พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางนา


ที่อยู่:
โรงเรียนบางนาใน 200 ถ.สรรพาวุธ ซ.วัดบางนาใน แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ 10260
โทรศัพท์:
0-2393-3758,0-2397-3695
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางนา

จากความที่ในอดีตเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา จึงเป็นที่มาของชื่อเขตบางนา ตามวิถีชีวิตดั้งเดิม นอกเหนือจากการทำนา ชาวบ้านยังนิยมปลูกพืชผักริมคลอง เมื่อวันเวลาเปลี่ยนแปลงไป เขตบางนาวันนี้เป็นที่ตั้งของ 40 ชุมชน บางที่คือชุมชนแออัดและบางส่วนได้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร

พิพิธภัณฑ์อยู่ในโรงเรียนวัดบางนาใน ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์คืออาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ คุณสุจิตรา สาลีและคุณนภาพร ไชยปัญญา คุณสุจิตราได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อประมาณปีพ.ศ.2522 เขตบางนายังมีท้องนาให้เห็น ในตอนนี้คือเป็นพื้นที่ของบ้านจัดสรรเป็นส่วนใหญ่ เดิมบางนาเป็นเขตการปกครองของเขตพระโขนง แบ่งพื้นที่เป็น 2 แขวงคือแขวงบางนากับแขวงบางจาก ต่อมาแขวงบางนาจึงถูกยกขึ้นเป็นเขตบางนา ในการเรียกกันว่าบางนาในกับบางนานอก เกิดมาจากลักษณะการสัญจรที่เมื่อก่อนเป็นทางเรือและเป็นการเดินเท้าไปตามคันนา ต่อมามีสิ่งปลูกสร้างด้านในอยู่มากจึงเรียกว่าบางนาใน

การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ จะได้เห็นภาพของคลองบางนาในสมัยอดีตกับปัจจุบัน ซึ่งคลองบางนานี้จะไปเชื่อมกับคลองพระโขนง เรือขนาดใหญ่ที่เห็นในภาพคือเรือบรรทุกหินบรรทุกทราย

หนึ่งในชุมชนที่มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์คือ ชุมชนชาวมอญ มีที่มาว่าจากเดิมพวกเขาเป็นชาวมอญที่เข้ามาอยู่พระประแดง ตั้งแต่ช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ บางส่วนได้ย้ายเข้ามาอยู่บางนาเป็นการถาวร แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ติดต่อกับชาวพระประแดงจนถึงปัจจุบัน ส่วนผู้ที่ไม่มีเชื้อสายมอญที่ได้เข้ามาอยู่ ในสมัยก่อนนิยมมีความสัมพันธ์กับฝั่งพระประแดงด้วยการแต่งงาน เพื่อให้ตระกูลกว้างขวางขึ้น ภาพสีสันสวยงามในพิพิธภัณฑ์แสดงถึงภาพงานประเพณีสงกรานต์ชาวมอญ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังจัดอยู่ทุกปี

ภาพถัดมาเป็นภาพเก่าของเขตบางนาสมัยสงครามโลกครั้งที่2 กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งค่ายในเขตบางนา เนื่องมาจากการคมนาคมสะดวก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีคลองเชื่อมต่อถึงกัน ในพื้นที่บริเวณนี้มีการขุดค้นพบดาบและปืนของทหารญี่ปุ่น

ในส่วนของภาพปัจจุบันมีภาพของถนนสุขุมวิทที่เป็นถนนสายหลักของเขตนี้ สถานที่สำคัญของเขตได้แก่ วัดบางนานอก วัดบางนาใน ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรมอุตุนิยมวิทยา วัดผ่องพลอยวิริยาราม มูลนิธิสายใจไทย เรือนไทยศรีเพียงเพ็ญ

คุณสุจิตราเล่าว่าจากการที่วัดติดกับแม่น้ำลำคลอง ภาพในอดีตที่เห็นชาวบ้านพายเรือมาใส่บาตร ปัจจุบันก็พอมีให้เห็น คนที่ปฏิบัติเช่นนั้นส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่ 

ใกล้กันกับสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์คือที่ตั้งของวัดบางนาใน ปัจจุบันได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อมาที่นี่เราจะเห็นเจดีย์ทองลักษณะโดดเด่นมองเห็นแต่ไกล วัดนี้ไม่ทราบนามผู้สร้าง ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาและสร้างโบสถ์คือ หลวงปู่ชุ่ม พื้นเพเดิมของท่านเป็นคนบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ โดยได้ย้ายตามครอบครัว มาทำมาหากินที่ฝั่งบางนา พักอาศัยอยู่ที่วัดบางนาในและได้อุปสมบทที่วัดแห่งนี้ หลวงปู่ชุ่มเป็นพระนักพัฒนา มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญให้วัดบางนาใน ผลงานสำคัญคือการสร้างโบสถ์ที่ถาวรสวยงาม นอกจากนี้หลวงปู่ชุ่มยังเป็นพระนักวิปัสสนา เป็นที่เลื่อมใสของชาวเขตบางนา ปัจจุบันท่านเจ้าอาวาสวัดนี้คือพระพิพัฒน์ ปริยัติวิมล 

สถานที่น่าสนใจต่อมาคือ เรือนไทยศรีเพียงเพ็ญ เรือนนี้อยู่ที่โรงเรียนวัดศรีเมือง จุดประสงค์ของการสร้างเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนในชุมชนในด้านศิลปวัฒนธรรมไทย เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของคนไทยในการสร้างบ้านเรือนโดยไม่ใช้ตะปู เรือนเป็นแบบใต้ถุนสูงรับอากาศเย็นสบาย ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง สร้างขึ้นเมื่อวันที่12 สิงหาคม พ.ศ.2546 

สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือมูลนิธิสายใจไทย อยู่ถนนสรรพาวุธ-บางนา ที่นี่เป็นหน่วยฝึกอาชีพในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2518 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติที่ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อปฏิบัติหน้าที่เพื่อความมั่นคงของชาติและเพื่อความเป็นสุขของประชาชน โดยมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต สำหรับผู้บาดเจ็บทุพพลภาพ ให้รับเป็นรายเดือนตลอดชีพ ตลอดจนดูแลให้สมาชิกสามารถช่วยเหลือตนเองได้ต่อไป 

ส่วนที่เป็นสิ่งของที่โดดเด่นในพิพิธภัณฑ์นี้คือกระท่อมจำลองวิถีชีวิตของชาวนา ด้านในของกระท่อมมีสิ่งของเครื่องใช้เป็นอุปกรณ์ทำนาอย่างเช่นเคียวเกี่ยวข้าว เครื่องฟัดข้าว อุปกรณ์จับปลา ด้านหน้ามีภาพขั้นตอนการทำนา

สินค้าของชุมชนในเขตนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำมาจากช้อน ขดลวดและวัสดุอื่นๆ เรือนไทยจำลอง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร

การนำเสนอช่วงสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์ที่เราเห็นเป็นภาพเขียนที่มีความสวยงามมาก นั่นคือผลงานของอาจารย์พิชัย นิรันดร์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวิจิตรศิลป์(จิตรกรรม) เคยรับราชการเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยช่างศิลป เป็นหัวหน้าฝ่ายจิตรกรรม นายช่างศิลปกรรม8 และเป็นผู้อำนวยการพิเศษด้านจิตรกรรมร่วมสมัย กองหัตถศิลป กรมศิลปากร และได้ลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2538 ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ 

ในอนาคตพิพิธภัณฑ์นี้จะมีการปรับปรุงให้การนำเสนอน่าสนใจและสนุกสนานมากขึ้น แผนงานและงบประมาณได้จัดเตรียมเรียบร้อยเหลือแต่เพียงขั้นตอนดำเนินการ คาดว่าจะได้เห็นโฉมใหม่ของพิพิธภัณฑ์ในเร็ววัน 

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม 25 สิงหาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-