ศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมตำบลยางน้ำกลัดใต้ (ศูนย์กะเหรี่ยงศึกษา)


ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านยางน้ำกลัดใต้ ตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
โทรศัพท์:
081-8681796 (ศรีพล) , 093-0041838 (เจริญพร)
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2559
ของเด่น:
ผ้าทอและผลิตภัณฑ์จากผ้าทอกะเหรี่ยง, ภาษากะเหรี่ยง, วัสดุพื้นบ้าน เช่น “กะด้วง” สำหรับจับแย้ “คั่งยะสก” สำหรับหั่นใบยาสูบ “ลำแพน” สำหรับตากใบยาสูบ, ชุดกะเหรี่ยง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมตำบลยางน้ำกลัดใต้

ชุมชนบ้านยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี แวดล้อมด้วยภูเขาและต้นไม้ใหญ่ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงตามแนวชายแดนเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานได้ราวสองถึงสามร้อยปี โดยมีสัญลักษณ์เสาหงส์อายุกว่าร้อยปี ที่ประดิษฐานในบริเวณโรงเรียนบ้านยางน้ำกลัดใต้ในปัจจุบัน เป็นพยานบอกเล่าถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชน

พี่ศรีพน นาคะเวช ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมตำบลยางน้ำกลัดใต้ และพี่เจริญพร สถาพล ผู้นำชุมชนหมู่ที่ 1 ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านยางน้ำกลัดใต้และการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นและศูนย์กะเหรี่ยงศึกษา

พื้นที่หมู่ 1 2 ชาติพันธุ์เดิมเป็นชาวกะเหรี่ยง ตามประวัติแล้ว โยกย้ายมาจากพม่า ตามเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเขตรอยต่อตั้งแต่กาญจนบุรี สุพรรณ ราชบุรี เพชรบุรี แล้วก็มีกะหร่างด้วย เดิมตรงนี้เป็นชุมชนกะเหรี่ยงใหญ่เลย เนื่องจากว่าข้างมีหลักฐานของต้นกะพงใหญ่ ซึ่งเขาเล่าต่อกันมาว่าเดิมเป็นแค่หลักพลูเฉย ๆ แต่นี่อายุสองสามร้อยปี คาดว่าชุมชนนี้อายุสองสามร้อยปีมาแล้ว แล้วจากนั้น มีการขยายหมู่บ้านพื้นที่ อย่างตอนนี้ ชุมชนในหมู่ 2 มีประชากรชาวกะเหรี่ยงมากกว่าหมู่ 1 อีก เดี๋ยวนี้ก็จะมีการแต่งงานข้ามชนเผ่า ได้คนไทย อะไรก็จะเหลือน้อยลง

          พี่เจริญพรบอกเล่าความเป้นมาของผู้คนในชุมชนอย่างย่นย่อ พี่ศรีพน สมทบว่า มีข้อสันนิษฐานหลายแนว แนวที่หนึ่งว่าอาจจะเป็นกระเหรี่ยงชุดเพชรบุรี ที่เกี่ยวข้องกับการรบสมัยพระนเรศวร อีกส่วนหนึ่งว่าอาจจะเป็นเชลยศึกหรือลูกหาบ เพราะมีต้นโพธิ์ เสาหงส์ และสถูป ที่คล้ายคลึงกับที่ปรากฏในพม่า

ในหมู่บ้านคงมีสืบทอดประเพณี ได้แก่ การเวียนศาลา ที่จัดขึ้นในเดือน 5 และ 11 โดยอาศํยการจัดงานในแต่ละหมู่บ้านของชุมชนกะเหรี่ยงในอำเภอหนองหญ้าปล้อง เพื่อสืบสานความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่ อีกงานหนึ่งคือ ประเพณีข้าวห่อ ที่จัดในเดือน 9 พี่เจริญพรอธิบายขึ้นตอนในพิธี

มีการเอาห่อข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบตองเป็นรูปทรงกรวย เมื่อต้มสุกแล้วก็มีการใช้กะทิ แต่ขั้นตอนการทำมีระยะเวลาสามสี่วัน ตั้งแต่หาฟืน หาใบตอง วันห่อ วันต้ม แล้วก็วันกิน พอถึงเวลาเย็นของวันกิน มีการเรียกขวัญทีหนึ่ง ประมาณสองทุ่ม เพื่อเรียกขวัญที่อยู่ตามทุ่งตามพุ่มไม้ให้กลับมาที่เจ้าของบ้าน อาจจะเป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้านเรียกขวัญมา พอเสร็จแล้วตีห้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็จะมีการหุงข้าว เตรียมดาวเรือง กล้วย อ้อย   ...เหมือนกับทางอีสานเรียกขวัญให้มาอยู่กับเนื้อตัว แต่คนที่เกิดเดือน 9 เขาจะผูกที่ข้อเท้าด้วย ถือว่าคนนั้นที่เกิดในเดือน 9 เป็นมงคลที่สุด ก็เลยมีต้องผูกข้อเท้าด้วย ...เดี๋ยวนี้คนพื้นที่ราบก็มาเที่ยวหา ไปบ้านไหน ก็ขึ้นได้ทุกหลัง

พัฒนาการและภายในศูนย์วัฒนธรรม

ชุมชนบ้านยางน้ำกลัดใต้นับเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกหลายภาคส่วน เช่น โครงการของ SCB Life ที่สนับสนุนการพัฒนาฝึกอาชีพ เช่น การทอผ้า การเลี้ยงไก่ การปลูกผักไม่ใช้ดิน หรือโครงการกองทุนหมู่บ้าน พ.ศ. 2544 ได้เงินสร้างศาลาอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรม ในระยะที่ศาลาก่อสร้างใหม่ ๆ ชุมชนได้เป็นสถานที่ของการประกอบพิธีกรรมดังที่อธิบายข้างต้น และแม้มีการเก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน แต่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นศูนย์วัฒนธรรมอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อ พ.ศ.2557-2559 คณะวิจัยหลายคณะจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพชรบุรี ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาหมู่บ้านโฮมสเตย์ โครงการศึกษาภาษากะเหรี่ยงและโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากผ้าทอ ผลงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยดำเนินการร่วมกับชุมชน คือการปรับปรุงศาลาอเนกประสงค์เป็นศูนย์วัฒนธรรมตำบลน้ำยางกลัดใต้ (ศูนย์กะเหรี่ยงศึกษา) ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ภายในจัดแบ่งพื้นที่แสดงผลงานการศึกษาและนำเสนอเรื่องราวของบ้านยางน้ำกลัดใต้ เมื่อเข้าสู่พื้นที่จัดแสดง ทางซ้ายมือแสดงภาพของสถานที่สำคัญในชุมชน เช่น วัดยางน้ำกลัดใต้ (ไหว้หลวงพ่อโต) ศรีพนาฟาร์ม (เก็บเห็ด) สวนสมจิตร (ชมสวนไร่ผสม) อ่างเก็บน้ำบ้านวังหิน ต้นกะพงใหญ่และสถานที่ประวัติศาสตร์เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เคยเสด็จ ณ โรงเรียนบ้านยางน้ำกลัดใต้ จากนั้น ผู้ชมจะได้ชมผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจากงานวิจัยต่อยอดผ้าทอ เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพชุมชนและความร่วมมือจากสถานศึกษาในพื้นที่

ในส่วนกลางและผนังด้านใน แสดงวัสดุพื้นบ้านที่มาจากการรับบริจาค พี่เจริญพร ยกตัวอย่าง เช่น “กะด้วง” เป็นกระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็กและมีกลไกในการดักแย้ แต่ปัจจุบันไม่พบแย้ในธรรมชาติมากนัก “คั่งยะสก” สำหรับการหั่นใบยาสูบที่ใช้คู่กับ “ลำแพน” หรือไม้ไผ่สานสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่สำหรับตากใบยา สิ่งของอีกจำนวนหนึ่งเป็นเครื่องจักสานอยู่บนเวที ผู้ชมสังเกตสิ่งของจากระยะไกล

