ศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวบูรณาการเอกลักษณ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ชุมชนบางเหนียว


ที่อยู่:
โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว เลขที่ 450/2 ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต รหัสไปรษณีย์ 83000
โทรศัพท์:
076-211463
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ 9.00 - 15.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 9.30 - 15.00 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2555
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ชุมชนบางเหนียว

โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว เดิมชื่อโรงเรียนบางเหนียว ก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2460 ปัจจุบันอยู่ภายในสังกัดเทศบาล โรงเรียนมีอายุ 100 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว บูรณาการเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชนบางเหนียว เริ่มต้นราวปี พ.ศ. 2555 เมื่อโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียวเป็นหนึ่งในโรงเรียนจำนวน 80 โรง ที่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวบูรณาการเอกลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ชุมชนบางเหนียวและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

การจัดทำพิพิธภัณฑ์ได้รับความร่วมมือทั้งด้านข้อมูล การจัดแสดง งบประมาณ จากองค์การเครือข่าย เช่น เทศบาลนครภูเก็ต สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นักวิชาการและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นต้นโดยมีเป้าหมายที่ต้องการทำให้โรเงรียนมีแหล่งอนุรักษ์ข้อมูลหลักฐานประวัติศาสตร์ แสดงถึงวิถีชีวิตระบบเศรษฐกิจสังคมของชุมชนบางเหนียว และความเป็นท้องถิ่นภูเก็ตเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญในชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยวแก่จังหวัดภูเก็ต สร้างงานอาชีพบริการแก่นักเรียนและคนในชุมชน เป็นแหล่งเพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวแก่นักเรียนและคนในชุมชน สร้างเจตคติที่ดีต่อการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนในการประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว และสร้างความภาคภูมิใจแก่เด็ก เยาวชน และคนในท้องถิ่น ให้มีจิตสำนักรักหวงแหนท้องถิ่นมากขึ้น

พิพิธภัณฑ์ใช้อาคารเรียนหลังเก่าเป็นพื้นที่จัดแสดง แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 8 ห้อง เนื้อหาที่จัดแสดงทั้งหมดได้มาจากการค้นคว้าและเก็บข้อมูลจากคนในท้องถิ่น  การจัดแสดงส่วนใหญ่คล้ายเป็นบอร์ดนิทรรศการ ที่เน้นการให้ข้อมูล ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม

ห้องที่ 1 อะหนึ่งหยิน

แนะนำขอบเขตของชุมชนบางเหนียว แสดงแผนที่ของชุมชน ในอดีตราชการแบ่งชุมชนบางเหนียวออกเป็น 2 ส่วน คือบางเหนียวเหนือ(เต้งบางเหนียว) ได้แก่ ชุมชนท่าหลิ้งชัน ชุมชนถ่อลุ้น ชุมชนก่อจั่นถาว กับบางเหนียวใต้(เอ่บางเหนียว) ได้แก่ ชุมชนตั่วบ่าง ชุมชนไท้โก้ ชุมชนจับเส้ ชุมชนสวนผัก ชุมชนโก่ปี้หึง  นอกจากนี้มีจอ LED แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นดินและพื้นน้ำทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีต

และมีนิทรรศการของด่านภาษีหรือ “จั๊บเส้” และเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำซึ่งถือว่าเป็นประตูเมืองของภูเก็ตที่ชาวต่างชาติทุกคนจะต้องเข้ามาที่บางเหนียว เพื่อรายงานตัวก่อนเข้าเมืองนอกจากนี้ยังมี นิทรรศการไข่แดง(อะนึงหยิน)เป็นอาหารท้องถิ่นที่แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการประกอบอาชีพและการดำรงชีพที่ประหยัด“อะ” หมายถึงเป็ด “หนึ่ง” หมายถึงไข่ “หยิน” หมายถึงไข่แดง เป็นการนำไข่แดงเป็ดมาใส่เกลือถนอมอาหาร เนื่องจากไข่ขาวได้ถูกนำมาใช้ย้อมอวน ชาวบ้านจะตากอวนที่ย้อมไว้ทั่วชุมชน อันเป็นที่มาของชื่อ “บางเหนียว” ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า “บ่างเหลียว” ที่แปลว่า ตากแห ตากอวน 

ห้องที่ 2 ถิ่นฐานบ้านบางเหนียว

มีการฉายวิดีทัศน์เพื่อนำเสนอการเดินทางของบรรพบุรุษที่เดินทางด้วยความยากลำบากจากเมืองจีนต้องประสบปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในระหว่างการเดินทางและได้นำเอาวัฒนธรรมจากประเทศต่างๆที่แวะผ่านมาสร้างเป็นอัตลักษณ์เป็นลักษณะเฉพาะของชาวภูเก็ตนอกจากนี้มีการจัดแสดงหุ่นจำลองของชาวประมงที่แสดงการนำอวนจับปลามาเคลือบด้วยไข่ขาวเพื่อทำให้อวนมีความคงทนมากยิ่งขึ้นและยังมีการซ่อมอวน การหาบปลาขายในหมู่บ้าน

