พิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร.4


ที่อยู่:
วัดราชาธิวาสวิหาร เลขที่ 3 ถนนสามเสน 9 แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์:
02-241-4679, 02-241-4679, 02-668-7988, 081-251-7165 (พระครูปลัด กวีวัฒน์)
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.00- 16.00 (แจ้งให้ทราบล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
ของเด่น:
เครื่องใช้พระภิกษุสมัยก่อน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 22 มิถุนายน 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร.4

อาคารพิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร.4 คือพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4 พระองค์เคยเสด็จมาประทับที่วัดนี้ในครั้งที่ทรงผนวชเป็นเวลาถึง 10 ปี  แต่เดิมวัดแห่งนี้ชื่อวัดสมอราย   ต่อมาหลังจากเสด็จมาประทับจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดราชาธิวาส  วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างสมัยกรุงละโว้  หรือก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ประมาณปี พ.ศ.1820  
               
สิ่งของจัดแสดงอยู่ชั้น 2  เป็นสิ่งของเครื่องใช้ของพระสงฆ์  ส่วนใหญ่ท่านเจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมา  ห้องจัดแสดงมี 5 ห้อง ได้แก่ ห้องผ้า  ห้องเครื่องเจียระไน เครื่องเคลือบ ปั้นชา  ห้องเครื่องมุก เครื่องถมปัด  ห้องเครื่องทองเหลือง  ห้องคัมภีร์ใบลาน  คำบรรยายจะมีเป็นโปสเตอร์ติดบริเวณผนัง   ส่วนชั้นล่างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม  สำหรับสถานศึกษาต่างๆที่ติดต่อพานักเรียนนักศึกษามาปฏิบัติธรรม  ทางวัดจะจัดที่พักและหาอาจารย์มาช่วยสอน
               
ท่านพระครูปลัด กวีวัฒน์คือผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์และเป็นผู้นำชม  ท่านบอกว่าการจัดแสดงเริ่มในปี 2550 ผู้เข้าชมส่วนใหญ่มากับทัวร์ 9 วัด  มีทั้งทัวร์ไทยและต่างชาติจากจีน เกาหลี  กลุ่มใหญ่มาครั้งหนึ่งจะประมาณ 40-50 คน  มักจะขอให้เปิดเข้าชมในวันเสาร์-อาทิตย์  
               
หน่วยงานที่เข้ามาช่วยจัดทำพิพิธภัณฑ์มีกรมศิลปากร  ช่วยทำทะเบียนสิ่งของ  ของใช้ต่างๆมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 จนถึงรัชกาลที่ 6 แต่ที่มีเป็นจำนวนมากเป็นสมัยรัชกาลที่ 5  ในการสร้างอาคารมีตระกูลของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นผู้อุปถัมภ์  เนื่องจากเคยมาเป็นศิษย์วัดที่นี่  และได้ปวารณาตัวไว้ว่าจะอุปถัมภ์วัด
               
ห้องแรกคือห้องผ้า  ผู้เข้าชมจะพบกับผ้าโบราณผืนงามลวดลายวิจิตรจัดแสดงในตู้กระจก  มีผ้าทรงพระพุทธรูป  เป็นผ้าที่พุทธศาสนิกชนนิยมถวายเป็นการกุศลแด่พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถและพระวิหาร  ส่วนผ้ากราบ   เป็นผ้าที่พระสงฆ์ใช้รองรับในท่ากราบแบบเบญจางคประดิษฐ์  คือเข่าสองข้าง มือทั้งสองกับหน้าผากจรดลงกับพื้น เวลากราบพระพุทธรูปหรือกราบพระเถระผู้ใหญ่  และใช้เวลารับประเคนของจากสตรี  ผ้ากราบที่มีผู้มีจิตศรัทธาทำถวายเนื่องในโอกาสต่างๆ มักปักด้วยไหม ดิ้น หรือพิมพ์ชื่อ ลวดลายหรือรูป  สัญลักษณ์ของผู้ถวายหรือผู้ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้   

ที่เห็นเป็นย่ามที่มีลวดลายสวยงาม  กล่าวว่า  ย่ามเป็นถุงใส่ของ  ในสมัยพุทธกาล  พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุสาวกใช้ถุงหรือย่ามเพื่อใส่ยา   สนับมือและรองเท้า  ปัจจุบันพระสงฆ์ใช้ย่ามใส่สิ่งของ  เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น  ผ้ากราบ  ผ้าเช็ดหน้า ช้อนส้อม เครื่องเขียน สมุด หนังสือ ฯลฯ
               
