ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ


ที่อยู่:
เลขที่ 4/18-19 หมู่ 11 ถนนนวลจันทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์:
02- 559-0505 ต่อ 581,180
วันและเวลาทำการ:
10.00 – 16.00 น. (วันอังคาร-วันเสาร์)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
artcenter@thaiartproject.org
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
จัดการโดย:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 23 กรกฎาคม 2555

โดย: -

วันที่: 23 กรกฎาคม 2555

โดย: -

วันที่: 23 กรกฎาคม 2555

โดย: -

วันที่: 23 กรกฎาคม 2555

โดย: -

วันที่: 23 กรกฎาคม 2555

โดย: -

วันที่: 23 กรกฎาคม 2555

โดย: -

วันที่: 23 กรกฎาคม 2555

โดย: -

วันที่: 23 กรกฎาคม 2555

ผังจัดแสดงของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ...

โดย:

วันที่: 14 มิถุนายน 2555

ไม่มีข้อมูล

จากประติมากรสมัยก่อน สู่ประติมากรรมร่วมสมัย

ชื่อผู้แต่ง: เจษรา หนูสังข์ | ปีที่พิมพ์: 19-01-2549

ที่มา: มติชนรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

Unlimited Passion เสริมคุณ คุณาวงศ์

ชื่อผู้แต่ง: มโนมัย มโนภาพ | ปีที่พิมพ์: ฉบับที่ 453 วันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2551

ที่มา: เสาร์สวัสดี,กรุงเทพธุรกิจ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ

ถ้าเอ่ยถึงงานประติมากรรม  เชื่อว่าทุกคนเคยเห็นตามสถานที่ต่างๆ ในสวนสาธารณะ ตามอาคารสำนักงาน  สถาบันการศึกษา  หรือจะเป็นการจัดนิทรรศการของศิลปินท่านใดท่านหนึ่งที่ท่านชื่นชอบ  แต่การที่งานประติมากรรมของศิลปินหลายสิบท่านกับผลงานนับร้อยชิ้น   มารวมกันอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกันได้  ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งสำหรับผู้เข้าชม
               
ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547  สถานที่จัดแสดงอยู่ที่อาคารสำนักงานของบริษัท พีเอ็ม เซนเตอร์ จำกัด  ผู้ก่อตั้งคือคุณเสริมคุณ คุณาวงศ์  ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือการประชาสัมพันธ์งานประติมากรรมของศิลปินไทย  การทำโครงการส่งเสริมศิลปะไทย  การเข้าชมสามารถติดต่อได้ที่ห้องกระจกชั้นล่างจะมีแม่บ้านคือคุณกานติมา หลักเพชร  ต้อนรับอยู่  ถ้าต้องการวิทยากรให้ติดต่อล่วงหน้า
               
ภาพแรกของหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์  สิงโตตัวใหญ่  กับตะปูสองตัวพันเกี่ยวกัน  งานประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งเด่นอยู่ด้านหน้า  คุณกานติมาพาขึ้นลิฟต์ตัวสีเขียวขึ้นไปยังห้องจัดแสดงห้องแรก  การรักษาความปลอดภัยห้องนี้แน่นหนา  จากการจัดแสดงพระพุทธรูปโบราณ  ศิลปะทวารวดี(พุทธศตวรรษที่ 16-17)  ศิลปะลพบุรี(พุทธศตวรรษที่ 18)  ศิลปะสุโขทัย(หมวดใหญ่)(พุทธศตวรรษที่ 19-20)  ศิลปะล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์สอง(พุทธศตวรรษที่ 21)  ศิลปะอยุธยาตอนกลาง(พุทธศตวรรษที่ 21-22)  ศิลปะอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น(พุทธศตวรรษที่ 23-24)  งานเหล่านี้คือรากอารยธรรมพุทธศิลป์แห่งสยาม  เป็นงานประติมากรรมยุคแรก  ฝีมือการหล่อโลหะในขั้นสูง
               
เนื่องจากผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์คือคุณเสริมคุณ คุณาวงศ์  มีความพร้อมในการทำพิพิธภัณฑ์   ด้วยใจรักในศิลปะ  ประกอบกับความพร้อมในเรื่องงบประมาณการดำเนินงาน  ในห้องนี้จึงมีแผ่นพับขนาดใหญ่พิมพ์สีสวยงามแจกให้กับผู้เข้าชม  มีภาพงานประติมากรรมที่จัดแสดงทั้งหมดพร้อมรายละเอียดย่อของงานแต่ละชิ้น  แบ่งเป็นแต่ละยุคสมัยของงานประติมากรรม การใช้เวลาอ่านแผ่นพับก่อนเข้าชมจะเป็นประโยชน์มาก  ทำให้ทราบว่างานที่จัดแสดงมีรูปลักษณ์อย่างไรก่อนที่จะได้เห็นของจริง  อีกทั้งยังสามารถเลือกได้ว่าตนเองสนใจงานชิ้นไหนเป็นพิเศษ   เพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่กับงานชิ้นนั้นได้นานตามความพอใจ
               
