พิพิธภัณฑ์ทหารจังหวัดทหารบกเชียงราย บ้านจอมพล ป.พิบูลสงคราม


ที่อยู่:
ม่อนจอมแจ้ง อ.เมือง จ.เชียงราย
โทรศัพท์:
ค่ายเม็งรายมหาราช 053-711-202
วันและเวลาทำการ:
8.30 - 17.00 น. ทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2555
ของเด่น:
สถาปัตยกรรมตัวบ้านและนิทรรศการเกี่ยวกับสงครามที่เชียงตุง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ปลุกความรักชาติที่พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป.พิบูลสงคราม

เรือนเก่าสองชั้นหลังงาม อวดโฉมโดดเด่นบนเนินเขาลูกเตี้ยๆ กลางเมืองเชียงรายที่เรียกกันว่าม่อนจอมพล หรือม่อนจอมแจ้ง เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม”  เรียกได้ว่าเป็นชัยภูมิชั้นเยี่ยมที่มองเห็นภูมิประเทศของตัวเมืองเชียงรายที่มีขุนเขารอบล้อมและมีแม่น้ำกกไหลผ่าน   พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารจังหวัดทหารบกเชียงราย
 
อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนเก่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2484 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2485 เพื่อใช้เป็นที่พักของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ในการเดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และยังถูกใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการสนามกองทัพพายัพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 – 2489 เมื่อครั้งกองทัพไทยไปรบที่เมืองเชียงตุง  จากนั้นจังหวัดทหารบกเชียงรายก็ใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องในภารกิจต่างๆ เช่น หน่วยเฉพาะกิจทหารอาสาสมัครยุคต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  ฝ่ายการสารวัตรทหารบกเชียงราย ต่อมาได้รับการบูรณะซ่อมแซมและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นบ้านก่ออิฐถือปูนสองชั้นสไตล์ตะวันตก  ป้ายนิทรรศการอธิบายว่าหมายเลขประจำหลังคือ 68/85 เป็นบ้านรูปทรงสวิส  ชั้นใต้ดินกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร สูง 4 เมตร  ขนาดของบ้านกว้าง 19.25 เมตร ยาว 29.25 เมตร  สูง 6 เมตร ชั้นล่างมี 2 ห้อง ชั้นบน 4 ห้อง และโถงกลาง 2 ห้อง พื้นเป็นไม้เนื้อแข็ง

ความโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เห็นจะเป็นสถาปัตยกรรมของตัวบ้านที่ดูแปลกตา ส่วนการจัดแสดงภายในตามห้องต่างๆ คล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์ของทหารโดยทั่วไป คือเล่าเรื่องชาติและกษัตริย์ซึ่งฝังลึกอยู่ในมโนทัศน์ของทหารไทย  

เริ่มอุ่นเครื่องผู้ชมด้วยบริเวณโถงกลางชั้นล่างที่เป็นห้องรับแขก มีเตาผิงแบบฝรั่ง ตกแต่งด้วยเครื่องเรือน และเครื่องใช้ไม้สอยประจำบ้านแบบย้อนยุคเพื่อเข้ากับบรรยากาศ อาทิ วิทยุ โทรศัพท์ นาฬิกา เครื่องเล่นแผ่นเสียง  นอกจากเป็นมุมนั่งพักแล้วยังเป็นมุมสวยๆ สำหรับถ่ายภาพสำหรับผู้มาเยือน รายรอบผนังห้องเป็นแผ่นป้ายบอกเล่าประวัติความเป็นมาของตัวบ้าน  ภาพนายทหารที่ริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์  ประวัตินายทหารจากจังหวัดทหารบกเชียงรายที่ได้รับตำแหน่งสำคัญในกลาโหม  ภาพถ่ายของในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ และแผ่นป้ายนิทรรศการ “เรื่องของในหลวงที่เรา(อาจ) ไม่เคยรู้” ซึ่งแผ่นป้ายดังกล่าวจะติดอยู่ตามผนังห้องทั้งชั้นล่างและชั้นบน   มุมหนึ่งของห้องตั้งโล่เกียรติคุณต่างๆ ของจังหวัดทหารบกเชียงราย
 
