ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ วัดท่าข้ามศรีดอนชัย


ที่อยู่:
วัดท่าข้ามศรีดอนชัย ตำบลศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย
โทรศัพท์:
086-919-7020 (เจ้าอาวาส)
วันและเวลาทำการ:
อยู่ระหว่างการดำเนินการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2560
ของเด่น:
ภาพถ่ายชุมชนแสดงกิจกรรมสำคัญสะท้อนบรรยากาศและกิจกรรมทางศาสนาในระยะ 40 ปี, มุมจำลองครัวไฟ, ประวัติไทลื้อบ้านศรีดอนชัย, ผ้าทอไทลื้อ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

อะเมซิ่งไทยแลนด์!! เชียงรายหนุนสร้าง "ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ" เพื่อทำการส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม

ชื่อผู้แต่ง: เหรียญชัย จันทร์สุภาเสน | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: สำนักข่าวทีนิวส์ จ.เชียงราย

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 30 สิงหาคม 2561


ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ วัดท่าข้ามศรีดอนชัย

พระครูสุจิณวรคุณ หรือนามเดิม กมล บ่อแก้ว ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าข้ามศรีดอนชัย ท่านไม่ใช่ลูกหลานชาวไทลื้อโดยกำเนิด แต่ด้วยการมาจำพรรษาวัดท่าข้ามศรีดอนชัยอันเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทลื้อในตำบลศรีดอนชัย จึงซึมซับวัฒนธรรมพื้นถิ่นและเกิดความสนใจในความเป็นมาของชาวไทลื้อที่มาตั้งรกรากในพื้นที่ 

 

อาตมาเห็นว่าชุมชนไทลื้อที่นี่มีอัตลักษณ์ที่เข้มแข็ง จึงเกิดความสนใจและเดินทางไปศึกษาต้นกำเนิดของชาวไทลื้อถึง สปป. ลาว บ้านอูเหนือ บ้านอูใต้ แขวงพงสาลี ซึ่งเป็นสถานที่ดั้งเดิมที่ไทลื้อที่นี่จากมา ไม่เหลืออะไรให้เห็นแล้ว คงเหลือไว้แต่ภาษาพูด แต่กลับมาเจริญที่นี่ โดยเฉพาะการทอผ้า เมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านท่าข้ามเลือกตั้งบ้านเรือนริมน้ำ การเดินทางเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว เป็นการเดินทางร่วมกับชาวบ้าน  

 

จุดเริ่มต้นของความสนใจและความรู้สึกถึงอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ผลักดันให้พระครูแสวงหาความรู้ ประจวบกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เอง มีความกระตื้อรือร้นในการหยิบยกเรื่องราวของชุมชนไปนำเสนอให้กับคนภายนอกได้รับทราบ “ในช่วงราว พ.ศ.  2537 สมัยที่สุริยา เจ้าของ ‘ลื้อลายคำ’ เป็นนักศึษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มาปรึกษาถึงกิจกรรมเพื่อทำเป็นโครงงานส่งอาจารย์ จนในที่สุด เกิดการจัดตั้งชมรมไทลื้อและพัฒนากิจกรรม ‘ลูกหลานสืบตำนานไทลื้อ’ โดยนำเยาวชนมาร่วมตัวกันที่วัดเพื่อเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมการละเล่นดนตรีล้านนา ฟ้อนรำ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ให้กับเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนในพื้นที่ เช่นโรงเรียนชุมชนศรีดอนชัย โรงเรียนเชียงของวิทยาคม โรงเรียนลูกรักเชียงของ”   

ในระยะต่อมาเกิดกิจกรรมฟื้นฟูประเพณีการทำบุญที่เรียกว่า จุลกฐิน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมผ้าทอพื้นถิ่น และมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ภาคภูมิใจกับวัฒนธรรมไทลื้อและร่วมสานต่อในอนาคต  

 

จัดต่อเนื่องมาแล้วเป็นเวลาสิบเอ็ด สิบสองปี เป็นการทอผ้าพื้นถวายพระสงฆ์ที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว โดยอาตมาย้ำกับผู้ที่เข้าร่วมงานให้แต่งกายไทลื้อ คนที่เข้าร่วมงานจะได้เห็นการสาธิตการทำอาหารไทลื้อ การทอผ้า และการทำบุญ แต่ในระยะสามสี่ปีหลังเริ่มจัดกิจกรรมสามครั้งต่อเนื่องจนถึงวันประกอบพิธีจุลกฐิน นั่นคือเราให้ลูกหลานเห็นตั้งแต่การปลูกฝ้าย การดูแลและการเก็บเกี่ยว จนมาถึงการทอผ้า ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม เป็นการปลูกฝ้าย ต่อมาในราวเดือนสิงหาคม มีการประกอบกิจกรรมที่เรียกว่า กล่อมฝ้าย และเมื่อออกพรรษาจะจัดงานจุลกฐิน  

