หอแห่งแรงบันดาลใจ ตั้งอยู่ภายในโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ภายใต้การบริหารจัดการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่เดิมคือหอพระราชประวัติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ต่อมาได้ปรับปรุงเป็นหอแห่งแรงบันดาลใจ เป็นนิทรรศการแบบสื่อผสมผสาน ที่มีจุดประสงค์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวดอยตุง ได้รู้จักและเข้าใจถึงแนวพระราชดำริของสมาชิกทั้งห้าพระองค์ในราชสกุลมหิดล อันประกอบด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นิทรรศการถ่ายทอดพระราชจริยวัตรในการทำงาน และพระวิริยะอุตสาหะที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทย โดยหวังให้ผู้เข้าชมได้เกิดแรงบันดาลใจ ยึดมั่นในความดี คิดดี ประพฤติปฏิบัติดีเท่าที่ตนเองจะสามารถทำได้ เพื่อพลังแห่งความดีนี้ จะได้ผลิดอกออกผลบานสะพรั่งไปทั่วทุกหนทุกแห่ง เช่น ราชสกุลมหิดลที่เปรียบเสมือนหยดน้ำหยดเล็กๆ ที่ค่อยๆ หลั่งริน สร้างแรงกระเพื่อม ดับร้อน และบันดาลความชุ่มชื่นผาสุกไปทั่วแผ่นดินไทย
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
หอแห่งแรงบันดาลใจ ดอยตุง
คุณค่าและความดีของครอบครัวๆ หนึ่ง ส่งผลเป็นแรงบันดาลใจถึงคนทั้งแผ่นดิน
ราชสกุล “มหิดล” อันประกอบด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบามทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต่างทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของกันและกัน ในการทรงงานเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของแผ่นดินไทย และบันดาลใจให้คนในชาติทำความดีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
ความเป็นมา
จุดกำเนิดหอแห่งแรงบันดาลใจ สืบเนื่องมาจากการจัดงานนิทรรศการ “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 84 พรรษา ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ระหว่างวันที่ 4 – 15 พฤษภาคม 2550 หลังจากเสร็จสิ้นการจัดงาน คณะกรรมการจัดงานมีความประสงค์จะนำชุดนิทรรศการแสดงเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จากงานดังกล่าว ไปตั้งแสดงเป็นการถาวร ณ หอพระราชประวัติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
จากหอพระราชประวัติฯ สู่หอแห่งแรงบันดาลใจ
หอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้รับการปรับปรุงให้เป็น “หอแห่งแรงบันดาลใจ” เพื่อให้ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ รวมถึงชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวดอยตุงได้รู้จักและเข้าใจถึงแนวพระราชดำริของสมาชิกทั้งห้าพระองค์ในราชสกุลมหิดล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชจริยวัตรในการทำหน้าที่ของแต่ละพระองค์ หลักการทรงงานที่เรียบง่ายพระวิริยะอุสาหะที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย โดยหวังให้ผู้เข้าชมได้เกิดแรงบันดาลใจ ในการคิดดี ยึดมั่นในความดี ประพฤติดี ปฏิบัติดี เท่าที่ตนเองจะสามารถทำได้ เพื่อพลังแห่งความดีนี้ จะได้ผลิดอกออกผลบานสะพรั่งไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ดังเช่นราชสกุลมหิดที่เปรียบเสมือนหยดน้ำ หยดเล็กๆ ที่ค่อยๆ หลั่งริน สร้างแรงกระเพื่อม ดับร้อน และบันดาลความชุ่มชื่น ผาสุกไปทั่วแผ่นดินไทย
องค์ประกอบ “หอแห่งแรงบันดาลใจ”
ร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้มีความเชี่ยวชาญงานสถาปัตยกรรม ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะทำงาน ในการรังสรรค์หอแห่งแรงบันดาลใจ
โดยภายในหอแห่งแรงบันดาลใจ มีการจัดแบ่งเป็น 7 ห้อง
ห้องที่ 1 ราชสกุลมหิดล
