ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไท-ยวน บ้านยวน นครจันทึก


ที่อยู่:
วัดใหญ่สีคิ้ว เลขที่ 221 อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา 30140
โทรศัพท์:
080 334 0422 ติดต่ออาจารย์สุธัญญา
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรณีที่ต้องการมัคคุเทศก์ โปรดติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2558
ของเด่น:
เรือนไท-ยวน, ภาพเก่าชุมชนนครจันทึก, ผ้าทอพื้นบ้าน, อาหารไท-ยวน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 02 สิงหาคม 2561

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไท-ยวน บ้านยวน นครจันทึก

ในเว็บไซต์ของศูนย์วัฒนธรรมไท-ยวน นครจันทึกระบุว่า ไท-ยวน ตามตำนานมาจากคำว่า ‘ยูน’หรือ ‘โยนก’ เป็นกลุ่มใหญ่ที่อยู่ทางภาคเหนือของไทย ตั้งบ้านเรือนในลุ่มน้ำโของตอนใต้ หรืออำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน ต่อมา พ.ศ.2347พม่ายึดครองเชียงแสน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดเกล้าให้หลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน ภายหลังรวบรวมผู้คนจำนวนหนึ่งลงมายังกรุงเทพฯ และตั้งบ้านเรือนในจังหวัดราชบุรี สระบุรี ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องมีการตั้งกองโคเพื่อเป็นสัตว์พาหนะขนเสบียงยามสงคราม โดยมีกองโคใหญ่ที่สุดใกล้ลำน้ำ “ลำตะคอง” จนมีการสร้างบ้านแปงเมืองกลุ่มชาวไท-ยวนจึงกระจายในหมู่บ้านต่าง ๆ รวมถึงบริเวณอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน

ชาวชุมชนไท-ยวนได้คิดริเริ่มจัดหาสถานที่จัดแสดงนิทรรศการของชาวไท-ยวนอย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมปรึกษาหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว นายปรีชา จันทรรวงทอง ท่านพระครูวีนะธรรมรุจิ เจ้าอาวาสวัดใหญ่สีคิ้ว คณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาจารย์นราธิป ทับทัน มหาวิทยาลัยราชมงคลภาคตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และโรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา”

ในป้ายคำอธิบายที่มาของศูนย์วัฒนธรรมไท-ยวน นครจันทึก แห่งนี้ ยังได้ระบุว่าถึงการลงมติให้มีสร้างบ้านไม้แบบเรือนยวนและมีการทอดผ้าป่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558จนมีการเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการเมือวันที่ 14เมษายน 2558และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช เมื่อวันที่ 9กันยายน 2559 อาจารย์สุธัญญา สิทธิกุลเกียรติ หรือ “ครูอ๋อย” ให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานในศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ กระบวนการทำงานในการสืบค้นเรื่องราวของไท-ยวน นครจันทึก มีมาก่อนหน้านั้นหลายปี ด้วยมีนักวิชาการจากภายนอกสนใจศึกษาภาษาจากบทเทศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาษายวน จากนั้น มีคณะนักศึกษาจากสถาบันทั้งในและต่างพื้นที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี และเรือนพื้นถิ่น จนมาสู่การทำโครงการและจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแบบถาวรนี้

ครูอ๋อยให้คำอธิบายในเบื้องต้นเกี่ยวกับเรือนไท-ยวนดังที่ปรากฏนี้เป็นเรือนหลังใหญ่ ที่เรียกว่าเรือนพ่อแม่และลูกลาว เป็นบริเวณสำหรับที่นอนของพ่อแม่และลูกลาว ส่วนที่ต่อออกมาจากเรือนใหญ่ หรือ เติ๋น ระดับของพื้นต่ำกว่าเรือนของพ่อแม่ ด้านหน้าเป็นชานบันได กลางเรือนเป็นพื้นที่โล่ง โดยขนบแล้วเป็นบริเวณที่นอนของลูกชายและรับประทานอาหาร หรือรับรองผู้มาเยือน สำหรับศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ ใช้เป็นบริเวณที่จะแสดงเนื้อหาต่าง ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมไท-ยวน และบริเวณด้านหลังของเรือนเป็นห้องครัว

