ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์ไทยพวนโคกกะเทียม
ที่อยู่:
วัดโคกกะเทียม ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
โทรศัพท์:
081-9140474, 036-487763
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ของเด่น:
มุมจำลองครัวพื้นบ้าน, มุมจำลองห้องนอนและชานรับแขก, ประวัติศาสตร์ชุมชน, ประเพณีท้องถิ่น
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกกะเทียม
“กะเทียม” เป็นภาษาพวน หมายถึงต้นพลับพลึง “โคกกะเทียม” เป็นชื่อหมู่บ้านที่ชาวพวนตั้งชื่อตามชื่อต้นไม้ที่มีอยู่มากในพื้นที่(ปัจจุบันคือตลาดหลังสถานีรถไฟโคกกะเทียม) เมื่อครั้งอพยพจากเมืองเชียงขวาง สปป.ลาว เข้ามาตั้งรกราก ณ บ้านโคกกะเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ ที่เวียงจัน
ชาวพวนหรือไทยพวน ถูกกวาดต้อนโดยเข้ามาหลายระลอก ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและจำนวนมาก และกระจัดกระจายไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งไทยยกกองทัพไปปราบฮ่อ โดยนอกจากโคกกะเทียมแล้ว ในลพบุรียังมีกลุ่มคนพวนที่บ้านถนนใหญ่ บ้านทราย บ้านเชียงงา เป็นต้น
คนเฒ่าคนแก่ในโคกกะเทียมเล่าต่อกันว่า คนพวนส่วนหนึ่งอพยพกันมาจากลำน้ำยมและลำน้ำน่าน สู่ลำน้ำเจ้าพระยา พอถึงบริเวณ “อ่าวแสงแดด” ในตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรีในปัจจุบัน กระแสน้ำแรงทำให้แพปะทะกับตลิ่ง จนแพแตก ชาวพวนจึงอพยพขึ้นมาก่อนบริเวณดังกล่าว ส่วนหนึ่งลงหลักปักฐานที่บางน้ำเชี่ยว อีกส่วนหนึ่งออกเดินทางต่อมุ่งหน้าทิศเหนือ แถบเขาวงพระจันทร์ ซึ่งมีภูมิประเทศใกล้เคียงกับเมืองเชียงขวางที่จากมา โดยเดินมุ่งมาทางทิศตะวันออกของภูเขาและตั้งหมู่บ้านโคกกะเทียม ณ ที่ปัจจุบัน
หนังสือจัดพิมพ์เนื่องในพระราชทานเพลิงศพพระครูนิวิฐธรรมคุณ เจ้าคณะตำบลหนองทรายขาว เจ้าอาวาสวัดสระเตยใหญ่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต่อมาภายหลังเมื่อผู้คนมีจำนวนมากขึ้น พื้นที่ทำกินมีจำกัด จึงมีแยกครัวออกไปตั้งบ้านเรือนตามที่ต่างๆ ในปี พ.ศ. 2403 ชาวพวนราว 30 ครัวเรือน แยกไปตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดที่ตำบลหนองทรายขาวหรือบ้านโนนยาว(เนินยาว) และสร้างวัดที่ตำบลหินปัก บ้านสำโรงใหญ่ นำโดยครูบาโสมและครูบาอุ่น
ปี พ.ศ. 2404 ผู้คนกว่า 10 ครัวเรือน แยกออกไปสร้างบ้านเรือนและวัดสระเตยใหญ่ ตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ในปัจจุบัน โดยมีครูบากัณหา โกสะโร และครูบาเพ็ง ชาคโร เป็นผู้นำ
ปี พ.ศ. 2405 ผู้คนแยกออกไปตั้งครัวเรือนที่บ้านหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง โดยมีหลวงพ่อจันดา และครูบาบุญมา เป็นผู้นำ และมีการแยกครัวออกไปในเขตอำเภอบ้านหมี่ อีกหลายระลอก ในปี พ.ศ. 2418, 2430, 2444
ปัจจุบันตำบลโคกกะเทียม มี 5 หมู่บ้าน โดยหมู่บ้านที่มีเชื้อสายพวนอาศัยอยู่มากคือ หมู่ 3 และหมู่ 4
อาจารย์ทัศนัย เกิดผล ข้าราชการครูเกษียณ ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เล่าถึงที่มาของการทำพิพิธภัณฑ์ว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากการได้พบปะพูดคุยกับคนพวนในลพบุรี โดยเฉพาะที่บ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ ที่นั่นเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ของคนพวนแล้วก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น
“เราเห็นการเก็บของบ้านทราย บ้านทรายเป็นไอดอล เป็นตัวอย่างให้เราเรียน เราก็อยากได้มาก ทำอย่างไรเราจะเก็บได้ พวนปู่ย่าตายายบ้านเราก็มีของตั้งเยอะแยะ...”
