บ้านไทลื้อ บ้านลวงใต้


ที่อยู่:
บ้านลวงใต้ หน้าวัดบ้านลวงใต้ (วัดรังษีสุทธาวาส) ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์:
083-5708066 (สมบูรณ์ สมโพธิ์) หรือผู้ใหญ่บ้าน สมศักดิ์ เขื่อนล้อม 087-6583689
วันและเวลาทำการ:
โปรดติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
ของเด่น:
บ้านไทลื้อ, ครัวไฟ, ผ้าทอมือ, เครื่องแต่งกายไทลื้อ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

บ้านไทลื้อ บ้านลวงใต้

ความน่าสนใจของบ้านไทลื้อ บ้านลวงใต้แห่งนี้คงอยู่ที่อาคารไม้ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าวัดบ้านลวงใต้หรือชื่ออย่างเป็นทางการนามว่า “วัดรังษีสุทธาวาส" อาคารไม้ดังกล่าวได้รับการจัดสร้างขึ้นจากกำลังศรัทธาและการรวบรวมเงินบริจาคของคนในชุมชนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมงานสืบสานประเพณีไทลื้อมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2534-2535 อย่างไรก็ดี พ่อสมบูรณ์ สมโพธิ์ หนึ่งในกำลังสำคัญที่ร่วมกิจกรรมและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรวบรวมประวัติของหมู่บ้านนั้น กล่าวไว้ว่า ตนเองและสมัครพรรคพวกอีกสองสามคนได้เริ่มให้ความสนใจในการสืบค้นความเป็นมาของคนไทลื้อบ้านลวงใต้ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 แล้ว แต่ในช่วงเวลานั้น ยังขาดแรงสนับสนุนของคนในหมู่บ้าน จนเมื่อถึงกลางทศวรรษ 2530 จึงได้เริ่มงานสืบสานวัฒนธรรมไทลื้ออย่างจริงจังและดำเนินการมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน หากคำนวณเวลาในการจัดงานดังกล่าวก็ดำเนินการมาแล้ว 18 ครั้ง ซึ่งตั้งแต่การจัดงานครั้งที่ 5 เป็นต้นมา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติมจากเงินที่ได้รับจากการระดมทุน

ต้นธารความคิดในการสร้างบ้านไทลื้อ


จากการสืบค้นเรื่องราว พ่อสมบูรณ์ได้ระบุไว้ว่า คนไทลื้อในบ้านลวงใต้แห่งนี้น่าจะอพยพมาหลายระลอกในช่วงปลายกรุงธนบุรี เพราะพบหลักศิลาที่มีการจารึกเอาไว้ว่าวัดบ้านลวงใต้แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2317 แต่น่าจะมีชุมชนมาก่อนหน้านั้น เพราะมีร่องรอยของวัดร้างอยู่ท้ายหมู่บ้าน ก่อนที่จะมาสร้างวัดบ้านลวงใต้ในปัจจุบัน จากหมู่บ้านลวงใต้นี้ ยังมีผู้คนที่แยกไปตั้งบ้านใกล้เคียงอีกหลายแห่ง ได้แก่บ้านโป่งน้ำร้อน บ้านป่าคา บ้านต้นยาว บ้านป่าป้อง ด้วยเหตุนี้ ผู้คนที่แยกย้ายไปตั้งบ้านใหม่จึงเรียกบ้านลวงใต้ว่า บ้านหลวง ฉะนั้น การจัดงานสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อจึงเป็นโอกาสของการรวบรวมคนจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาแสดงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นด้วยการแต่งกาย “ผู้หญิงสวมเสื้อทับทางซาย ส่วนผู้ชายสวมเสื้อทับทางขวา” นอกจากนี้ ยังมีการฟ้อนไท ฟ้อนแอ่น ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนไกลายที่ผสมผสานกับการแสดงของไทใหญj

จากการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมมาเป็นเวลากว่าทศวรรษก่อนนั้น ชาวบ้านเริ่มมีความคิดต้องการสร้างเรือนไทลื้อเพื่อเป็น “ตัวอย่าง” ให้ลูกหลานได้แลเห็นรากเหง้าของบรรพชน พ่อสมบูรณ์กล่าวถึงการศึกษาดูงานที่อำเภอเชียงคำเมื่อ พ.ศ. 2547 ก่อนการเริ่มสร้างบ้านไทลื้อจำลองหลังนี้ โดยได้รับเงินสนับสนุนการเดินทางจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น “เป็นบ้านที่คนยังพักอาศัยในตอนนั้น บ้านหลังนั้นสร้างขึ้นเมื่อเจ้าของบ้านอายุได้ 14 ปี ตอนที่ไปดูงาน เจ้าของเรือนก็อายุแปดสิบกว่าปีแล้ว” จึงกลายมาเป็นต้นแบบในการสร้างบ้านไทลื้อ จากนั้น จึงมีการระดมเงินทุนเพื่อซื้อที่ดินหน้าวัด เพราะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม ตั้งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางของชุมชน แต่ในส่วนของการจัดสร้างเรือน เป็นงบประมาณที่เทศบาลตั้งงบประมาณและใช้การจัดซื้อจัดจ้างและก่อสร้างในช่วง พ.ศ. 2548 จนแล้วเสร็จและทำบุญบ้านในปีถัดมา

