พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบ


ที่อยู่:
วัดไผ่รอบ บ้านคลองยาง ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
โทรศัพท์:
086 441 3738 (สมทบ)
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน โปรดติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
ของเด่น:
เครื่องแต่งกายไทยทรงดำ, เครื่องจักสาน เช่น กะเหล็บ, ผลิตภัณฑ์ผ้าทอประยุกต์, แบบจำลองเรือนไทดำ (หลังคาทรงกระดองเต่า)
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบ

ในปี 2561 วัดไผ่รอบมีอายุครบศตวรรษ จากหลักฐานเสนาสนะที่มีจารึกไว้ “22 มิถุนายน 2461” นับเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชุมชนคนไทยเชื้อสายไทดำหรือลาวโซ่ง อพยพมาจากเพชรบุรีและราชบุรีบางส่วน มาตั้งรกรากในจังหวัดพิจิตร อำเภอโพธิ์ประทับช้างและอำเภอวชิรบารมีคือ อำเภอ 2 แห่งที่มีชาวไทยเชื้อสายไทดำมากที่สุด กำนันสมชาย กิตต์ญาณ ของตำบลไผ่รอบให้คำอธิบายไว้ในการบอกเล่าความเป็นมาของชุมชนคนไทดำในจังหวัดพิจิตร

สมทบ สอนราช หรือ “หมอสมทบ” เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพไผ่รอบเหนือและรองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลไผ่รอบกล่าวถึงชื่อเรียกของไทดำ นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา เดิมนั้นเรียกว่า ลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ แต่สำหรับของกลุ่มนั้นจะเรียกกันว่า ไทดำ เพื่อระบุว่าเป็นชนชาติที่สืบเชื้อสายมากเดียนเบียนฟูในเวียดนาม

ความคิดเริ่มแรก ไม่อยากให้คนรุ่นหลังลืมวัฒนธรรมของตนเอง อยากสืบทอดสิ่งที่จะเลือนหายไปให้คงไว้ ทุกวันนี้ โรงเรียนไม่เอามาก เอาแค่ภาษากับการแต่งกาย วันศุกร์ ใส่ชุดไทดำ

ย้อนไปเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้านี้ กำนันสมชายเอ่ยขึ้นเพื่อกล่าวถึงช่วงเวลาที่ชุมชนไทดำในตำบลไผ่รอบเริ่มตัวกันเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมและประเพณีของไทดำ ทั้งภาษาไทดำและเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ได้รับการขับเน้นเป็นลำดับแรก ๆ ในกระบวนการฟื้นฟู ปัจจัยอีกประการหนึ่ง งานสืบสานวัฒนธรรมไทดำในภาคเหนือตอนล่างหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ พิษณุโลก รวมไปถึงจังหวัดเลย เป็นเงื่อนไขที่ส่งเสริมให้คณะทำงานดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จากการจัดงาน คณะทำงานเริ่มขยายสู่การรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นที่ที่เป็นมรดกตกทอดในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องสีข้าวด้วยมือ และเครื่องจักสานต่าง ๆ เท่าที่พอจะหาได้ในชุมชน

พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบ

จากนั้น พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบจึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น จากการบริจาคทรัพย์สินหรือข้าวของที่เห็นว่าเป็นตัวแทนของการบอกเล่าอัตลักษณ์ไทดำ และการบริจาคเงินอีกจำนวนหนึ่งจากสมาชิกภายในชุมชน หมอสมทบให้ข้อมูลเพิ่มเติม

สักปี 51 52 ผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับไทดำ เรื่องประวัติ การดูแลสุขภาพ เรารวบรวมได้ว่า ในไผ่รอบ กลุ่มผู้สูงอายุยังอยู่ ผู้สูงอายุสืบทอดระหว่างศตวรรษ คนไผ่รอบตายปี ๆ หนึ่งสามสิบ เป็นอายุเกิน 80 สัก 20 คน เลยมองว่า ใบไม้กำลังร่วง ทำอย่างไรให้เกิดการสือต่อ และรุ่นเล็ก ๆ ได้มีความรู้ เลยเป็นที่มาว่า ให้เอาคนเฒ่าคนแก่รื้อฟื้นคืนกลับมา โดยเอากลุ่มคนมาเรียนต่อ ในเรื่องเสื้อผ้า ทรงผมแต่ละวัน มีการบอกเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ เครื่องใช้ ศิลปวัฒนธรรม

ในกระบวนการทำงานของสภาวัฒนธรรม จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่จะกระชับความสัมพันธ์ของคนระหว่างวัยและความรู้ของคนต่างรุ่น กลุ่มแม่บ้านในช่วงสี่สิบห้าสิบปี จะมีโอกาสมาทำงานเย็บปักถักร้อยที่เกิดจากการเรียนรู้เทคนิคจากคนรุ่นอาวุโส รวมทั้งการใช้เวลาในช่วงเย็นเรียนรำไทดำ นับเป็นการออกกำลังกายร่วมกัน

พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบในวัดไผ่รอบในปัจจุบัน จึงเป็นมากกว่าสถานที่ของการจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจากครัวเรือน แต่ทำหน้าที่เสมือนคลังสิ่งของกับเรื่องเล่าและพื้นที่กลางของการใช้เวลาร่วมกันของสมาชิกในชุมชน พิพิธภัณฑ์อาศัยการปรับพื้นที่ชั้นล่างของศาลาการเปรียญที่มีการแบ่งพื้นที่หนึ่งในสี่ กันไว้เป็นห้องกระจกและจัดเก็บข้าวของ เครื่องแต่งกาย พื้นที่อีกหนึ่งส่วนเป็นบริเวณหน้าห้องกระจก สำหรับให้กลุ่มแม่บ้านมาทอผ้าและตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้าร่วมกัน ส่วนที่เหลือเป็นโถงสำหรับการจัดประชุมตามวาระต่าง ๆ ที่จัดขึ้นโดยวัดหรือชมรม/กลุ่มทางการ/กลุ่มไม่เป็นทางการ และยังเป็นสถานที่ต้อนรับคณะมาศึกษาดูงานอีกด้วย

หมอสมทบอธิบายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่นำเสนอภายในห้องกระจก โดยกำกับว่า หากมีคณะดูงานจำนวนมาก จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายวัตถุต่าง ๆ หุ่นสวมเครื่องแต่งกายตามประเพณี และอื่น ๆ มาเรียงรายภายในโถงที่ใช้เป็นสถานที่ประชุม

ฝากหนึ่งของห้องกระจก หุ่นคนที่หาซื้อตามตลาดทั่วไปสวมใส่เครื่องแต่งกายตามประเพณี เช่น เสื้อฮี หรือเสื้อที่มีชายเสื้อยาวเกือบถึงเขาสำหรับการประกอบพิธีกรรม ลวดลายที่ตัดเย็บด้วยลายเรขาคณิตจะใช้เฉพาะในวาระการจากไปของผู้เป็นเจ้าของ อีกวาระหนึ่งจะใช้เคียนเอวสำหรับประกอบพิธีกรรมในการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เป็นอาทิ อีกชุดหนึ่งเรียกว่า “เสื้อไท้” ที่ใส่ในชีวิตประจำวัน หุ่นสตรีอีกหนึ่งสวมใส่ผ้าเปียวที่ปักด้วยมือที่ชายผ้าทั้งสองข้าง หมอสมทบเล่าเรื่องความทรงจำว่าสมัยที่เริ่มมาทำงานในชุมชนใหม่ ๆ ยังจำได้ว่า หญิงที่อยู่บ้านจะใช้ผ้าเปียวคาดอกและนุ่งซิ่นดำ อยู่อย่างง่าย ๆ

จากฟากของเสื้อผ้า ผู้ชมจะได้เห็นเครื่องจักสานหลากหลายรูปทรง ไม่ว่าจะเป็นกะเหล็บที่ทำหน้าที่เหมือนกระเป๋า ซึ่งนับว่าหาผู้คนในหมู่บ้านที่จักสานอย่างละเอียดลออดังเช่นกะเหล็บที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์นั่นไม่มีอีกแล้ว นอกจากจะกะเหล็บแล้ว ยังมีแอ๊บข้าวที่คล้ายกับกะติ๊บทางอีสาน ขะมุกที่เป็นเครื่องจักสานทรงสี่เหลี่ยม มีฝาและตัวแยกออกจากกันใช้เก้บข้าวของหรือเอกสารสำคัญของครอบครัว โดยส่วนของฝา มีลักษณะโค้งแอ่นเล็กน้อยสำหรับเข้าเอวเมื่อต้องการขนข้าวของ

อีกส่วนหนึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการเกษตร อุปกรณ์สำหรับทอผ้า และสิ่งของอีกจิปาถะเท่าที่จะมีคนนำมาบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ ที่น่าสนใจอีกหนึ่งคือ เรือนไทดำ ที่เป็นแบบจำลองความสูงประมาณ 90 ซม. โดยใช้เมื้อเนื้อแข็งประกอบเป็นตัวเรือน เอกลักษณ์หลังคาทรงกระดองเต่านั้นดูโดดเด่นเช่นเดียวกับเรือนจำลองขนาดเท่าจริง ที่พบเห็นได้ตามศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำในอีกหลายจังหวัด

บนสิ่งของต่าง ๆ ปรากฏป้ายระบุชื่อเรียกที่เขียนด้วยตัวอักษรไทดำและภาษาไทยกลางเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนของชุมชน ทั้งนี้ การเรียนรู้ภาษาไทดำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ชุดอื่น ๆ ที่ถ่ายทอดภายในชั้นเรียนของสถานศึกษาในท้องถิ่น ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนไผ่รอบ โรงเรียนในโพธิ์  เช่น การสอนเย็บหน้าหมอนด้วยเศษผ้า การสอนทำขนมไทย การจักสาน และยังมีชั้นเรียนทางพุทธศาสนาแทรกอยู่ด้วย