ห้องชั้นล่างอีกปีกของตัวบ้านเป็นนิทรรศการประวัติกองทหารเมืองเชียงราย  ที่เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงเหตุการณ์ปราบฮ่อ  และวีรกรรมต่างๆ ของทหาร  กลางห้องติดตั้งจอฉายสารคดีเกี่ยวกับวีรกรรมต่างๆ ของทหาร ที่เจ้าหน้าที่เปิดสารคดีฉายวนทิ้งเอาไว้  นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายเก่าของกองทหารเมืองเชียงราย  มีป้ายนิทรรศการอธิบายประวัติความเป็นมาของกองทหารเมืองเชียงรายประกอบภาพถ่ายเก่าขนาดยาวหลายป้าย  รวมถึงประวัติการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ 327 ดอยแม่สลอง  วีรกรรมการสู้รบกับผกค.ที่ดอยยาว รายชื่อผู้บังคับการจังหวัดทหารเชียงรายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบ   
ลักษณะของป้ายนิทรรศการเป็นพริ้นต์เอ้าท์ขนดาใหญ่ที่คับแน่นไปด้วยเนื้อหาตั้งแต่เพดานจรดพื้น  ผู้อ่านที่สนใจต้องใช้เวลาและความมานะสักหน่อย   

ที่สะดุดตาคือข้อความที่เป็นอักษรตัวโตๆ วางอยู่ทั้งด้านบนหรือด้านล่างของป้ายนิทรรศการที่มุ่งหมายปลุกเร้าอารมณ์ความรักชาติและการอุทิศตนเพื่อรัฐเพื่อชาติ  บางข้อความถอดมาจากเพลงปลุกใจ เช่น “จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง”  หรือคติพจน์ เช่น “บ่าซ้ายพัฒนา บ่าขวาอำนาจการยิง  ทุกสิ่งอยู่ที่ใจ”  “แต่ไทยต้องคงนามความเป็นไทย  ถึงไม่มีใครวิญญาณกูจะสู้เอง”   แต่ยังมีข้อความที่ลดความฮึกเหิมอยู่บ้างจากท่านติช นัท ฮันห์   “ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของโลกใบนี้ ยังมีหนทางที่ดีกว่านั้นอีกมากมาย ขอเพียงมนุษย์กอบกู้สติสัมปชัญญะกลับคืนมาให้ได้เท่านั้น”  สังเกตว่าข้อความในลักษณะปลุกใจปรากฏทุกห้อง ทุกมุม 

ชั้นบนมีห้องจัดแสดงอีก 3 ห้อง  ห้องแรกเป็นห้องฉายวีดิทัศน์  แต่ในวันที่ไปเยี่ยมชมผู้เขียนไม่พบใครเลย  จึงไม่ทราบว่าเป็นวีดิทัศน์เกี่ยวกับอะไร   ภายในห้องมีภาพถ่ายจอมพลป. พิบูลสงครามติดไว้ที่ฝาผนัง ด้านล่างของภาพมีข้อความปลุกระดมในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ว่า “ถ้าแม้ปราชัยแก่ไพรี ก็ให้ได้แค่ปฐพีไม่มีคน”  

