ที่อยู่:
หมู่ 5 วัดบ้านโคกโก่ง ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
โทรศัพท์:
084 742 5822 (ผู้ใหญ่สมบัติ), 082 578 1796 (คุณธเนศ)
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ (การเข้าชมเป็นหมู่คณะ เน้นการต้อนรับด้วยการสาธิตทางวัฒนธรรม)
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
โฮมสเตย์กับคนผู้ไทยในพื้นที่, สาธิตการจักสาน, เครื่องแต่งกายผู้ไทย, ธรรมาสน์โบราณ, บายศรีสู่ขวัญ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่งโฮมสเตย์
ความโดดเด่นของศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่งโฮมสเตย์ ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ แห่งนี้ คงไม่ได้อยู่ที่รูปแบบการจัดแสดงเครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านภายในชุมชน หรือนิทรรศการที่บรรยายสภาพพื้นที่ ความเป็นมาของชุมชน ประเพณีและวัฒนธรรม อย่างที่พบกันในศูนย์วัฒนธรรมหลายแห่ง หากแต่เป็นพื้นที่กลางของชุมชนที่ใช้ต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน ซึ่งได้มีการพัฒนาโครงการหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยเพื่อการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่องนานนับทศวรรษ
อาจารย์พร อัฐนาค ข้าราชการบำนาญ ผู้อาวุโสของชุมชนทำหน้าที่เป็นประธานการท่องเที่ยวชุมชน อธิบายถึงการตั้งต้นทำงานร่วมกับสมาชิกชุมชน ในการพัฒนาให้หมู่บ้านโคกโก่งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
ในยุค 2541 เป็นยุคฟองสบู่แตก รัฐบาลอยากให้แต่ละจังหวัดนำเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามา ปีอะเมซิ่งไทยแลนด์ กาฬสินธุ์มีคำขวัญของจังหวัด “หลวงพ่อองค์ดำลือเรื่อง เมืองฟ้าแดดสงยาง โป่งลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี” ที่นี่คำขวัญทุกท่อนมีตัวมีตนหมดแล้ว ... ปรากฏว่า “วัฒนธรรมผู้ไทย” ไม่มีตัวตน มีแต่บ้านผู้ไทยกระจายอยู่หลายอำเภอ เพราะฉะนั้นท่านผู้ว่าฯ มอบหมายให้คณะทำงาน มีรองผู้ว่าฯ ในสมัยนั้นเป็นหัวหน้า เพื่อที่จะออกมาหาหมู่บ้านผู้ไทยที่จะเป็นอาสาสมัคร
...ท่านมีประสบการณ์ท่องเที่ยวโฮมสเตย์ และไปดูงานมาแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ถ้าพี่น้องโคกโก่งยอมให้จังหวัดพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบ ผลสุดท้ายพี่น้องรับ
ในสมัยนั้น อาจารย์พรคงเป็นผู้บริหารในสถานศึกษาและร่วมดำเนินการต่าง ๆ เริ่มจากการวางแผนพัฒนาภาพลักษณ์ เช่น เครื่องแต่งกายของชาวผู้ไทยที่ออกแบบให้มีเอกลักษณ์ด้วยการใส่แถบสีแดงในบริเวณสาบเสื้อและคอเสื้อ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก จากนั้นเป็นการคิดค้นคำขวัญประจำชุมชนนั่นคือ “โคกโก่งถิ่นผู้ไทย ใสสดน้ำตกตาดสูง ท้องทุ่งทิวเขางาม นาระบือผานกนางแอ่น ดินแดนแห่งผู้สาวซับ” ที่สะท้อนให้เป็นสภาพแวดล้อมของชุมชนและสิ่งที่งดงามโดยเฉพาะผู้หญิง เพราะคำว่า “ผู้สาวซับ” เป็นภาษาผู้ไทยที่หมายถึง หญิงงาม อาจารย์พรให้คำอธิบาย
จากนั้น จึงมีการพัฒนาบ้านที่เข้าร่วมโครงการที่ให้ความสำคัญกับความสะอาด และการใช้วัดบ้านโคกโก่งเป็นศูนย์กลางเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เดิมนั้นอาศัยการสร้างเวทีขึ้นอย่างง่าย ๆ สำหรับการนำเสนอการแสดงทางวัฒนธรรม การสาธิตของกลุ่มต่าง ๆ ภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องจักสาน กลุ่มอาหาร รวมทั้ง วิทยากรจากวิทยาลัยนาฏศิลป์มาถ่ายทอดการฟ้อนผู้ไทย ทั้งหมดนี้กลายเป็น “หน่ออ่อน” ให้กับศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยที่กลายเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง เมื่อ พ.ศ. 2559 โดยได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมและได้รับงบประมาณสนับสนุนบางส่วน
“เล่าเรื่องราวของความเป็นผู้ไทย”
ศูนย์วัฒนธรรมฯ ภายในวัดโคกโก่งในปัจจุบันทำหน้าที่รับรองผู้มาเยือน เพื่อบอกเล่าความเป็นมาของชาวผู้ไทยบ้านโคกโก่งที่มีประวัติย้อนไปในสมัยแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง อาจารย์พรถ่ายทอดเรื่องราวอย่างสังเขปดังเช่นที่ใช้ในการอธิบายกับนักท่องเที่ยวความว่า
ชาวผู้ไทยรุ่นที่มารุ่นแรกมาสิบเก้าครอบครัว มาจากอำเภอหนองสูง มุกดาหาร แต่เดิมเป็นอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม อพยพประมาณปี 2432 สมัยรัชกาลที่ 5 มาอยู่ทีแรกนั้น ยังไม่มีผู้ใหญ่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่ยังไม่มีชื่อในสารบบ จนปี 2449 มีผู้นำคนหนึ่งก็ปรึกษากัน เพื่อขอจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยต้องเดินทางรอนแรมไปไกล ไปที่มณฑลอุดร หรือจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน
...เดิมเรียกว่าบ้านทุ่งบักเฒ่า บักเฒ่า หมายถึง ควายแก่ ควายแก่ในหนองน้ำมีโคลนเยอะ แล้วตายคาหนอง เลยเรียกว่าบ้านทุ่งบักเฒ่า การส่งตัวแทนไปในการไปขอตั้งเป็นหมู่บ้าน อาศัยการเรี่ยไรเงินจากพี่น้องบ้านทุ่งบักเฒ่า ครอบครัวละหนึ่งบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่าย ...ทีนี้มีการเปลี่ยนชื่อบ้านทุ่งบักเฒ่าเป็นบ้านโคกโก่ง ในปีนั้น 2449 เข้าใจว่ามีปรึกษากัน เปลี่ยนชื่อตามลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน ที่ตั้งหมู่บ้านเรียงตามเชิงเขาโค้งไป “โคก” คือ เขา “โก่ง” คือ โค้ง
ทั้งนี้ ผู้มาเยือนได้รับการต้อนรับด้วยการผูกข้อไม้ข้อมือเป็นการรับขวัญ ก่อนที่จะไปทำความรู้จักสมาชิกในกลุ่มต่าง ๆ ทั้งที่มาสาธิตภายในบริเวณของศูนย์วัฒนธรรมและการรวมกลุ่มตามบ้านของผู้นำในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มเครื่องจักสาน กลุ่มพรมเช็ดเท้า กลุ่มทำขันหมากเบ็ง (เครื่องพิธี) กลุ่มทำบายศรี ในยามเย็น มีการจัดพาแลงหรือการให้บริการอาหารพื้นถิ่นที่เป็นขันโตก และเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้ไปพักแรมในบ้านต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการโฮมสเตย์ ทั้งหมดนี้เป็นค่าใช้จ่ายจำนวนไม่มากนัก หากเทียบกับประสบการณ์ในการทำความรู้จักวัฒนธรรมชาวผู้ไทยบ้านโคกโก่ง
อนึ่ง ภายในบริเวณวัดยังมี “ศูนย์สารสนเทศวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง” ซึ่งเป็นการปรับใช้อาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเดิม สำหรับนำเสนอเนื้อหาประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ข้อมูลเกี่ยวกับการพักแบบโฮมสเตย์ แผ่นที่เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน บ้านโคกโก่ง ที่แสดงที่ตั้งของกลุ่มหัตกรรมที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน ในการเรียนรู้ความเป็นผู้ไทยจากคนในท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน (people-to-people approach)
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เครื่องจักสาน ธรรมาสน์ ผู้ไทย
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฟ้าแดดสูงยาง ร.ร.ฟ้าแดดสูงยางวิทยาคาร
จ. กาฬสินธุ์
พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์
จ. กาฬสินธุ์
พิพิธภัณฑ์ศพ วัดป่ามัชฌิมวาส
จ. กาฬสินธุ์