ในวันนี้และในวันข้างหน้า

การเรียนรู้ไม่เพียงแต่จะทำให้เด็ก ๆ รับรู้เรื่องราวของตนเอง ได้ทดลองปฏิบัติต่าง ๆ ในชั้นเรียน มากไปกว่านั้น หลายกิจกรรมยังสามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์จากผ้าเป็นงานฝีมือที่รับช่วงทำชิ้นส่วนประกอบให้กับกลุ่มแม่บ้าน ถือเป็นการสืบต่อทางวัฒนธรรมและความภาคภูมิใจที่ตนเองสามารถหารายได้ แม้จะไม่ใช่จำนวนสูงมากก็ตาม “เด็กประถมนั้นสอนง่าย เป็นกลวิธีของการนำศิลปวัฒนธรรมใส่ไปในตัวเขา ให้รัก ให้หวงแหน สิ่งที่ประดิษฐ์เป็นย่าม ดอกหน้าหมอน รวมถึงการฝึกฟ้อนแคนต่าง ๆ ทั้งหมดนี้สร้างความภาคภูมิใจและส่งเสริมธำรงวัฒนธรรมของชุมชนเอาไว้” หมอสมทบกล่าวถึงกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาและสมาชิกของชุมชน

กำนันสมชายระบุถึงโครงการจัดทำอาคารพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติมภายในบริเวณวัดไผ่รอบ เพื่อรองรับวัตถุพิพิธภัณฑ์จากโรงเรียนวัดเกาะแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ตำบลไผ่รอบที่มีการจัดจั้งมาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 แต่ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ไม่มีผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์โดยตรง จึงได้ทำการประชาคมบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และลงมติเคลื่อนย้ายสิ่งของมายังอาคารที่สร้างใหม่ในวัดไผ่รอบ เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน สถานที่ดังกล่าวจะสามารถรองรับสิ่งจัดพิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบในปัจจุบันได้อีกคำรบหนึ่ง

ทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์ต้อนรับหมู่คณะต่าง ๆ ที่มาศึกษาดูงาน โดยสามารถจัดอาหารและเรียนรู้ข้อมูลผ่านสิ่งของและการบอกเล่า ตามแต่โอกาสที่จะเอื้ออำนวย สภาวัฒนธรรมตำบลไผ่รอบยังได้เข้าร่วมนำเสนอการแสดง และขบวนต่าง ๆ ในโอกาสที่มีการจัดมหกรรมทางวัฒนธรรมในระดับอำเภอและจังหวัด เป็นจำนวนราว 3-4 ครั้งต่อปี รวมทั้งงานสิบชนเผ่าใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ทั้งหมดคือการสื่อสารสู่คนภายนอกทั้งที่มาเยือนถึงพิพิธภัณฑ์และที่ได้ไปนำเสนอในวาระต่าง ๆ ภายนอก หมอสมทบกล่าวสรุปไว้ในช่วงท้ายถึงการทำงานของสภาวัฒนธรรมตำบลไผ่รอบ

ผมยึดหลักในหลวง ร. 9 การจะพัฒนาชุมชน ต้องดึง “ภูมิสังคม” หากเราไม่เข้าใจเขา แม้เราถ่ายทอดเรื่องดูแลสุขภาพ สอนให้ตายอย่างไร หากไม่ใช่วิถีชีวิตของเขา ก็ไม่เกิดประโยชน์ ผมเริ่มชวนทำกี่ทอผ้าไว้สำหรับการทอผ้า เขาถามว่าจะทำได้เหรอ แต่เมื่อสำรวจแล้ว กี่ทอผ้าคงเหลืออยู่บ้าง คนแก่ที่ทอผ้สได้ ก็ยังมี ส่วนการจัดซื้อด้าย เราก็รู้แหล่ง ...เราสร้างความไว้วางใจ และพยายามให้เขามองว่าตรงนี้เป็นไม่ใช่สถานที่ราชการ  

...เมื่อตกเย็นมา มาฟ้อนรำ ที่นี่คนสูงอายุไม่เหมือนในชุมชนอื่นที่อยู่บ้านเฉย ๆ แต่กิจกรรมที่มาร่วมกันทำ กลายเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ หลายครั้ง กิจกรรมช่วยเชื่อมต่อทางสังคม มาบัดนี้ คนสูงวัยกลายมาเป็นหลักในการถ่ายทอดความรู้ หากมีโอกาสได้ชมภาพในวีดิโอออนไลน์ จะเห็นว่า พวกเขามีความสุขแค่ไหน นัยน์ตาทุกคู่สื่อถึงความสุขที่ออกมา.

สัมภาษณ์

สมชาย กิตต์ญาณ, วัดไผ่รอบ ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร, วันที่ 28 กันยายน 2561

สมทบ สอนราช, วัดไผ่รอบ ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร, วันที่ 28 กันยายน 2561


ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