พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา


ที่อยู่:
ศาลาทรงไทย วัดคลองภูมิ 22 ถ.พระราม 3 ซอย 46 ช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์:
0-2248-1733,0-2294-2393
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันพุธ–วันอาทิตย์ เวลา 08.30 –16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2547

โดย: -

วันที่: 20 มีนาคม 2556

โดย: -

วันที่: 20 มีนาคม 2556

โดย: -

วันที่: 20 มีนาคม 2556

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

คู่มือท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา

ชื่อผู้แต่ง: กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร | ปีที่พิมพ์: มปป.

ที่มา: กรุงเทพฯ:กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา

ในวันนี้ความเจริญของสังคมเมืองไหลบ่าเข้ามาสู่เขตยานนาวาอย่างยากที่จะต้านทาน พื้นที่สวนลิ้นจี่กลายเป็นย่านธุรกิจที่มองไปทางไหนก็มีแต่ตึกสูง วิถีชีวิตของชาวสวนกลายเป็นอดีตอย่างไม่มีวันกลับคืน การเป็นเขตเศรษฐกิจมีโรงงานอุตสาหกรรม มีท่าเทียบเรือ และมีสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม คือสิ่งที่เข้ามาแทนที่ 

ชุมชนของเรามีประวัติศาสตร์ความเป็นมา เรามีประเพณีสงกรานต์แบบไทย มีชุมชนที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เรายังมีสวนผลไม้ที่ยังให้ดอกออกผล ด้วยการยืนหยัดของผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่เห็นแก่เงินร้อยล้านเป็นคำตอบของความสุข เรามีวัดวาอารามที่สวยงามและทรงคุณค่า 

ทั้งสองภาพดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและกำลังดำเนินไปในสถานที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน

สำหรับที่นี่ เรื่องราวที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ได้มีการนำมาเชื่อมโยงกับหลักสูตรท้องถิ่นของนักเรียน ด้วยการสนับสนุนของคนในชุมชนที่ต้องการให้ลูกหลานได้เรียนรู้และรับรู้หลายเรื่องราวในอดีต เพื่อในวันนี้พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงาม

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ตั้งอยู่ในวัดคลองภูมิ จากเดิมเป็นกุฏิของพระสงฆ์ได้นำมาปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ อาคารนี้มีสองชั้น ทั้งนี้เกิดมาจากความกรุณาของพระครูพิศาลศาสนุธรรมเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ที่ได้อนุญาตให้ใช้สถานที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 

วัดคลองภูมิตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แวดล้อมไปด้วยคูคลอง ถนนและที่สวนของชาวบ้าน ปูชนียวัตถุที่สำคัญคือองค์จำลองพระสังกัจจายในหอพระไตรปิฎกและรอยพระพุทธบาทจำลอง 

ผู้ที่นำชมพิพิธภัณฑ์ในวันนี้คือคุณนารีรัตน์ ปิ่นทองและคุณฉัตรชัย ขวัญเมือง อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์เป็นภาพของบุคคลสำคัญของท้องถิ่น อันได้แก่ คุณตาบุญรอด ดวงพัตรา หลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส พระครูสถิตบุญวัฒน์ พระครูพิศาลศาสนุธรรม นายต่วน สาธุ คุณหญิงบุญมี ปุรราชรังสรรค์และนายอเนก ปริยานนท์ ท่านเหล่านี้ได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ทั้งด้านการพัฒนา และการบริจาคที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ ใกล้กันนั้นมีภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของเขตยานนาวา ได้แก่ วัดทั้ง 9 แห่งและเรือนไม้ทรงไทยที่สวยงามและทรงคุณค่า วัดทั้งเก้าได้แก่ วัดช่องลม วัดช่องนนทรี วัดคลองภูมิ วัดคลองใหม่ วัดด่าน วัดปริวาส วัดดอกไม้ วัดทองบน วัดโพธิ์แมนคุณาราม

หนึ่งในวัดโบราณที่ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เอ่ยถึงว่ามีความโดดเด่น คือวัดช่องนนทรี เนื่องมาจากวัดนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามทรงคุณค่า ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ภาพจิตรกรรมเป็นรูปมารผจญ ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบฉบับช่างฝีมือครูสมัยอยุธยาโดยแท้ สำหรับผู้ที่ต้องการชมให้ติดต่อขออนุญาตจากเจ้าอาวาส หรือจะติดต่อผ่านทางสำนักงานเขตฯ แล้วทางนี้จะช่วยประสานงานขออนุญาตจากทางวัด

สำหรับคนที่ชื่นชอบภาพจิตรกรรมฝาผนังยังมีอีกวัดหนึ่งที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูป “พุทธประวัติ” ภาพอันวิจิตรงดงามนี้อยู่ที่อุโบสถของวัดด่าน

ในส่วนของชั้นบนของพิพิธภัณฑ์มีภาพขยายสถานที่สำคัญแต่ละแห่งพร้อมคำอธิบาย คุณนารีรัตน์นำชมเริ่มจากภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดช่องนนทรี แผนที่ของสะพานวงแหวนที่พาดผ่านเขตยานนาวา ภาพของวัดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีภาพภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่น การละเล่นของเด็กไทยอย่างม้าก้านกล้วย การจับปลา ตลาดและอาหารการกิน ตลาดชื่อตลาดรุ่งเรือง ตลาดนี้ในอดีตคือตลาดแพตาท้วม

สิ่งของที่จัดแสดงข้างบนมีเรือจำลองที่ชาวบ้านสมัยก่อนใช้ในการสัญจรไปมา อุปกรณ์จับปลาต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณเช่น หีบใส่ของ ตะเกียงแขวน หม้อ ไห วิทยุโบราณ

ในการจัดกิจกรรมของสำนักงานเขตฯ เน้นที่วันสำคัญทางศาสนา หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์อย่างวันแม่ วันพ่อ วันสงกรานต์ ในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ จะจัดให้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ คนมาที่นี่สามารถข้ามไปเที่ยวฝั่งพระประแดง และที่นี่ยังมีบ้านสวนของครูหวานที่ถือว่าเป็นสวนอนุรักษ์พันธุ์ไม้แห่งเดียวของเขตยานนาวาที่ยังเหลืออยู่ 

สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ มองออกไปด้านนอกเราจะเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา วัดคลองภูมิเองก็มีท่าเรือ คุณฉัตรชัยได้บอกว่าเรือโดยสารจะไม่ผ่านที่นี่ จะมีแต่เรือหางยาวข้ามฟาก ถ้าใครอยากล่องเรือไปตามวัดต่างๆ อย่างวัดปริวาส สามารถติดต่อใช้บริการได้ หรืออาจจะข้ามไปเที่ยวอีกฝั่งที่มีตลาดน้ำ เรือข้ามฟากจะมีให้บริการทั้งวัน 

เมื่อเอ่ยถึงการล่องแม่น้ำ คุณฉัตรชัยได้เล่าย้อนถึงที่มาการเรียกขานส่วนโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงก่อนจะผ่านไปทางวัดปริวาส โค้งนี้เขาเรียกกันว่าโค้งข้าวเหนียวบูด ความเป็นมามีว่ามีคู่ตายายล่องเรือมา ระยะเวลาล่องเรือก็นานพอสมควร พอถึงตอนเที่ยงได้เวลากินข้าว ยายก็ชักชวนตาให้กินข้าว ตาบอกยังก่อน พอมาถึงโค้งวัดด่านก็จะกินข้าว ปรากฏว่าข้าวบูด ตายายจึงไม่ได้กินข้าว ต้องทิ้งไป ชื่อความเป็นมาของโค้งข้าวเหนียวบูดนี้ เด็กสมัยนี้อาจไม่เคยได้ยิน 

ในขณะที่นำชมพิพิธภัณฑ์สิ่งที่เราจะได้ยินจากผู้นำชมทั้งสองคน ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจและเป็นหน้าเป็นตาของชุมชน สถานที่นั้นคือบ้านสวน เจ้าของคือครูหวาน อาจารย์จารุภัทร จุลสำลี 

วิถีชีวิตของครูหวานผูกพันกับชุมชนอย่างลึกซึ้ง ในงานประเพณีและงานช่วยเหลือสังคม คนที่นี่จะต้องเห็นครูหวานไปร่วมงาน การทำหน้าที่พิธีกรคือสิ่งที่คุ้นเคยของชาวเขตยานนาวา ครูหวานเป็นชาวสวน คือสิ่งที่เจ้าตัวภาคภูมิใจและมีความสุข ทุกวันนี้ไม่เพียงคนในชุมชนที่รู้จัก การได้ออกรายการโทรทัศน์ ทำให้คนทั่วประเทศได้รู้จักครูหวานในฐานะลูกสาวชาวสวนกลางกรุงเทพมหานครคนสุดท้าย วิสัยทัศน์ของครูหวานคือการปลูกฝังเด็กๆ ให้ซึมซับเรื่องราวความเป็นมาในอดีต ถึงแม้เด็กบางกลุ่มจะไม่ได้มีพื้นเพอยู่ที่นี่ แต่พวกเขาก็ควรได้รับรู้ถึงสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมดั้งเดิม หนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กคือการพานักเรียนเข้าไปในบ้านสวนของครูหวาน ที่ได้อนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก อย่างเช่น ชมพู่สาแหรก ขนุนสำมะลอ เป็นต้น

เวลาที่มีงานประเพณี ครูหวานบอกว่าเด็กๆ เขาจะมาช่วยกัน เขตยานนาวามีงานประเพณีที่โด่งดัง ฝั่งนี้เป็นสงกรานต์แบบไทย ฝั่งโน้นเป็นสงกรานต์พระประแดงที่มีมอญปนอยู่ด้วย ครูหวานภาคภูมิใจว่าทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยได้ถือว่าสงกรานต์ตรงนี้คือตัวแทนของภาคกลาง ในตอนนี้สิ่งที่ชุมชนบริเวณวัดคลองภูมิมีความตั้งใจอยากทำคือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยจะปรับปรุงเรือนไม้ทรงไทยเป็นอาคารจัดแสดงสิ่งของวัตถุโบราณที่เป็นของชาวบ้าน 

ทุกวันนี้ครูหวานมีความสุขในวิถีชีวิตของนักอนุรักษ์ที่เห็นคุณค่าความงามของวิถีชีวิตความพอเพียง แต่ก็มีสิ่งที่เป็นทุกข์คือการคุกคามของน้ำเสียที่รุกเข้ามาในสวน ครูหวานพยายามขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน จะด้วยเหตุอะไรก็ตามที ถึงวันนี้น้ำใจจากเจ้าหน้าที่ที่มีความจริงใจช่วยแก้ความทุกข์ใจของครูหวานก็ยังไม่เห็นผล ครูหวานยังคงกังวลอยู่ว่าวันหนึ่งต้นไม้ในสวนจะตาย 

ในการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ ตัวแทนและเอกลักษณ์ของชุมชนมักเป็นภาพของสถานที่ วัตถุสิ่งของสมัยโบราณ แต่ที่นี่…เขตยานนาวา สื่อโทรทัศน์ที่เข้าถึงคนเป็นจำนวนมากได้ทำให้เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเขตนี้คือบุคคลที่มีชีวิต ทุกวันนี้ครูหวานยังยืนหยัดที่จะเก็บรักษาวิถีชีวิตที่ดำเนินมาแต่ครั้งอดีตให้ดำรงอยู่ เชื่อแน่ว่าไม่เพียงชาวเขตยานนาวาที่ต้องการเห็นแบบนี้ คนที่ได้รับรู้เรื่องของครูหวาน ต่างรู้สึกต้องการให้เป็นอย่างนี้เช่นเดียวกัน

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม 7 สิงหาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-