พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น


บ้านฝิ่นเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน ก่อตั้งโดยคือคุณพัชรี ศรีมัธยกุล ซึ่งเป็นคนเชียงแสนโดยกำเนิด เป็นผู้ที่ชื่นชอบและสะสมโบราณวัตถุ ในช่วงปี 2533 คุณพัชรีเริ่มที่จะตระหนักว่า ของเก่าที่ขายอยู่ในร้านจะหมดไป จึงเริ่มความคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ของเก่าที่ตนขาย โดยคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ตั้งชื่อของพิพิธภัณฑ์ให้ การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ กล่าวถึงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ประวัติการเดินทางของฝิ่นที่เข้ามาสู่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ขบวนการค้ายาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำเมื่ออดีต จัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการค้า ได้แก่ "เป้ง" ในรูปแบบต่างๆ จำลองการสูบฝิ่นของชาวเขา จัดแสดงกล้องยาสูบรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงพิษภัยของฝิ่นและยาเสพติด

ที่อยู่:
เลขที่ 221 หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 57150
โทรศัพท์:
0-5378-4060
โทรสาร:
0-5378-4062
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 07.00-19.00 น.
ค่าเข้าชม:
คนละ 50 บาท เด็กเข้าชมฟรี
เว็บไซต์:
อีเมล:
houseofopium.museum@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2533
ของเด่น:
อุปกรณ์สูบฝิ่น และเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการค้าฝิ่น อาทิ กล้องสูบฝิ่น ตะเกียง หมอน เสื่อ ตาชั่ง ตุ้มน้ำหนัก บ้านฝิ่นเป็นสถานที่เดียวที่จัดแสดงตุ้มน้ำหนักฝิ่น (เป้ง) ล้านนาจำนวนมาก และที่หาชมที่อื่นไม่ได้คือเป้งทองคำ มีอายุเก่าแก่ขนาดเล็กที่สุด
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

โฉมใหม่พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 11/19/2547

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

"ฝิ่น" ใน พิพิธภัณฑ์ unlimited

ชื่อผู้แต่ง: ปณิตา สระวาสี | ปีที่พิมพ์: 2552

ที่มา: กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

บ้านฝิ่น

 บ้านฝิ่น” เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนเล็ก ๆ ก่อตั้งโดยคุณ พัชรี ศรีมัธยกุล ซึ่งเป็นชาวเชียงแสนโดยกำเนิด หลังจบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดำเนินชีวิตในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่สักพัก ก็ได้ตัดสินใจกลับมาเปิดร้านขายของเก่าและเกสต์เฮ้าส์เล็กๆ ที่บ้านเกิดในปี พ.ศ. 2530      

ในช่วงเวลานั้นเองที่คุณพัชรีได้เกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้เริ่มสะสมศิลปวัตถุ และได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการค้าขายฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำโบราณ ผ่านการอ่านตำราทุกเล่มที่มีการอ้างอิงข้อมูลที่เกี่ยวกับฝิ่น การค้นคว้าจากสำนักงานปปส. ห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และการใช้ชีวิตคลุกคลีกับชนเผ่าต่างๆ ทั้งชาวเขา ชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ชาวพม่า และชาวลาวที่ได้อพยพมาอาศัยอยู่ในหมูบ้านและพื้นที่ใกล้เคียง คุณพัชรี ตระหนักว่าโบราณวัตถุในพื้นที่เหล่านี้มีคุณค่ามาก ทั้งทางประวัติศาสตร์และทางศิลปะวัฒนธรรม หากไม่ทำการเก็บรักษาไว้อาจถูกนักสะสมชาวต่างชาติซื้อไปหมด ในปี พ.ศ. 2532 คุณพัชรีจึงได้เปิดพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นขึ้น เพื่อจัดแสดงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝิ่น และบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำ โดยได้รับความช่วยเหลือทางข้อมูลและการแปลภาษาอังกฤษจากเพื่อนนักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดลชาวไทยแคนาดา และเพื่อนที่เรียนครุศาสตร์มาด้วยกัน ส่วนชื่อ “บ้านฝิ่น” เป็นชื่อที่ตั้งให้โดยคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ      

พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นในยุคเริ่มแรกจัดแสดงอย่างง่ายๆ ในอาคารไม้ไผ่มุงคา มีเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับฝิ่นจัดแสดงอยู่ระมาณ 300 ชิ้น การจัดแสดงมีนักเรียนอาชีวะจาก จ. อุดรธานีมาช่วยทำ ทั้งตู้ ระบบไฟ หุ่นปั้น และช่วยเขียนคำบรรยาย ค่าเข้าชมเริ่มแรกเก็บคนละ 5 บาท และยังแจกหยกเม็ดเล็กๆ ให้อีกคนละ 1 เม็ด      

