ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ภายในอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย จัดสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2538 มีทั้งหมด 2 ชั้น โดยชั้นแรกได้จัดทำห้องสมุด ส่วนชั้นที่ 2 จัดแสดงหออิสลามนิทัศน์ และห้องเกียรติยศ ซึ่งจัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 และเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2548 ภายในหออิสลามนิทัศน์จะเป็นการบอกเรื่องราววิถีชีวิตมุสลิมตั้งแต่เกิด จนถึงตาย มีผังภาพวิถีชีวิตมุสลิมไทย วันและคืนสำคัญทางศาสนา, ศิลปะมุสลิม เรื่องของภาษา การแต่งกาย, ประเพณีวัฒนธรรม และห้องเกียรติยศมีชุดนิทรรศการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และภาพครูคนแรกของอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมอิสลามแห่งประเทศไทย
“ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่ดินแดนสมานฉันท์” เป็นคำต้อนรับที่อบอุ่นเมื่อเราเดินทางมาถึงอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงเรียนอิสลามแห่งเดียวของรัฐที่เรียนรวมหลายๆ ศาสนา เช่น อิสลาม, พุทธ และคริสต์อาจารย์มิตร ดาราฉาย อาจารย์ผู้ดูแลศูนย์วัฒนธรรมฯ และวิทยากรในสถานศึกษาของอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ว่า อาคารศูนย์วัฒนธรรมอิสลามแห่งประเทศไทยได้จัดสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2538 มีทั้งหมด 2 ชั้น โดยชั้นแรกได้จัดทำห้องสมุด และห้องรับรองเมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยี่ยมชมที่นี่ ส่วนชั้นที่ 2 จัดแสดงหออิสลามนิทัศน์ และห้องเกียรติยศ ซึ่งจัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 และเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2548
อาจารย์มิตรได้นำชมยังชั้นที่ 2 หออิสลามนิทัศน์ และห้องเกียรติยศ ซึ่งพบว่าชั้นนี้นอกจากมีทั้ง 2 ห้องแล้ว อาณาบริเวณกว้างๆ ลักษณะของห้องประชุมขนาดใหญ่ยังเป็นห้องสำหรับทำละหมาดของนักเรียนและคุณครูอีกด้วย ซึ่งจะมีการทำละหมาดทุกวันในเวลาบ่ายโมง ตรงกลางห้องมีฉากกั้นตลอดแนวเพื่อแบ่งการละหมาดของผู้หญิง และผู้ชาย โดยจะใช้เวลา 15-20 นาที ซึ่งอาจารย์มิตรจะเป็นผู้นำละหมาดนั่นเอง และในเวลาเดียวกันนี้ นักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์จะไปรวมกันทำกิจกรรมทางศาสนาของตนเช่นกันโดยมีอาจารย์ของแต่ละศาสนาเป็นผู้ดูแล
“ห้องเกียรติยศ” มีชุดนิทรรศการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และภาพครูคนแรกของอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีคนปัจจุบัน และภาพของศิษย์เก่าที่ภูมิใจอย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรัฐมนตรีในหลายๆ กระทรวง และประธานรัฐสภา และอีกหลายๆ ความภาคภูมิใจของโรงเรียนที่สามารถมองเห็นได้ชัดจากถ้วยรางวัล และเกียรติบัตร ผลงานของนักเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยได้นำมาวางแสดงอยู่มากมาย อย่างเช่น เกียรติบัตรรางวัลชนะเลิศ การตอบปัญหาทางดาราศาสตร์ หรือถ้วยรางวัลรองชนะเลิศ “การอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอาน” เป็นต้น
ในห้องเกียรติยศนี้ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมข้อความที่ว่า “ด้วยประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยี่ยมชมห้องเกียรติยศนี้ เมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2549 และอาจารย์มิตรได้พาชมห้องรับรองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาซึ่งอยู่ในบริเวณชั้น 1 อีกด้วย ภายในห้องรับรอง มีทั้งภาพฝีพระหัตถ์พู่กันจีน และพระราชนิพนธ์ทั้งหมดของพระองค์ ได้ถูกรวบรวมไว้ในห้องนี้ทั้งหมด
