ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไทลื้อ บ้านใบบุญ


ที่อยู่:
บ้านลวงเหนือ ซอย 4 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์:
081-9519320
วันและเวลาทำการ:
โปรดติดต่อล่วงหน้ากรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการจัดกิจกรรมพิเศษ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2555
ของเด่น:
บ้านไทลื้อจำลอง วัสดุพื้นบ้าน หลองข้าว (ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์)
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไทลื้อ บ้านใบบุญ

เราคือคนไทย จนเรารู้สึกฝั่งแน่นในความเป็นไทย ที่นี่พอเรามาศึกษาวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ทำให้เราเข้าใจว่าไม่ว่าชนเผ่าไหนเชื้อชาติไหนรวมกันเป็นชาติไทย

ทำให้ “ป้าปุก” ทำใจได้ว่า เราคือชาติพันธุ์ไตลื้อไม่ได้ล้าสมัย โง่เง่าเต่าตุ่น


พรรษา บัวมะลิ หรือ “ป้าปุก” กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของการสนทนากับผู้เขียน เพื่อเป็นการอธิบายว่าเหตุใดศูนย์วัฒนธรรมหรือพิพิธภัณฑ์ไทลื้อ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไทลื้อ บ้านใบบุญ” จึงต้องมีการใช้คำว่า “ไทย” กำกับอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ “ไทลื้อ”


ต้นธารความสนใจในการถ่ายทอดความรู้ทางวัฒนธรรมของ “ป้าปุก”


สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในบ้านพักของอดีตข้าราชการครู ที่ลาออกมาเปิดศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในท้องถิ่น รวมถึงนักเรียนนักศึกษาจากภายนอกชุมชนได้เข้าใจความเป็นมาและประเพณีสำคัญ ๆ ของชาวไทลื้อ ป้าปุกเท้าความถึงแรงบันดาลใจหรือความตั้งใจในเบื้องต้นที่สนใจพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม โดยกล่าวถึงช่วงเวลาที่ยังทำหน้าที่ครูในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ดอยสะเก็ดนั้น มีโอกาสร่วมพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นกับอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ในราว พ.ศ.2553 จนกลายเป็นหลักสูตร “เมืองลวงข่วงไต” ที่เป็นมีเนื้อหาความรู้ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย

-           วิชาที่เล่าความเป็นมาของคนไทลื้อในหมู่บ้าน ที่บอกเล่าถึงการเคลื่อนย้ายของคนไทลื้อ จากพันนาฝั่งแกน ตั้งแต่ราว พ.ศ.1932 และมาสร้างบ้านแปงเมืองในบ้านลวงเหนือ โดยหลักฐานเสื้อเมือง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงกับเจ้าเมืองที่ปกปักรักษาผู้คนในบ้าน

-           วิชาภาษาไตลื้อ เป็นการสอนให้ลูกหลานไทลื้อรู้จักคำเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จากนั้น ก็พัฒนาเป็นการสอนเป็นประโยค และบอกเล่าเรื่องราวผ่านนิทานเป็นภาษาไตลื้อ

-           วิชาเพลงพื้นเมืองและการแสดงไตลื้อ เนื่องด้วยป้าปุกเป็นครูที่มีความรู้ทางนาฎศิลป์ จึงประยุกต์การฟ้อนลื้อ การขับลื้อ และการฟ้อนของชาวไตใหญ่เข้าไว้ในเนื้อหา นอกจากนี้ ยังได้แต่งเพลงที่ถ่ายทอดความเป็นมาของบ้านลวงเหนือด้วย

-           วิชาอาหารพื้นเมือง เด็ก ๆ จะได้รู้จักอาหารและลงมือทำ เช่น “น้ำปู๋” ที่กลายเป็นชื่อเรียกกลุ่มว่า “ลื้อน้ำปู๋” ที่ใช้ปูนาสีดำเคี่ยวจนได้น้ำสีดำสำหรับทำอาหาร หรือของหวาน เช่น ขนมปาด ขนมวง กล้วยบวชชี

-           วิชาเกษตร ที่เป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ เรียนรู้วิถีการเกษตร รู้จักการบำรุงดินด้วยปุ๋ยธรรมชาติ

แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการในการจัดหลักสูตรท้องถิ่นภายในโรงเรียน จึงทำให้สถานศึกษาแบ่งเวลาให้กับหลักสูตรท้องถิ่นไม่มากนัก เรียกได้ว่า เด็ก ๆ จะต้องใช้เวลาไปกับการประเมินผลการศึกษาในระดับชาติเพื่อการศึกษาต่อ ทำให้ “ป้าปุก” ตัดสินใจลาออกเพื่อมาตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแห่งนี้


ทำไมและอะไรใน “ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไทลื้อ บ้านใบบุญ”


ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เป็นคนไตลื้อในไทย ในฐานะที่เกิดในไทย เราได้ศึกษาภูมิความรู้ในประเทศไทย เราก็สามารถสื่อถึงความเป็นไทย ล้านนา ไตลื้อได้ แล้วที่ต่อด้วยคำว่า บ้านใบบุญ เป็นชื่อบ้าน “ใบบุญจากบรรพบุรุษ”

ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไทลื้อ บ้านใบบุญ แห่งนี้ เสมือนเป็นพื้นที่สื่อกลางระหว่างผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ทำหน้าที่เป็นครูภูมิปัญญากับเด็กและเยาวชน ภายในศูนย์ จัดแบ่งพื้นที่สำคัญไว้ 4 ส่วนด้วยกัน (1) เรือนไทลื้อ (2 ) พิพิธภัณฑ์ที่ปรับใช้ “หลองข้าว” หรือยุ้งข้าว เพื่อนำเสนอวัสดุเครื่องใช้และภาพถ่ายเก่า ( 3) ข่วงกิจกรรม (4) โรงเรือนที่จัดแสดงครกมอง เด็กหรือผู้ที่เข้ามาเรียนรู้จะได้รับการแบ่งเป็นกลุ่มเพื่อเข้าสู่ฐานการเรียนรู้พร้อมทั้งการปฏิบัติสลับกันไป

ป้าปุกกล่าวว่า การสร้างเรือนไทลื้อจำลองหลังนี้ใช้เงินทุนของตนเองเป็นสำคัญ และที่ต้องสร้างเรือนก็เพราะเด็ก ๆ ไม่สามารถเห็นภาพลักษณะเรือนตามคำบอกเล่าได้ ฉะนั้น เรือนไทลื้อภายในศูนย์จึงไม่ใช่เรือนสำหรับการอยู่อาศัยโดยตรง แต่เป็นตัวอย่างให้การให้คำอธิบายถึงชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต เรือนที่ก่อสร้างขึ้นเป็นการผสมผสานวัสดุไม้และเหล็กที่เป็นโครงสร้างหลังคา พื้นที่ชั้นล่างยกพื้นสูง มีกี่ทอผ้าและแคร่สำหรับการประกอบกิจกรรม รวมทั้งมีส่วนของการขายสินค้าที่ระลึกที่ได้จากงานฝีมือของป้าปุกและลูกสาว

ส่วนชั้นบน ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ เรือนชาน ซึ่งกินพื้นที่ 3 ใน 5 สำหรับการทำกิจกรรมและมีส่วนหิ้งพระและภาพบุคคลสำคัญประดับอยู่  ส่วนเรือนนอนที่จะแสดงด้วยมุ้งและเครื่องนอนแบบประเพณี และเรือนไฟหรือห้องครัวแสดงครัวไฟแบบก้อนเส้าและการจำลองเครื่องใช้ไม้สอยพร้อมสำหรับการทำครัว พื้นที่สองส่วนหลังนี้แบ่งกันไปอย่างละส่วน

ป้าปุกให้คำอธิบายว่า พื้นที่ที่ใช้ประกอบกิจกรรมทั้งใต้ถุนและบนเรือนนั้น เป็นโอกาสสำคัญที่เด็ก ๆ จะได้สนทนากับพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย “เนื้อหาสำคัญคือการถ่ายทอดวิถีชีวิตในอดีต เช่น การทำนาของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยสมัยเป็นหนุ่มเป็นสาว นอกจากนี้ ยังมีการเล่านิยายจากพระธรรมเรื่องบัวแก้วบัวตอง หรือบางครั้งให้คำอธิบายถึงเอกลักษณ์การแต่งกายแบบไตลื้อ ส่วนกิจกรรมที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติ เช่น การทำดอกไม้ปักต้นคา การทำดอกครัวตาน”

ส่วนที่ 2 เป็นการปรับใช้ยุ้งเก็บข้าว ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นถิ่นที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมข้าว ยุ้งข้าวเป็นเรือนไม้ยกสูงจากพื้น ที่มีบันไดขึ้นสู่ยุ้งด้านหน้า และมีการแบ่งห้องย่อย 3 ห้องสำหรับเก็บข้าวที่แตกต่างกัน “ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าว กข6” โดยคงแสดงไม้กั้นข้าวที่สามารถเพิ่มลดได้ตามปริมานข้าวที่เก็บไว้ และพื้นที่รอบห้องย่อย แต่เนื่องด้วยปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน จึงได้รับการปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัตถุเครื่องใช้ในการทำกินและภาพถ่าย ห้องย่อย 3 ห้อง ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นห้องนิทรรศการ ห้องหนึ่งเล่าถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกห้องหนึ่งเล่าถึงประวัติศาสตร์ไทย ห้องสุดท้ายแสดงภาพเก่าของบุคคลสำคัญในชุมชนและพ่อแก่แม่เฒ่าในครอบครัวของป้าปุก ส่วนพื้นที่โดยรอบนั้น จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เครื่องดนตรี และเครื่องใช้ในครัว โดยมีการแสดงป้ายคำเรียกวัตถุต่าง ๆ ปัจจุบัน ได้รับความร่วมมือจากนักวิชการในพื้นที่พัฒนาคิวอาร์โค้ด ที่เชื่อมโยงไปยังข้อมูลในระดับลึกของชิ้นงาน

ส่วนที่ 3 เป็นข่วงวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่า “ผาม” เป็นพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เด็ก ๆ จะเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรม เช่น อาหารไทลื้อ และเชื่อมโยงไปยังส่วนที่ 4 โรงเรือนที่แสดงครกมองสำหรับตำข้าวที่ผู้ชมสามารถออกแรงตำข้าวเพื่อแยกเปลือกออกจากเมล็ดข้าวตามวิถีวัฒนธรรมข้าวในอดีต


ความร่วมมือและการสนับสนุน


ถึงเวลานี้ ศูนย์การเรียนรู้เปิดดำเนินการมาครึ่งทศวรรษ เริ่มเป็นที่รู้จักของสถานศึกษาไม่เฉพาะในท้องที่เท่านั้น แต่ยังมีสถานศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาให้ความสนใจกับศูนย์เรียนรู้ สถานศึกษาจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการทำกิจกรรม และเพื่อเป็น “กำลัง” ให้ป้าปุกและครูภูมิปัญญาทั้งหลายได้ดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ป้าปุกยังกล่าวด้วยว่าเมื่อสองปีก่อนได้สมัครเข้าเป็นเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรม และได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการรวมถึงงบประมาณที่นำมาใช้ประกอบกิจกรรมภายในศูนย์ อนึ่ง หน่วยงานปกครองในพื้นที่มีส่วนผลักดันให้หมู่บ้านพัฒนาเป็นโฮมสเตย์ และศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไทลื้อ บ้านใบบุญ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเรียนรู้ภายในชุมชน

ฉะนั้น หากผู้ที่สนใจวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายไทลื้อ เดินทางมาเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ จะได้ใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งในการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมในสถานที่อื่น ๆ เช่น บ้านตุ๊กตา หรือใช้เวลาพำนักกับพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยในชุมชน ได้

อ้างอิง


พรรษา บัวมะลิ, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไทลื้อ บ้านใบบุญ,” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไทลื้อ บ้านใบบุญ บ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่.


ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