ห้องที่ 3 เลิศรสอาหารท้องถิ่น

แสดงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน จำลองบรรยากาศการตกแต่งคล้ายบ้านของชาวบางเหนียว ที่ตีฝาบ้านด้วยไม้ มีบ่อน้ำ การกรองน้ำเพื่อไว้ใช้ดื่มกิน  จำลองครัวไฟ ตู้กับข้าว โต๊ะกินข้าวที่จัดแสดงอาหารของคนบางเหนียวพร้อมบอกวัตถุดิบและขั้นตอนการทำ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาหารจีนที่ผสมกับความเป็นท้องถิ่น อาทิ หมี่คั่ว คั่วบังก๊วน หมูฮ้อง ถึ๊งหมี่สั่ว

ห้องที่ 4 เรียนรู้วิถีชุมชน (ชั้นวางหุ่นจำลองชุมชนบางเหนียว หุ่นจำลองเหมืองแร่)

ชาวบางเหนียวในยุคแรกๆ ส่วนใหญ่จะยากจนต้องทำงานหนักประเภทใช้แรงงาน ห้องนี้แสดงให้เห็นถึงการประกอบอาชีพด้านต่างๆ เช่น รับจ้างแบกของขึ้นเรือขนสินค้าจากเรือใหญ่มาที่ฝั่ง ปลูกผัก ทำเหมือง ถีบรถสามล้อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ และจัดแสดง ตัวอย่างจำลอง(diorama) เหมืองหาบและเหมืองฉีดรวมถึงเรือขุดแร่ของบริษัทไทยชาโก้ที่ได้สร้างอนุสรณ์เรือขุดตั้งไว้ที่สะพานหินปัจจุบัน

ห้องที่ 5 รื่นรมย์แหล่งบันเทิง

นำเสนอแหล่งบันเทิงของชาวบางเหนียวหลังจากการที่งานหนัก อย่างน้อย 6 ประเภท คือ โรงงิ้วโรงลิเก หนังกลางแปลง โรงรำวง เล่นไพ่ และการสูบฝิ่นนำเสนอในรูปแบบภาพจำลองสามมิติ(ghost box)

ห้องที่ 6-7พลังศรัทธา (ศาเจ้าพ้อต่อก๊ง,ศาลเจ้าบางเหนียว)

ชุมชนชาวฮกเกี้ยนได้ร่วมกันก่อสร้างศาลเจ้าปุ้นเถ่าก๊ง ราวปี พ.ศ. 2423 ต่อมาได้มีการอัญเชิญพระแม่กวนอิมมาสถิตไว้ และเริ่มจัดพิธีพ้อต่อโดยมีองค์พ้อต่อก๊งเป็นประธานอ๊าม มีหน้าที่คอยดูวิญญาณผู้หิวโหยได้มากินของไหว้ในพิธี และได้เรียกเป็นศาลเจ้าพ้อต่อก๊ง ซึ่งมีการจัดงานสักการะเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบันในเดือนกันยายน
ชาวบางเหนียวนับถือพ้อต่อก๊งซึ่งเป็นเทพยมบาลเนื่องจากการงานอาชีพต้องเสี่ยงกับความตายทุกปีมีงานประเพณีผ้อต่อ เพื่อสักการะองค์เทพด้วยเต่าสีแดง และจัดถวายอาหารเครื่องดื่มที่สวยงามและยิ่งใหญ่ มีบอร์ดนิทรรศการเล่าเรื่องประวัติขององค์เทพและเซียมซีทำนายอนาคต

ชั้นวางหุ่นจำลองขบวนแห่ประเพณีกินผัก,อ๊ามบางเหนียว

ชาวบางเหนียวได้รักษาประเพณีกินผักหรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อกินเจมามากกว่าหนึ่งร้อยปีถือเป็นประเพณีที่สำคัญมาก ภายในห้องมีการนำเสนอพิธีกรรมที่สำคัญต่างๆด้วยหุ่นจำลอง เช่น พิธีลุยไฟ พิธีปีนบันไดมีด และขบวนแห่ที่สวยงามมีการแสดงวีดีโอสามมิติของม้าทรงจากพิธีอิ้วเก้ง อธิบายความหมายของขบวนเช่น ธงหรือสัญลักษณ์มือต่างๆ มีแผนผังของขบวน ความสำคัญก่อนหลังของม้าทรงไท้เปี๋ย พี่เลี้ยงผู้ติดตาม จนถึงขบวนของกิ๊วอ๋อง

ห้องที่ 8 วิวัฒนาการชุมชนบางเหนียว (อุโมงค์รูปภาพ 3Generation)

ภายในอุโมงค์มีภาพเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อต้องการให้เห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บรรพบุรุษรุ่นแรก ห้องอุโมงค์นี้มีกระจกทั้งสองด้านเพื่อต้องการสะท้อนภาพในอดีตและอนาคตเป็นการย้ำเตือนให้ทุกคนได้รู้จักรักษาประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่ตลอดไป
พิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น การอบรบมัคคกเทศก์น้อย เพื่อนำนักท่องเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน  หรือการร่วมกับศาลเจ้าพ้อต่อก๊งในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่นสู่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในช่วงงานเทศกาลพ้อต่อ

ปณิตา สระวาสี เขียน

ข้อมูลจาก:สำรวจภาคสนามวันที่ 12 มิถุนายน 2561
โรงเรียนเทศบาลบางเหนียว,2560. 100ปี บางเหนียว นวัตกรรมสร้างสรรค์ ร้อยเรียงความทรงจำ สู่ศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว บูรณาการเอกลักษณ์ท้องถิ่น.
https://www.bangneaw.net/
 
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ: