ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี


ที่อยู่:
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เลขที่ 172 ถนนอิสรภาพ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กทม.10600
โทรศัพท์:
0-2890-2284
โทรสาร:
0-2890-2309
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2542
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย: -

วันที่: 13 มิถุนายน 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี  มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน  เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอาชีวศึกษา (พ.ศ.2496-2503) ในยุคนั้นได้ให้ความสำคัญต่อการทำนุบำรุงศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรม  ควบคู่กับการเรียนการสอน  กิจกรรมหลักได้แก่  กิจกรรมวันสำคัญทางพุทธศาสนา  พิธีไหว้ครู  ประเพณีการแห่เทียนพรรษา  และเพื่อให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ในการผลิตครูช่างสตรี  งานศิลปะและวัฒนธรรมจึงปรากฏออกมาในรูปของการบ้านการเรือน  เช่น  งานประดิษฐ์ต่างๆ งานฝีมือ  งานเย็บปักถักร้อย ฯลฯ
           
ต่อมาในปีพ.ศ.2504 โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอาชีวศึกษาได้โอนมาสังกัดกรมการฝึกหัดครูและเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนฝึกหัดครูธนบุรี  จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูธนบุรีในปี พ.ศ.2513  ต่อมาในปี พ.ศ.2522 สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงศึกษาธิการ  ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครู  ที่มาเป็นสำนักศิลปวัฒนธรรมอย่างเช่นปัจจุบันคือในปี พ.ศ.2541 โดยมีโครงการและการปฏิบัติงานเช่นเดิม  แต่เน้นการบริหารและดำเนินงานให้มีการพัฒนาให้กว้างขวางขึ้น  พอมาถึงปี พ.ศ.2542 สำนักวัฒนธรรมได้รับงบประมาณสร้างหอวัฒนธรรมเพื่อเปิดให้บริการข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่นธนบุรีทุกด้าน
           
การดำเนินงานของศูนย์ธนบุรีศึกษา  ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของคุณมงคล  พรสิริภักดี  นักวิชาการศึกษา  คุณมงคลอธิบายว่าถึงแม้ว่ายุคสมัยกรุงธนบุรีจะอยู่ในช่วงเวลาเพียง 15 ปี  แต่กรุงธนบุรีในยุคของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ก็มีเรื่องราวให้ศึกษาอย่างมากมาย
           
เริ่มตั้งแต่เหตุผลทางยุทธศาสตร์ที่พระองค์ทรงเลือกธนบุรีเป็นราชธานี  อันเนื่องมาจากชัยภูมิอันโดดเด่นจากการเป็นด่านขนอนเก็บภาษีอากรทั้งขาเข้าและขาออก  ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  มีป้อมค่ายเดิมที่สร้างไว้อยู่หลายแห่ง  เช่นเดียวกับวัดวาอารามที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก  อีกประการหนึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ  หากถูกข้าศึกรุกรานก็สามารถออกไปทางทะเลโดยง่าย  ประกอบกับเป็นพื้นที่มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก  ธนบุรีจึงเป็นแหล่งรวมของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม  อาทิเช่น  ชาวจีน  มอญ  อินเดีย  ญี่ปุ่นและชาวฮอลันดา  ซึ่งเข้ามาทำการค้าตั้งแต่สมัยอยุธยา
               
การสร้างสรรค์ศิลปกรรมในสมัยกรุงธนบุรีอยู่ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ  เช่น วัดอรุณราชวราราม วัดอินทาราม วัดหงส์รัตนาราม โปรดให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง  นอกจากนั้นยังทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ อีกมากมาย
          
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงหรือพระราชวังเดิม เมื่อพุทธศักราช 2310 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ เมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีพร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์ พระราชวังเดิมในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยมีวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าในเขตพระราชวัง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร ได้กำหนดเขตพระราชวังเดิมให้แคบลงโดยให้วัดทั้งสองวัดอยู่นอกพระราชวัง ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 5 ได้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์  รวมถึงเจ้านายชั้นสูงและในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานพระราชวังเดิมเป็น โรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์   2443  ต่อมาเมื่อนักเรียนนายเรือมีจำนวนมากขึ้น  กองทัพเรือจึงได้สร้างโรงเรียนนายเรือใหม่ที่เกล็ดแก้ว สัตหีบ พระราชวังเดิมจึงเป็นหน่วยราชการของกองทัพเรือ

พระราชวังเดิมมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ได้รับการบูรณะรักษาไว้ดังนี้  ประตูและกำแพงพระราชวังเดิม ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตำหนักเก๋งจีนคู่   ท้องพระโรง  ระฆังจีน พระตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  เขาดิน  ป้อมวิชัยประสิทธิ์  บ้านหมอบรัดเลย์
           
ในการทำงานให้กับศูนย์ธนบุรีศึกษามาประมาณหนึ่งปี  คุณมงคลได้จัดการเสวนามาทั้งหมด 4 ครั้งในหัวเรื่องที่เกี่ยวกับจิตรกรรมไทย  เครื่องถ้วยสังคโลก  ตู้พระธรรมสมัยกรุงธนบุรี  คติไตรภูมิในงานวรรณกรรมไทย  ในการจัดเสวนาแต่ละครั้งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  ในช่วงนี้เป็นการเก็บรวบรวมจัดทำฐานข้อมูล  ซึ่งในอนาคตตั้งใจจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม
           
ปัญหาอย่างหนึ่งที่คุณมงคลพบคือ การขาดการประสานงานที่ดีในแต่ละภาคส่วนที่ทำงานในลักษณะใกล้เคียงกันทั้งในองค์กรและภายนอก  ทำให้การทำงานและผลงานวิชาการด้านธนบุรีศึกษายังไม่ได้ออกมามากพอ  อีกทั้งสถานการณ์ในพื้นที่ยังน่าเป็นห่วง  ในเรื่องของการบุกรุกพื้นที่โบราณสถานทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา  และการบูรณะบางส่วนยังไม่ถูกหลักการ  ซึ่งจะส่งผลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในอนาคต
           
ส่วนของการจัดแสดงของศูนย์ธนบุรีศึกษา   แต่เดิมห้องนี้คือหอเกียรติยศที่เก็บของที่ระลึก  ภาพถ่ายสำคัญของผู้บริหาร  ซึ่งโดยส่วนใหญ่ห้องนี้จะปิดไว้  แต่คุณมงคลได้พิจารณาว่าการจะเป็นแหล่งให้ข้อมูล  ควรทำเป็นห้องเปิดและมีนักวิชาการนั่งประจำ  จึงได้มีห้องจัดแสดงอย่างทุกวันนี้  ซึ่งผู้ที่มาติดต่อสามารถเดินชมหัวโขนที่มีจัดแสดงทั้งขนาดเล็ก  และหัวโขนขนาดมาตรฐาน  ส่วนรูปปั้นครึ่งตัวนั่นคือ  รูปปั้นของเจ้าพระยาพลเทพ  ท่านเสนาบดีคนแรกของกระทรวงเกษตราธิการ  โดยท่านสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน
           
จากบทบาทดังกล่าว  เราจะเห็นว่าการจัดตั้งศูนย์ธนบุรีศึกษาเป็นอีกภารกิจสำคัญของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม  ด้านการศึกษาในเชิงลึก  ทั้งนี้ก็เพื่อการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของฝั่งธนบุรีให้คงอยู่
 
-----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  22  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. 2554
----------------------------------------------------
การเดินทาง :สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี  อยู่ฝั่งธนบุรีภาพ  ถนนอิสรภาพ โดยข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานตากสิน 
-----------------------------------------
อ้างอิง  : ประวัติสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.http://dit.dru.ac.th/home/
                     012/history.html [Accessed  15/09/2011]
               สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. ธนบุรี  จากอดีต...สู่ปัจจุบัน.   กรุงเทพฯ : วรานนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์, 2549.
               สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. ศูนย์ข้อมูลธนบุรีศึกษา. http://dit.ac.th/home/012/data_center_dru_cul.php [Accessed  15/09/2011]
ชื่อผู้แต่ง:
-