เฮื้อยเอื้อยคำ เป็นเรือนไม้แบบไทลื้อ เจ้าของคือคุณธนนิตย์ และสหัสชายา นุชเทียน แต่เดิมบ้านหลังนี้ได้เปิดบ้านด้านล่างเป็นร้านค้าของชำแห่งหนึ่งในชุมชน ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2554 มีการขยายถนนเป็นสี่ช่องจราจร เจ้าของได้รื้อเพิงร้านค้าด้านหน้าออก ประกอบกับค้าขายไม่สู้จะดีนัก เพราะมีตลาดนัดเข้ามาในชุมชน และมีห้างด้งยักษ์ใหญ่มาตั้งที่เชียงของ จึงหยุดขายของชำ เปลี่ยนไปค้าขายผ้าทอของชุมชนแทน และได้เปิดบ้านด้านล่างโล่งจนเห็นตัวบ้านชัดเจน โดยเฉพาะเสาไม้ทรงกลมจำนวนมาก ที่หาชมยาก เป็นที่สะดุดตาของผู้คนต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมา แวะมาชมกันเรื่อยๆ บางคนเรียกบ้านร้อยปี จึงเป็นที่มาของ "เฮือนไทลื้อ 100 ปี" นอกจากการแสดงของความเป็นสถาปัตยกรรมเฮือนไตแล้ว ภายในบ้านมีการจัดแสดงผ้า สิ่งทอ ผ้าเก่า ผ้าโบราณ อุปกรณ์เก่าที่ใช้ในการทอผ้า เครื่องเรือนใช้สอยในวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ และมีผ้าทอจำหน่ายเป็นสินค้า ของฝาก ของที่ระลึกจากชุมชน
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
เฮือนเอื้อยคำ 100 ปี
"เฮือนเอื้อยคำ” เป็นชื่อของเรือนที่พี่สหัสชายา นุชเทียน ทายาทรุ่นที่สองเป็นเจ้าของ เรือนดังกล่าวตั้งอยู่บนถนนสายหลักจากตัวเมืองในอำเภอเชียงของมุ่งหน้ายังตำบลศรีดอนชัย เรือนดังกล่าวสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2500 นายผัดและนางเอื้อย วงศ์ไทย พ่อและแม่ของพี่สหัสชายาเป็นผู้ปลูกสร้างเรือน พี่เอื้อยคำกล่าวถึงประวัติของการอพยพของครัวเรือนในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ตากับยายย้ายมาจากสิบสองปันนา อยู่ที่บ้านก้อนตื่นก่อน เมื่อก่อนบ้านก้อนตื่นเป็นส่วนหนึ่งของไทย พอเกิดสงครามจึงพาครอบครัวข้ามมายังฝั่งไทยที่บ้านป่าก่อดำ บริเวณนั้นเรียกว่าบ้านสันวัดร้าง เพราะมีวัดร้างอยู่ ซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งเทศบาลศรีดอนชัย และเปลี่ยนชื่อจากบ้านป่าก่อดำเป็นบ้านทุ่งสามหมอ พ่อบอกว่าได้ยินคนพูดถึงว่าจะมีถนนตัดผ่านบริเวณที่ตั้งบ้านในปัจจุบัน จึงพาญาติพี่น้องมาอยู่ตรงนี้ ราว 8 ครอบครัว เดิมทีจึงเป็นป่าทึม ไม่มีหมู่บ้าน
จากการบุกร้างถางพง ที่ดินที่รกชัฏจึงกลายเป็นบริเวณทำการเกษตร พี่สหัสชายาบอกว่าในช่วงเวลานั้น การทำนานั้นเป็นอาชีพหลักของคนในแถบนี้ และมีการปลูกข้าวโพด พริก มะเขือ จนเมื่อราว 20 ปีนี้ พริกกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เพราะมีโรงงานมาตั้งและรับซื้อพริกเป็นวัตถุดิบในการผลิต เมื่อผู้สำรวจสอบว่ามีผู้คนออกไปรับจ้างทำงานภายนอกบ้างหรือไม่ พี่สหัสชายากล่าวถึงวิสัยทัศน์ของพ่อที่ส่งลูกไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ พี่สาวเรียนตัดเย็บ ส่วนตนเองเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2522 จึงกล่าวได้ว่าเป็นคนรุ่นแรก ๆ ที่ได้เดินทางออกไปนอกพื้นที่ แต่กลับมาตั้งหลักอยู่ที่บ้านระยะหนึ่ง ลองทำหลายอย่างทั้งการเปิดร้านค้าเล็ก ๆ และเป็นตัวกลางในการค้าขายผ้าทอมือ ธุรกิจการค้าผ้าของพี่สหัสชายาเติบโตอย่างมากในช่วง พ.ศ. 2535-2544 จนในที่สุด พ.ศ. 2545 จึงสามารถสอบบรรจุครูและปฏิบัติงาน ณ โรงเรียนแก่นเหนือ อำเภอเชียงของ จนถึงวัยเกษียณ
ความสนใจใน “ไทลื้อ” ของคนนอก
ในช่วงทศวรรษ 2530 เริ่มมีคนภายนอกจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เข้ามาพื้นที่เพื่อศึกษาเกี่ยวกับไทลื้อและสนใจเกี่ยวเรือนโบราณ “ช่วงเวลานั้น พ่อกับแม่เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติคนไทลื้อ สิบสองปันนา ผ้าไทลื้อ นักศึกษาจากหลายสถาบันเข้ามาเรียนรู้เรื่องของบ้าน วิถีชีวิต จนเมื่อราว พ.ศ. 2537-2538 มีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาสอบถามว่า ต้องการขึ้นทะเบียนไหม จะมีเงินงบประมาณเข้ามาดูแล เราก็ไม่เข้าใจว่าจะขึ้นทะเบียนทำไม” พี่สหัสชายากล่าวถึงความสนใจของคนภายนอกกับวัฒนธรรมไทลื้อที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ
ตลอดระยะเวลานั้น นอกเหนือจากสถานศึกษาแล้ว นักเดินทางและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่างแวะเวียนกันมาขอเข้าชมเฮือนเอื้อยคำอยู่โดยตลอด “เมื่อครั้งที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ แม่ก็เป็นคนบอกเล่าสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้คนสนใจ” พี่สหัสชายากล่าว ในระยะหลังนี้ มีรายการทางโทรทัศน์หลายรายการที่เข้ามาบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนไทลื้อที่ศรีดอนชัยและบ้านเอื้อยคำ รวมถึงเป็นฉากในละครโทรทัศน์บางเรื่องด้วย ในที่สุดเมื่อพี่สหัสชายาเกษียณอายุราชการ จึงกลับมาดูแลบ้านอย่างเต็มตัว และมีความตั้งใจในการพัฒนาให้เรือนหลังนี้เป็นสถานที่ศึกษาและให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ แม้จะรู้สึกถึงภาระบ้างเมื่อมีผู้เข้าชมจำนวนมากขึ้น โดยสามีทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนหลายอย่าง
พี่ธนนิตย์เป็นกรรมการการท่องเที่ยวในโครงการโอท็อปวิลเลจ จึงเข้าร่วมอบรม มีการเดินทางไปศึกษาดูงานยังหมู่บ้านอื่น รวมถึงความรู้เกี่ยวกับอาหารและการบริการโฮมสเตย์ และเป็นที่มาของป้าย “เฮือนไทลื้อร้อยปี” ซึ่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งของชุมชน
เรื่องราวของเรือน
พี่สหัสชายากล่าวถึงพัฒนาการของเรือน เดิมทีเรือนหลังนี้มีความใหญ่โตมากกว่าที่ปรากฏในปัจจุบัน แต่ด้วยการพัฒนาเส้นทางถนนจึงทำให้เรือนลดจำนวนห้องเท่าที่เห็นในปัจจุบัน ตัวเรือนมีลักษณะร่วมกับเรือนไทยที่เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง ทั้งเสาและโครงสร้างหลักเป็นไม้ หลังคาเป็นทรงปั้นหยาและจั่ว มุงด้วยกระเบื้อแบบดั้งเดิม บันไดทางขึ้นอยู่นอกเรือนและทำหลังคาคลุม ในเอกสารสำหรับประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับเรือนกล่าวถึงจำนวนเสาไม้ที่รับเรือนมากถึง 34 ต้นและเป็นห้องได้ 24 ห้อง ฝาไม้ตีซ้อนเกล็ด ประตูและหน้าต่างเป็นแบบที่นิยมทำกันในภาคเหนือในช่วง 50-70 ปีนั่นคือบานเปิดคู่ ลูกฟักไม้ทึบ ทำช่องลมที่ยอดผ้าทั้งภายนอกและภายในเรือน
กล่าวได้ว่าเฮือนเอื้อยคำหลังนี้เป็นเรือนที่ผสมผสามกับเรือนพื้นถิ่นไม่ใช่เรือนไทลื้อดั้งเดิม แต่คงสภาพสมบูรณ์อย่างมาก สิ่งที่สะท้อนความเป็นไตลื้อสิบสองปันนาคือการมีเตาไฟในเรือนหลัก ส่วนหลังคนทรงปั้นหยาและผังพื้นของเรือนเป็นอิทธิพลที่รับจากภายนอก โดยเฉพาะการทำบันไดใต้ชายคาหรือทำหลังคาคลุมบันได และมีเสาแหล่งหมาหน้าบันไดทางขึ้น ส่วนระเบียงกึ่งเปิดโล่ง
พี่สหัสชายานำผู้สำรวจเยี่ยมชมส่วนต่าง ๆ ของเรือน โดยหลักแล้วการใช้สอยบนเรือนเห็นได้อย่างชัดเจนนั่นคือ “ส่วนใน” ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่ “ส่วน นอก” บริเวณชานเรือนครัวและพื้นที่ส่วนนอกนี้ในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เติ๋น” หรือชานเรือนสำหรับต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน ก่อนเข้าสู่เรือนชั้นในพี่สหัสชายาชี้ให้ผู้สำรวจสังเกตตะเหลวหรือไผ่ที่ถูกเหลาเป็นเส้นตอกและสานเป็นรูปตาเหลวแขวนไว้เหนือประตูเพื่อกั้นสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าสู่เรือน
ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใน โถงได้รับการปรับปรุงให้เป็นบริเวณแสดงผ้าทอไทลื้อ ส่วนหนึ่งเป็นผ้าที่พี่สหัสชายาสะสมไว้และเป็นผลงานทอมือของตนเอง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลงานของสมาชิกในกลุ่ม ห้องนอนยังคงปรากฏฝาที่กั้นไว้เป็นห้องนอนจำนวน 4 ห้อง ไม่มีเพดานและผนังกั้นส่วนบนของห้อง ห้องนอนทางซ้ายสุดของเรือนซึ่งเคยเป็นห้องนอนของแม่เอื้อยคำ และปัจจุบันเป็นห้องนอนของพี่สหัสชายาใช้งาน โดยมีนำมุ้งสีดำมาใช้และเป็นส่วนของการอธิบายถึงลักษณะเฉพาะของเรือนไทลื้อที่มุ้งเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงสัดส่วนพื้นที่ของแต่ละครอบครัวภายในเรือน
หน้าห้องของนั้น มีหิ้งพระที่พี่สหัสชายากล่าวถึงพระพุทธรูปสำคัญที่เป็นมรดกตกทอดของครอบครัว และตู้กระจกที่บรรจุสิ่งของสำคัญของครอบครัว เช่น ตะบันหมาก ผ้าโบราณของแม่เอื้อยคำและพี่สหัสชายา ถัดจากบริเวณโถงและห้องนอนต่าง ๆ เป็นพื้นที่ของครัว เตาไฟอยู่กลางห้อง มีลักษณะเป็นแท่นฐานดินและก้อนเส้าพร้อมตั้งหม้อให้เห็นรูปแบบการใช้งาน ผนังที่กั้นระหว่างห้องโถงกับห้องครัว จัดเรียงหวดไม้ที่ใช้ในการนึ่งข้าวเหนียว พี่สหัสชายากล่าวถึงการจัดแสดงเครื่องใช้ในครัวเป็นสิ่งที่จัดทำขึ้นใหม่เมื่อปีกราย ส่วนครัวที่ใช้งานในปัจจุบันอยู่ใกล้กับครัวเดิม แต่เป็นการใช้อุปกรณ์ครัวแบบที่ใช้งานกันในปัจจุบัน
ใต้ถุนเรือนคงเป็นบริเวณที่พี่สหัสชายาใช้ทอผ้าระหว่างวัน ปรากฏกี่ทอผ้าสองหลังซึ่งหลังหนึ่งเป็นกี่ที่พี่สหัสชายาใช้และอีกหลังหนึ่งเป็นของพี่สาว นอกจากนี้ พี่สหัสชายาชี้ให้เห็นตะปูจำนวนมากที่ตอกไว้กับตงของพื้นเรือน และให้ข้อมูลว่าเดิมนั้นพ่อเคยปลูกข้าวโพด จึงแขวนข้าวโพดให้เห็นก่อนการแกะเมล็ดออกจากฝัก ใกล้กับเรือนหลักคือยุ้งข้าว ซึ่งปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นสถานที่พักสำหรับผู้มาเยือน ตามโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนที่เคยเกิดขึ้น แต่ไม่มีโอกาสให้แขกที่มาเยี่ยมเยือนพักมากนัก เพราะการคมนาคมระหว่างเมืองเชียงของกับตำบลศรีดอนชัยสะดวกมากในปัจจุบัน จึงใช้เป็นห้องพักของสมาชิกในครอบครัวมากกว่า
เฮือนเอื้อยคำ ตั้งอยู่ในเขตชุมชนบ้านศรีดอนชัย บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 15 ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เจ้าของยังคงรักษาตัวเรือนไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ผู้สนใจสามารถขอเข้าชมศึกษาเฮือนไทลื้อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีครอบครัวเจ้าของบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันคือ คุณธนนิตย์ นุชเทียน และคุณสหัสชายา นุชเทียน เป็นผู้นำชมและแลกเปลี่ยนความรู้
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ผ้าทอ การทอผ้า เรือนไทลื้อ ไทลื้อ ไตลื้อ
หอนิทรรศการ สำนักงานศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
จ. เชียงราย
พิพิธภัณฑ์เล่นได้
จ. เชียงราย
ศูนย์การเรียนรู้ 30 ชนเผ่า เทศบาลนครเชียงราย
จ. เชียงราย