ส่วนจัดแสดงบนพื้นที่กว้างขวางอยู่บริเวณชั้น 2  บริเวณนี้เรียกกันว่าคลังประติมากรรม  ลักษณะของบริเวณจัดแสดงเป็นโถงกว้างที่สามารถมองเห็นงานประติมากรรมได้ทุกชิ้น  ต่างกันที่ระยะใกล้ไกล  และยังมีชั้นลอยขึ้นไปอีกด้านหนึ่ง  ขึ้นไปยืนมองลงมาจะสามารถมองภาพกว้างของพื้นที่จัดแสดงได้ตื่นตาตื่นใจ  แล้วที่เห็นว่าชั้นล่างมีคนเดินไปมา  บ้างก็เคลื่อนย้ายลังอุปกรณ์ต่างๆ เป็นการทำงานของพนักงานบริษัท  แม้ว่าจะอยู่ในอาคารเดียวกัน  แต่ทางเข้า-ออกศูนย์ประติมากรรมกับส่วนของบริษัทจะแยกกันคนละทาง
               
คุณประภัสสร พานชาตรี  เป็นวิทยากรในวันนี้  ก่อนพานำชมได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดแสดงว่า  มีการแบ่งยุคของประติมากรรมแบ่งออกได้ 5 ยุค  ที่ได้ชมไปแล้วคือยุคแรกจากงานพุทธศิลป์  การจัดแสดงงานประติมากรรมของแต่ละท่าน  ทุกชิ้นงานมีป้ายอธิบาย  ข้อความแต่ละส่วนคือ  บันทึกจากนักสะสม  ซึ่งก็คือคุณเสริมคุณ คุณาวงศ์  รายละเอียดของประติมากรรม ได้แก่ ชื่อศิลปิน  ปีที่สร้างงาน  ขนาด  เทคนิคและแนวความคิด  มาถึงยุคที่ 2 ยุคศิลปะเหมือนจริง  ยุคนี้เริ่มในสมัย ร.4 –ร.5 งานประติมากรรมได้รับเอาเทคนิคการปั้นรูปเหมือนที่นิยมในต่างประเทศเข้ามาในสมัยร.5 มีนายช่างชาวอิตาเลียนได้เข้ามาปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พร้อมกับศิลปกรรมแบบยุโรปก็เข้ามาในช่วงนี้  จนกระทั่งมีคนสำคัญในวงการศิลปะไทยคือ นายโคราโล เฟโรจี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่เรารู้จักกัน  ถ้าอยากเห็นหน้าตาของอาจารย์ศิลป์  มีผลงานการปั้นรูปเหมือนชื่อว่า “ศิลป์  พีระศรี”ศิลปินคือ  สนั่น  ศิลากรณ์

เมื่อถามว่าผลงานชิ้นไหนถือเป็นชิ้นเด่นของที่นี่  คุณประภัสสร  พาไปดูครุฑ  ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน งานประติมากรรมขนาดใหญ่ทำจากสำริด ขนาด 450x 600 x 215ซม.(ตั้งแสดงที่คลังประติมากรรม)   เป็นผลงานของอาจารย์ศิลป์  พีระศรีและลูกศิษย์  ตอนทำขึ้นมาได้ไปขออนุญาตถอดแบบจากบริษัทไปรษณีย์ไทย  เนื่องจากครุฑชิ้นนี้อยู่ที่ไปรษณีย์กลางบางรัก   

