พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง


ที่อยู่:
ภายในร.ร.บดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี)ถนนรามคำแหง 43/1 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม 10230
โทรศัพท์:
0-2538-2573, 0-2538-3964, 0-2530-2747
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30 - 16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 11 กันยายน 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง

เรือนไทยไม้สีแดงหลังใหญ่ ภายในโรงเรียนบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี) ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ทางด้านหน้า ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี) อันเป็นที่เคารพของครูบาอาจารย์ และนักเรียน รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในละแวกนี้ บนเรือนไทยหลังใหญ่นี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี) จุดมุ่งหมายของเราวันนี้คือ มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง ซึ่งก็พบว่าอยู่ด้านล่างของอาคารเรือนไทยหลังนี้นั่นเอง โดยทางกรุงเทพมหานครได้ขอใช้พื้นที่โรงเรียน บริเวณใต้ถุนเรือนไทยทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง

ในช่วงแรกที่จัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ได้ออกแบบโดยนำเอาลักษณะของคลองแสนแสบที่ล้อมรอบเขตวังทองหลางเอาไว้มาเป็นแนวคิดหลักในการจัดแสดง เนื่องจากการออกแบบดังกล่าวกินเนื้อที่มากเกินไป ทำให้ใต้ถุนของอาคารเรือนไม้พิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนไม่สามารถใช้ทำกิจกรรมด้านอื่นๆได้ ทางโรงเรียนจึงแจ้งเขตวังทองหลางขอพื้นที่ส่วนหนึ่งของใต้ถุนคืน เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเรียนเข้ามาทำกิจกรรมอื่นๆ 

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แบ่งส่วนจัดแสดงต่างๆ ดังนี้

ส่วนแรก คือ ประวัติความเป็นมาของชื่อเขตวังทองหลาง ที่ในสมัยก่อนนั้นมีต้นทองหลางมากมายขึ้นอยู่ตามริมฝั่งคลองแสนแสบและคลองเจ้าคุณสิงห์ ส่วนต่อมากล่าวถึงประวัติของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่อาศัยอยู่ในเขตวังทองหลาง คงไม่มีใครที่สำคัญไปกว่า “เจ้าคุณสิงห์” หรือท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) แล้วก็มาถึงชื่อคลองที่สำคัญในเขต คือ “คลองเจ้าคุณสิงห์” ที่ได้ชื่อนี้มาจากการที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) ได้ดำเนินการขุดคลองนี้ขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อให้กองทัพสยามสามารถเดินทางไปยังอินโดจีนได้ง่ายขึ้น 

เรื่องเล่าเกี่ยวกับเขตวังทองหลางในอดีตจะเกี่ยวข้องกับบสายน้ำ คลองวิถีชีวิตริมน้ำ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการตัดถนนมากมายในเขตวังทองหลาง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ว่าได้ คลองแสนแสบจำลองที่เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่องของพิพิธภัณฑ์ฯ นั้น จัดแสดงเรือประเภทต่างๆ ที่ใช้ในคลองตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่กับคลองแสนแสบมาตั้งแต่เกิด รวมถึงประเพณีสงกรานต์ทางเรือที่สนุกสนานไม่เหมือนใคร พายเรือไปบ้านไหนก็เล่นน้ำกันอย่างเพลิดเพลิน

คลองแสนแสบในอดีต ยังเป็นแหล่งโปรตีนแก่ชาววังทองหลางมานาน อาชีพประมงเล็กๆน้อยๆ มีอยู่ทั่วไป แต่เมื่อน้ำเริ่มเน่าและดำ ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง การประมงในคลองก็หายไปโดยปริยาย เครื่องมือหาปลาหลากหลายชนิดจึงกลายเป็นของประดับฝาบ้านไป

ในส่วนจัดแสดงต่อมาคือการนำเอาของดีของเด่น ของเขตวังทองหลางมาบอกเล่าให้ผู้เข้าชม อาทิ ร้านโกลเดนท์ เพลส ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบคุณทองแดงเป็นครั้งแรก สินค้ามีชื่อเสียงของเขตวังทองหลางเช่น เครื่องสำอางสมุนไพรที่ผลิตจากคนไทย งานฝีมือ งานลงรักปิดทอง และสถานที่ท่องเที่ยวในเขตวังทองหลาง สวนสาธารณะและการประสานวัฒนธรรมอย่างกลมกลืนของศาสนาทั้ง 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์และอิสลาม วัดที่มีชื่อเสียงในเขตวังทองหลาง คือ วัดสามัคคีธรรม คริสตจักรอันติโอเกีย ลาดพร้าว แบบติสต์ และมัสยิดฮิดายาตุตัลอิสลาม 

มีพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) ที่อยู่ด้านบนอาคาร ออกเป็นเรือน 3 หลัง แต่ละหลังมีชื่อดังนี้ 1. เรือนด้านซ้ายมือเมื่อขึ้นไปคือ “เรือนรัชดาบดินทร” เป็นเรือนที่ใช้เล่าเรื่องประวัติของโรงเรียนบดินทรเดชาว่าเริ่มก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2514 และได้รับบริจาคที่ดินจากทายาทของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา สัญลักษณ์ของโรงเรียนคือ พระเกี้ยว แบบจำลองแผนผังของโรงเรียน ป้ายนิทรรศการบอกเล่ารายนามอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งแต่ท่านแรกจนถึงปัจจุบัน แหวนรุ่นทุกรุ่นของโรงเรียน

เรือนต่อมาคือ “เรือนท่านเจ้าพระยา” เป็นเรือนที่เล่าเรื่องประวัติและเกียรติยศ คุณงามความดีของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิง สิงหเสนี) และยังกล่าวถึงความศรัทธาเลื่อมใสในคุณงามความดีของท่านเจ้าพระยาในที่ต่างๆ ซึ่งได้จัดสร้างรูปเหมือน รูปจำลอง ของท่านในหลายๆสถานที่ เช่น วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร วัดสามปลื้ม กรุงเทพมหานครฯ นอกจากนั้นยังจัดแสดง ดาบ หมวก อาวุธที่ท่านเจ้าพระยาใช้ในการรบ และเครื่องถ้วยชามที่ใช้ในสมัยของท่านเจ้าพระยา โดยได้รับความอนุเคราะห์จากทายาทตระกูลสิงหเสนี ให้ได้ชมกันด้วย

เรือนหลังสุดท้ายคือ “เรือนศิลปะนิทัศน์” จัดแสดงเกี่ยวกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือร่วมสมัยเดียวกับเจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิง สิงหเสนีย์) อาทิเรื่องสถานที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 การค้าและเศรษฐกิจของสยาม และความรู้เกี่ยวกับระบบเงินตราในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองของโลหะปราสาทที่ได้ถูกจัดสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ให้ได้ชมด้วย

การเดินทางมายังโรงเรียนบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี) เพียงนั่งรถเมล์สาย 168 ปอพ.4 และอีกหลายสายที่มุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วเข้าซอย43/1 โดยจะเลือกนั่งรถโดยสารเล็กหรือ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้างก็สะดวก 

เมธินีย์ ชอุ่มผล เรื่องและภาพ

สำรวจวันที่ 1 สิงหาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-