เมื่อเข้าสู่เรือนในส่วนกลางของเรือน ผนังทางขวามือของผู้ชมจะเป็นบอร์ดนิทรรศการกล่าวถึงความเป็นมาของศูนย์วัฒนธรรม และภาพขาวดำฉบับสำเนาบอกเล่าถึงสภาพของโบสถ์เดิมของวัดใหญ่สีคิ้ว งานบุญประเพณีต่าง ๆ รวมทั้งภาพของวิถีชีวิต ซึ่งครูอ๋อยให้คำอธิบายว่า ภาพจำนวนหนึ่งได้รับการบันทึกไว้โดยนายช่างต่างชาติที่เข้ามาสร้างถนนเมื่อ50-60ปีก่อน ส่วนที่นำเสนอเป็นวัตถุสำคัญ อันได้แก่ ผ้าทอ หมอนผาง และย่าม นำเสนอเอาไว้ในตู้กระจกไม้

ทุกบ้านทอผ้าไว้ใช้ ต้องมีตู้ใส่ผ้าห่อ ใส่หมอนที่ตัวเองเย็บมา ใส่ผ้าที่ตัวเองทอมา พอขึ้นเรือนมาก็เห็นเป็นตู้หลังใหญ่ อันนี้ เรียกหมอนผาง “สันแก้ว” คือกระจกเล็ก ๆ ประดับ บางส่วนเป็นของที่วัด ที่มีคนถวายวัด นี่คือผ้าโบราณ เรียกว่า ผ้าเสื่อ ลายจะเหมือนเสื่อ ถ้าเป็นผ้ามุกลายจะเป็นดอก ไม่เหมือนกัน แต่หัวผ้าใช้วิธีการจกเหมือนกัน ของแม่นี่ยกเป็นลายเสื่อเท่านี้ ไม่มีการทำดอก เขาเรียกขิด ถ้าจกจะเป็นด้ายหลายสี แต่ของเราเป็นขิด หัวผ้ามีชื่อ อันนี้เรียกลายผ้าตั้ง มะลิเลี้อย ฟันปลา หงส์ ช้าง ส่วนผ้านี้ ลายที่ใช้กับผ้าห่มเสื่อ ม้าใหญ่ จะมีหงส์อยู่หลังม้า มีคุณค่ามากกว่าม้าธรรมดา อันนี้ม้าธรรมดาม้าตัวเล็ก เหมือนกับเป็นการแสดงความเก่งของคนทอต่างกันอย่างไร

จากตู้กระจกดังกล่าวเป็นส่วนของการนำเสนอการแต่งกายด้วยหุ่นชายและหญิง “ผู้หญิงนุ่งซิ่นยวน ซิ่นเป็นลายขวาง มีตรงนี้เรียกว่าคิ้ว มีเอวแดง แขนเสื้อสามส่วน มีกระดุมผ่าหน้า เป็นเสื้อเข้ารูป ผ้าเบี่ยง ส่วนผู้ชายสวมเสื้อกระดุมผ่าหน้า เป็นขาสามส่วน ใส่แบบนี้แล้วดึงลง เรียกว่า “ลดป๊ก” ผ้าขาวม้าเป็นลายคนยวน ตาคีบ มีสองเส้นประกบกัน” ใกล้บริเวณดังกล่าวมีตู้กระจกอีก 2หลังที่นำเสนอสิ่งสะสมของวัดประกอบด้วยเครื่องทองเหลืองและเครื่องกระเบื้อง ถัดไปเป็นตู้เก็บผลงานต่าง ๆ ที่บุคคลภายนอกเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนและพัฒนาเป็นวีดิทัศน์และรายงานการวิจัย

ส่วนด้านหลังเป็นครัวไฟ ที่มีการจัดแสดงเครื่องมือและอุปกรณ์การครัว และนำเสนอภาพอาหารคาวและหวานสำคัญ ๆ ของชุมชน “นักศึกษาช่วยกันหาภาพอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ตำมะหนุน ซูซี ห่อหมกหน่อไม้ กระยาสารท อาหารหลัก ๆ ยังมีแกงหยวก น้ำพริกอ่อง ส่วนอาหารหวานได้แก่ ข้าวเปียง ข้าวแคบ ข้าวแต๋น ข้าวโป๋ง  พวกนี้กินในช่วงสงกรานต์” ครูอ๋อยให้คำอธิบายและยังกล่าวด้วยว่า หากเป็นเรือนที่ใช้อยู่เดิมจะมีบันไดขนาดเล็ก และมีบริเวณวางโอ่งไว้สำหรับเก็บน้ำใช้ ใช้ซักล้างหรือดื่ม แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ จึงมีเพียงส่วนที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับครัวไฟเท่าที่จัดแสดงอยู่

ในส่วนเรือนหลักนั้น หน้าห้องนอนเป็นมุมที่นำเสนอเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่9 เนื่องจากศูนย์วัฒนธรรมได้รับการกำหนดเป็นศูนย์เฉลิมราช และเข้าสู่ห้องนอนที่มีผนังกันไว้อย่างเป็นสัดส่วน มีหน้าต่างอยู่สองด้าน แต่ครูอ๋อยให้ข้อมูลไว้ว่า

สมัยก่อน ห้องนอนจะมีช่องหน้าต่างเล็ก ๆ มีช่องเดียวเรียกว่า หน้าป่อง แต่อันนี้เป็นอีกรุ่นหนึ่ง จึงเรียกได้ว่าสมัยก่อน ภายในห้องนอนจริง ๆ จะทึบกว่านี้ สมัยก่อนให้ลูกผู้หญิงอยู่ และยังเป็นบริเวณบูชาผีปู่ย่าประจำตระกูล ไม่ใช่หิ้งใหญ่ แต่เป็นสัดส่วนที่รับรู้กันภายในครอบครัว เวลาไหว้ก็จะเข้ามานั่งกันในห้อง

ภายในจัดแสดงด้วยเตียงไม้ซึ่งได้รับบริจาคเมื่อศูนย์วัฒนธรรมเปิดและมีผู้ต้องการบริจาคเตียงไว้เป็นสมบัติของชุมชน ครูอ๋อยกล่าวว่า เดิมทีเป็นการนอนบนเสื่อ บนพื้น ไม่ใช่เตียงในลักษณะที่เห็น ใกล้กันนั้นเป็นโต๊ะเครื่องแป้งและกระจก ซึ่งเป็นโต๊ะเครื่องแป้งที่ใช้การนั่งพื้นส่องกระจกเวลาใช้งาน นอกจากนี้ บนผนังสองด้านยังจัดแสดงผ้าทอและย่าม

ใต้ถุนเรือนเป็นบริเวณที่เสนอวัฒนธรรมการทอผ้า โดยมีคุณป้าที่จะมานั่งทอผ้าอยู่เป็นประจำและยังทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับผู้มาเยือน รอบ ๆ นำเสนอนิทรรศการที่บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติของชุมชน ลักษณะทางวัฒนธรรม ประเพณี อาหารการกิน ป้ายและโมเดลจำลองเรือนพื้นถิ่นและโบสถ์จากโครงงานของนักศึกษาที่สนใจศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ครูอ๋อยไล่เรียงงานบุญประเพณีต่าง ๆ ภายในชุมชนไว้อย่างน่าสนใจ

สงกรานต์ เสร็จสงกรานต์ หมดหน้าสนุก หกค่ำเดือนหก เราไปเลี้ยงพ่อพญา [พญาสี่เคี้ยว ตำนานที่มาของอำเภอสีคิ้ว]แล้วพ่อก็จะบอกว่าปีนี้อยู่ดีสบายกันยังไง ที่นี่ ไม่มีเรื่องโหดร้ายอะไร พายุ ก็ไม่โหดร้ายอะไร น้ำท่วมก็ไม่ได้ท่วมมาก เราเชื่อว่าพ่อพญาคุ้มครอง หากมีลูกหลานเกิดก็จะไปบอกกัน ให้รับรู้ ...เก้าค่ำเดือนหก ต้องมีก่อพระทราย ก่อกลางบ้าน ก่อพระทราย สวดมนต์เย็น ตักบาตรเช้า

ช่วงนี้ ไปทำระหัดเรื่อย ๆ เพราะต่อไปเป็นฤดูฝน พอฝนมา ระหัดหมุน ใช้น้ำทำนาในช่วงเดือน 7, 8 พอมาเดือน 10 ก็ตรงกับสารทลาว ขึ้น15 ค่ำ เดือน 10 นำข้าวตอก มะพร้าว กวนกระยาสารท  เป็นการสาดให้พี่ให้น้อง ญาติ เพื่อน ก็จะมีการนำขนมไปแจกจ่าย ทำเป็นกระบุง ๆ ทำเป็นก้อนใส่กระบุง พอเสร็จกระยาสารท เดือนแปดเข้าพรรษา เย็นของวันเข้าพรรษา ประมาณห้าโมงเย็น มีการตักบาตรดอกไม้ เดือนสิบ แล้วก็ออกพรรษา มีการทอดกฐิน ช่วงทำบุญ มีอาหารสำคัญ “ซู่ซี แกงหยวก” แขกไปใครมาก็มากิน