ผ้าอีกแบบคือ ถลกบาตร ประกอบด้วย สายโยค(สายโยก) เป็นสายคล้องบ่าและตะเครียว(ตะเคียว) คือถุงตาข่ายถักด้วยด้ายหรือไหมเป็นตาโปร่งมีหูรูด  สำหรับหุ้มถลกบาตรอีกชั้นหนึ่ง  ของใช้อื่นๆได้แก่ ไม้เท้า  จัดเป็นบริขารเครื่องใช้สอยอย่างหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ในเวลาเดินธุดงค์  หรือสำหรับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ถือพยุงกาย เมื่ออยู่ในพระอารามหรือเวลาเดินทาง
               
ห้องที่สองต่อมา  ผู้เข้าชมจะได้เห็นปั้นชาและที่ชาเป็นชุดอย่างสวยงาม  ทุกชิ้นอยู่ในสภาพดีสมบูรณ์  ปั้นชาหรือกาชงชาจีน  นิยมสะสมกันมากในสมันรัชกาลที่ 5 นิยมผลิต 3 สีคือ สีตับหมูหรือสีดำ สีแดงอ่อนและสีแดงเข้ม  ส่วนที่ชาคืออุปกรณ์สำหรับเก็บและชงชา ประกอบด้วย ถาด ปั้นชา และถ้วยชา  ส่วนภาชนะที่มีลวดลายสวยงามอื่นๆ  คือเครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน  มีลักษณะผสมผสานระหว่างจีนกับไทย  นิยมจัดให้มีสีและลวดลายอย่างเดียวกัน  เช่น  ชุดเครื่องกระเบื้องสีขาว  เครื่องลายครามลายมังกรดั้นเมฆ  ลายสิงโต  ลายทิวทัศน์
               
ห้องที่สามมีเครื่องมุก เครื่องถมปัด  เครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทอง  เครื่องถ้วยลายกุหลาบน้ำทอง  ของชำร่วยของที่ระลึก  สำรับยาสมุนไพร  เครื่องมุกเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อน  ทำจากเปลือกหอยมุกทะเลและมุกน้ำจืดที่สามารถสะท้อนแสงเป็นสีรุ้งแวววาว  ถือเป็นของสูง  สำหรับสร้างเครื่องราชูปโภค  หรือสร้างถวายพระศาสนา  ถ้าเป็นเครื่องใช้พระสงฆ์จะทำเป็นฝาและเชิงบาตร  ประกับคัมภีร์ พาน ตะลุ่ม หีบ กล่อง  และตู้พระธรรม   

เครื่องถมปัดคือเครื่องทองแดงเคลือบน้ำยาสีเป็นลวดลายต่างๆ กรรมทำวิธีคล้ายเครื่องถม  ใช้ลูกปัดป่นละเอียดเข้ากับปรอท  ทาลงบนโละตามลวดลาย  แล้วใช้ความร้อนไล่ปรอทให้ระเหยไป  เหลือแต่สีแก้วติดกับโลหะ จึงเรียกว่า ถมปัด  ในห้องนี้ยังมีภาชนะที่สวยงามเป็นเครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทอง เป็นเครื่องถ้วยสั่งทำจากประเทศจีน แต่ลวดลายสีสันเป็นไทย ใช้สี 3-8 สี  สีที่สำคัญได้แก่ แดง เขียว ดำ เหลือง  ในระยะหลังมีการใช้สีชมพู ม่วง น้ำเงิน ส้ม   เครื่องถ้วยลายกุหลาบน้ำทอง    เป็นเครื่องกระเบื้องทำเป็นแจกัน กา ชามฝา อ่างและจาน  เขียนลายทั้งด้านในและด้านนอก  เป็นลายรูปบุคคล เล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์หรือเทพนิยาย  สลับกับลายดอกไม้และนกในช่องกระจก 