ยุคที่ 3 ยุคศิลปินสมัยใหม่ของไทย  เริ่มในช่วง 2490  ลักษณะเด่นยังอยู่ที่ความเหมือนจริงแต่เนื้อหาใหม่  ศิลปินที่โดดเด่นตามแนวทางนี้คือ  เขียน ยิ้มศิริ  ผลงานของอาจารย์เขียน  ส่วนใหญ่จัดแสดงอยู่รอบลิฟต์สีเขียว  ประติมากรรมทำจากสำริดให้สีดำ  ผลงานมีทรวดทรงอ่อนช้อย  ชื่อผลงานเช่น แม่กับลูก ครอบครัว รำพื้นเมือง  โลมนาง เป็นต้น
 มาถึงยุคที่ 4 ยุคทองของนามธรรมกับยุคที่ 5 ผลงานสื่อประสมสะท้อนอัตลักษณ์ของศิลปิน  ผลงานจัดแสดงส่วนใหญ่จัดแสดงบริเวณคลังประติมากรรม   คุณประภัสสรพาเดินชมพร้อมพูดคุยเกี่ยวกับผลงานของศิลปิน  ผลงานประตูไม้บานใหญ่เป็นของคำอ้าย  เดชดวงตา ชื่อผลงาน  บทหวานตำนานช้าง  งานชิ้นนี้เหมือนกับว่าเพิ่งแต่งงานกับภรรยา  ความรักเปรียบประดุจดังช้างสาร  เด็กๆที่เข้าชมงาน  มาเจอประตูไม้บานนี้  เขาจะจินตนาการว่าประตูใหญ่ขนาดนี้แล้วบ้านจะใหญ่ขนาดไหน  ถ้าเป็นช้างทั้งตัวยังมีอีกชิ้นชื่อผลงานว่า คชา 

เดินต่อมาเป็นผลงานของนายดี ช่างหม้อ คุณประภัสสรบอกว่างานของศิลปินท่านนี้มีคนลอกเลียนแบบเยอะมาก  เราอาจจะเคยเห็นที่เป็นเด็กๆน่ารัก หัวโตๆในอิริยาบถต่างๆ ชื่อผลงาน  เมื่อข้าพเจ้าพูดถึงแต่เรื่องของตัวเอง  ถัดมาเป็นผลงานชื่อ เตียงโยก ของ อินสนธิ์ วงศ์สาม  ศิลปินท่านนี้ผลงานทำจากไม้  ส่วนงานของชีวา กมลมาลัย  จะแสดงออกในความหมายของสัจธรรมแห่งชีวิต  ชื่อผลงาน ใบหน้าและความว่างเปล่า ใบหน้าเหนือความจริง ผู้หญิงนอน  ผลงานมีทั้งไม้และหิน  มาถึงผลงานของจักรพันธุ์ โปษยกฤต  ชื่อผลงาน  เจ้าเงาะกับเด็กเลี้ยงควาย  ผลงานโดดเด่นที่ลวดลายวิจิตรละเมียดละไม  ผลงานของถวัลย์  ดัชนี  มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  มีการนำชิ้นส่วนของสัตว์มาสร้างผลงาน  ชื่อผลงาน มีดของถวัลย์  ดัชนี  ผลงานของอาจารย์ทวี รัชนีกร  ที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคม  ผลงานชื่อ สินค้าส่งออก  ผลงานของมานพ  สุวรรณปินฑะ ชื่อผลงาน ความละโมบและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ รูปคนในภูมิทัศน์ บทเพลงแห่งราตรีกาล ก็ชวนให้นึกถึงตัวตนของมนุษย์ที่ศิลปินต้องการเปิดเผยตีแผ่ออกมา

มาถึงงานชิ้นหนึ่ง  มองไปเป็นขั้นบันได ก็เหมือนกับความมุ่งมั่นของคน  ความอยากได้ใคร่ดี  พยายามเดินขึ้นไป  แล้วศิลปินเขาต้องการถามว่านั่นคือสิ่งที่เราต้องการจริงๆหรือเปล่า  เคยถามใจตัวเองไหม  คุณประภัสสรพาเดินไปอีกด้านของงาน  จะเป็นช่องให้คนเข้าชมมองเข้าไป  ประหนึ่งว่ากำลังมองให้ทะลุไปในใจตนเอง

ส่วนงานที่ทำด้วยวัสดุที่แข็งแกร่งอย่างเหล็กก็มีความน่าสนใจ  ผลงานของฉัตรมงคล อินสว่าง ชื่อผลงาน  ธรรมชาติวิสัยของมนุษย์  เราจะเห็นว่าศิลปินสามารถสร้างงานให้อ่อนโค้ง  งานของมงคล เกิดวัน  ชื่อผลงาน ราชา ราชินีไร้มงกุฎ  งานชิ้นนี้ก็แปลกตา  ศิลปินอยากบอกว่าทุกคนมีอำนาจ  อำนาจอยู่ที่ลมหายใจ ตราบใดที่เรามีลมหายใจ
ยังมีผลงานอีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวได้หมด  การเข้าชมเพียงครั้งเดียวจึงไม่เพียงพอ  ทางศูนย์ประติมากรรมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง  สำหรับผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัย  บางวันจะมีเด็กๆที่ครูพามานั่งสเก็ตภาพ  มาเรียนศิลปะกัน  การได้เดินไปท่ามกลางผลงานของเหล่าศิลปินจะเป็นประสบการณ์และความทรงจำอย่างมิรู้ลืม 

ในแผนงานการจัดแสดง นอกเหนือจากการจัดนิทรรศการนอกสถานที่  ทางพิพิธภัณฑ์จะนำงานไปจัดแสดงอีกแห่งหนึ่ง คือ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หรือหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่นั่นผู้เข้าชมอาจจะได้ชมงานไม่มากชิ้นเพราะพื้นที่จัดแสดงน้อย  สำหรับท่านที่สนใจเมื่อทำความรู้จักกันที่นั่นแล้ว  สามารถเข้ามาชมที่นี่ต่อได้
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  29  เดือนมีนาคม  พ.ศ. 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : เข้าทางถนนรามอินทรา(ซอยรามอินทรา 40) เมื่อถึงถนนนวลจันทร์  เข้าซอยนวลจันทร์ 56 พอผ่านหมู่บ้านจัดสรรบ้านอารียาก็จะถึงพิพิธภัณฑ์(ให้สังเกตป้ายสูงที่รั้ว)และด้านหน้าใกล้กันจะมีวินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง  หรือจากถนนนวมินทร์เข้าซอยสิงหเสรี 2
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  29  เดือนมีนาคม  พ.ศ. 2555
               แผ่นพับประชาสัมพันธ์ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ

ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ โครงการส่งเสริมศิลปะไทย เป็นหน่วยงานส่งเสริมศิลปะเอกชนที่ดำเนินงานโดยไม่หวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ เป็นเจ้าของและบริหารงานโดย คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและ สนับสนุนการทำงานของศิลปินในรูปแบบต่างๆ กิจกรรมของโครงการประกอบด้วย การสะสมงานที่สร้างโดยประติมากรไทย จัดทำคลังเก็บงานประติมากรรม ทำงานส่งเสริมงานเขียนด้านวิชาการและเป็นศูนย์สนับสนุนเผยแพร่งาน ด้านประติมากรรมในประเทศไทย

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เป็นช่างภาพ และก้าวมาสู่แถวหน้าของงานอีเวนท์ ดังที่เรียกขานกันติดปากในแวดวงว่าเป็น 'เจ้าพ่ออีเวนท์' แต่ เสริมคุณ คุณาวงศ์ เป็นที่รู้จักมากกว่านั้น ในฐานะนักนิยมศิลปะ และนักสะสมผลงานศิลปะตัวยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานประติมากรรมไทย ซึ่งพัฒนาขึ้นจากความรักความชอบส่วนตัว จนกลายมาเป็นคุณูปการต่อสังคม เมื่อจัดตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ เพื่อเปิดกว้างให้ผู้สนใจศิลปะทั่วไปได้ศึกษาและชื่นชม 

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เล่าถึงความเป็นมาว่า การเป็นนักสะสมศิลปะ มิได้อาศัยเพียงเงินทุนในการซื้อหาผลงานศิลปะมาครอบครองเท่านั้น แต่หลักการสำคัญของงานสะสม คือการมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตนสะสมอย่างลึกซึ้ง สามารถมองเห็นเรื่องราวและความเชื่อมโยงของศิลปวัตถุ สัมผัสได้ถึงความงามจากรูปธรรมภายนอก แล้วลงลึกไปสู่ความหมายอันเป็นนามธรรม แนวทางในการสะสมผลงานศิลปะ พิจารณาจากปัจจัยใดบ้างคงต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นประติมากรรม ตั้งใจทำเป็น Museum Collection คือเป็นคอลเลคชั่นที่มีเป้าหมายเป็นมิวเซียม ดังนั้น จะต้องศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะประติมากรรมในประเทศไทย ว่ามีกี่ยุค มาจากไหน มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งเป็นประติมากรรมที่ทำกับรูปเคารพต่างๆ ตลอดเรื่อยมา ส่วนใหญ่จะเป็นประติมากรรมพุทธศาสนา รวมไปจนถึงอิทธิพลของเขมรในประเทศไทย รวมทั้งการปรากฏในสถาปัตยกรรมต่างๆ เรียกว่ารับใช้วัดวัง จนมาถึงยุคประมาณรัตนโกสินทร์ที่เริ่มมีประติมากรรมเอาอย่างฝรั่ง มีการใช้ประติมากรรมในการตกแต่งบ้าน ทำอนุสาวรีย์ ซึ่งในส่วนนี้คัฟเวอร์ได้ประมาณ 200 ชิ้นแล้ว และคัฟเวอร์ยุคสมัยที่ต้องการ อันนี้เฉพาะประติมากรรมไทย ไม่สะสมของต่างประเทศ