ในปี พ.ศ. 2555 ชุมชนโคกกะเทียมภายใต้การนำของอาจารย์ทัศนัย ได้รับประมาณจัดสรรมาจากงบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัด เพื่อมาก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ในบริเวณวัดโคกกะเทียม ตัวอาคารแล้วเสร็จและส่งมอบในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เป็นอาคารโล่งยังไม่มีการจัดแสดง และเริ่มขอรับบริจาควัตถุสิ่งของหลังจากมีอาคาร สามปีต่อมาพิพิธภัณฑ์ขอรับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยอาจารย์ทัศนัย เล่าว่า
“เนื่องจากว่าอาคารเราได้มาแล้ว เราไม่สามารถจัดแสดงอะไรได้เลยเพราะเราไม่มีงบประมาณ อบต.เรายากจน งบน้อย... ตัวเราคุ้นเคยกับทางจังหวัดอยู่ เมื่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจัดงานอะไรขึ้นมา เราก็จะนำเสนอศิลปะการแสดงพื้นบ้านเราออกไป ชื่อเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านโคกกะเทียมก็เป็นที่รู้จัก พอเป็นที่รู้จัก เราก็ได้รับการเสนอไปที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เราทำเรื่องไปว่าต้องการสนับสนุนอย่างไร ก็เลยขอเรื่องการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไป”
เมื่อถามอาจารย์ทัศนัย ถึงจุดประสงค์ในการทำพิพิธภัณฑ์
“เราต้องการอนุรักษ์สิ่งของ วัฒนธรรมของคนพวนบ้านโคกกะเทียม คือจะมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว พวนแต่ละที่ไม่ได้เหมือนกันไปหมดทุกอย่างนะคะ ของที่จัดแสดงทั้งหมดไม่เคยซื้อ เป็นของตามบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่เอามาบริจาค มีชื่อติดไว้หมดเลย จุดประสงค์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกกะเทียม เราต้องการจะรักษาวัฒนธรรมของพวนเราให้ลูกหลานเราได้เห็น ซึ่งตอนนี้ก็ได้ครูพื้นถิ่นคนหนึ่งเข้ามาช่วยดูแล นำนักเรียนเข้ามาเรียนรู้ ทำความสะอาด เราจัดทำบทเรียนสำเร็จรูปเรื่องวัฒนธรรมของโคกกะเทียมให้เด็กมาอ่านมาดูบ้างเล็กน้อย...”
อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ภายในแบ่งการจัดแสดงที่คล้ายจะส่วนพื้นที่ต่างๆ ของบ้านคนพวน ได้แก่ กวงเฮือน เป็นห้องเดียวในบ้าน สำหรับเก็บทรัพย์สมบัติและเป็นห้องนอนของลูกสาว ภายในจัดแสดงฟูกนอน ดาวเด่นคือหิ้งพระซึ่งแตกต่างจากหิ้งพระทั่วไป ผู้บริจาคเรียกว่า “ตู้พระธรรม” คล้ายชั้นวางไม้หนังสือลอยยึดติดผนัง ส่วนบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ชั้นล่างสำหรับเก็บวางคัมภีร์ใบลานที่เป็นตำรายารักษาโรคของเจ้าของแต่เดิม
นอกจากนี้ภายในห้องนอน ยังมีโต๊ะเครื่องแป้ง หุ่นแสดงเครื่องแต่งกายในผู้หญิงพวน ลักษณะคือนุ่งซิ่นมัดหมี่ สวมเสื้อที่ชาวพวนเรียกว่า “เสื้อมะกะแหล่ง” ดูเผินๆ คล้ายกับเสื้อคอกระเช้าแต่จะต่างกันตรงการจับจีบที่คอเสื้อ เป็นเสื้อที่สำหรับใส่อยู่กับบ้าน
ติดกับกวงเฮือน เป็นการจำลองชานบ้านที่ยกพื้นขึ้นมาเล็กน้อย เป็นพื้นที่สำหรับรับแขก จัดแสดงตั่งไม้มีพานเชี่ยนหมากทองเหลืองวางอยู่ด้านบน ฝาผนังด้านข้างประดับซอและแคน เครื่องดนตรีที่ใช้ในงานประเพณีรื่นเริงของคนพวน
ถัดมาเป็นส่วนจัดแสดงครัวไฟ นำเสนอครัวไฟแบบดั้งเดิมที่มีก้อนเส้าเตาไฟ และเครื่องใช้ในครัวที่จัดวางอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ อาทิ หม้อดินเผา อ้อมหม้อ(ที่รองก้นหม้อที่จากฟางข้าวม้วนเป็นทรงกลม) ครก โม่แป้ง ไห กระติบ ถ้วยชามสำรับ กระจาด ตระกร้า บริเวณเดียวกันจัดแสดงเครื่องมือหาปลา อาทิ ไซ ข้อง ที่ดักปลาไหล และเครื่องใช้อื่นๆ ได้แก่ ถังตวงข้าว กบไสไม้
พื้นที่โถงกลาง นำเสนอป้ายนิทรรศการที่อธิบายวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนพวน ได้แก่ ประเพณีสำคัญของพวน อาทิ กำฟ้าในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ที่ปฏิบัติสืบกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นงานบุญเพื่อรำลึกถึงบุญคุณฟ้าฝนที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ในการทำการเกษตรที่ต้องพึ่งธรรมชาติเป็นสำคัญ อาจารย์นริศ สืบโถพงษ์ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลโคกกะเทียม ขยายความให้เราฟังเกี่ยวกับกำฟ้าว่า คำว่า “กำ” หมายถึงนับถือ โดยก่อนจะขึ้นเดือน 3 ชาวบ้านจะสังเกตฟ้าร้อง เพื่อเป็นการทำนายความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร
“ก็จะคอยถามคนหูตึง ว่าได้ยินเสียงฟ้าร้องไหม เสียงฟ้าร้องตรงไหน ถ้าฟ้าร้องทิศใต้จะอดเกลือ ก็หมายถึงว่าฝนจะชุก มีน้ำก็ทำนาเกลือไม่ได้ไง ถ้าร้องทิศเหนือจะอดข้าว หมายความว่ามันจะแล้ง ถ้าร้องทางทิศตะวันตกจะเอาจก(จอบ)มาทำหอก หมายถึงไม่ได้ทำการเกษตรกันละ มีแต่รบราฆ่าฟันกัน ร้องทางทิศตะวันออกเอาหอกมาทำจก คือไม่มีรบราฆ่าฟัน มีแต่ทำมาหากินกัน ฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นข้อสังเกตของคนโบราณ เขาจะทำนาย”
นอกจากนี้ยังมีแผ่นป้ายอธิบายอีกหลายเรื่อง ทั้งการสู่ขวัญแบบพวนที่ทำได้หลายโอกาส เช่น สู่ขวัญแต่งงาน หญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด อาหารพวน อาทิ ปลาร้า หมกหน่อไม้ หลามมะเขือ ขนมแหนบ/หนาบสาลี การแต่งกายแบบดั้งเดิมของคนพวน ผู้หญิงสวมเสื้อจีบรอบอกหรือมะกะแหล่ง หากไปวัดจะห่มสไบเฉียง นุ่งซิ่นมัดหมี่ ส่วนผู้ชายนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อหม้อฮ้อม หมอลำพวนที่เป็นการขับร้องที่มีแคนเป็นดนตรีคลอกับเสียงขับร้องที่เป็นกลอนมีท่วงทำนองคร่ำครวญ อ่อนหวาน ไม่เร่งเร้า ภาษาพวนที่มีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์คือ เสียงสระไอในภาษาไทย คนพวนจะออกเสียงเป็นสระเออ เช่น ไปไหน-ไปกะเลอ แกงน้ำใส-น้ำเสอ สถานที่สำคัญได้แก่ ศาลเจ้าพ่อสมศรี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ เซ่นไหว้กันปีละ 2 อาจารย์นริศ สืบโถพงษ์ และคุณตาเสน่ห์ ประกอบจิต เล่าเพิ่มเติมว่า
“ขึ้น 6 ค่ำเดือน 6 ก่อนจะทำไร่ทำนา เป็นการบนบานศาลกล่าวขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลจะได้ทำบุญทำไร่ทำนากัน อีกครั้งคือขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 เราทำไร่ทำนาแล้ว ข้าวพอจะได้กินแล้วก็เอาไปทำข้าวเม่า เอาไปเลี้ยงเจ้าพ่อไง เหมือนไปบอกเจ้าพ่อว่า เจ้าพ่อ ลูกหลานก็ทำไร่ทำนา ได้ผลผลิตก็เอาไปเลี้ยงตอบแทนท่านอย่างดี ทำต่อเนื่องทุกปี”
ในวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ได้พบกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ทั้งหมอจ้ำ(หมอทำพิธี) หมอลำพวน แม่บ้านที่มีฝีมือในการทำอาหารแบบพวน ฯลฯ ที่มารวมตัวกันบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนพวนบ้านโคกกะเทียม
“เดือนสามคล้อย เจ้าหัวคอยบุญข้าวจี่
ข้าวจี่บ่ได้เส่อน้ำอ้อยจั่วน้อยอย่าเช็ดน้ำตา
ยามมื้อเช้าได้ฮ่วมพางายยามมื้อสายได้ฮ่วมพาข้าว
ยามมื้อแลงคล้อยซอยวอยเค้อจี่ค่ำ
พอตะเง็นตกต่ำคล้อยคอยน้องฮ่วมพาแลง นะเจ้าเอย” (ลำพวนพาแลง)
คุณยายบัวชุม ไกรแก้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นหมอลำพวนคนสุดท้ายของบ้านโคกกะเทียม ท่านกรุณาลำพวนพาแลงให้พวกเราฟัง แม้อายุจะ 79 ปีแล้วก็ตาม แต่น้ำเสียงยังใสกังวาน และบอกอย่างภูมิใจว่ากำลังส่งต่อภูมิปัญญาลำพวนให้กับคนรุ่นต่อมาด้วย
คู่ชีวิตคุณยายบัวชุม ยังเป็นหมอแคนที่แสดงคู่กันมาโดยตลอด ปัจจุบันท่านมีปัญหาเรื่องสุขภาพทำให้ไม่ได้เป่าแคนเหมือนแต่ก่อน จำต้องอาศัยหมอแคนคนนอกเข้ามาช่วยเป่า ซึ่งน่ายินดีที่หมอแคนท่านนี้ได้เรียนรู้ลายแคนแบบคนพวนจากสามีของคุณยายบัวชุมมาแล้ว
การทำความรู้จักประเพณีวัฒนธรรมของคนไทยพวนบ้านโคกกะเทียม ผ่านมาการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อาจเป็นการทำความรู้จักแบบกระชับและใช้เวลาสั้นๆ หากสนใจเพิ่มเติมสามารถติดต่อพิพิธภัณฑ์ล่วงหน้าเพื่อเรียนรู้วิถีชาวพวนอย่างใกล้ชิดในแง่มุมอื่นๆ ในรูปแบบของการท่องเที่ยวชชุมชน ผ่านการทำกิจกรรมการเรียนรู้ตามบ้านของปราชญ์ชุมชน อาทิ การสาธิตทำอาหารท้องถิ่นพวน เช่น หมกหน่อไม้ แหนบสาลี และงานหัตถกรรม จำพวกงานจักสาน และการประดิษฐ์ดอกไม้จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนโคกกะเทียม
พื้นเพคนพวนโคกกระเทียมและต้นธารงานวัฒนธรรม
การสำรวจในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากอาจารย์ทัศนัย เกิดผล และคุณพิกุลทอง ศรีแสงอ่อน ในการถ่ายทอดเรื่องราวของชาวพวน ตำบลโคกกะเทียม จังหวัดลพบุรี อาจารย์ทัศนัยเริ่มต้นให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตนเองที่ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญในวัย 67 ปี ปู่ย่าและพ่อเป็นคนพวน ส่วนแม่เป็นคนไทย และกล่าวถึงความเป็นมาของคนพวนที่อพยพมาตามลำน้ำลพบุรี และมาขึ้นบกที่พรหมบุรี ก่อนที่จะกระจัดกระจายไปในบ้านหมี่ บ้านทราย ของจังหวัดลพบุรี
สำหรับกลุ่มคนพวนที่มาถึงบ้านโคกกะเทียมนั้น เดินทางมาตามถนนหลักจนถึงอำเภอเมืองลพบุรี ป้ายนิทรรศการหนึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ระบุถึงการอพยพจากเชียงวางสู่โคกกะเทียมเมื่อ พ.ศ. 2378 (สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) บริเวณนี้พบต้นกะเทียม ซึ่งเป็นชื่อเรียกพื้นบ้านของต้นพลับพลึง อาจารย์ทัศนัยกล่าวถึงหลักฐานสำคัญของชุมชน
ลองดูได้จากโบสถ์เก่าของวัดโคกกะเทียม ที่มีรูปแบบของการใช้แท่งหินเป็นพัทสีม ซึ่งในปัจจุบันหลงพัทธสีมาดั้งเดิมเพียงสององค์เท่านั้น และที่สำคัญคือ อิฐดินเผา คนพวนเผาอิฐเอง ใช้สำหรับการสร้างโบสถ์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันท่านบูรณะ จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากแบบดั้งเดิมไปมาก
การเคลื่อนย้ายของชาวพวนจากเชียงขวางสู่จังหวัดลพบุรีในครั้งนั้น ทำให้มีชาวไทยพวนที่ตั้งถิ่นฐานใน 3 หมู่บ้านในตำบลโคกกะเทียม จากทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 5 บางส่วนที่เป็นชาวไทยพวน ซึ่ง “คงปฏิบัติประเพณีสำคัญของพวนอย่างเหนียวแน่น ดังเช่นพิธีกำฟ้าที่ปฏิบัติสืบกันมาโดยไม่ขาด ด้วยเหตุที่คนพวนมีอาชีพการเกษตร จึงต้องบูชาฟ้าให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนี้ ยังมีการทำบุญกลางบ้านก่อนเดือนหก และประเพณีสารทเพื่อทำบุญให้กับบรรพบุรุษ” อาจารย์บอกเล่าภาพของชุมชนไทยพวนอย่างย่นย่อ
เมื่อผู้สำรวจสอบถามถึงเหตุผลที่อาจารย์ทัศนัยสนใจและพัฒนากิจกรรมทางวัฒนธรรม อาจารย์ให้คำตอบว่า “ในระหว่างที่รับราชการ ตนเองต้องเดินทางไปทำงานในต่างจังหวัดพร้อมสามี ซึ่งเคยรับราชการทหาร จนเมื่อ 20 ปีที่แล้วหรือราว พ.ศ. 2542 ต้องกลับมาดูแลแม่” ในช่วงเวลานั้น ทั้งอาจารย์และสามีเห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งนำมาสู่ปัญหาทางสังคมอื่น ๆ “พอกลับมาปลูกบ้านใหม่ เห็นเด็กส่งยาเสพติดอยู่หน้าบ้าน” จึงตัดสินใจกับสามีในการพัฒนากิจกรรม โดยเปิดบ้านตนเองเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรม “ดึงเวลาว่างของเด็กให้มาร่วมทำกิจกรรม” เช่น ดนตรีไทยและกระบี่กระบอง จึงกลายเป็นชมรมอนุรักษ์มรดกไทย นอกเหนือจากการจ้างวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้แล้ว อาจารย์และสามีใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการทำป้ายไวนิล เพื่อแสดงให้เห็นว่า หมู่บ้านของเราต่อต้านยาเสพติด อาจารย์เคยได้รับรางวัล “นักรบพลังแผ่นดิน”
ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ถึง พ.ศ. 2556 กิจกรรมต่าง ๆ นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งการใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวและเงินบริจาค และมีโอกาสนำเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมแสดงในงานสำคัญของจังหวัด “เด็กรุ่นแรก ๆ มีคุณภาพมาก รักพวกพ้อง และร่วมกิจกรรมอื่นในการพัฒนาชุมชน” และด้วยการนำเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมชมรม “ออกงาน” อยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้มีผู้สนใจสนับสนุนกิจกรรมของชมรมมากขึ้น โดยมีหน่วยงานราชการเสนองบประมาณยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวจังหวัด “ใช้เวลาเพียงสามวันในการพัฒนาแผนในช่วงปลายปีงบประมาณ 2555 และได้งบประมาณสำหรับการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในปีงบประมาณ 2556 จนสามารถเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2556”
แต่ในระยะนั้น ได้งบประมาณเพื่อสร้างอาคารเท่านั้น แต่รูปแบบและเนื้อหาการจัดแสดงดังที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นการทำงานแบบค่อยสะสม “หลังจากเปิดพิพิธภัณฑ์ได้สองสามปี กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดสรรงบประมาณมาให้จำนวนแปดหมื่นบาท และการสนับสนุนของผู้บริจาค จึงนำมาสู่การพัฒนาห้องจัดแสดงต่าง ๆ และข้าวของที่นำเสนอในปัจจุบัน
ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวน
อาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในภายวัดโคกกะเทียม จากซุ้มประตูวัด จะพบอาคารชั้นเดียวที่มีการยกสูงจากพื้นมีบันไดขึ้นอยู่หน้าอาคาร และเป็นที่นั่งอยู่ด้านข้างก่อนจะเข้าสู่อาคาร พื้นที่จัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ บริเวณกลางอาคารเป็นบริเวณจัดแสดงป้ายนิทรรศการสามารถเคลื่อนที่ได้ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวความเป็นมาของชาวไทยพวน ชาวไทยพวนโคกกะเทียม สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งยึดหน่วยจิตใจของชาวบ้าน ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อสมศรีที่สร้างแบบศาลเจ้าจีน ภาษา และประเพณีสำคัญ เช่น กำฟ้า สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญแต่งงาน และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ปฏิบัติแล้ว
สำหรับการแต่งกาย เป็นการจัดแสดงด้วยหุ่นสำเร็จรูปใส่ชุดดั้งเดิมทั้งชายและหญิง “การแต่งกายของหญิงพวน จะนุ่งซิ่นและสวมเสื้อคล้ายกับเสื้อสายเดี่ยวที่เรียกว่า ‘เสื้อมะกะแหล่ง’ แตกต่างจากเสื้อคอกระเช้า นอกจากนี้ยังมีผ้าซิ่น เช่น ผ้ามัดหมี่จากบ้านหมี่ และของโคกกะเทียม แต่ปัจจุบัน ไม่มีคนทอแล้ว” อาจารย์ทัศนัยยกตัวอย่างเครื่องแต่งกาย ในแผ่นพับของหมู่บ้านวัฒนธรรมไทยพวน บ้านโคกกะเทียมระบุไว้ว่า
ผู้หญิงชาวไทยพวน ใส่เสื้ออยู่กับบ้านเป็นเสื้อจีบรอบอกแบบคอกระเช้า เวลาไปวัดจะห่มสไบเฉียง หญิงสาวที่ไม่แต่งงานจะนุ่งผ้าซิ่นทอมัดหมี่มีชายต่อตีนซิ่น ถ้าแต่งงานแล้ว จะนุ่งซิ่นไม่มีชายซิ่น มีเสื้อคอกลมแขนกระบอกใส่เป็นเสื้อนอกเวลาไปงานทำบุญและงานพิธี ผู้ชายชาวไทยพวน จะนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อม่อห้อม ผ้าขาวม้าเคียนเอว สัมยโบราณนุ่งผ้าโจงกระเบน ถ้าไปงานพิธีหรืองานมงคลจะใส่เสื้อสีขาว เวลาไปทำไร่ทำนาจะนุ่งชุดสีดำหรือสีน้ำตาล ที่ย้อมด้วยลูกมะเกลือ
จากพื้นที่ส่วนกลาง ทางขวามือเมื่อผู้ชมหันหน้าเข้าสู่บอร์ด เป็นบริเวณที่มีการยกพื้นให้เห็นเป็นครัวไฟจำลอง และจัดแสดงใกล้กับเครื่องมือทำมาหากิน ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับทำนา เครื่องมือในการทำประมง สำหรับครัวไฟจำลอง อาจารย์ทัศนัยให้คำอธิบาย “บริเวณนี้เรียกว่า กวงครัว มีการประกอบพิธี ‘ขึ้นแม่เตาไฟ’ ก่อนการตั้งเตาไฟ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้ประกอบพิธี” อาจารย์กล่าวว่าอุปกรณ์ครัวต่าง ๆ ทั้งวัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ และไม้เนื้อแข็งเหล่านี้ ได้รับมาจากการบริจาคทั้งสิ้น
ระหว่างที่นำชมส่วนครัว อาจารย์ทัศนัยกล่าวถึงเอกลักษณ์อาหารของชาวไทยพวนที่มีนักวิชาการวัฒนธรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพกษัตรีย์ เข้ามาศึกษาและเก็บข้อมูลด้วย “หมกหนอไม้และแหนบสาลี เป็นอาหารที่เรานำไปสาธิตอยู่บ่อยครั้งในงานมหกรรมชาติพันธุ์” ใกล้กันนั้น มีชั้นวางเอกสารงานวิจัยที่จัดทำโดยครูของโรงเรียนบ้านโคกกะเทียม สำเนารายงานจากนักศึกษา และเอกสารประกอบการจัดหลักสูตรท้องถิ่น