ในช่วงเวลาต่อมา ประมาณปี พ.ศ. 2535 คุณพัชรี ได้ทำการบูรณะตัวอาคารและการจัดแสดง โดยได้รับความช่วยเหลือจากศิลปินเชียงราย คุณปรีชา ราชวงศ์ และ คุณณรงค์เดช สุดใจ เป็นผู้วาดภาพบอกเล่าตำนาน และความสัมพันธุ์ของฝิ่นกับชาวเขาเผ่าต่างๆ และได้ขึ้นค่าเข้าชมเป็นท่านละ 10 บาท และ 20 บาทในปีพ.ศ. 2540      

ในปี พ.ศ. 2550 คุณพัชรีได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดบ้านสามเหลี่ยมทองคำและทำการบูรณะตัวอาคารอีกครั้ง และได้นำของเก่าที่ได้เก็บสะสมมาในช่วงระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่เปิดพิพิธภัณฑ์มาเพิ่มเติมกว่า 1,500 ชิ้น และได้ขึ้นค่าเข้าชมเป็นท่านละ 50 บาท      

ในปี 2562 พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นได้เปิดกิจการมาแล้วเป็นระยะเวลา 30 ปี มีการจัดแสดงศิลปะวัตถุเพิ่มเติมรวมกว่า 2,000 ชิ้น มีการจัดโซนเพิ่ม ทั้งห้องทุ่งดอกฝิ่นจำลอง หุ่นชาวเขา 6 เผ่า อุปกรณ์การสูบกัญชายาเส้น และทำการปรับปรุงปรับเปลี่ยนการนำเสนอให้ง่ายต่อการเข้าถึงมากขึ้น แต่ยังคงแนวคิดพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก ค่าเข้าชมไม่แพง (50 บาท) แต่ให้ความรู้เกี่ยวกับฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำอย่างครบถ้วนผ่านวัตถุโบราณอันทรงคุณค่า

 

ชื่อผู้แต่ง:
กีรติ ศิวะเกื้อ

รีวิวของพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น

บ้านฝิ่นเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนเล็ก ๆ ที่มีวัตถุสิ่งของที่จัดแสดงนั้นน่าสนใจมาก ผู้ก่อตั้งคือคุณพัชรี ศรีมัธยกุล ซึ่งเป็นคนเชียงแสนโดยกำเนิด จบการศึกษาจากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชีวิตเกี่ยวเนื่องกับสามเหลี่ยมทองคำ เริ่มต้นจากการเปิดร้านค้าขายของที่ระลึกและของเก่า ตำแหน่งของร้านอยู่ต่ำลงมาจากที่ตั้งบ้านฝิ่นในปัจจุบัน ในช่วงปี 2533 คุณพัชรีเริ่มที่จะตระหนักว่า ของเก่าที่ขายอยู่ในร้านจะหมดไป จึงเริ่มความคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ของเก่าที่ตนขาย โดยคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ตั้งชื่อของพิพิธภัณฑ์ให้ คุณพัชรีทำการค้นคว้าจากสำนักงาน ปปส. มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และหนังสือทุกเล่มที่มีการอ้างอิงข้อมูลที่เกี่ยวกับฝิ่น โดยให้เพื่อนที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลแปลเนื้อหาทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนเทคนิคการจัดแสดงเป็นความช่วยเหลือจากนักศึกษาอาชีวะ   

วัตถุสะสมส่วนใหญ่ได้มาจากการตระเวนเข้าไปจนถึงจีนตอนใต้ รวมถึงการค้าของเก่าที่มีของหมุนเวียนเข้ามาตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ หากวัตถุใดที่มีคุณค่าสำหรับคุณพัชรี วัตถุจะกลายเป็นงานสะสมสำหรับพิพิธภัณฑ์ และส่วนที่เหลือจะนำขาย และมีการจัดทำบัญชีกำกับ ในขณะนี้มีของที่จัดแสดงประมาณ 300 ชิ้น ส่วนอีกประมาณ 1,680 ชิ้นยังอยู่ในคลัง ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตจึงมีโครงการในการขยายพื้นที่จัดแสดงเพิ่มเติม   รายได้ในปัจจุบันยังขึ้นอยู่กับของระลึกและของเก่าที่ขายในส่วนร้านขายของที่ระลึก รวมทั้งในปัจจุบันยังมีธุรกิจกาแฟเพิ่มเติมมูลค่า