กล่าวถึงราชสกุลมหิดล ในฐานะครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งที่อบอุ่น เปี่ยมด้วยความรัก และเป็นดุจดั่งหยดน้ำที่รวมตัวกันหลั่งลงมาบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ปวงพสกนิกร
ห้องที่ 2 เรื่องราวของราชสกุล ผ่านพระราชประวัติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สิ่งที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ย่อมเกิดจากจุดเล็กๆ รอบตัว โดยเฉพาะภายในครอบครัว ห้องนี้จึงนำเสนอเรื่องราวของราชสกุลมหิดลผ่านพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่ทรงเป็น “เด็กหญิงสังวาลย์” ที่ใฝ่ดี และแสวงหาโอกาส จนเป็น “คู่ชีวิตเจ้าฟ้า” ที่ได้ซึบซับพระราชปณิธานอันแรงกล้าในการทรงงานเพื่อแผ่นดินไทยของพระสวามี มาเป็น “แม่ของลูก” ที่มีหลักในการอบรมเลี้ยงดูพระโอรสพระธิดา “ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” และในที่สุดกลายเป็น “แม่ฟ้าหลวง” ของปวงชนชาวไทยที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้คนที่แร้นแค้นมากมายได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
ห้องที่ 3 การกลับคืนสู่มาตุภูมิของราชสกุลมหิดล
ด้วยความรับผิดชอบที่ทรงมีต่อประเทศชาติ สมาชิกของราชสกุลมหิดล ทรงต้องละวางชีวิตที่เรียบง่าย อิสระ และมีความสุข เพื่อเสด็จนิวัติกลับคืนสู่มาตุภูมิ มาทรงรับพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ในฐานะพระมหากษัตริย์ของประชาชน ในยุคที่บ้านเมืองสับสนวุ่นวาย
ห้องที่ 4 ความทุกข์ยากของประชาชน
การขึ้นครองราชย์ หาใช่ความสุขสบายไม่ หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการทรงงานที่หนักหน่วง ตลอดพระชนม์ชีพ เพราะ “ปัญหาไม่มีวันหยุด” และมีอยู่ทุกหัวระแหง
ห้องที่ 5 แบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนอย่างยั่งยืน
ด้วยอุปกรณ์ธรรมดาๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ทรงงานจนคุ้นตา ได้แก่ แผนที่ วิทยุสื่อสาร ดินสอ และกล้องถ่ายรูป สะท้อนถึงหลักการและวิธีการทรงงานที่ทรงมุ่งทำความ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อแก้ปัญหาของคนไทย ตั้งแต่คนบนภูเขา บนที่ราบสูง ในที่ราบลุ่มจนจรดชายฝั่งทะเล ผู้ชมจะได้เพลิดเพลินกับเทคนิค Shadow animation ที่ใช้อธิบายเรื่องซับซ้อนในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้เป็นเรื่องง่ายต่อการเข้าใจ
ห้องที่ 6 แบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนบนดอยตุง
เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุ 87 พรรษา ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อแก้ไขปัญหาของดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมทองคำอย่างครบวงจรด้วยการ “ปลูกป่า…ปลูกคน” ควบคู่กันไป โดยทรงศึกษาจากโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ มาปรับใช้ที่ดอยตุง หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นโครงการ พัฒนาที่ “แม่เรียนรู้จากลูก” ทุกวันนี้ ทั้งคนและผืนป่าของดอยตุง ได้รับการพลิกฟื้นคืนสู่ชีวิตที่พอเพียงและมีศักดิ์ศรี
ห้องที่ 7 ห้องแห่งแรงบันดาลใจ
แรงบันดาลใจที่สมาชิกราชสกุลมหิดลทั้งห้าพระองค์ทรงมีต่อกันและกัน ได้นำไปสู่ทางออกของปัญหาแล้วปัญหาเล่า และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีแก่ประเทศชาติบ้านเมืองมากมาย
ข้อมูลจาก: http://www.maefahluang.org/ (เข้าถึง 3 พฤษภาคม 2564)
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
บุคคลสำคัญ สมเด็จย่า
พิพิธภัณฑ์จักรยาน เดอะฮับ
จ. เชียงราย
ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านโรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม
จ. เชียงราย
พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน
จ. เชียงราย