นสอง ของห้องสมุดประชาชนกรุงเทพมหานคร วัดอนงคาราม บริเวณชั้น 2 เป็นห้องขนาดใหญ่ ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนด้านหนึ่งเป็นห้องสมุด อีกด้านเป็นห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ที่ถูกแบ่งด้วยนิทรรศการต่างๆ ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์เมื่อเข้าไปจะเป็นประตูบานใหญ่ที่มีตัวหนังสือภาษาอังกฤษเขียนว่า RBMCO ซึ่งเป็นชื่อบริษัทการค้าของแขกตระกูลนานา ซึ่งปัจจุบันประตูนี้ยังอยู่เป็นสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของการค้าขายของตระกูลนี้ที่หน้าอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่าฯ
ส่วนต่อมาเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาของกรุงเทพฯ เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีตและปัจจุบัน และย่านการค้าริมแม่น้ำย่านคลองสานที่รุ่งเรืองมากจนกระทั่งมีการสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ และมีถนนตัดผ่านย่านนี้ การค้าทางน้ำเริ่มลดบทบาทลงเพราะถนนได้เข้ามาแทนที่ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เล่าว่าเขตคลองสานเป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมยุคแรก เพราะเมื่อมีการนำเครื่องจักรอุตสาหกรรมเข้ามาใช้ทำโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะขนทางเรือเข้ามาที่นี่เป็นจุดแรก โรงงานที่มีชื่อเสียงของเขตนี้ในอดีตก็เช่น โรงเกลือแหลมทอง ภายในพิพิธภัณฑ์ได้นำเครื่องมือของโรงเกลือมาจัดแสดงมีทั้งกะพ้อล้างเกลือที่ใช้บรรจุเกลือไปล้าง เครื่องตักเกลือและอีกหลายอย่างที่ผู้เข้าชมสามารถจับต้องของจริงได้ทั้งหมด ป้ายร้านขายข้าวสาร ยุคเก่าที่ตัวสะกดยังคงเป็นแบบโบราณ
ส่วนที่น่าสนใจก็คือนิทรรศการเรื่องเส้นทางรถไฟสายคลองสาน – ท่าจีน ที่สมัยก่อนเป็นเส้นทางการเดินที่สำคัญของพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการขนสินค้าจากต่างจังหวัดเข้ามา ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว ในส่วนนี้มีเครื่องดับเพลิงโบราณของสถานีรถไฟและระฆังของสถานีรถไฟมาจัดแสดงด้วย
ก่อนที่เขตคลองสานจะกลายเป็นเขตอุตสาหกรรม ดั้งเดิมบริเวณนี้เป็นพื้นที่สวนมาก่อน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงจัดแสดงเกี่ยวกับคนพื้นถิ่นและพืชสวนที่สำคัญเช่น ลางสาดคลองสาน เชื่อว่านำพันธุ์มาจากเมืองปัตตาเวีย จึงมีอีกชื่อว่า ลางสาดปัตตาเวียหรือลางสาดกะหลาป๋า มีรสชาติกลมกล่อมหวานเจือหอม เงาะน้ำตาดกรวด ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าหวานแค่ไหน ผู้นำชมบอกว่าเป็นเงาะที่มีเนื้อร่อนอร่อย ปัจจุบันหายากและได้มีการนำไปเพาะไว้ที่ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาสและศูนย์วิจัยพืชสวนเขตร้อน จ.จันทบุรีเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์แล้ว และมะปรางหวานที่มีผู้เล่าว่าเป็นมะปรางที่รสชาติหวานสนิท เนื้อหนา จนสามารถนำมากินกับข้าวเหนียวมูนแทนมะม่วงได้เลย แต่ปัจจุบันผลไม้ทั้งสามชนิดหาทานในเขตคลองสานไม่ได้แล้ว
อีกส่วนหนึ่งจัดแสดงหนึ่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งมีทั้งแขก จีน ไทย อยู่ร่วมกันได้อย่างผสมผสาน ศาสนสถานจึงมีทั้งวัด มัสยิด และศาลเจ้าจีน คนทั้ง 3 เชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ในย่านนี้จึงมีวัดที่สวยงาม มัสยิดขนาดใหญ่ และศาลเจ้าที่มีผู้นับถือมากมายเช่นศาลเจ้ากวนอู ใครมาเที่ยวในย่านนี้จะได้สนุกสนานกับความหลากหลายทางสถาปัตยกรรม
ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ บุคคลสำคัญที่เคยอยู่ในย่านคลองสานคือ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของชาวไทย พระองค์เคยพำนักอยู่เขตนี้ก่อนที่จะทรงเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ ภายในพิพิธภัณฑ์มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์แสดงอยู่ด้วย บุคคลสำคัญหรือตระกูลที่สำคัญของเขตคลองสานก็คือ ตระกูลบุนนาค ซึ่งเป็นขุนนางตระกูลใหญ่ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา และรับใช้ราชการมาจนถึงทุกวันนี้ ตระกูลนี้สร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณฝั่งธนบุรีและเขตคลองสาน และเจ้าสัวจีนสองตระกูลใหญ่ๆ คือ ตระกูลหวั่งหลี และตระกูลโปษยานนท์ ซึ่งปัจจุบันยังมีบ้านแบบจีนของตระกูลโปษยานนท์เรียกว่าบ้านโปษ์กี่ เปิดให้เข้าชมได้
ส่วนสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับงานช่างฝีมือของเขตคลองสาน ทั้งช่างไม้ ช่างทำหัวโขน และครูดนตรีไทยตระกูลพาทยกุล บอกถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นนี้ สำหรับผู้ที่มีความสนใจด้านความงามของสถาปัตยกรรมและวัดวาอาราม ถ้ามาที่เขตคลองสานแห่งนี้รับรองว่าไม่ผิดหวัง ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีแผนที่สำหรับเดินทางเที่ยวชมในเขตให้ด้วย ถ้าได้เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อนจะไปเที่ยวชมสถานที่จริง จะเป็นการปูพื้นฐานความรู้ที่ดี จะได้ทำความเข้าใจก่อนว่าเขตคลองสานที่มีความหลากหลาย ทั้งผู้คน และศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้อย่างไร
มัณฑนา ชอุ่มผล : เขียน
วิรวรรณ์ คำดาวเรือง : ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม 21 มีนาคม 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ผลไม้ คหบดี วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา ช่างฝีมือ เครื่องดนตรี รถไฟ พระบรมวงศานุวงศ์ โรงเกลือ โรงสี
พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง
จ. กรุงเทพมหานคร