ที่อยู่:
วัดคามวาสี ชุมชนบ้านโพน หมู่ 8 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 48120
โทรศัพท์:
082-8719790, 064-2125239
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.00-17.00 น. หากต้องการเข้าชมกรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
pongthaweemsu@gmail.com
ของเด่น:
เรือนไทญ้อ, หอแจกโบราณ, หอระฆังโบราณ, พระพุทธรูปแกะสลัก และเขาสัตว์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสี บ้านโพน
ชาวไทญ้อ บ้านโพน หมู่ที่ 8 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นชุมชนชาวไทญ้อที่รักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้อย่างเด่นชัดอีกกลุ่มหนึ่ง และเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญในจังหวัดนครพนม ชาวไทญ้อบ้านโพนมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ชาวไทญ้อกลุ่มนี้ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณปากแม่น้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วตั้งเป็นเมืองขึ้นมาใหม่ว่า “เมืองไชยบุรี” ปัจจุบันคือบริเวณตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อปี พ.ศ.2351
ต่อมาเมื่อเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เมื่อปี พ.ศ.2369 ชาวไทญ้อที่เมืองไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไป แล้วให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เมืองปุงลิง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอยู่ระยะหนึ่ง (ปัจจุบันอยู่ในเขตแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) เมื่อสงครามดังกล่าวสงบลงชาวไทญ้อกลุ่มนี้ก็ได้กลับมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง และตั้งเป็นเมืองท่าอุเทนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2373 ซึ่งก็คือบริเวณชุมชนท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ในปัจจุบัน
ภายหลังชุมชนชาวไทญ้อได้ขยายใหญ่ขึ้นจึงมีชาวไทญ้อกลุ่มหนึ่งย้ายออกมาตั้งบ้านเรือนในที่ราบทางทิศตะวันตกของเมืองท่าอุเทน เรียกตามสภาพภูมิประเทศที่ตั้งบ้านเรือนซึ่งเป็นเนินดินสูงจากพื้นราบว่า “บ้านโพน” ปัจจุบันคือชุมชนชาวไทญ้อบ้านโพน ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมใน ชาวไทญ้อบ้านโพนมีอาชีพด้านเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว กล้วย อ้อย สับปะรด ยาสูบ และพืชผักตามฤดูกาล รองลงมาได้แก่ อาชีพเลี้ยงสัตว์ และจับสัตว์น้ำในลำน้ำ เนื่องจากว่ามีการตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำโขงและแม่น้ำสงคราม
ชาวไทญ้ออัตลักษณ์ของชาวไทญ้อ ชุมชนบ้านโพน จะมีความสามัคคี มีความภาคภูมิใจในความเป็นชนเผ่าดั้งเดิม นอกจากจะมีระบบวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่ทำกันมาตั้งแต่อดีตสิ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทญ้อได้เป็นอย่างดี อีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาษาไทญ้อ ชาวบ้านโพนยังคงพูดคุยสื่อสารกันโดยภาษาญ้อกันทั้งชุมชน ภาษาไทญ้อจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กระได มีเฉพาะภาษาพูดพื้นฐานเสียงแตกต่างไปจากภาษาไทยลาว (ภาษาไทยอีสาน) ตรงที่ฐานเสียงอักษรสูง และเสียงจัตวาจะเน้นหนักในลำ คอ นำ เสียงสูง อ่อนหวาน ฐานเสียงสระ เอือ ใอ ในภาษาไทยลาวจะตรงกับฐานเสียงสระ เอีย และ เออ ตามลำดับ เช่น เฮือ เป็น เฮีย ให้ เป็น เห้อ ประโยคว่า อยู่ทางได เป็น อยู่ทางเลอ เจ้าสิไปไส เป็น เจ้านะไปกะเลอ เป็นต้น
ประเพณีและพิธีกรรมความเชื่อของชาวไทญ้อนั้น มีประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา โดยชาวบ้านจะสร้างตูบปู่ตา หรือ โฮงผีปู่ตา โดยชาวไทญ้อถือว่าผีปู่ตาคือ ผีบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว แต่ยังมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ สำหรับที่ตั้งของผีปู่ตาจะอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ สำหรับผีบรรพบุรุษของชาวไทญ้อที่ถือว่าเป็นผีปู่ตา สำหรับงานบุญของชาวไทญ้อส่วนมากก็เหมือนกับชาวอีสานทั่วที่นับถือ พระพุทธศาสนาและปฏิบัติตนโดยยึดหลักฮีตสิบสองคองสิบสี่
พระครูอุดมกิจพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดคามวาสี ซึ่งเป็นวัดประจำชุมชนบ้านโพนจึงมีดำริที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมไทญ้อให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานและพัฒนาชุมชนบ้านโพนให้เป็นชุมชนวัฒนธรรมเพื่อรองรับกระแสการท่องเที่ยวชุมชนที่กำลังเป็นที่นิยม จึงได้รวบรวมโบราณวัตถุภายในวัดมาจัดแสดงในตู้กระจกเพื่อให้นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนได้เยี่ยมชม ต่อมาจึงได้จัดสร้างเรือนไทญ้อขึ้นมา 1 หลัง โดยพยายามจำลองรูปแบบเรือนไทญ้อบ้านโพนในอดีต ตลอดจนพัฒนาบริเวณวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วัดคามวาสีจึงเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อที่มีการจัดแสดงแบบเต็มรูปแบบทั้งบริเวณวัด ซึ่งแบ่งเป็นโซนต่างๆ ดังนี้
