พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก


ที่อยู่:
อาคารพิพิธภัณฑ์ บริเวณสวนไม้มงคลพระราชทาน 76 จังหวัด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ 10530
โทรศัพท์:
0-2543-1099 ติดต่อฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ สำนักงานเขตหนองจอก
วันและเวลาทำการ:
วันพุธ-อาทิตย์ 8.30-16.30น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก

เวลาเรานึกถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร สิ่งที่เราแทบจะไม่จินตนาการถึงเลยคือ ทุ่งนาอันเขียวขจีกับวิถีชีวิตของชาวนา ชานเมืองกรุงเทพฯ ยังมีนาข้าว และเราจะเห็นได้จากเขตหนองจอกนี้เอง

ความเป็นมาของเขตหนองจอกเริ่มจากอำเภอหนองจอกที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 เคยขึ้นอยู่กับจังหวัดมีนบุรี เมื่อจังหวัดมีนบุรีได้ถูกยุบเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดพระนคร อำเภอหนองจอกจึงไปขึ้นอยู่กับจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ในปีถัดมาได้ย้ายมาเป็นเขตปกครองในจังหวัดพระนคร ท้ายที่สุดมีการรวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2515

สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แตกต่างจากหลายเขตตรงที่ไม่ได้อยู่ในวัดและโรงเรียน สวนไม้มงคลพระราชทาน 76 จังหวัดคือสวนป่าที่เป็นอาคารที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ อยู่ในพื้นที่ประมาณ 12ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของเขตหนองจอก พื้นที่นี้อยู่นอกเมืองห่างจากสำนักงานเขตฯ พอสมควร เมื่อเข้ามาเดินภายในสวนของพิพิธภัณฑ์นี้เราจะสัมผัสได้กับความร่มรื่นของต้นไม้ ในส่วนด้านหลังของตัวอาคารมีลำคลองน้ำใสขนาดเล็ก มีที่นั่งใต้ร่มไม้ สนามหญ้าและต้นไม้ภายในสวนนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากคนทำสวนของทางสำนักงานเขตฯได้จ้างมาดูแล

ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์คือคุณฐิตติวัฒน์ มหาวงศ์สถิต เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมและคุณสิทธิพร มะเดิน อาสาสมัครลานกีฬา คุณฐิตติวัฒน์ได้บอกว่าสวนไม้มงคล 76 จังหวัดคือ ต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด จุดเด่นของเขตหนองจอกคือการมีที่นาอยู่ถึง 80 % และมีประชากร 75 % เป็นมุสลิม 

ที่มาของคนมุสลิมที่นี่คือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีเป็นแม่กองจ้างชาวจีนมาขุดคลองแสนแสบเพื่อใช้เป็นเส้นทางการลำเลียงอาวุธและเสบียงในระหว่างสงครามไทยกับเขมร เมื่อสิ้นสุดสงคราม ทางการได้นำชาวมุสลิมที่ได้กวาดต้อนมาจาก 7 หัวเมืองหลักภาคใต้มาตั้งรกรากอยู่ตามแนวคลองแสนแสบและสืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบัน คุณสิทธิพร ซึ่งเป็นมุสลิมได้เล่าเสริมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนมุสลิมในชุมชน ปัจจุบันยังรักษาประเพณีเก่าแก่ได้เป็นอย่างดีจะเห็นได้จากงานแต่งงาน งานสุหนัต สำหรับเครื่องดนตรีของมุสลิมที่มีมาแต่ดั้งเดิมจะมีการเล่นกันในงานรื่นเริง 

ในเขตนี้มีมัสยิดหลายแห่ง มัสยิดใหญ่คือมัสยิดอัลฮุสนา มัสยิดนี้เป็นศาสนสถานสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบคือมัสยิดดารุ้ลมุตตะกีน(คู้) เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุเกินกว่า 100 ปี และมัสยิดดารุสสลาม โดย “มิมบัร” ของมัสยิดนี้เป็นงานไม้ที่สวยงามมาก โดยด้านหน้าตรงทางขึ้นทำเป็นซุ้มโค้ง ด้านหน้าของเสาทั้งสองข้างมีงานสลักรูปพวงองุ่น

การอยู่ร่วมกันของผู้คนในเขตนี้ถือว่ามีความปรองดองกัน แม้จะมีความแตกต่างทางศาสนา นอกจากศาสนาอิสลามที่เป็นคนส่วนใหญ่ก็ยังมีศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ยังมีชุมชนมอญคลองสิบสี่ อันเป็นชุมชนมอญที่มีขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ สำหรับวัดที่อยู่ในเขตนี้ได้แก่วัดหนองจอก และวัดใหม่เจริญราษฎร์ ซึ่งวัดนี้ถือเป็นวัดสำคัญของชุมชนมอญคลองสิบสี่

สถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ อยู่ในชุมชนคอยรุตตั๊กวา ของนายบุญเหลือ สมานตระกูล อยู่ในพื้นที่ 14 ไร่ ที่นี่มีโฮมสเตย์ บรรยากาศโดยรอบเป็นธรรมชาติ มีวัด มีมัสยิด เป็นสถานที่เรียนรู้หลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

ในงานด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม คุณฐิตติวัฒน์ ได้บอกว่าในปีนี้ทางสำนักงานเขตหนองจอกได้ทำไปแล้วสองแห่งคือ งานสงกรานต์ของไทยรามัญที่คลองสิบสี่ และงานอนุรักษ์วัฒนธรรมของ 3 ศาสนาได้แก่มุสลิม พุทธและคริสต์

การจัดแสดงสิ่งของภายในพิพิธภัณฑ์ เราจะเห็นมุมของวิถีชาวบ้านที่มีเปลเด็กจักสานด้วยหวาย ใกล้กันมีสุ่มไก่ ซึ่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งชอบการชนไก่ ใกล้กันมีแบบจำลองของเรือลักษณะต่างๆ แบบจำลองอุปกรณ์จับปลา ส่วนภาพที่แสดงวิถีชีวิตในชุมชนชนบท จะมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาได้แก่ เคียว เครื่องสีฝัด แอก พลั่วตักข้าว กระบุง คันไถ ระหัดวิดน้ำ

การมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์สามารถทำนาได้ เกิดมาจากพื้นที่นี้มีลำคลองไหลผ่านหลายสาย ถ้ากล่าวถึงวิถีชีวิตในปัจจุบัน ความผูกพันกับแม่น้ำของผู้คนในเขตนี้จัดว่าเป็นเรื่องราวในอดีต แม้จะยังมีบ้านริมคลองเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้ใช้แม่น้ำในการสัญจรไปมา ทำให้แทบไม่มีเรือโดยสาร ในเรื่องนี้ทางสำนักงานเขตฯ ก็มีความคิดที่จะสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวทางน้ำขึ้น 

หนึ่งในชื่อคลองที่เราคุ้นเคยอย่างคลองแสนแสบ ลำน้ำเส้นนี้ไหลผ่านใกล้กับสำนักงานเขตและออกไปทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ประวัติของคลองเส้นนี้เป็นคลองที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2480 เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน โดยขยายจากแนวคลองสายเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบและเสบียงอาหารไปยังประเทศญวน ในราชการสงครามไทย-ญวน ซึ่งใช้เวลารบนานถึง 14 ปี

ในด้านสินค้าชุมชน เขตหนองจอกขึ้นชื่อด้านงานฝีมือในการทำเครื่องจักสาน หมวกถัก ผ้าคลุมผมของสตรีมุสลิม และที่เห็นสะดุดตาอยู่ตรงมุมด้านหนึ่งคือมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง ใช้เป็นรถรับจ้างวิ่งอยู่เฉพาะในเขต

จากการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่เด่นสำหรับคนในเขตนี้คือความปรองดองกันของคนต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ แม้ว่าต่างก็ยังผูกพันกับขนบธรรมเนียมวิธีปฏิบัติในศาสนาของตน นั่นเป็นเพราะว่าโดยแก่นแท้ ทุกศาสนาล้วนต้องการให้ผู้คนอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสันติ

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : ข้อมูลภาคสนาม 10 กรกฎาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-