แล้วก็เป็นเทศน์มหาชาติ บ้านเราเทศน์มหาชาติเดือนสิบสอง ตรงกับยี่เป็งเชียงใหม่ เราเป็นวัดเดียวที่ไม่เปลี่ยน มีการกวนน้ำนมข้าวยาคู ตอนนั้นข้าวกำลังออกรวง หากเราเอาข้าวมาตำ ก็จะได้น้ำขาว เรียกว่าน้ำนมข้าว เราก็มาตำกับใบเตย ทุกคนเกี่ยวข้าวบ้านตัวเองมารวมกันที่วัด แล้วก็มาสับ ตำ กองแล้วคนเป็นข้าวยาคูใส่กระทะใบบัว

นอกจากนี้ ยังมีประเพณีที่ทำได้ทุกเดือนตามแต่ละบ้านสะดวก เรียกว่า “ปอยข้าวสัง” เป็นการทำบุญใหญ่ ตานให้คนล่วงลับไปแล้ว มีการตั้งกองบุญ คนตายห้าคน ก็ไก่ห้าตัว ซื้อเครื่องไทยทาน สลีที่นอนก็ว่ากัน  ไม่ได้ทำทุกปี สี่ห้าปีทำที มีการสานพระเจ้าห้าพระองค์เพื่อส่งบุญไปให้คนตาย


ครูอ๋อยกล่าวถึงบทบาทของศูนย์วัฒนธรรมไท-ยวนที่ทำหน้าที่เผยแพร่เรื่องราวของชุมชน โดยเฉพาะเมื่อมีคณะดูงานที่สามารถใช้เวลาครึ่งวันหรือหนึ่งวัน ทางชุมชนจะจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม แบ่งออกเป็นฐานต่าง ๆ ชมการแสดง และกินข้าวในรูปแบบของขันโตก นอกจากนี้ ยังมีการจัดตลาดนัดทุกวันพฤหัสบดี เดิมทีนั้นตลาดนั้นจัดในวัด แต่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ไปอยู่ภายนอกวัด คนที่มาเยือนในวันที่มีตลาดนัดจะรู้จักกับอาหารพื้นถิ่นอีกด้วย
ในช่วงสุดท้ายของการสนทนา ผู้เขียนสอบถามถึงคำว่า “นครจันทึก” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของศูนย์วัฒนธรรมไท-ยวนแห่งนี้ ครูอ๋อยให้คำอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ

“จันทึก” ในสมัยหนึ่งไม่ได้ขึ้นกับจังหวัดโคราช พอมีเมืองโคราชจึงมีการเปลี่ยนให้นครจันทึกเป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า “ด่านจันทึก” ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเรียกว่า “อำเภอจันทึก” แต่ในยุคสมัยหนึ่ง น่าจะหลังรัชกาลที่ 5  เพราะมีสถานีรถไฟที่เรียกว่านครจันทึก นายอำเภอไปมาไม่สะดวก จึงมีการย้ายเมืองลงมา แล้วก็ย้ายลงมาที่นี่ ในสมัยรัชกาลที่ 6  คนในแถบนี้ยังคงเรียกว่า จันทึก แต่ก็เลยเปลี่ยนชื่ออำเภอจาก “จันทึก” เป็น “สีคิ้ว” ซึ่งมาจากพ่อพญาสี่เคี้ยว (พ.ศ.2482)

คนในแถบนี้มีการใช้คำว่า “จันทึก” เป็นส่วนหนึ่งของนามสกุล จึงเห็นว่า “จันทึก” นั้นมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และความเป็นตัวตนของคนในชุมชน ฉะนั้น “เราจึงอยากให้กลับมาใช้ชื่อ ‘นครจันทึก’เพื่อให้เป็นที่รู้จัก เพราะว่าทำให้เรามีตรงนี้ เราต้องการให้ชื่อนี้กลับคืนมา” ครูอ๋อยกล่าวถึงที่มีของชื่อ “นครจันทึก” อันเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วัฒนธรรมไท-ยวน ที่ไม่ใช่เพียงสถานที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ แต่มีความผูกพันกับถิ่นที่และตัวตนของคนยวน.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 28 เมษายน 2561
ชื่อผู้แต่ง:
-