ผนังทางขวามือเป็นส่วนสุดท้าย แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับภาษา คำทักทายทั้งในภาษากะเหรี่ยง ไทยกลาง และอังกฤษ ให้ฝึกออกเสียง เนื้อหาคือการเรียนรู้การนับตัวเลข การเรียนรู้วันในสัปดาห์ สุดท้ายเป็นบอร์ดตารางเทียงเตียงสามภาษาในประโยคสั้น ๆ อื่น

บริเวณโดยรอบศูนย์วัฒธรรมและโครงการในอนาคต

บริเวณโดยรอบมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ลานที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาตลาดประชารัฐ เพื่อนำผลิตภัณฑ์จากชุมชนมาจำหน่าย พี่ศรีพนกล่าวถึงดครงการดังกล่าวว่ามาจากการสนับสนุนของจังหวัด “เพชรสมุทรคีรี” พ.ศ. 2560 ใกล้กับลานดังกล่าวเป็นเรือนกะเหรี่ยงจำลอง ผู้ชมไม่สามารถเข้าไปยังเรือนดังกล่าวได้ด้วยสภาพของเรือนไม่อาจรองรับน้ำหนัก แต่แสดงถึงเรือนไม้ไผ่ยกพื้นสูง มีชานสำหรับเป็นพื้นที่นอนของลูกชา ส่วนด้านในมีพื้นที่ครัวไฟ ส่วนห้องในสุด สำหรับพ่อแม่และลูกสาว

จากนั้น เป็นต้นกะพงสูงใหญ่อายุกว่าร้อยปี สถูปเป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของชุมชน และศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงปู่นวม เกจิอาจารย์จากราชบุรี เป็นบุคคลที่ได้รับความนับถือจากชุมชน “หลวงพ่อโพธิ์” หรือต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีการจำลองศาลขนาดเล็ก โดยสามารถเคลื่อนย้ายในการประกอบพิธีประจำปีในหมู่บ้าน  ใกล้อาคารศูนย์วัฒนธรรมยังมีอนุสรณ์พลับพลาที่ประทับของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เคยเสด็จยังบ้านยางน้ำกลัดใต้ และสร้างความภาคภูมิใจให้คนในพื้นที่

ในช่วงสุดท้าย พี่เจริญพรกล่าวถึงการดำเนินการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ นอกเหนือการจัดเส้นทางการท่องเที่ยวแล้ว กลุ่มยังเคยนำผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้า ในอนาคต หวังจะพัฒนาให้การท่องเที่ยวมีระบบมากยิ่งขึ้น โดยจัดโปรแกรมต้อนรับ เช่น การฟ้อนรำ อาหารพื้นบ้าน คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามถึงโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในช่วงนี้ เพราะหลาย ๆ โครงการที่เคยได้รับการสนับสนุนมาก่อนหน้านี้ กลับไม่ต่อเนื่องดังเช่น ศูนย์พัฒนาอาชีพผ้าทอ ที่คงเหลือแต่เครื่องทอผ้า แต่ไม่มีสมาชิกมาเข้าร่วมทำกิจกรรม เพราะประชากรในพื้นที่เริ่มเปลี่ยนแปลง เกิดความผสมผสานกับคนนอกมากขึ้น การศึกษาผลักดันให้ลูกหลานออกนอกพื้นที่ และอีกส่วนหนึ่งออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงานในเมืองใหญ่

ในเบื้องต้นคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าศูนย์วัฒนธรรมตำบลยางน้ำกลัดใต้ (ศูนย์กะเหรี่ยงศึกษา) ได้สั่งสมความรู้ทางภาษา วัตถุวัฒนธรรม และเป็นเสมือนบันทึกโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เข้ามายังพื้นที่ อย่างน้อยที่สุด เป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่รอให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในวันข้างหน้า.

ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
คำสำคัญ: