ชาวไทดำวัดสระสี่มุม มีที่มาจากการเคลื่อนอพยพมาจาก จ.เพชรบุรี แล้วมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสระสี่มุม โดยชื่อ “สระสี่มุม” มาจากลักษณะการถากถางของชาวไทดำในยุคแรกๆ ที่เข้ามาขุดถาง แหล่งน้ำจนเกิดเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม จึงเป็นที่มาของชื่อ “สระสี่มุม” การก่อตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ชุมชนโรงเรียนวัดสระสี่มุม เกิดจากความคิดของครูอาจารย์ภายในโรงเรียนวัดสระสี่มุม ต้องการอนุรักษ์ข้าวของ และพิธีกรรมให้กับคนรุ่นหลังในชุมชนได้เรียนรู้ เป็นการสืบทอดไม่ให้พิธีกรรม ประเพณีของชาวไทดำเลือนหาย นอกจากนี้ ยังใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชา “ท้องถิ่นของเรา” ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ชุมชนโรงเรียนวัดสระสี่มุม ประกอบไปด้วยอาคารจัดแสดงของศูนย์วัฒนธรรม 1 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่เป็นห้องประชุมส่วนหนึ่ง และเป็นพื้นที่จัดแสดงอีกส่วนหนึ่ง บริเวณข้างกันคือ เรือนไทดำ จำลองที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมไทดำ โดยโรงเรียนสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ด้วย
โดย: ศมส.
วันที่: 11 กันยายน 2562
โดย: ศมส.
วันที่: 11 กันยายน 2562
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ชุมชนโรงเรียนวัดสระสี่มุม
ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ชุมชนโรงเรียนวัดสระสี่มุม ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดสระสี่มุม ประกอบไปด้วยอาคารจัดแสดงของศูนย์วัฒนธรรม 1 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่เป็นห้องประชุมส่วนหนึ่ง และเป็นพื้นที่จัดแสดงอีกส่วนหนึ่ง บริเวณข้างกันคือ เรือนไทดำ จำลองที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมไทดำ โดยโรงเรียนสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ด้วย ทั้งตัวศูนย์วัฒนธรรมและเรือนไทดำ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 100 ตร.ม.
ประวัติความเป็นมาของชาวไทดำ สระสี่มุม
อาจารย์กฤติกา ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ดูและศูนย์ฯแห่งนี้ และยังเป็นชาวไทดำในชุมชนนี้โดยกำเนิด เล่าให้ฟังว่า ชาวไทดำวัดสระสี่มุม มีที่มาจากการเคลื่อนอพยพมาจาก จ.เพชรบุรี แล้วมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสระสี่มุม โดยชื่อ “สระสี่มุม” มาจากลักษณะการถากถางของชาวไทดำในยุคแรกๆ ที่เข้ามาขุดถาง แหล่งน้ำจนเกิดเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม จึงเป็นที่มาของชื่อ “สระสี่มุม”
“ที่นี่จริงๆ มาจาก เวียดนาม 12 จุไท ก็มาอยู่ที่เพชรบุรี พอมาอยู่แล้วรู้สึกว่าประชากรจะมาก ก็จะเริ่มขยับขยายหาที่ทำกิน จากเพชรบุรีก็มาทางดำเนิน ลงแม่น้ำทางบางคนที แล้วเลาะๆ มาก็มาขึ้นทาง สระบางปลา ที่ อ.กำแพงแสนค่ะ ก็เดินเท้าต่อมาก็มาเจอหมู่บ้าน บ้านสระสี่มุม มีชื่อนี้เพราะว่า เมื่อก่อนมาอยู่กันไม่มีแหล่งน้ำ ก็ใช้มีด จอบ ขุดสระกลางหมู่บ้านทางทิศใต้ของโรงเรียน ชาวบ้านที่เดินทางมาครั้งแรกมาขุดสระตรงนี้ขึ้น ก็เลยตั้งชื่อว่า สระสี่มุม เพราะเป็นหมู่บ้านที่เกิดจากแรงพลังของชาวบ้านไทดำจากที่มาขุดสระกัน ก็ถือว่าตอนนั้นก็เป็นชุมชนของไทดำไปแล้ว”