“หออิสลามนิทัศน์” ซึ่งในส่วนแรกของห้องนี้จัดแสดง “คัมภีร์อัลกุรอาน” คัมภีร์นี้แบ่งออกเป็น 30 ภาค มีทั้งหมด 114 บท เป็นบทที่ประทานที่นครมักกะฮ์ 93 บท ที่มะดีนะฮ์ 21 บท มีประมาณ 6,200 กว่าโองการ ซึ่งอาจารย์มิตรบอกว่า คัมภีร์อัลกุรอานนี้ไม่เคยได้รับการสังคายนา หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงแม้แต่เพียงอักษรเดียว ดังนั้นเนื้อหาสาระครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ทุกประการ แต่คัมภีร์อัลกุรอานภาษาอาหรับได้อธิบายความหมายเป็นหลายภาษา อย่างเช่น ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาอุรดู นอกจากนี้พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อธิบายความหมายเป็นภาษาไทย ฉบับพระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกด้วย
นอกจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานแล้ว ภายในหออิสลามนิทัศน์จะเป็นการบอกเรื่องราววิถีชีวิตมุสลิมตั้งแต่เกิด จนถึงตาย มีผังภาพวิถีชีวิตมุสลิมไทย ตั้งแต่การเกิดต้องทำอะไรบ้าง เช่น การคีตาน หรือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศเด็กชาย การทำอากะเกาะฮ์, การศึกษาลอดชีวิตทั้งทางโลก และทางธรรม เมื่อบรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ตลอดจนวันและคืนสำคัญทางศาสนา, ศิลปะมุสลิม เรื่องของภาษา การแต่งกาย, ประเพณีวัฒนธรรม เช่น งานเมาลิดบี งานขึ้นบ้านใหม่ งานเลี้ยงละศีลอด เป็นต้น อายั้ล หรือการตาย หมายถึง การกลับไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า
ตู้จัดแสดงต่อๆ ไปเป็นการนำเสนอข้าวของเครื่องใช้ของชาวอิสลาม อย่างเช่น ชุดทาขอบตา โดยนำผงดำมาทาขอบตาให้ดูขมคำ และเป็นการรักษาดวงตา ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย ซึ่งใช้กันในชนชาวาหรับตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน, ชุดน้ำชาเงิน ไว้รับรองแขก, ลูกประคำสำหรับนับการกล่าวคำหรือข้อความซ้ำ เพื่อสรรเสริญพระเจ้าเป็นจำนวนมากๆ
ชุดเครื่องตัดผมไฟชุดใหญ่ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีตัดผมไฟเด็กมุสลิมแรกเกิด, อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ “กุรบาน อากีเกาะห์” ประกอบไปด้วย รองเท้า กาน้ำ ผ้าโสร่ง ร่ม และมีด ซึ่งอากีเกาะห์ หมายถึงการเชือด เพื่อเป็นการฉลองทารก และขอบคุณต่อพระเจ้า
อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีแต่งงาน, อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย สำลี การบูร พิมเสน ผ้ากระฝั่น หรือผ้าขาว สบู่ ธูปหอม น้ำใบพุทรา และน้ำอบ ซึ่งต้องทำการอาบน้ำศพ หุ้มห่อ ละหมาด และฝั่งภายใน 24 ชั่วโมง
การแต่งกายของชาวอิสลาม “ชุดฮิญาบ” เป็นชุดแต่งกายสตรีมุสลิมที่ถูกต้องตามหลักศาสนา คือ ปกปิดทั่วเรือนร่างกาย ยกเว้นฝ่ามือ และใบหน้า “ชุดเอียะห์รอมหญิง” เป็นเสื้อคลุมสีดำแขนยาวคลุมทั่วร่างกาย จะใส่ช่วงพิธีฮัจย์ ผู้หญิงยังมีผ้าคลุมศีรษะอีกด้วย ส่วนของผู้ชาย คือ “โต๊บ” เป็นชุดยาวเลยเข่า แขนยาวไม่มีปก สีขาวหรือสีเรียบๆ ชุดเอี๊ยะรอมชาย ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมของผู้ประกอบพิธีแสวงบุญ, โสร่ง มุสลิมแถบเอเชียนิยมสวมใส่ นอกจากนี้ยังมีหมวก ใช้ในโอกาสต่างๆ บางท้องถิ่นการใส่หมวกอาจแสดงถึงสถานภาพหรือตำแหน่ง
ยังมีภาพชุดนิทรรศการอีกมากมายที่บอกเล่าเรื่องราวของศาสนาอิสลาม และวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ
สำรวจภาคสนาม : 13 สิงหาคม 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
วัด ศาสนาอิสลาม ห้องเกียรติยศ ประวัติอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย จุฬาราชมนตรี คัมภีร์อัลกุรอาน วิถีชีวิตอิสลาม
พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยา
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก
จ. กรุงเทพมหานคร
บ้านหมอหวาน
จ. กรุงเทพมหานคร