พิพิธภัณฑ์ใต้แม่น้ำเพชรบุรี


อาจารย์กิตติพงษ์ พี่งแตง ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ใต้แม่น้ำเพชรบุรี เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้สมบัติที่อยู่ใต้แม่น้ำเพชร เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวเพชรบุรี ถือว่ามีความพิเศษไม่เหมือนใคร เนื่องจากมีโบราณวัตถุอายุเก่าแก่นับพันปี ไม่ว่าจะเป็น “หม้อน้ำ” รูปสลักนกยูงของชาวมอญ สมัยทวารวดีหรือขวานหิน เงินโบราณ เหรียญดอกไม้ เงินขด เงินอีแปะ เงินปลิง คันฉ่องสำริด สมัยราชวงศ์ถัง หม้อตาลเมืองเพชรภาชนะดินเผา และอื่นๆ อีกมากมายซุกซ่อนอยู่ที่ก้นแม่น้ำเพชรบริเวณหน้าวัดมหาธาตุ อาจารย์กิตติพงษ์ มีแรงบันดาลใจในการค้นหาสมบัติในแม่น้ำเพชรบุรีอย่างจริงจัง หลังจากที่ตามหาหม้อตาลเมืองเพชรเพื่อมาจัดนิทรรศการ 150 ปี พระนครคีรี และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้สะสมหม้อตาลเมืองเพชรเรื่อยมา ทั้งจากคนรู้จักและงมหาได้ในแม่น้ำเพชรอีกหลายชิ้น

ที่อยู่:
อ.เมือง จ.เพชรบุรี
โทรศัพท์:
0803725463
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2552
ของเด่น:
เครื่องปั้นดินเผา หม้อตาล เครื่องถ้วย จากแม่น้ำเพชรบุรี
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 15 มีนาคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ใต้แม่น้ำเพชรบุรี

ในงานฉลองพระนครคีรี เมื่อ พ.ศ. 2552 ครูกิตติพงษ์ พึ่งแตง ครูสอนพลศึกษา โรงเรียนสุวรรณรัสฤษฎ์วิทยาลัย จังหวัดเพชรบุรี นำเสนอกับเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี เกี่ยวกับเรื่องราวของหม้อตาลเมืองเพชรที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นมีอยู่จำนวนมากมายในแม่น้ำเพชรบุรี จึงเป็นเหตุให้อาจารย์เริ่มที่จะค้นหาวัตถุข้าวของที่อยู่ในแม่น้ำ เรียกว่าได้เป็น “ตะกอนอารยธรรมลุ่มแม่น้ำเพชรฯ” ในงานครั้งนั้น อาจารย์ได้จัดซุ้มแสดงหม้อตาล และได้รับความสนใจจากเด็กๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่ทำจากดินเผา ที่มีลักษณะคล้ายเตาและสามารถเป่าเพื่อส่งสัญญาณด้วยเสียงที่มีลักษณะแหลมสูง
 
จากเหตุบังเอิญดังกล่าว อาจารย์เริ่มต้นการค้นคว้าและหาความรู้จากสื่อออนไลน์ และพยายามเปรียบเทียบลักษณะของวัตถุกับงานค้นคว้าทางวิชาการที่มีอยู่ และขอคำปรึกษาจากอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ซึ่งเป็นผู้รู้ในท้องถิ่น และเป็นผู้ที่ให้กำลังใจกับอาจารย์กิตติพงษ์ หรือ “อาจารย์เจี๊ยบ” มาโดยตลอด
 
วัตถุข้าวของที่ได้รับการงมหรือดำน้ำนั้น ได้แก่ ภาชนะ หม้อ ไห ขวานหิน เตา เงินตราต่างๆ บ้างมีลักษณะที่สมบูรณ์อย่างไม่น่าเชื่อ บ้างมีลักษณะที่แตกหัก แต่ยังพอที่จะประกอบให้เห็นเป็นชิ้นได้เกือบสมบูรณ์ อันที่จริง การค้นหาวัตถุในแม่น้ำเป็นที่นิยมของคนที่ประกอบอาชีพขายของเก่า แต่วัตถุที่พวกเขาค้นหาก็จะมีมูลค่ามากพอสำหรับการแลกเปลี่ยน แต่ยังมีวัตถุอีกเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องปั้นดินเผา ที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ค้าของเก่าจากแม่น้ำเพชรฯ ด้วยเหตุนี้ นอกจากวัตถุของพิพิธภัณฑ์จะมีที่มาจากการงบหรือดำน้ำหาโดยครูเจี๊ยบแล้ว พวกเพื่อนๆ นักค้าของเก่า จะนำของที่หาได้จากแม่น้ำเพชรบุรีในเขตตั้งแต่ท่าโรงหม้อ ซึ่งในปัจจุบันคือสถานีดับเพลิง เรื่อยมาจนที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ใต้แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งไม่ไกลจากวัดมหาธาตุฯ เมืองเพชรบุรี มอบให้กับอาจารย์เจี๊ยบ สำหรับใช้ในการศึกษาและบอกเล่าเรื่องราวของอารยธรรมในลุ่มน้ำเพชรบุรี
 
ครูเจี๊ยบเล่าเรื่องเอกลักษณ์ของหม้อตาลเมืองเพชรฯ “หม้อตาลเมืองเพชร จุดเด่น ปากกว้าง มีลายกันลื่น ก้นโค้งมน ขั้นตอนการผลิต เวลาปั้นด้วยแป้นหมุน แล้วเราใช้ ‘ลูกกะเทอ’ทางเพชรฯ เรียกลูกกะเทอ ทางเหนือเรียก ‘หินดุ’ใส่ไว้ข้างใน ใช้ ‘ไม้กะตาก’ ตีขึ้นรูป ให้โค้งมน ใช้ไม้ใหม่ตีลาย หมวกทรงที่ทหารเรือใส่เรียกทรงหม้อตาล คือหม้อตาลเมืองเพชรบุรีคว่ำ” จบท้ายการบอกเล่าหม้อตาลเมืองเพชรฯ ครูเจี๊ยบพลิกหม้อตาลคว่ำเอาปากลง และวางไว้บนศีรษะ ผู้สำรวจจึงมา “ถึงบางอ้อ”ว่าหมวกของทหารเรือบ้านเราจึงเรียกว่า หมวกทรงหม้อตาล ครูเจี๊ยบยังบอกด้วยว่า ข้าวของในแม่น้ำเพชรฯ นี้ยังพบเจออยู่ทักวัน เช่น “อย่างชิ้นนี้ เรียกไต้เสือมายเป็นตะเกียง เอาไว้กลางแจ้งใส่น้ำมันยา ไตเสือมายทำด้วยดินเผา ไม่เคยเห็นที่ไหนเลย แม้แต่ในพจนานุกรม ไม่เคยระบุไว้ ชิ้นนี้เจอในแม่น้ำเพชรฯ”และแนะนำวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง “ตะครัน เอาสายไฟพาดไว้ และจุดนำทางบนระเบียง”
 
ผู้สำรวจได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากคอลัมน์ “จุดประกาย” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยนิพัทธพร เพ็งแก้ว (ปีที 24 ฉบับที่ 8365 วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554) ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเสือมายจากคำบอกเล่าของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว และงานเขียนในหนังสือเรื่อง “เกิดเป็นคนใต้: อัตชีวประวัติสามัญชนคนใต้”โดยกล่าวไว้ว่า “ไต้เสือมายเป็นกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่เหมือนกระบอกตาล ใส่น้ำมันยางเกือบเต็ม อุดปากกระบอกด้วยเปลือกเสม็ดชุบ (น้ำมันชุบยาง) ทำหน้าที่เสมือนไส้เทียนขนาดใหญ่ (มีกระบอกน้ำมันยางเป็นลำเทียน) มักคาดไว้ประจำที่ เพราะให้ความสว่างมาก มักใช้ในโอกาสมีงานเทศกาล งานบุญ งานวัด หรืองานที่ใช้พื้นที่อยู่กลางลานกว้าง” ในบทความดังกล่าว ยังกล่าวถึงไต้เสือมายที่เป็นดินเผาชิ้นที่ครูเจี๊ยบงมได้จากแม่น้ำเพชรฯ “วัสดุเป็นดินเผาจะมีน้ำหนักดี วางมั่นคงไม่ล้มง่าย ทั้งชิ้นเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว ความสูงประมาณ 5 นิ้ว เฉพาะเส้นผ่านศูนย์กลางกระบอกก็ 3 นิ้ว การงมได้จากแถวท่าเรือแม่น้ำเพชรฯ เป็นไปได้ว่าแต่เดิมคงใช้จุดให้แสงสว่างอยู่ตรงท่าเรือนั้น”
 
การนำเสนอของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เรียกว่ามีลักษณะเฉพาะตัวอยู่ไม่น้อย เพราะอาศัยเพียงใต้ถุนเรือนของคนที่อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามกับตลาดเก่า และนำวัตถุบางส่วนวางเรียกตามความยาวของตลิ่ง โดยให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวัตถุเหล่านั้นมีที่มาจากแม่น้ำสายนี้ และหากสังเกตให้ดีจะเห็นวัตถุอีกจำนวนมากอยู่ในน้ำ ครูเจี๊ยบอธิบายไว้ “ผมอยากทำเป็นกระบะเป็นรางน้ำ แต่ปัญหา เราต้องทำความสะอาดทุกอาทิตย์ ทีแรกทำเป็นตู้กระจก แต่ก็ไม่ไหว เพราะงบประมาณมาก ตอนนี้ทำเป็นกล่องพลาสติกและนำเสนอเอาไว้อย่างที่เห็น”ผู้สำรวจตั้งคำถามถึงการใช้เส้นทางสาธารณะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ครูเจี๊ยบให้คำตอบว่า เทศบาลฯ ยินดีให้ใช้งานตามรูปแบบการนำเสนอที่ปรากฏในปัจจุบัน เพราะถือเป็นเรื่องของการให้ความรู้
 
ครูเจี๊ยบเล่าว่า เด็กจากโรงเรียนยังมีโอกาสได้สัมผัสกับข้าวของต่างๆ หากต้องการมาเรียนรู้ลักษณะของการพบวัตถุโบราณ พร้อมๆ กับความสนุกในการสัมผัสกับสายน้ำโดยตรง แต่การมาเยี่ยมชมเช่นนี้ คงต้องได้รับความดูแลอย่างดี และทำได้เฉพาะในเวลาที่น้ำมีความลึกไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังมีป้ายคำอธิบายอื่นๆ ที่บอกเล่าประวัติย่อของสมบัติใต้แม่น้ำเพชรบุรีที่เคยใช้ในการจัดแสดงในงานพระนครคีรี หรือในเวทีอื่นๆ ที่ครูเจี๊ยบมีโอกาสได้เดินทางไปเผยแพร่เอกลักษณ์ที่บอกเล่าจากวัตถุใต้แม่น้ำดังกล่าว
 
ในช่วงท้าย ครูเจี๊ยบชวนให้คนที่สนใจเรียนรู้เรื่องหม้อตาลเมืองเพชรฯ และข้าวของที่เป็นอารยธรรมในลุ่มน้ำสายนี้ ให้ลองมาสัมผัสด้วยตนเอง ช่วงสุดสัปดาห์เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด แต่ก็ต้องติดต่อล่วงหน้า เพราะวัตถุอีกเป็นจำนวนมาก ได้รับการรักษาไว้ที่บ้านของครูเจี๊ยบ หากมีใครจะมาศึกษา ครูจะนำมาจัดแสดงเพื่อต้อนรับแก่ผู้ที่มาเยือนด้วยความยินดียิ่ง คนจำนวนหนึ่งที่มาชมพิพิธภัณฑ์ก็ว่า “พิพิธภัณฑ์มีชีวิตจริง จับต้องได้”
 
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 12 พฤษภาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง:
-