 

ท่านเจ้าอาวาสกล่าวว่า การจัดงานในระยะหลังมีหน่วยงานหลายหน่วยงานให้ความสนใจและร่วมเป็นเจ้าภาพ จึงเห็นได้ว่าการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่ายี่สิบปี เห็นผลอย่างชัดเจน ในเวลานี้ บ้านศรีดอนชัยสามารถทอผ้าป้อนสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง หลายหน่วยงานใช้ผ้าทอและเครื่องแต่งกายของไทลื้อเป็นชุดของหน่วยงาน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ส่งเสริมตลาดนำผ้าทอดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋า  

 

ต่อยอดสู่ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ  

ความตั้งใจของการสื่อสารและเผยแพร่วัฒนธรรมไทลื้อบ้านศรีดอนชัยมีมาอย่างต่อเนื่อง พระครูกล่าวถึงโครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อที่ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ผ้าทอไทลื้อ ซึ่งอยู่ในอาคารอเนกประสงค์ที่ดำเนินการก่อสร้างมาแล้วกว่าสิบปีแต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยอาคารดังกล่าวประกอบด้วยห้องประชุมเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถมาใช้ประโยชน์ได้ที่ชั้นล่าง และชั้นบนสุดเป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติธรรม ส่วนชั้นสองกำหนดไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการนำเสนอความหลากหลายของผ้าไทลื้อ ทั้งที่เป็นสิ่งสะสมในพื้นที่และที่จัดหามาจากนักสะสม เรียกได้ว่าเป็น “แหล่งรวมผ้าทอไทลื้ออุษาคเนย์” ตามความตั้งใจของท่านพระครู  

นอกจากอาคารปูนซึ่งพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งในอาคารดังกล่าวแล้ว ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อยังหมายรวมถึงอาคารไม้ ซึ่งในปัจจุบันสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่ได้ฉลอง ภายในนำเสนอเครื่องไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและมีมุมจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อดั้งเดิม  นิทรรศการอีกส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และอีกหลายหน่วยงานในการสนับสนุนการก่อสร้างและการจัดแสดง  ส่วนหน้าเรือนจะมีแม่ ๆ มาทอผ้าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบอกเล่าวิถีท้องถิ่นของหญิงไทลื้อ  

ใกล้กันนั้น มีอุโบสถกลางน้ำที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ แต่ใช้รูปแบบของอุโบสถกลางน้ำจากจังหวัดน่านเป็นต้นแบบ ภายในประดิษฐ์พระพุทธรูปที่เป็นพระไม้ ผนังโดยรอบเป็นฝาไหลที่เป็นการผสมผสานเทคนิคการก่อสร้างดั้งเดิมที่ผนังสามารถเลือนเป็นช่องเปิดและปิดได้ ศาลาบาตรที่รายล้อมสระน้ำเป็นอาคารในโครงการเดียวกับอุโบสถกลางน้ำเช่นกัน เป็นศาลาบาตรที่ประยุกต์ให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ท่านพระครูเล่าถึงการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อทำนิทรรศการเกี่ยวกับภาพเก่าเล่าวิถีไทลื้อ ภาพที่ได้มาเหล่านี้ท่านพระครูนำมาสแกนและเก็บไวในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัล และบันทึกข้อมูลจากเจ้าของภาพ  