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ส่วนแรกกล่าวถึงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ แสดงด้วยภาพวาดแผนที่ และตัวอักษรที่อธิบาย จากนั้น กล่าวถึงประวัติการเดินทางของฝิ่นที่เข้ามาสู่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ในจุดนี้ เป็นความแตกต่างของการเริ่มต้นเนื้อหาอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับหอฝิ่น ภาพการเล่าเรื่องของบ้านฝิ่นเน้นความเป็นท้องถิ่นมากกว่า อาจเพราะด้วยขนาดของพิพิธภัณฑ์ งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ และแรงที่ใช้ในการค้นคว้า รวมทั้งที่ตั้งของบ้านฝิ่น เรื่องจำกัดอยู่เพียงพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้คือ สามเหลี่ยมทองคำ เรื่องราวจะเน้นที่การอพยพของคนภูเขาทางใต้ของจีนที่เข้ามาในประเทศไทย และนำเอาฝิ่นและการบริโภคฝิ่นเข้ามา ดังนั้น เมื่อย้อนเปรียบเทียบการเล่าเรื่องของหอฝิ่น การเล่าเรื่องจากขยายไปถึงเรื่องของฝิ่นในอารยธรรมโลก และเส้นทางการค้าระหว่างประเทศที่นำฝิ่นเข้ามาสู่ประเทศไทย การเล่าเรื่องในแบบดังกล่าว อาจเป็นความพยายามของผู้จัดทำเนื้อหาจัดแสดงในหอฝิ่นที่ต้องการให้เห็นภาพรวมในระดับที่กว้างมากกว่าเป็นการพูดถึงความสัมพันธ์กับพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำกับเส้นทางการค้ายา
           
จากนั้น เป็นการบอกเล่าถึงวิถีชีวิตของชาวเขา ด้วยตารางวงจรชีวิตในรอบ 12 เดือน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพืชเสพติดดังกล่าว และเป็นการพูดถึงการค้าขายฝิ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การบอกเล่าดังกล่าวใช้วัตถุที่เกี่ยวข้องกับการค้า ได้แก่ "เป้ง" เน้นในเรื่องของวัตถุสะสมที่มีจำนวนมาก และยังแสดงให้เห็นถึงความงามของตัววัตถุด้วยการพิมพ์ลายนูนลงบนผืนผ้าขาว เพื่อให้เห็นลายที่อยู่บนวัตถุนั้น พร้อมกับส่วนเนื้อหาที่อธิบายถึงรูปสัตว์ที่ใช้ในการประดิษฐ์วัตถุดังกล่าว อย่างไรก็ดี ไม่มีการวิเคราะห์ถึงการเลือกใช้รูปสัตว์ดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการบอกเล่าถึงขบวนการค้ายาเสพติดในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ และ "ขุนส่า" สิ่งจัดแสดงที่น่าสนใจคือ การทำม้าจำลองที่เป็นการจัดแสดงอานม้าบนม้าไม้จำลอง และพยายามสื่อถึงเส้นทางการค้ายาที่เข้ามาจากทางใต้ของจีนสู่ทางเหนือของไทย 
         
ต่อมา ผู้ชมจะได้เห็นการจำลองการสูบฝิ่นของชาวเขา ที่แสดงผ่านสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะคล้ายบ้านหญ้าคาหรือฟาง และมีหุ่นของผู้สูบฝิ่นอยู่ภายใน ทั้งนี้มีการใช้แผ่นพลาสติกแข็งกั้นมิให้คนเข้าไปในตัวฉากได้ และเชื่อมต่อกับการจัดแสดงกล้องยาสูบจำนวนมากในตู้แสดง และในช่วงสุดท้าย มีการบอกเล่าเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด และเนื้อเรื่องบอกเล่าถึงชีวิตในลำน้ำโขง เรือไม้เก่าเป็นสิ่งจัดแสดงหลักในช่วงสุดท้าย ในตอนท้ายนี้สิ่งที่อดชื่นชมไม่ได้ คือ ความคิดที่สร้างตัวปั๊มนูนรูปสัญลักษณ์ของเป้งอยู่ในกรอบสามเหลี่ยม และเขียนภาษาอังกฤษว่า "I’m here." ผู้เยี่ยมชมสามารถพิมพ์รูปนี้ลงบนโปสการ์ดที่ทางพิพิธภัณฑ์แจกให้เป็นบัตรเข้าชมนั่นเอง 


ข้อมูลจาก: 
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 11 สิงหาคม 2547  
2. สัมภาษณ์ คุณพัชรี ศรีมัธยกุล เจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น วันที่ 11 สิงหาคม 2547
ชื่อผู้แต่ง:
-