นอกเหนือจากการสร้างเรือนไว้เป็นตัวอย่างแล้ว พ่อสมบูรณ์ให้ข้อมูลด้วยว่าต้องการเก็บสิ่งของที่เคยใช้ในครัวเรือนเพื่อนำเสนอเรื่องราวของคนไทลื้อ และพยายามส่งเสริมให้กิจการทอผ้ากลายเป็นงานผลิตภัณฑ์ของชุมชน ซึ่งได้เกิดการรวมตัวของผู้หญิงในหมู่บ้านมาแล้วก่อนหน้านั้นเป็นเวลาสองสามปี ก่อนที่จะมาใช้ใต้ถุนเรือนบ้านไทลื้อหลังนี้ เป็นสถานที่ของการทอผ้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน


บนเรือนและใต้ถุนเรือน


แม้พิพิธภัณฑ์ภายในวัดบ้านลวงใต้ จะสร้างขึ้นพร้อมกับบ้านไทลื้อหลังนี้ แต่พิพิธภัณฑ์ภายในวัดเน้นการเก็บโบราณวัตถุสำคัญ ส่วนบ้านไทลื้อแห่งนี้พยายามเล่าเรื่องวิถีชีวิตของท้องถิ่นและยังทำหน้าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนที่สนใจจะพักค้างอ้างแรมตามอัตภาพ เมื่อขึ้นสู่เรือนชั้นบน พ่อสมบูรณ์พาไปชมบริเวณที่เป็นยุ้งข้าว ซึ่งเป็นส่วนที่แยกจากห้องนอนหลักและห้องครัว โดยพื้นที่ทั้งสามส่วนมีชานที่เชื่อมต่อกันทั้งสามบริเวณ พ่อสมบูรณ์กล่าวว่าเมื่อแรกสร้างเรือน ไม่มีการทำหลังคา แต่ต้องมีการต่อเติมหลังคาบริเวณชานดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลลงมาใต้ถุนที่แม่ ๆ ทั้งหลายใช้เป็นพื้นที่ในการทอผ้าและจัดขายสินค้าของชุมชน

ความน่าสนใจของยุ้งข้าวนั่นคือ ผนังไม้ที่ใช้ไม้แป้นเกล็ดแต่ใช้การต่อผนังกลับเอาด้านในมาอยู่ด้านนอก เพราะโดยดั้งเดิมแล้วเมื่อได้ข้าวเป็นจำนวนมากผนังไม้แป้นเกล็ดที่กลับด้านดังกล่าวจะช่วยยันแรงดันของข้าวที่อยู่ด้านในและไม่มีข้าวตกค้างอยู่ข้างใน ปัจจุบันใช้เป็นบริเวณที่เก็บฟูกที่นอนหมอนมุ้งสำหรับแขกผู้มาเยือนบ้านลวงใต้ที่ต้องการพักแรมเป็นการชั่วคราว ผนังด้านนอกยุ้งยังจัดแสดงสิ่งของสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมข้าวและการทอผ้า

รอบ ๆ ชานนั้น มีป้ายไวนิลที่แสดงให้เห็นบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น “หม่อมคำลือ” ป้ายแสดงการไว้อาลัยต่อการจากไปของเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของไทลื้อ โดยมีป้ายระบุว่า “ครอบครัวใหญ่ไทลื้อ ทำบุญอุทิศถวายเจ้าหม่อมคำลือ” นอกจากนี้ ยังมีภาพของนายกเทศมนตรีคนเก่าที่เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการปลูกบ้านไทลื้อและกิจกรรมการสืบสานวัฒนธรรม ระบุไว้ว่า ดาบตำรวจประดิษฐ์ สะอาดล้วน ก่อนเข้าสู่เรือนนอนหลัก มีบริเวณที่เป็นชานหน้าเรือนดังกล่าว จัดไว้เป็นมุมนั่งเล่น หมอนสามเหลี่ยม ขันหมากและน้ำต้น โดยพ่อสมบูรณ์อธิบายไว้ว่า บริเวณดังกล่าวนี้ต้องห้าม ไม่ให้ผู้ใดมานั่งเล่น เพราะเป็นสถานที่ที่ “บรรพบุรุษ” หรือหมายถึงวิญญาณของบรรพชนจะมาใช้บริเวณดังกล่าว

ภายในเรือนนอนหลักนั้นเป็นห้องโล่งขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นบริเวณที่คนไทลื้อจะใช้สถานที่ร่วมกัน โดยมีมุ้งนอนกางไว้ในยามกลางคืน และสามารถมีเพิ่มขึ้นใดตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว มุมด้านหนึ่งเป็นเสาที่มีหิ้งบูชาที่เรียกว่า เจ้าที่ธรณี เป็นที่สำหรับไหว้ปู่ย่าตาทวดหรือที่เรียกว่า “ม่อน” หากเป็นในบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจริง ยามมีงานสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเข้าพรรษา งานออกพรรษา งานปีใหม่ ก็ต้องมาบอกม่อน มีผ้าแดง ผ้าขาว เครื่องกิน ดอกไม้ธูปเทียน เป็นเครื่องประกอบพิธี หากผู้เยี่ยมชมสังเกตเพิ่มเติม เมื่อเงยศีรษะมองโครงสร้างของเรือนส่วนบน จะเห็นรูปแบบการมุงหลังคาด้วยบานเกล็ดไม้ ซึ่งในปัจจุบัน เป็นการก่อสร้างที่ประยุกต์แล้ว เพราะมีการใช้ตะปูและมีการใช้พลาสติกปูด้วยเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมเข้ามาภายใน

สุดท้ายเป็นครัวไฟที่แยกออกจากเรือนนอน ภายในนั้นมีการจัดแสดงเครื่องใช้ในครัวหลายประเภทครกไม้ กระต่ายขูดมะพร้าว ก่องข้าว แอ๊บข้าวที่มีลวดลายงานจักสานไม้ไผ่ที่มีความละเอียดสวยงาม จุดดึงดูดผู้ชมคงหนีไม่พ้นฉากจำลองครัวไฟ ที่มีหุ่นแม่นั่งทำกับข้าว ก้อนเสามีอยู่สองสามชุดที่อยู่ในกระบะดินนั้นมีสองสามชุด ชุดหนึ่งไว้ใช้ในการหุง อีกชุดหนึ่งไว้สำหรับหม้อพักในการทำครัว ส่วนชั้นไม้ไผ่สานห่างเหนือเตาไฟนั้นเรียกว่า “ข่าไฟ” สำหรับวางเครื่องจักสานรมควันไฟไม่ให้เครื่องจัดสานนั้นมีมอด รวมถึงการไว้กระบุงใส่พริกที่จะทำให้แห้งอยู่ตลอดเวลา พ่อสมบูรณ์ยังยกตัวอย่างการใช้เครื่องใช้ในครัวอย่าง “ฝ่าข้าว” หรือทางภาษาเมืองเรียกว่า กั๊วข้าว ที่เคยใช้ในการผึ่งข้าวเหนียวหุงสุกใหม่ก่อนที่จะเก็บเข้าก่องข้าวหรือแอ๊บข้าว เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวแฉะและเก็บไว้ได้นาน แต่ปัจจุบัน พ่อสมบูรณ์บอกว่าปัจจุบันนั้นหันไปใช้กระติ๊กพลาสติกกันหมดแล้ว เพราะเก็บข้าวเหนียวให้อุ่นได้นานกว่า

ส่วนพื้นที่ใต้ถุนเป็นบริเวณที่จะมีแม่ ๆ หมุนเวียนกันมามาทอผ้า ซึ่งแสดงให้เห็นความสำเร็จในการฟื้นฟูวัฒนธรรมการทอผ้าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน งานทอส่วนหนึ่งกลายเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับงานฟื้นฟูวัฒนธรรม แต่โดยส่วนใหญ่งานผ้าทอกลายเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการส่งเสริมให้แต่งกายท้องถิ่นในหน่วยงานราชการหรือในงานสำคัญ ๆ ของท้องถิ่นในภาคเหนือ เครื่องแต่งกายไทลื้อจากบ้านลวงใต้จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์ในท้องถิ่น แต่กลายเป็นสินค้าส่งออกที่นำรายได้กลับมาให้ชุมชน

นอกเหนือจากงานผ้าทอ ผู้ชมยังสามารถเดินอ่านป้ายไวนิลที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของไทลื้อบ้านลวงใต้ ประเพณีสำคัญของท้องถิ่น อาหารอันเป็นเอกลักษณ์ภายในชุมชนได้อีกคำรบหนึ่ง แม้การติดตั้งป้ายเหล่านั้นจะไม่อยู่ในตำแหน่งที่เดินอ่านเนื้อหาได้ไม่ง่ายนัก แต่สามารถให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของคนไทลื้อบ้านลวงใต้ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำความรู้จักวัฒนธรรมชาวไทลื้อได้พอสมควร สำหรับผู้ที่สนใจโบราณวัตถุ ยังสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ภายในวัดบ้านลวงใต้ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดรังษีสุทธาวาส” ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของถนน แต่ต้องติดต่อกับผู้ที่ดูแลภายในวัดเพื่อเข้าเยี่ยมชม และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม“สืบสานวัฒนธรรมไตลื้อดอยสะเก็ด” ต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสาร เพราะในแต่ละปีจะมีการจัดงานในวันที่แตกต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ในงาน ผู้เยี่ยมชมจะได้ชมขบวนแห่ที่บอกเล่าประเพณีวัฒนธรรมของชาวไตลื้อ และสามารถชมนิทรรศการวิถีชีวิตไตลื้อ รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทลื้ออีกด้วย.


อ้างอิง


สมบูรณ์ สมโพธิ์, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง บ้านไทลื้อ,” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ณ บ้านไทลื้อ บ้านลวงใต้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่.

สมศักดิ์ เขื่อนล้อม, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง บ้านไทลื้อ,” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ณ บ้านไทลื้อ บ้านลวงใต้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่.


ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