ภาพถ่ายสำเนาแสดงให้เห็นลักษณะดังเดิมของชุมชนและภายในวัด สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงสี่ห้าสิบปีนี้ อีกส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นกิจกรรมทางสังคม เช่น ภาพของสามเณรที่มีการสอบนักธรรมสนามหลวง  ที่หมายถึงการสอบวัดความรู้ทางธรรมที่สอบพร้อมกันทั่วประเทศ ภาพของชาวบ้านในพื้นที่ชายนั้นไม่ใส่เสื้อส่วนผู้หญิงคงนุ่งซิ่นในชีวิตประจำวัน  และมาประกอบพิธีทางศาสนา แต่ที่ผู้สำรวจสนใจเป็นพิเศษ คือภาพบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมศรีดอนชัยเมื่อ  พ.ศ.  2509 และ พ.ศ.  2514 แต่ในเวลานี้ จีนสร้างเขื่อน น้ำไม่ท่วมแล้ว มีแต่แห้ง  ท่านพระครูสรุปถึงนิทรรศการภาพเก่าที่จัดขึ้นครั้งแรกที่นำเสนอภาพจำนวน  30 ภาพ โดยมีที่มาจากคนในศรีดอนชัย  5-คน   

นอกเหนือจากเรือนจำลอง (อาคารไม้) อุโบสถกลางน้ำ ศาลาบาตรแล้ว ยังมีอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอีกจำนวน 4 หลัง ได้แก่ อาคารสำหรับขายเครื่องดื่ม อาคารขายของที่ระลึกและสินค้าในชุมชนอีก  2 หลัง และอาคารที่เป็นห้องสุขาให้บริการกับนักท่องเที่ยว  

 

ภาพในอนาคต  

พระครูสุจิณวรคุตั้งใจให้ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อที่ตั้งอยู่ในวัดท่าข้ามศรีดอนชัยแห่งนี้ เป็นศูนย์การการเข้ามาเยี่ยมเยือนพื้นที่ของคนภายนอก ได้มาศึกษาดูงานเพื่อเข้าใจประวัติความเป็นมาไทลื้อในอำเภอเชียงของ และเดินทางไปยังสถานที่อื่น ๆ ภายในชุมชน เช่นเรือนคำแพง ลื้อลายคำ ศูนย์ทอผ้าแม่ดอกแก้ว ศูนย์ทอผ้าแม่แว่นแก้ว สถานที่เรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ใกล้กับแม่น้ำอิง และจะจัดจักรยานให้กับผู้ที่สนใจได้หยิบยืมเพื่อเข้าไปในหมู่บ้าน   

สำหรับคนในพื้นที่แล้ว ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อคงเป็นสถานที่สำหรับการสืบสานวัฒนธรรม ดังที่ท่านพระครูบอกเล่าถึงกิจกรรมลูกหลานสืบสานตำนานไทลื้อ นอกจากนี้ ยังมีการจัดค่ายฤดูร้อนสำหรับสามเณรที่มาใช้เวลาเรียนรู้พระพุทธศาสนาและซึมซับกับวัฒนธรรมท้องถิ่นไปพร้อมกัน   สำหรับนักเรียนจากสถานศึกษา สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เพราะที่นี่จัดกิจกรรมให้กับสถานศึกษาที่สนใจที่นำนักเรียนมาเรียนรู้   

โดยทั่วไปจัดกิจกรรมไว้สามฐาน ฐานแรกเป็นการเรียนรู้พุทธศาสนา ได้แก่การสวดมนต์และการนั่งสมาธิ ฐานที่สองคือการเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของบ้านศรีดอนชัยผ่านภาพถ่าย และฐานที่สามคือให้ผู้สูงอายุได้มาถ่ายทอดความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการทำสมุนไพร การตัดตุง การทอผ้า เราก็เปิดให้เด็กเข้าไปยังชุมชนตามแผนที่ท่องเที่ยวชุมชนที่จัดทำไว้ และมาทานอาหารท้องถิ่น  

บทพิสูจน์หนึ่งที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการทำงานทางวัฒนธรรมนั่นคือ ท่านพระครูได้รับรางวัลและโล่เกียรติยศจากหน่วยงานต่าง ๆ เหตุการณ์หนึ่งที่ท่านคงจดจำและเป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานต่อไปนั่นคือโอกาสที่ได้เข้าถวายรายงานสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ “ครั้งนั้นมีโอกาสถวายรายงานท่านเกี่ยวกับผ้าห่อธรรม พระองค์บอกว่าสิ่งนี้เป็นวิถีชีวิตไทลื้อ แม้ผู้หญิงไม่ได้บวช แต่ทอผ้าห่อธรรมเพื่อใกล้ชิดพระพุทธศาสนา” เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและอุตสาหะที่ท่านพระครูทำงานร่วมกับชุมชน และมีผู้สนับสนุนทั้งภายในและภายนอกชุมชน เพื่อให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมดำเนินต่อไป .  

 


ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