ที่มาของการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ชุมชนโรงเรียนวัดสระสี่มุม
การก่อตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ชุมชนโรงเรียนวัดสระสี่มุม เกิดจากความคิดของครูอาจารย์ภายในโรงเรียนวัดสระสี่มุม เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนสระสี่มุม และ เป็นพื้นที่ที่มีชาวไทดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยชาวไทดำที่นี่มีที่มาจาก จ. เพชรบุรี เริ่มต้นของการก่อตั้งเกิดจากแนวคิดของ อาจารย์สิงห์ทอง สรรสร้างเจริญ (ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ) ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนวัดสระสี่มุมในปี พ.ศ. 2539 ว่า ต้องการอนุรักษ์ข้าวของ และพิธีกรรมให้กับคนรุ่นหลังในชุมชนได้เรียนรู้ เป็นการสืบทอดไม่ให้พิธีกรรม ประเพณีของชาวไทดำเลือนหาย นอกจากนี้ ยังใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชา “ท้องถิ่นของเรา” ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดย ในช่วงนั้น มีการรื้ออาคารเรียนหลังหนึ่ง เลยขอไม้ที่รื้ออาคารนั้นนำไปสร้างเป็นอาคารศูนย์วัฒนธรรมไทดำหลังแรกๆ รวมกับเงินที่ได้มาจากการทอดผ้าป่า 3 แสนกว่าบาท ก็นำมาสร้างอาคารหลังนี้
“ศูนย์ที่เป็นอาคารแบบนี้ ตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เริ่มแรกคือจากความคิดของตัวเอง ต้องการอนุรักษ์สิ่งของเหลือใช้ของชาวไทดำ หากเราไม่ทำไว้ต่อไปจะหาไม่เจอ จากนั้นก็เดินหาของ พอดีที่จะรื้อสร้างอาคารเรียน เลยขอรื้อเพื่อสร้างอาคารใหม่ ก็เลยเอาไม้นั่นมาทำ (ไม้จากการรื้ออาคารโรงเรียน) พอดีไปหาหลวงพ่อเปิ่น ท่านให้พระมา เขาเลยจัดเป็นผ้าป่า ตอนแรกการจัดผ้าป่านี้เพื่อสร้างพิมพ์ดีด แล้วเงินที่เหลือก็เอามาสร้างอาคารนี้ แล้วก็มีโรงสีกวางโชคถาวรก็ช่วยส่วนหนึ่งสมทบ ก็ได้งบรวมกันประมาณ 3 แสนกว่า ก็สามารถสร้างอาคารนี้จนสำเร็จ ส่วนที่ติดกระจกนี่มาปรับปรุงทีหลัง ตอนแรกไม่มีหรอกมีแต่หน้าต่างธรรมดา เป็นการสร้างใหม่ทั้งอาคารภายในโรงเรียน ก็เป็นของโรงเรียน อาคารนี้เป็นของโรงเรียน”
ปัจจุบันงบประมาณในการจัดการ และดำเนินงาน ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ชุมชนโรงเรียนวัดสระสี่มุมแห่งนี้ ก็ได้มาจากงบประมาณโรงเรียนบ้างเล็กน้อย
ประเพณี พิธีกรรม ชาวไทดำบ้านสระสี่มุม
พิธีกรรมของชาวไทดำบ้านสระสี่มุม มีความคล้าย และเหมือนกับชุมชนไทดำอื่นๆ โดยเฉพาะพิธีเสนเรือน แปงขวัญ โดยพิธีเสนเรือนคือการทำบุญให้กับบรรพบุรุษ บางทีเรียกว่า “เลี้ยงผี” การทำเสนเรือน ต้องใช้ “แม่มด” ในการทำพิธีเช่นกัน ส่วนการแปงขวัญ คือพิธีที่อาจเรียกได้ว่า การเรียกขวัญ สำหรับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ หรือประสบเหตุการณ์ร้ายแรง จนทำให้ขวัญของผู้ที่ประสบเหตุหายไป จึงต้องมีพิธีแปงขวัญเพื่อเรียกขวัญกลับเข้ามาที่ตัวเจ้าของขวัญ โดยอ.กฤติกา ได้พูดถึงเรื่องพิธีกรรมเหล่านี้ว่า
“ที่นี่ก็จะมีประเพณีเสนเรือนคล้ายๆ กัน ถ้าเป็นไทดำเหมือนกัน ก็จะเหมือนกัน การถึงแก่กรรมก็เหมือนกัน การเผาผีก็คล้ายกัน มีแม่มดเหมือนกัน หมอเสน ก็จะมีน้ายอม เป็นเจ้าพิธี เป็นคนสื่อระหว่างวิญญาณบรรพบุรุษกับลูกหลาน แม่มดใช้ในพิธีเสนตัว แปงขวัญ คือคนที่ประสบอุบัติเหตุเขาจะรู้สึกว่าขวัญ วิญญาณกระเจิงหนีไป คนที่เจ็บป่วยนานไปหาหมอเจ็บกระเซาะกระแวะไม่หายสะที ชาวไทดำเชื่อว่า ขวัญไม่อยู่กับร่าง เขาก็จะทำพิธีเสนตัว ใช้แม่มดแล้วก็มีแสนแก้เคราะห์บ้านด้วย คนที่ประสบอุบัติเหตุ ไม่แข้งแรงเขาก็จะมาทำพิธี คล้ายพิธีเรียกขวัญ หากเป็นพิธีที่ใหญ่ก็จะมีการช้อนขวัญมาตั้งแต่ปากทาง ทางสามแยก หรือสี่แยก หรือสามแพร่ง มีขบวนแห่ คนหาบ คนเป่า หมอขวัญก็จะเรียกขวัญ หมอเสนทำพิธีเสนเรือน เป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ สามปีทำหนึ่งครั้ง ถ้ามีฐานะก็จะทำทุกปี ทำช่วงเดือน 4 8 11 มีการใช้หมูทั้งตัวในพิธีเสนเรือน สามปีทำครั้งเพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่พอทำแล้วลูกหลานก็จะสุขใจ ภาคภูมิใจ”
การจัดกิจกรรมไทดำภายในโรงเรียน
ด้วยความที่ อ.กฤติกา เป็นครูสอนในโรงเรียนวัดสระสี่มุม และเป็นชาวไทดำในพื้นที่ ดังนั้น อ.กฤติกา จึงจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชาวไทดำภายในโรงเรียน มีการจำลองพิธีกรรมต่างๆ เพื่อทำพิธีภายในโรงเรียนให้เด็กๆ ภายในโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานไทดำในหมู่บ้านได้เรียนรู้ อ.กฤติกา เห็นว่า การที่เด็กๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตผ่านพิธีกรรมต่างๆ ของชาวไทดำ จะเป็นการอนุรักษ์และไม่ให้เด็กๆลืมรากเหง้า และยังเป็นการสืบทอดประเพณีไปยังคนรุ่นต่อไปด้วย
“ที่โรงเรียนก็จะทำพิธีจำลองไทดำ ก็เคยให้ลุงยอมที่เป็นหมอเสน มาทำพิธีให้เด็กดู ให้เด็กเอาอาหารแห้งมากัน เหมือนจำลองของจริงค่ะ เด็กๆจะได้เรียนรู้ว่า ขั้นตอนมีอะไรบ้าง หมอเสนเขาจะพูดแปลเป็นไทยว่าอย่างไร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก นี่เราก็จำลองเป็นบ้าน ซึ่งผุพังมาก ซึ่งวัฒนธรรมจังหวัดให้งบมาทำ หลังคายังไม่ใช่จาก ถ้าของจริงจะเป็นมุงแฝก ตรงนี้ก็มีโครงการจะบูรณะไว้เป็นแฝกเหมือนเดิม เพราะหาดูไม่ได้แล้ว แล้วเราก็มีให้เด็กออกไปในชุมชนด้วย ชุมชนใกล้ๆ เวลาเขามีพิธีกรรม ครูก็จะให้เขาไปถ่าย VDO บ้าง แล้วก็ไปช่วย วัฒนธรรมมันก็จะถ่ายทอดจากรุ่นพ่อไปสู่รุ่นลูก ส่วนใหญ่เด็กที่นี่ก็มีเด็กที่อื่นมาเรียนบ้าง เขาจึงต้องเรียนรู้วัฒนธรรมตรงนี้ด้วย โดยมีเด็กท้องถิ่นพากันไป ให้ความรู้กันแล้วก็มาแชร์ความรู้กัน เป็นหลักสูตรท้องถิ่นไทดำ”
ว่าด้วยข้าวของในศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ชุมชนโรงเรียนวัดสระสี่มุม
ข้าวของที่จัดแสดงในศูนย์วัฒนธรรมไทดำ วัดสระสี่มุม มาจากชาวบ้านที่บริจาคเข้ามา รวมทั้งมีการซื้อเพิ่มเติม โดยข้าวของส่วนใหญ่มีทั้งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่างๆ เช่นเสนเรือน เช่น เชี่ยนหมากสำหรับไหว้บรรพบุรุษ หรือปานเผือน สำหรับใส่อาการเพื่อไหว้บรรพบุรุษ การดำเนินชีวิต เช่นอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ เช่นกระด้ง อุปกรณ์จับปลา หรือขมุก กระเป๋าจักสานขนาดใหญ่ สำหรับใส่เสื้อผ้าของชาวไทดำ ทั้งหมดถูกจัดแสดงภายใน โดยมีการจัดกลุ่มการแสดง แต่ก็ไม่มีเกณฑ์ในการวางข้าวของเท่าใดนัก อ.กฤติกากล่าวถึงข้าวของจัดแสดงว่า
“ตั้งแต่พิธีกรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องแต่งกาย มีลูกช่วงที่ใช้เล่น เมื่อก่อนไทดำหลังจากทำนาก็จะมีช่วงเวลาว่าง หนุ่มสาวก็จะเล่นลูกช่วง มีขมุกที่ปัจจุบันก็คือกระเป๋าใส่เสื้อผ้า ใส่เสื้อผ้า ผ้าขาวสำหรับใช้ในพิธีงานศพ มีภาชนะที่เรียกว่าฟาน ใส่เครื่องในหมู ผลไม้เวลาทำพิธีเสน มีหีบเครื่องมือเบ็ดเตล็ด ที่ใส่ข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อน เรียกว่าแอบข้าว ทำจากไม้ มีอ๊องเข่า หรือ อ๊องข้าว ยามว่างเขาก็จะทอผ้าเก็บใส่ขมุกไว้ มีทั้งของใหม่ ของเก่า ลายก็จะละเอียดแน่นถึงแม้จะเป็นลายเดียวกัน แต่ความละเอียดต่างกัน มีไหเหล้า ไหปลาร้า หมักน้ำปลา มีที่นึ่งข้าวเหนียวที่ทำจากต้นมะพร้าว หรือต้นขนุนก็ได้ หมอนเน้นลายโบราณ ลายหน้าหมอน ถ้าเป็นของโบราณจะสังเกตเห็นกระจกเล็กๆ ปักอยู่ มีหลายลาย โดยการติดกระจกเพราะชาวไทดำเชื่อว่าเวลานอนมันจะสะท้อนสิ่งไม่ดีออกไป ก็จะนอนหลับสบายไม่มีทุกข์
หมอน ลวดลาย และความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตหญิงสาวไทดำ
ลายหมอนด้านข้าง มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ตัดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ปักด้วยผ้าสีสันต่างๆ รูปแบบลายเฉพาะเช่นนี้ เป็นลายที่เห็นได้บนข้างหมอนสี่เหลี่ยมใบเล็ก อันเป็นลักษณะเฉพาะของชาวไทดำ จากการพูดคุยกับ กิตติพงษ์ หนุนไชยา ประธานสภาวัฒนธรรม ต.สระพัฒนา พบว่า หมอนมีความสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของชาวไทดำ โดยเฉพาะกับหญิงสาวที่กำลังก้าวเข้าสู่การแต่งงาน และเริ่มชีวิตครอบครัวใหม่ โดยเจ้าสาวจะต้องเตรียมหมอนไว้ใช้เอง บ้านไหนมีหมอนปักเอยะเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นว่า สาวบ้านนั้นขยัน และเป็นแม่บ้านแม่เรือ
“เจ้าสาวจะต้องเตรียมหมอน เตรียมของใช้ไว้ใช้เอง ต้องฝึกให้เป็น บ้านไหนหมอนเยอะแสดงว่าบ้านนั้น เจ้าสาวขยัน ไทดำจึงมีตู้ไว้โชว์หมอน อย่างน้อยก็มีตู้ใบหนึ่งโชว์หมอน พอเริ่มจะเป็นสาวจะต้องเรียนรู้ วิธีการทำหมอนทำเสื่อ พอแต่งงานแล้วไม่มีหมอนไปโชว์เลยจะถูกเขาว่า อย่างน้อยก็ทำให้ลุกสืบต่อไป อย่างน้อยลูกก็ต้องเอาไปแต่ง”
ขณะที่ลวดลายของหมอน อ.กฤติกา บอกว่า เป็นลวดลายที่เกิดจากการเลียนแบบในธรรมชาติ เช่นดอกไม้ หรือบางที ลวดลายก็มาจากการนั่งคิดเรื่อยเปื่อยยามว่าง ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว
“ลายพวกนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากธรรมชาติ นี่เรียกว่าลายมะลิซ้อน มะลิลา มะลิลาชั้นเดียว มะลิซ้อนสองชั้น มีลายดอกจันทร์ ลายส่วนใหญ่เป็นชื่อดอกไม้เกี่ยวกับศาสนา ดอกมะลิ ดอกพุด เหมือนกับหมอนที่ใช้ในวัด บางทีก็มาจากดอกมะละกอ เวลาว่างจากการนั่งทำอาหารก็มานั่งนึกลาย หากนึกลายไม่ออกก็ไปทำกับข้าวเก็บมะละกอมาแกง ก็เห็นดอกมะละกอ ก็เลยมาทำเป็นลาย หรือดอกบัว พอเก็บมาถวายพระ ก็จะมานั่งประดิษฐ์เป็นลายดอกบัว”
นอกจากนี้รูปแบบพิเศษของหมอน ยังเกี่ยวข้องกับวัสดุที่นำมาปักด้วย เช่นกระจก ซึ่งเป็นลักษณะลายหมอนที่มีความคลาสสิค และเป็นความเฉพาะตัวของรูปแบบลายหมอนของไทดำ แต่วิธีการปักต้องอาศัยฝีมือและยากกว่าการปักด้วยผ้าธรรมดา จึงทำให้การปักกระจกกับหมอนเพื่อเป็นลวดลาย เสื่อมความนิยม
“บางทีเขาก็ทำนะ แต่ขั้นตอนการทำก็ยากกว่า เพราะต้องเย็บหุ้มกระจกนั้น ก็เลยตัดขั้นตอนไป เมื่อก่อนเขาทำไปมันไม่มีราคา พอตอนนี้เวลาทำสามารถขายได้ มีราคา บางคนก็ไม่ชอบกระจก ชอบสีคลาสสิคก็ดัดแปลง ก็ยึดถือตามการตลาดเป็นสำคัญ ถ้าใช้เองสีสดใส การตลาดจะสีคลาสสิค ต่างชาติจะชอบมาก”
การจัดทำข้อมูลการจัดแสดง การทำทะเบียนวัตถุ และการ Digitize
อ.กฤติกา ในฐานะผู้ดูแลศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้บอกว่า นอกจากข้าวของที่ชาวบ้านนำมาบริจาคเพื่อจัดแสดงภายในศูนย์ฯ แล้ว ยังมีสมุดหนังสือโบราณ ที่เป็นเรื่องราวของไทดำในสมัยก่อน เรียกว่า “ความโต๊” ในรูปแบบของสมุดข่อยที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี โดยในหนังสือกล่าวถึง ประวัติความเป็นมาของไทดำตั้งแต่สมัยน่านเจ้า ขุนบรม บางเล่มเป็นตำรายาสมุนไพร พิธีกรรม และการทอผ้าเป็นต้น ซึ่งได้มีการจัดแสดงในตู้จัดแสดง แต่ไม่มีการจัดพื้นที่จัดแสดงเพื่อการอนุรักษ์เอกสารโบราณเหล่านี้
“นี่เป็นหนังสือที่คนโบราณเขียน เป็นสมุดข่อยเก่าแก่ อายุประมาณ 100 ปี ยังไม่มีการเก็บในรูปแบบดิจิทัล อยู่อย่างไงก็อยู่อย่างนั้น...เป็นภาษาโบราณ มีคนแก่อีกรุ่นหนึ่งที่ยังอ่านได้ เป็นภาษาไทยที่เป็นคำลาว เป็นประวัตินานมาแล้ว ไม่มีในบทเรียน เราเรียกว่า ความโต๊ (หนังสือไทดำ) เนื้อหาที่ปรากฏน่าจะเกี่ยวกับความเป็นมาประวัติ ตั้งแต่อาณาจักรน่านเจ้า ขุนบรม บางเล่มเป็นตำรายาสมุนไพร พิธีกรรม น่าสนใจในตำรายาไทยมาก มีกี่ทอผ้า...”
นอกจากนี้ อ.กฤติกา และคุณครูในโรงเรียน ได้ช่วยกันจัดทำลงทะเบียนวัตถุ ด้วยการแบ่งหมวดหมู่ โดยในรายละเอียดการลงทะเบียนนั้น คือการใส่ข้อมูลของผู้บริจาค รายละเอียดชื่อสิ่งของ วิธีการใช้งาน และวันที่ได้มาเป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดทำวิธีการแสดงข้อมูลแบบ QR Code โดยครูเป็นผู้ทำกันเอง
“มีการทำทะเบียนวัตถุว่าชิ้นนี้เป็นอะไร จัดเป็นหมวด และมีการทำ QR Code โดย ใช้อาจารย์ในโรงเรียนเป็นคนทำเอง โดยข้อมูลในการลงทะเบียนก็จะมีชื่อของสิ่งของ วันที่ได้มา ผู้บริจาค รายละเอียดชื่อของสิ่งของนั้น...”
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ไทยทรงดำ ไทดำ
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ลาวครั่ง วัดทุ่งผักกูด
จ. นครปฐม
พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยทรงดำบ้านหัวถนน
จ. นครปฐม
วู้ดแลนด์เมืองไม้
จ. นครปฐม