พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหลุ่งประดู่ (ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มไหมไทย)


ที่อยู่:
บ้านหลุ่งประดู่ ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา 30240
โทรศัพท์:
087-6488918 คุณอัมพร มธินาประเข
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน (แจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าชม)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2535
ของเด่น:
ผ้าไหม วิถีชีวิตชุมชน
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2556

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2556

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2556

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2556

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มไหมไทย

เมื่อแรกเข้ามาเยือนบ้านหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ใต้ถุนบ้านหลังหนึ่ง  คุณป้ากำลังทอผ้าพร้อมกับมีเพื่อนบ้านญาติพี่น้องนั่งอยู่ด้วยกัน ด้วยความเป็นมิตร  ทราบว่าที่บ้านหลังนี้มีคนทอผ้าเป็นถึง 3 รุ่น  ปัจจุบันได้หันมาใช้สีธรรมชาติย้อมผ้า   มีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์  มีพืชมากมายหลายชนิดใช้ย้อมผ้าได้ อาทิ แก่นขนุน สะเดา ดอกอัญชัน ใบแก้ว สบู่เลือด ฝักคูณ ครั่ง เป็นต้น
 
ชาวบ้านที่นี่มีการรวมกลุ่มทอผ้าใช้ชื่อว่า “กลุ่มไหมไทยหลุ่งประดู่”ผลิตภัณฑ์ทอเป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าลายมัดหมี่ ผ้าลายสก๊อต  ผ้าหางกระรอก  ในอาคารหลังใหญ่มีพื้นที่ให้สมาชิกกลุ่ม ซึ่งมีอยู่ 30 คน ได้มาใช้ทอผ้า  วันนี้มีคุณอัมพร มธินาประเข  รองประธานกลุ่มฯ เพียงคนเดียวที่กำลังทอผ้าอยู่ สอบถามได้ความว่าคนอื่นๆไปตัดอ้อย  ไปทำไร่กันหมด การทอผ้าของกลุ่มนี้จะทำตามการสั่งซื้อของลูกค้า  การทอผ้าของกลุ่มมีการแบ่งงานกันทำตามความถนัด บางคนมัดหมี่ บางคนทอ ใครไม่มีกี่ทอผ้าที่บ้าน ที่นี่จะให้ยืมไปใช้ หรือจะมาทอที่นี่ก็ได้
 
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ของหมู่ 12  ตอนนี้มีอยู่ 10 ราย  เมื่อก่อนมีเยอะ ขึ้นกับราคารังไหมด้วย ถ้าราคาดีคนจะหันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกัน แต่มีช่วงหนึ่งที่ราคาไหมตกต่ำมาก  คุณอัมพร ได้ทราบมาจากการไปอบรมว่า สาเหตุมาจากมีการลักลอบนำเข้าไหมราคาถูกมาจากประเทศจีน ช่วงเวลานี้การทำนา ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ปลูกยูคาลิปตัส ถือว่าได้ราคาดี
 
คนทอผ้าส่วนใหญ่อายุ 40-50 ปี ผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่คือ ผ้าหางกระรอก ถ้าเป็นหางกระรอกธรรมดา คุณอัมพรบอกว่าทอง่าย แต่ที่นี่มีการประยุกต์ลาย  ในการไปอบรมมีผู้เชี่ยวชาญเขาแนะนำให้ทำ  ทำให้ทอยากสักหน่อย เป็นเกลียวถี่เกลียวห่างเกลียวกลาง  การกลับมาใช้สีธรรมชาติย้อมทำมาได้สัก 6-7 ปีแล้ว แต่จะมีพวกมัดหมี่ที่ยังใช้สีเคมี  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วยว่าต้องการสีแบบไหน หลังการย้อมสีผ้าไหม ที่นี่จะต้มใบยูคาลิปตัสใส่ไปด้วย ช่วยทำให้สีย้อมไม่ออก  ผ้าไม่ตกสี
 
การรวมกลุ่มทอผ้าไหม ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงาน เนื่องจากเส้นไหมโรงงานมีราคาแพง ทางกลุ่มมีต้นทุนน้อย  หน่วยงานต่างๆจึงให้งบประมาณในการซื้อวัตถุดิบและให้เป็นเบี้ยเลี้ยง การของบประมาณจะสลับเวียนไปในแต่ละปีแต่ละหน่วยงาน ได้แก่ บ้านนารีสวัสดิ์  นิคมสร้างตนเอง อำเภอพิมาย องค์การบริหารส่วนตำบลหลุ่งประดู่  โดยรายได้ของกลุ่มจะหักไว้ 30 เปอร์เซ็นต์  เก็บไว้ใช้ในการบริหารจัดการ
 
จากการได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในปี พ.ศ.2553 อำเภอห้วยแถลงพิจารณาคัดเลือกกลุ่มไหมไทยหลุ่งประดู่เข้าอบรมตามโครงการ KBO การอบรมโดยใช้งบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชนอบรมระดับจังหวัด มีการส่งเข้าประกวด  แล้วได้รับรางวัลที่1 ของจังหวัด  ทำให้ผ้าไหมหางกระรอกลายไตรลักษณ์เป็นลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัดนครราชสีมา  โดยมีนางชูศรี คะเรียงรัมย์ นางประดิษฐ์ ทองปอ เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้   มีการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้แก่สมาชิกเครือข่ายในจังหวัดนครราชสีมา  ด้านการอบรมมีมหาลัยราชภัฎนครราชสีมาให้การสนับสนุนงบประมาณ 
 
เทคนิคและขั้นตอนการทอผ้าไหมหางกระรอกลายไตรลักษณ์มีดังนี้  เริ่มด้วยการเรียงเส้นยืนด้วยเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติ มีสีส้ม สีเหลือง สีขาว สีชมพู สีเทา ในลักษณะการทอผ้าเกล็ดเต่า  เส้นพุ่งที่นำมาทอผ้ามี 2 ประเภท คือ เส้นพุ่งที่ใช้เส้นไหมสีชมพูตีเกลียว ควบสีเหลืองให้ได้เกลียวถี่ เกลียวกลางและเกลียวห่าง รวมเป็น 6 กระสวย และเส้นพุ่งที่ใช้เส้นไหมสีชมพูตีเกลียวควบกับเส้นไหมสีเหลืองและเส้นไหมสีเทา ให้ใช้เกลียวถี่เกลียวกลางและเกลียวห่าง รวม 2 กระสวย ทอสลับกระสวย เรียงเกลียวถี่ เกลียวกลาง เกลียวห่าง บนเส้นยืนหลากสี จึงได้ผ้าไหมหางกระรอกลายไตรลักษณ์
 
การออกร้านจำหน่ายผ้าไหม มีตามงานเทศกาลสำคัญของจังหวัด อย่างงานฉลองท่านท้าวสุรนารี  ผลิตภัณฑ์ของที่นี่ได้รับการรับรองโดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เรียกย่อว่า มผช.
 
ประกอบการให้สัมภาษณ์ คุณอัมพร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้า ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ทอผ้า เริ่มต้นจาก อัก สำหรับกวักเส้นไหม แล้วก็ไปถึงไนปั่นหลอด จากนั้นก็เอาไหมไปใส่ในกระสวยแล้วจึงทอ ส่วนเครื่องจักรที่วางอยู่คือ เครื่องกรอด้าย ได้รับการสนับสนุนมาจากอุตสาหกรรมจังหวัดให้มา  ทำให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น เวลามีการสั่งซื้อมาเยอะ สามารถทอให้ได้ตามจำนวน
 
เมื่อมาดูกี่ทอผ้าที่คุณอัมพรนั่งทออยู่ก่อน  คุณอัมพรกำลังทอผ้าพันคอยกดอก ถ้าไม่ติดธุระที่อื่นจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ความยาวของผ้าคือ 1.80 เมตร  ราคาขายผืนละ 800-1000 บาท
 
กรณีนักท่องเที่ยวอยากดูวิถีชีวิตชุมชน อยากเห็นชาวบ้านแต่งผ้าไหมกันสวยงาม แนะนำให้มาร่วมงานบุญ  เรียกว่างานบุญดอกไหมดอกเงิน จัดขึ้นเป็นประจำที่วัดหลุ่งประดู่ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี  งานบุญนี้มีการนำไหมแต่ละบ้านมารวมกันแล้วขายนำเงินมาเข้าวัด งานประเพณีสำคัญอื่นๆ คือ งานวันสงกรานต์ งานบุญกฐิน งานแต่งงาน งานบวช 
 
สำหรับผู้ที่ผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน อาจสะดุดตากับป้ายที่เขียนไว้ว่า หมู่บ้านผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ บ้านหลุ่งประดู่ นครราชสีมา  “นครชัยบุรินทร์”เป็นการรวมกลุ่ม 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่างประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์  อันเป็นพื้นที่การสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน นั่นก็คือ  ภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหม
 
----------------------------------------------------
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม วันที่ 7 เมษายน 2556
 
----------------------------------------------------
 
การเดินทาง: ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มไหมไทย  เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมภูมิปัญญาไหมหลุ่งประดู่  อยู่ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์พิมายเพียง 20 กม. ใช้ทางหลวงหมายเลข 2163 เส้นทางพิมาย-หินดาด บริเวณกิโลเมตรที่ 21 ผ่านทางแยกให้เลี้ยวขาเข้าหมู่บ้านหลุ่งประดู่  ถ้าเดินทางจากตัวเมืองนครราชสีมา จะผ่านอำเภอเฉลิมพระเกียรติ สู่เส้นทางหินดาด เลี้ยวซ้ายสู่เส้นทางเข้าบ้านหลุ่งประดู่
 
 
อ้างอิง 
 
ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 7 เมษายน 2556
 
ผ้าไหม...นครชัยบุรินทร์.(2554).ไทยรัฐออนไลน์.ค้นเมื่อ 19  พฤษภาคม 2556,จาก http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/184006
 
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอห้วยแถลง.(2549).กลุ่มอาชีพทอผ้าไหมบ้านหลุ่งประดู่.ค้น เมื่อ 19 พฤษภาคม 2556,จาก http://kmcdd.ecgates.com/kmblog/other_diary_post_display.php?diaryid=3393&userid=1531
 
ศิริญากรณ์ อีสานไกด์ ท่องเที่ยว.(2554). บ้านหลุ่งประดู่ หมู่บ้านท่องเที่ยวผ้าไหมนครราชสีมา.ค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2556,จาก http://www.esanguide.com/travel/detail.php?id=2436
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ: