พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร


ที่อยู่:
อาคารเรือนไม้ปั้นหยาในสำนักงานเขต แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์:
0-2282-8563
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่ 09:00–16:30 น.รถประจำทางสายที่ผ่าน 3, 30, 32, 33, 64, 65
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร

ริมถนนสามเสน ไม่ไกลจากย่านบางลำภู แหล่งช้อปปิ้งสิ่งของในราคาย่อมเยา เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร เขตพระนคร โดยมีเรือนไทยเก่าทรงปั้นหยาเป็นอาคารจัดแสดง ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไม่กี่แห่งของกรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่ในสำนักงานเขต เพราะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในบริเวณ วัด หรือโรงเรียน 

เดิมเรือนไทยทรงปั้นหยาหลังนี้เป็นของพระยาบริรักษ์ราชา หรือ เจ๊ก รัตนทัศนีย์ ท่านรับราชการในตำแหน่งนายตำรวจหลวงรักษาพระองค์ (กระทรวงวัง) มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึง รัชกาลที่ 7 ปัจจุบันเรือนปั้นหยาได้ถูกดัดแปลงนำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญๆ และชุมชนที่หลากหลายวัฒนธรรมของเขตพระนคร โดยการจัดแสดงแบ่งเป็นห้อง ๆ 

ห้องแรก จัดแสดงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของท้องถิ่น แสดงภาพการต่อตั้งกรุงธนบุรี ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนมาเป็นกรุงเทพมหานคร วางตามตำราของพิชัยสงครามแบบนาค ส่วนที่เป็นพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นส่วนท้องนาค ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดและเป็นศุนย์กลางของเมืองทั้งหมด

ถัดไปอีกห้องจัดแสดงวิถีชีวิตในวังชุมชนสามแพร่ง คือ แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งภูธร ถัดมาด้านข้างทางขวามือเราจะพบกับงานฝีมือวิจิตรของชุมชนชาววัง เช่นการร้อยพวงมาลัย การประดิษฐ์ งานแกะสลักผลไม้ต่างๆ 

มาทางด้านซ้ายมือ หน้าบันไดอาคารชั้น 2 จัดแสดงภาพบุคคลสำคัญที่มีที่พำนักอยู่ในเขตพระนคร เช่น โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) ผู้ประพันธ์นิยาย “ผู้ชนะสิบทิศ” ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส นายเลื่อน พงษ์โสภณ ผู้ประดิษฐ์สามล้อขึ้นใช้ในประเทศไทยเป็นคนแรก

ก่อนขึ้นอาคารชั้น 2 ห้องข้างๆ บันได เป็นห้องที่จัดแสดงภาพโบสถ์พราหมณ์ เทวสถานในศาสนาฮินดู รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นพร้อมเสาชิงช้า ตามอย่างประเพณีโบราณที่นิยมสร้างเทวาลัยอยู่ใจกลางเมืองเพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีตรียัมปวาย และพิธีโล้ชิงช้าหนึ่งในพิธีกรรมของพิธีตรียัมปวาย ซึ่งเป็นพิธีที่ปฏิบัติกันในวันขึ้นปีใหม่ของศาสนาพราหมณ์ ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเป็นภาพมัลติมีเดียให้ได้ชม อีกทั้งยังมีองค์จำลองของเทพ 3 องค์ ที่ประทับอยู่ในเทวสถาน คือ พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เทพผู้คุ้มครองโลก หนึ่งในเทพที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ พระศิวะ หรือพระอิศวร เทพผู้สังหารและทำลายโลกต่างๆ และพระพิฆเนศวร หรือ คเณศ เป็นเทพที่มีอำนาจเหนืออุปสรรค และเป็นเทพที่ต้องได้รับการบูชาก่อนเทพองค์อื่น 

ห้องจัดแสดงบนชั้น 2 ทางด้านซ้ายมือของบันได จัดแสดงภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของชุมชนในเขตพระนคร เช่น ชุมชนบ้านบาตร ชาวบ้านในชุมชนนี้จะผลิตบาตรพระ แต่ปัจจุบันนี้มิได้ผลิตแล้ว และตอนนี้ตระกูลที่ผลิตบาตรพระได้ย้ายไปผลิตที่โคราชแล้ว 

บ้านสายรัดประคต ในตระกูล รามโกมุท ได้สืบสานการถักทอสายรัดประคตตั้งแต่โบราณมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ด้วยความประณีตในการถักทอ บ้านสายรัดประคตแห่งนี้มีโอกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสายรัดประคตทรงเมื่อครั้งที่พระพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ถือว่าเป็นทั้งความภาคภูมิใจ และทั้งเกียรติประวัติของชุมชน

นอกจากนี้ยังแสดงย่านต่างๆ ที่อยู่ในเขตพระนคร เช่น ทุ่งสนามหลวง ในภาพถ่ายกำลังบอกเล่าถึงการละเล่นว่าวไทย ย่านสังฆภัณฑ์ ย่านพาหุรัด ย่านบางลำภู ย่านสำเพ็ง ตลาดมิ่งเมือง พร้อมทั้งจำลองสิ่งของที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของย่านต่างๆ เหล่านี้

ทางด้านขวาของบันได เป็นทางเดินเชื่อมต่อไปห้องพระ และห้องนอนของเจ้าของเรือนเดิม ห้องนี้จัดแสดงการคมนาคมทางน้ำ มีคลองรอบๆ กรุงที่ขุดเพื่อเป็นคูเมืองของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะคลองบางลำภู หรือคลองโอ่งอ่าง ภาพของเรือสุพรรณหงส์ และกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเจ้าของเรือนเดิมท่านเป็น 1 ใน 4 ของตำรวจหลวงผู้นำเสด็จ

และจะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ถนน และคลอง รอบๆ เขตพระนคร เป็นชื่อที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งไว้อย่างไพเราะ มีความหมาย และคล้องจองกัน คือ “เจริญกรุง” “บำรุงเมือง” “เฟื่องนคร” และ “ผดุงกรุงเกษม”

ห้องก่อนถึงห้องพระของเจ้าของบ้านเดิม จัดแสดงชุมชนบ้านพานถม แหล่งผลิตเครื่องถมต่างๆ ชุมชนวัดใหม่อมตรสกับการแทงหยวก ไว้ใช้ในพิธีงานศพ และยังแสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สามารถผลิตเครื่องดนตรีไทย และผลิตภัณฑ์จากใบลาน สมุดใบลานโบราณ ผลิตภัณฑ์จากหวาย เป็นต้น

ห้องด้านในสุดทางพิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวของท่านเจ้าของบ้านเดิม คือ พระยาบริรักษ์ราชา อีกทั้งยังเป็นห้องสมุดเล็กๆ เพื่อค้นคว้าเรื่องราวของเขตพระนครเพิ่มเติมอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ในซอยสามเสน 3 บนพื้นที่ของสำนักงานเขตพระนคร ไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด เพียงแค่ท่านแสดงความสนใจเข้าชม เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ประชาสัมพันธ์ ของพิพิธภัณฑ์ก็รอต้อนรับด้วยความยินดี

เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ

สำรวจ : 12 มีนาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-