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เล่าถึงสาเหตุที่มีการจัดแบ่งแนวทางสะสมออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนตัวและส่วนพิพิธภัณฑ์ ว่าเพราะหากเป็น Private Collection จะคำนึงถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผลงานชิ้นนั้นๆ เช่น ชิ้นงานนั้นอาจจะเป็นสีที่ชอบ ชิ้นงานนั้นอาจจะเป็นคอนเทนท์ที่ต้องการ เช่น มีลูก 2 คน อาจจะอยากได้ม้าที่มี 2 ตัว อย่างนี้เป็นต้น คือให้สัมพันธ์กับตัวเอง คราวนี้เมื่อเริ่มสนใจทำพิพิธภัณฑ์ ต้องรู้ว่านี่คือสมบัติของสาธารณะ ถึงแม้ว่าจะเป็นการครอบครองของเรา แต่เรามี intention ที่จะให้เป็นของสาธารณะ เพราะฉะนั้น จะให้มาสะสมของชอบ มันไม่ได้ ต้องเอาของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลป์ไว้เป็นหลัก

ในส่วนพิพิธภัณฑ์ จะเน้นศิลปะประเภทงานประติมากรรม และขยายไปสู่งานภาพเขียนจิตรกรรมหรือ Painting ในระดับมิวเซียม ซึ่งในส่วนของ paintingนี้ เสริมคุณเล่าว่ายังศึกษาไม่ถึงขั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประติมากรรม มีเพียงคอลเลคชั่นของศิลปินบางท่าน เช่น ปรีชา เถาทอง ซึ่งคอลเลคชั่นในที่นี้ หมายถึงการคัฟเวอร์ช่วงระยะเวลาการสร้างงานหลายสิบปี อย่างของอาจารย์จักรพันธุ์ (โปษยกฤต) ก็ไม่ถือว่าคัฟเวอร์ แม้จะมีงานชิ้นดี เพราะยังจะต้องมีการวาดตัวอ่อน คือ ไทยประเพณี ซึ่งไม่มี และมันยากที่จะมี

การเริ่มต้นสะสมประติมากรรมก่อน โดยปกติไม่ใช่งานง่าย เพราะต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บหรือแสดงมาก ทำให้ต้องมีการวางแผนในเรื่องนี้ด้วย จึงเป็นที่มาของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ คุณเสริมคุณเล่าว่าที่นี่เป็นที่ที่มองว่าเป็นสถานที่ 'เก็บ' มากกว่า 'แสดง' จึงเหมาะสำหรับนักศึกษาศิลปะเท่านั้น แต่สำหรับคนทั่วไป คงไกลเกินไป (ย่านรามอินทรา) และเปิดเดือนละ 2 เสาร์ แต่ถ้าเป็นหมู่คณะจะวันไหนก็ได้

ดังนั้น จึงนำตัวผลงานไปแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติ เป็นนิทรรศการระยะยาว โดยทางหอศิลป์ได้ร่วมกับเราโดยการอนุเคราะห์สถานที่ นำงาน 30 ชิ้นไปแสดง โดยมีการหมุนเวียนเปลี่ยนใหม่ทุกปี นอกจากนี้ด้านหน้าของหอศิลป์แห่งชาติก็ประดับด้วยประติมากรรมของเรา โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่เป็นตรวจเช็คประติมากรรมทุกๆ อาทิตย์

ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพจัดนิทรรศการสาธารณะ ผลงานที่ผ่านมาเช่นการจัดนิทรรศการศิลปะเขียน ยิ้มศิริและประติมากรรมร่วมสมัย 9-15 มิถุนายน 2547 ณ ศูนย์การค้า ดิเอ็มโพเรี่ยม ช้อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ งานนิทรรศการ มหกรรมศิลปะนครสวรรค์ ครั้งที่ 1 26 สิงหาคม - 5 กันยายน 2547 ณ ห้องแฟรี่คอนเวนชั่น ฮอลล์ แฟรี่แลนด์ สรรพสินค้า

นอกจากนี้ยังสนับสนุนงานด้านวิชาการ และเผยแพร่ผลงานศิลปินไทย โดยการสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือ

เรียบเรียงจาก: 
http://www.bangkoksculpturecenter.org/ [accessed 20081215] 
มโนมัย มโนภาพ. Unlimited Passion เสริมคุณ คุณาวงศ์, เสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ,ฉบับที่ 453 วันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2551 [http://www.bangkokbiznews.com/jud/sat/20080104/news.php?news=column_25570511.html]

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี