หอประวัติมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


ที่อยู่:
ชั้น 2 อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์:
0-2692-3050 ต่อ 1551, 0-2697-6942
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันเวลาราชการ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2541
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอประวัติมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“วิทยาลัยเอกชนจะหยุดกิจการ ถ้ารัฐบาลไม่ให้ปริญญา”

ข้อความทำนองนี้เป็นข้อความพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งของ”วิทยาลัยการพาณิชย์” ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำโดยดร.อิทธกร ขำเดช (ชื่อเดิมปิยศักดิ์ นักศึกษารุ่นที่ 6) ทำการปิดวิทยาลัย ปิดตึก ล็อคห้องเรียน และรวบรวมนักศึกษาเดินขบวนผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องสิทธิปริญญาตรี ต้นเหตุมาจากเดิมนั้นกฎหมายกำหนดให้นักศึกษาวิทยาลัยเอกชนที่เรียนครบหลักสูตร 3 ปี ได้รับประกาศนียบัตร แต่ความเป็นจริงในขณะนั้นมีนักศึกษาวิทยาลัยการพาณิชย์บางรุ่นเรียนหลักสูตร 4 ปี ซึ่งเปิดสอนโดยอนุโลมไปล่วงหน้าแล้ว เพราะคาดหวังว่ารัฐบาลจะยอมให้วุฒิปริญญาตรี แต่ก็ไม่เกิดขึ้นเสียที ทำให้นักศึกษา และผู้ปกครองไม่มั่นใจในอนาคตของบุตรหลาน ส่วนผู้บริหารวิทยาลัยเอกชนและอาจารย์ก็รู้สึกลำบากใจ 

ในขณะนั้น จอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ที่เกิดทันยุคนั้นคงทราบดีว่าการเดินขบวนประท้วงมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง แกนนำอาจถึงขั้นติดคุกได้ แต่ผลออกมาว่ารัฐบาลรับปากจะแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงศึกษาธิการใช้เวลาถึงสองปีในการพิจารณากว่าที่จะเห็นชอบหลักสูตรปริญญาตรีในปี พ.ศ. 2516

เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเอกชนของไทยที่ดูเหมือนว่าไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง ทางหอประวัติมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เห็นความสำคัญ และพยายามเผยแพร่เหตุการณ์ครั้งนั้นในรูปของนิทรรศการหมุนเวียนบริเวณด้านหน้าหอประวัติ จุดประสงค์หลักเพื่อให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้รับรู้ และภูมิใจในบทบาทและอุดมการณ์ของรุ่นพี่ ตลอดจนผู้บริหารในยุคนั้น

การจัดนิทรรศการหมุนเวียนประมาณ 4-5 ครั้งต่อปีเป็นวิธีหนึ่งในการให้ข้อมูลแก่นักศึกษาปัจจุบันซึ่งใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่มีการแข่งขันสูง ให้ซึมซับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย หัวข้อที่จัดแสดงเช่น การรับน้อง การรับปริญญา นอกจากนั้นคุณวิเชียร วิไลแก้ว ผู้ดูแลหอประวัติยังแก้ปัญหา”ความนิ่ง”ของหอประวัติ โดยนำข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ไปแทรกไว้ในกิจกรรมต่างๆของนักศึกษา เช่น การจัดเสวนาร่วมกับชมรมวรรณศิลป์ เมื่อเดือนมกราคม 2551 โดยเชิญศิษย์เก่ามาร่วมรายการ และจัดเป็นเกมส์หนึ่งในพิธีรับน้อง โดยเลือกโฆษกจากนักศึกษาที่มีบุคลิกทันสมัย สามารถสื่อภาษาเดียวกันกับนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรม เป็นต้น นับว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจและน่าจะได้ผลในระดับหนึ่ง

หอประวัติมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารอำนวยการ เป็นห้องจัดแสดงที่ดูทันสมัย โปร่ง สว่าง เพราะผนังด้านหนึ่งเป็นกระจกโค้งจากพื้นจดเพดาน ส่วนผนังด้านประตูทางเข้าก็เป็นกระจกเช่นกัน มองจากข้างนอกเข้าไปได้ทั่วเหมือนกับห้องนี้เป็นตู้จัดแสดงขนาดใหญ่ในตัว สิ่งจัดแสดงที่เด่นที่สุดคือเรือสำเภาจำลองสูงเกือบเท่าตัวคน เรือลำนี้ทำด้วยไม้สัก ฝีมือปราณีต รูปร่างงดงาม เป็นตัวอย่างเรือสำเภาในสมัยรัชกาลที่ 2 สร้างโดยอาจารย์ไพฑูรย์ ขาวมาลา นักต่อเรือไทยมีชื่อ สำเภามีที่มาจากตราของมหาวิทยาลัยที่เป็นรูปสำเภาหัวนาคลอยลำอยู่บนคลื่น ตามเอกสารของหอประวัติ เรือสำเภาเป็นสัญลักษณ์ของการค้าขาย ส่วนคลื่นเป็นอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน ล้อมกรอบด้วยตราอาร์มซึ่งมักเป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ จะเห็นได้จากผนังด้านหนึ่งแสดงตราของมหาวิทยาลัยตั้งแต่แรกเริ่มค่อยๆเปลี่ยนแปลงมาจนเป็นปัจจุบัน สาเหตุหลักคงเป็นเพราะชื่อที่เปลี่ยนมาหลายครั้ง แต่สำเภา คลื่นและตราอาร์มยังคงอยู่มาตลอด รูปแบบมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย

นอกจากนั้นก็มีภาพอธิการบดีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผนังอีกด้านหนึ่งเป็นภาพบุคคลสำคัญ ได้แก่ภาพคณะกรรมการบริหารเข้าเฝ้าฯรับพระราชทานพระบรมราโชวาทจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีพ.ศ. 2513 และภาพของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์กับคณะผู้บริหาร พลเอกเปรมได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในปี พ.ศ. 2528 เป็นการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ครั้งแรกของมหาวิทยาลัย มีรูปถ่ายเก่าของนักศึกษาและอาจารย์ในอดีตอยู่บ้าง ส่วนตู้ที่ติดผนังกระจกแสดงโล่ห์ประกาศเกียรติคุณต่างๆ บนผนังข้างประตูที่มองจากข้างนอกเข้ามาก็เห็นชัดเป็นรูปนักศึกษาในเครื่องแบบที่ถูกต้อง นายแบบและนางแบบเป็นดารามีชื่อ เพื่อดึงดูดความสนใจนักศึกษา และมีชุดครุยรับปริญญาจัดแสดงอยู่ด้วย

บริเวณกลางห้องมีตู้กระจกใบหนึ่งแสดงของขวัญและของที่ระลึกที่ทางมหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเพื่อมอบให้บุคคลหรือสถาบันอื่น อีกด้านหนึ่งของตู้เป็นคทาสำหรับนำนักศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร (เข้าใจว่าเป็นวิธีที่รับมาจากต่างประเทศ) นอกจากนั้นก็มีแบบจำลองกลุ่มอาคารของมหาวิทยาลัยที่มีโครงการจะปรับปรุงใหม่ และแบบจำลองกลุ่มอาคารวิทยาเขตในอนาคต

คุณวิเชียรกล่าวถึงการปรับปรุงการจัดแสดงว่าอาจเพิ่มเติมสิ่งจัดแสดงให้มากกว่านี้ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับต้นไทร ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ปรากฎอยู่ในเพลงของมหาวิทยาลัยหลายเพลงที่แต่งโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ส่วนโครงการในอนาคตอาจทำพิพิธภัณฑ์เงินตราขึ้นภายในหอประวัติ เพราะเงินมีความสำคัญคือเป็นสื่อกลางในการค้าขาย แต่ยังติดปัญหาบางประการ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัยที่ต้องลงทุนสูง และบุคลากรคอยดูแล

บุคลากรก็เป็นปัญหาหนึ่ง เพราะปัจจุบันหน่วยงานนี้มีเพียงคนเดียวคือคุณวิเชียร ซึ่งยังมีหน้าที่อื่นในกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยด้วย อีกปัญหาหนึ่งก็คือมีเอกสารเก่าเหลืออยู่ไม่มากบ้างก็ชำรุดเสียหายเนื่องจากมหาวิทยาลัยมีการย้ายหลายครั้ง และปัญหาสถานที่ในการจัดเก็บ จึงมีการประกาศรับยืมของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมาจัดแสดง ส่วนผู้เข้าชมหอประวัติส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา บุคลากรและแขกของบุคลากรในมหาวิทยาลัย

เรื่อง/ภาพ เกสรา จาติกวนิช

สำรวจ : 15 มกราคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-