ห้องถัดมาเป็นห้องจอมพล ป.  โดยจำลองเป็นห้องนอนของจอมพล ป. มีเตียงนอน  โต๊ะทำงาน  ชุดรับแขก  ผนังห้องแขวนภาพถ่ายจอมพล ป. ในวาระต่างๆ   ใกล้กันเป็นป้ายนิทรรศการประวัติจอมพล ป.  อย่างไรก็ดีมีวัตถุจัดแสดงเพียงชิ้นเดียวที่เป็นของใช้ของจอมพล ป. จัดแสดงอยู่ คือเนคไทตราไก่ที่มอบให้อ.เฟื้อ เจิมปี  มีป้ายนิทรรศการเล็กๆ อธิบายว่ารูปไก่บนพื้นสีเขียวหมายถึงวันและปีเกิดของจอมพล ป. คือวันพุธ ปีระกา   มโนทัศน์เรื่องชาติได้สำแดงตัวตนอีกมากมายในห้องจัดแสดงนี้  อาทิ การจัดแสดงป้ายตัวอย่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐนิยม ในสมัยจอมพล ป. เรื่อง เพลงสรรเสริญพระบารมี และเรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ  ข้อความปลุกใจที่ติดไว้เหนือผนัง “ชาติของเราเป็นไทยอยู่ได้จนถึงตัวเราคนหนึ่งนี้ ก็เพราะบรรพบุรุษของเราเอาเลือดเอาเนื้อเอาชีวิตและความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้ เราต้องรักษาชาติ เราต้องบำรุงชาติ เราต้องสละชีพเพื่อชาติ”

โถงกลางกลางชั้นบนจัดแสดงนิทรรศการสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยเน้นไปที่การสู้รบในเชียงตุง มีทั้งภาพเก่าและประวัติความเป็นมา ที่น่าสนใจคือนิทรรศการ “ความช่วยเหลืออดีตนักรบเชียงตุงกลับแผ่นดินเกิด”  เรื่องราวดังกล่าวสืบเนื่องจากการไปทอดผ้าป่าของอดีตนายอำเภอเวียงชัย จ.เชียงราย ที่วัดหัวข่วง เมืองเชียงตุง และได้ทราบว่าหลังจากที่กองทัพพายัพถอนทัพออกจากเชียงตุงเมื่อปี พ.ศ. 2488 ยังมีทหารไทยตกค้างอยู่ที่เมืองเชียงตุงจำนวน 3 คน ทั้งหมดมีครอบครัวอยู่ที่เชียงตุง  บางคนอยู่ตัวคนเดียวไม่มีลูกและภรรยาเสียชีวิต  บางคนยังมีครอบครัวและลูกอยู่เชียงตุง ในที่สุดมีการประสานงานกับกองทัพและนำทหารที่ตกค้างกลับมา  ผลสุดท้ายมีกลับมาตั้งรกรากที่เมืองไทยเพียงคนเดียว ส่วนทหารอีกสองคนที่มีครอบครัวและลูกอยู่เชียงตุงไม่ได้กลับมา โดยป้ายคำอธิบายไม่ได้บอกเหตุผลที่ชัดเจน

ห้องสุดท้ายว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย  กลางห้องเป็นแบบจำลองภูมิประเทศเมืองเชียงราย แผนที่เมืองเชียงราย ภาพวาดเมืองเชียงรายในอดีต พร้อมจัดแสดงภาพเก่าของเมืองเชียงราย เป็นภาพสถานที่สำคัญของเมือง เช่น สถานที่ทางราชการ โรงเรียน วัด  จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงราย และข้าวของเครื่องใช้ในอดีต อาทิ มูยา ขอสับช้าง มีดดาบ เตารีด เงินตรา 

ที่น่าสนใจคือป้ายคำอธิบายเรื่อง “ชาติไทยยุคโบราณ”  ที่อธิบายประวัติศาสตร์อาณาจักรของชนชาติไทยที่มีมาตั้งแต่นครลุง นครเงี้ยว นครปา จนถึงอาณาจักรอ้ายลาว ไตมาว น่านเจ้า ฯลฯ เป็นความพยายามที่ทำให้ชาติไทยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่มาแต่อดีต มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน  ประวัติศาสตร์แบบนี้ไปด้วยกันได้ดีกับความคิดชาตินิยมแบบไทยเป็นใหญ่ในยุคสมัยจอมพล ป.  คือ ชาติไทยมีอยู่หรือดำรงอยู่มาตั้งแต่ยุคโบราณ  การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นประจักษ์พยานที่ทำให้เห็นความทรงพลังของการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์ชาติไทยของแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการที่เราเคยเรียนตอนเด็กๆว่าคนไทยมาจากดินแดนจีน

ปณิตา  สระวาสี : เขียน
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559
ชื่อผู้แต่ง:
-