1. เรือนไทญ้อ เป็นอาคารไม้ยกพื้นใต้ถุนสูง รูปทรงสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทญ้อโบราณ สร้างขึ้นจากไม้ที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาค หลังคามุงด้วยกระเบื้องขอ เรือนไทญ้อมีการจัดแสดงรูปแบบที่อยู่อาศัยและข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนของชาวไทญ้อ แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเรือนนอนและส่วนเรือนครัว ส่วนเรือนนอนแบ่งเป็นส่วนห้องโถงที่ใช้ทำกิจกรรมทั่วไปในครอบครัว กับที่ส่วนในเรือนแบ่งเป็นห้องนอน ภายในจัดแสดงอุปกรณ์และข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในเรือน เช่น ฟูก หมอน ผ้าห่ม ตู้ผ้า หิ้งพระ เป็นต้น ส่วนเรือนครัวจะแยกออกจากเรือนนอนและมีชานหรือระเบียงเชื่อมติดกัน เรือนครัวคือที่ประกอบอาหาร จัดแสดงเตาไฟ และอุปกรณ์ในการทำอาหารของชุมชนบ้านโพนเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา
2. พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปและโบราณวัตถุ อยู่ชั้นล่างของกุฏิเจ้าอาวาสแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นตู้จัดแสดงพระพุทธรูปโบราณฝีมือช่างพื้นบ้านที่แกะสลักจากไม้ งาช้าง เขากวาง เขาควายและผลึกหิน เครื่องใช้โลหะ เช่น ขันเงิน พานทองเหลือ เต้าปูนทองเหลือง เป็นต้น นอกจากมียังมีเอกสารใบลานจัดแสดงอีกด้วย ส่วนที่สองเป็นตู้จัดแสดงเครื่องเคลือบและขวดแก้วเก่าที่มีผู้บริจาคให้กับทางวัด
3. หอแจกโบราณ เป็นอาคารโบราณที่เป็นศิลปะพื้นบ้าน เป็นอาคารทรงโรงชั้นเดียว ก่อผนังเตี้ยๆ รอบทุกด้าน ยกเว้นทางทิศตะวันตกที่ก่อผนังและทำเป็นช่องหน้าต่างแทน หอแจกหรือศาลาการเปรียญหลังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25
4. หอระฆังโบราณ บางครั้งก็เรียกว่าหอกลอง เป็นอาคารก่อด้วยไม้ 3 ชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ชั้นล่างใช้เป็นที่อยู่ของโปงหรือระฆังไม้ ชั้นสองเป็นที่ตั้งของกลองเพล ส่วนชั้นที่สามเป็นที่แขวนระฆัง
นอกจากนี้ ภายในวัดคามวาสียังมีศาลาขนาดเล็กเรียงรายอยู่ภายในบริเวณวัด ตามศาลาเหล่านี้มีข้อมูลเกี่ยวกับงานประเพณีของชาวไทญ้อบ้านโพน ตลอดจนทำเป็นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียนได้ ด้านหน้ามีโรงเก็บฮางหดซึ่งทำขึ้นมาใหม่ตามแบบของเดิมที่ชำรุด มีศาลาการเปรียญทำด้วยไม้ยกพื้นสูง ชั้นล่างปล่อยโล่งเพื่อทำกิจกรรมในร่วม และยังมีลานสำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้งภายในวัดอีกด้วย
ชุมชนชาวไทญ้อ บ้านโพน ถือว่าเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางด้านวัฒนธรรมประเพณี โดยเฉพาะประเพณีเรือไฟบกในช่วงออกพรรษาของทุกปี และมีวัดคามวาสีซึ่งเป็นวัดกลางหมู่บ้านที่ใช้ประกอบพิธีกรรมและประเพณีของชาวไทญ้อ และจัดแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นอันแสดงถึงวิถีชุมชนที่น่าสนใจอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจและนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายในชุมชนบ้านโพนยังมีกลุ่มการเรียนรู้ภูมิปัญญาในการรักษาโรค การทำเกลือสินเธาว์ การทำขนมจีนแป้งหมัก การจักสาน การทอเสื่อกก ตลอดจนการทอผ้า และการย้อมผ้าสีธรรมชาติจากไม้มงคล ด้วยความที่ชุมชนบ้านโพนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่ยังคงยึดมั่นในขนบประเพณีตามวิถีไทญ้อที่แตกต่างจากชุมชนและชนเผ่าอื่นจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และน่าเรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยวผู้ที่มีความชื่นชอบ ต้องการเรียนรู้ และสัมผัสวัฒนธรรมพื้นถิ่นอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ของชาวไทญ้อบ้านโพนให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อเป็นของฝากอย่าง ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน ผลิตภัณฑ์เสื่อกก และผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติจากไม้มงคลอีกด้วย
อ้างอิง
“ชนเผ่าไทยย้อ บ้านโพน ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม”. Thailand Tourism Directory กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. สืบค้นจาก https://thailandtourismdirectory.go.th /th/info/attraction/ detail/itemid/22158, วันที่ 14 สิงหาคม 2562.
“ชุมชนท่องเที่ยววัฒนธรรมชนเผ่าไทญ้อ (บ้านโพน)”. สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครพนม.สืบค้นจาก https://nakhonphanom.mots.go .th/news_view.php?nid=469, วันที่ 13 สิงหาคม 2562.
สัมภาษณ์
พระครูอุดมกิจพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดคามวาสี. วัดคามวาสี บ้านโพน ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม, สัมภาษณ์วันที่ 10 พฤษภาคม 2562.
สมจิต ไชยสุระ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสี. บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 8 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม, สัมภาษณ์วันที่ 10 พฤษภาคม 2562.
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ไทญ้อ
หอเฉลิมพระเกียรติพระราชวงศ์จักรี
จ. นครพนม
พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
จ. นครพนม
หอวัฒนธรรมนิทัศน์ลุ่มน้ำโขง จังหวัดนครพนม
จ. นครพนม