จากพื้นที่ส่วนกลางที่แสดงป้ายนิทรรศการ-เครื่องแต่งกาย และครัวจำลอง มาสู่ส่วนสุดท้ายของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ มุมหนึ่งจัดทำเป็นชานเรือนที่มีการตั้งโต๊ะขนาดเล็กและจัดเชี่ยนหมากไว้ตรงกลาง และห้องหับที่กันไว้เป็นสัดส่วน อาจารย์ทัศนัยให้ข้อมูลว่า “ห้องสำคัญนี้สำหรับการอยู่อาศัยของลูกสาวและสถานที่สำหรับเก็บสมบัติสำคัญของตระกูล และเรียกในภาษาพวนว่า ‘กวงเฮือน’ ภายในจะจัดตู้พระธรรมที่มีหนังสือโบราณ โดยไม่มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชา ส่วนที่นอนปกติแล้วเป็นการนอนกับพื้น แต่ที่นำเสนอนี้เป็นเบาะบาง ๆ ที่มีผ้าปู และมีโต๊ะเครื่องแป้งเป็นคันฉ่องเล็ก ๆ”
ภาพในวันข้างหน้า
ในช่วงท้าย อาจารย์ทัศนัยกล่าวถึงความพยายามในการพัฒนามัคคุเทศก์น้อย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ และเป็นโอกาสนให้นักเรียนสามารถหารายได้ นอกเหนือจากกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อยแล้ว ยังมีอาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์มาร่วมพัฒนาชุดการแสดงให้เป็นเอกลักษณ์ เช่น รำฟ้อนพวนเชียงขวาง และความพยายามในการฟื้นฟู “หมอลำพวน” ซึ่งเป็นการขับร้องประกอบแคตามท่วงทำนองและลีลาในภาษาพวน แต่คงมีเฉพาะสมาชิกผู้อาวุโสเท่านั้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะมีโอกาสแสดงนาฏศิลป์เหล่านี้ในงานของจังหวัด เช่น งานวังนารายณ์ เป็นต้น
สำหรับโครงการในอนาคต อาจารย์กล่าวถึงความต้องการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว “จากท่าวุ้ง ถ้ำตะโก เขาสมอคอน มายังโคกกะเทียม และเชื่อมไปยังศูนย์การท่องเที่ยวของหน่วยทหารปืนใหญ่ ภายในมีบ้านที่เคยเป็นสถานที่พำนักของพลเอกพระยาพหลพลพยุหะเสนา พิพิธภัณฑ์กิจการทหาร และบ้านจอมพล ป.” ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นเท่าที่กำลังของอาจารย์และผู้จะมารับดำเนินการพิพิธภัณฑ์นั่นคือ อาจารย์พิกุลทอง ศรีแสงอ่อน และสมาชิกของชมรวมอนุรักษ์มรดกไทย.
รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกกะเทียม
ชาวไทยพวนบ้านโคกกะเทียมได้ร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เพื่อจัดเก็บรวบรวมเครื่องใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ไว้ให้เยาวชนและประชาชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ อนึ่งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวน บ้านโคกกะเทียมและสภาวัฒนธรรมตำบลโคกกะเทียมได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการถ่ายทอด สืบทอด เพื่อต่อยอดมรดกภูมิปัญญาไทยพวนให้คงอยู่ เช่น ภูมิปัญญาในการถนอมอาหารพื้นบ้านของชาวพวน การแต่งกายชาย หญิงที่เป็นเอกลักษณ์ มีภาษาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาตลอดข้อมูลจาก: กรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
http://info.dla.go.th/public/travel.do?cmd=goDetail&id=617169&random=1510493529461
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ชาติพันธุ์ ไทยพวน ขวดน้ำมะเน็ด
พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลอานันทมหิดล
จ. ลพบุรี
พิพิธภัณฑสถานชุมชนโป่งมะนาว
จ. ลพบุรี
พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านทราย
จ. ลพบุรี