ในห้องนี้กลางห้องยังมีโกศที่มีอัฐิของท่านเจ้าอาวาสในอดีตตั้งไว้  ท่านพระครูปลัด กวีวัฒน์บอกว่า  เมื่อก่อนใช้วางพระพุทธรูป  แต่ได้ถูกโจรกรรมเมื่อนานมาแล้วในครั้งที่ยังอยู่ในศาลาการเปรียญ  ตรงมุมด้านหนึ่งยังมีขวดแก้วยาสมุนไพรแบบต่างๆ และบรรดาของชำร่วยและของที่ระลึก  สิ่งของเหล่านี้เจ้าภาพผู้จัดงานพิธีและบำเพ็ญกุศลในวาระสำคัญต่างๆ จัดทำแจกเป็นที่ระลึกแก่ญาติมิตรผู้มาช่วยงาน  และถวายเป็นไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ที่มาสวดในพิธี  เช่น เครื่องเขียน กล่องแว่นตา กล่องบุหรี่ กล่องหมาก กล่องไม้ขีด กล่องนามบัตร นาฬิกาพก กล้องสูบยา กระเป๋าหนัง พวงกุญแจ  สิ่งของต่างๆ มักจะบอกวาระในการสร้างเพื่อให้เป็นที่ระลึกสำหรับผู้รับ  นอกจากนี้ยังมีภาพพัดยศ ตาลปัตรแบบต่างๆ มีสมุดภาพที่ท่านเจ้าอาวาสสมัยก่อนรวบรวมไว้ เป็นภาพบรรยากาศบ้านเมืองในอดีต

ห้องที่สี่เป็นเครื่องทองเหลือง  เครื่องเขิน  เครื่องทองเหลืองทำมาจากโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี  มีสีเหลืองคล้ายทองคำ  นิยมทำเป็นเครื่องใช้สอยเช่น โตก พาน แจกัน ขัน ทัพพี ช้อนส้อม ถาดและเครื่องบูชา  ส่วนเครื่องเขินทำมาจากไม้  ไม้ไผ่ หวายกลึงหรือสาน  ตกแต่งผิวเรียบด้วยยางรักผสมสีชาด  อาจจะลงรักทับหรือทำลวดลายด้วยสี  นิยมทำเป็นเครื่องใช้ เช่น โตก พาน กล่องยาสูบ ขัน  การทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาหรือเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์  มักตกแต่งลวดลายด้วยเงินและทองอย่างงดงาม  เช่น ตะลุ่ม ถาด พาน พานแว่นฟ้า เป็นต้น
ห้องที่ห้าห้องสุดท้ายจัดแสดงคัมภีร์ใบลาน  คัมภีร์โบราณเหล่านี้หอสมุดแห่งชาติมาช่วยดูแล  จัดเก็บทำความสะอาด  ผ้าห่อคัมภีร์ที่เห็นเป็นของใหม่  ของเก่านั้นเก็บไว้อีกที่หนึ่ง  เนื้อหาในคัมภีร์ใบลานเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระไตรปิฎก  พระสูตรต่างๆ ตำรายาสมุนไพรโบราณ  ในห้องนี้มีตู้เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 5  ชุดนี้ครบถ้วนถือว่าหายาก

จากนั้นท่านพระครูได้พาไปที่ชั้นสาม  มีอีกห้องหนึ่งที่เป็นเรื่องราวของร.6 มีรูปปั้นเสมือนองค์จริงนุ่งห่มขาว  วัสดุปั้นทำจากไฟเบอร์  เครื่องใช้ต่างๆบางส่วนเป็นของท่านเช่น บาตร  ส่วนจีวรเป็นของจำลองขึ้นมา

สิ่งที่ท่านพระครูอยากจัดทำเพิ่มเติม  คือคำอธิบายในรายละเอียดยุคสมัยของวัตถุจัดแสดงชิ้นสำคัญ  ซึ่งยังต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยจัดทำ  จะได้เป็นการให้ความรู้กับผู้เข้าชมมากขึ้น  หลังจากเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์  วัดราชาธิวาสวิหารยังมีสถานที่สำคัญอีกมากมาย อาทิเช่น พระอุโบสถที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม  ที่เพิ่งบูรณะเสร็จคือพระตำหนักสี่ฤดู   พระตำหนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง(พระตำหนักพญาไท) หอรูปพระธรรมวโรดม (เซ่ง  อุตตมเถระ) เป็นต้น
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  5  เดือนมีนาคม  พ.ศ. 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : พิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร.4  อยู่ที่ถนนสามเสน 9  ก่อนถึงวัดจะผ่านชุมชนวัดราชา
-----------------------------------------------
อ้างอิง  : ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  5  เดือนมีนาคม  พ.ศ.2555
               พระราชกวี.นำเที่ยววัดราชาธิวาสวิหาร. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล เจี้ยฮั้ว2554.



ชื่อผู้แต่ง:
-