พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระโขนง


ที่อยู่:
วัดธรรมมงคล 132 ซอยปุณวิถี 20 สุขุมวิท 101 บางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
วันและเวลาทำการ:
พุธ–อาทิตย์ เวลา 08.00–16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 กันยายน 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

สุข สงบใจ ใต้ร่มพระธรรม ที่ “วัดธรรมมงคล”

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 17 ก.ค. 2558;17-07-2015

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 22 มีนาคม 2559


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระโขนง

ถึงแม้การแบ่งเขตการปกครองจะทำให้วัดมหาบุศย์กับแม่นาคพระโขนงไปอยู่ที่เขตสวนหลวง แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังจดจำเขตพระโขนงได้จากเรื่องเล่าของผู้หญิงที่ยึดมั่นในความรัก ที่ไม่อาจตัดใจแม้จะมีความตายมาขวางกั้น ในการมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระโขนงที่วัดธรรมมงคล ภาพหนึ่งที่ไม่อาจผ่านสายไปคือภาพบนฝาผนังขนาดใหญ่มองเห็นเพียงเงาร่างสีดำของผู้หญิงในชุดพื้นบ้านโบราณ เธอคนนั้นอุ้มเด็กไว้กับอก นั่นคือภาพแม่นาคพระโขนง นั่นเอง

ในการเข้าเยี่ยมชม ถ้าติดต่อทางสำนักงานเขตฯ คุณทัศนีย์ ปานรอด เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5 ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ จะทำหน้าที่ประสานงาน หรือถ้ามาที่วัดโดยตรงทางพิพิธภัณฑ์จะจัดอาสาสมัครมาประจำอยู่ที่นี่ คุณอ้อมหรือ เบ็ญจพร สาขพรม ทำหน้าที่นำชมและตอบข้อซักถาม 

จุดแรกที่คุณอ้อมแนะนำคือ ประวัติความเป็นมาของเขตพระโขนง เดิมพระโขนงเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นอยู่กับนครเขื่อนขันธ์ เมืองนี้เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพระประแดงหรือจังหวัดพระประแดงในสมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งปัจจุบันมาเป็นเขตพระโขนง เขตพระโขนงมีสินค้าชุมชนที่โดดเด่นได้แก่ ดอกไม้ประดิษฐ์จากยางพารา ขนมปังธัญพืช น้ำพริกลุงพุด และเรือนไทยจำลอง สินค้าเหล่านี้จะผลิตเมื่อมีคนมาสั่งทำ ไม่ได้มีขายทั่วไปตามร้านค้า จะมีวางขายเฉพาะในช่วงที่มีการออกร้านในเทศกาลต่างๆ 

ในสิ่งของที่จัดแสดงแบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ วิถีชีวิตชาวบ้านสมัยก่อนที่ยังมีพื้นที่ทำการเกษตร ไปมาหาสู่กันทางเรือ วัดวาอารามในเขตพระโขนง และเขตพระโขนงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง 

สิ่งของที่บ่งบอกถึงการเคยเป็นพื้นที่เกษตร ได้วางอยู่ตรงทางเข้าเป็นที่มองเห็นชัด เครื่องปัดละอองข้าวและรำ (เครื่องฟัดข้าว) ทำด้วยไม้ เป็นการบอกเล่าว่าครั้งหนึ่งเขตพระโขนงมีนาข้าว มีชาวนา และมีเครื่องมือเกษตรโบราณ มีเรือจำลองขนาดเล็กแสดงวิถีชีวิตของชาวบ้าน และเรือที่เรียกว่าเรือเมล์แดงจำลองทำมาจากไม้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องกรองน้ำแบบเก่าที่ทำด้วยเหล็ก ชามกระเบื้อง ไหดินเผา ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์สมัยก่อน วิทยุโบราณ สิ่งของเหล่านี้มีผู้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ 

สำหรับคนที่ชอบเที่ยววัด พิพิธภัณฑ์นี้ได้มีมุมหนึ่งแนะนำวัดแต่ละวัดในเขตพระโขนง เริ่มจากวัดธรรมมงคลเถาบุญนนท์วรวิหาร ณ พระมหาเจดีย์ คือสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ พระมหาเจดีย์แห่งนี้จัดว่าสูงที่สุดในประเทศไทย รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจำลองแบบมาจากพุทธคยา มี 14 ชั้น ยอดฉัตรทำด้วยทองคำแท้ น้ำหนัก 17 กก. ประดับเพชร 1063 เม็ด ฉลุเป็นลายไทย 9 ชั้น สูง 7.15 เมตร เป็นที่บรรจุพระอุรังคะธาตุ ทุกปีจะมีพิธีบวชชีพราหมณ์ เพื่อให้สาธุชนที่ใฝ่ธรรมได้สร้างบุญกุศลและทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ใกล้กันวัดธรรมมงคลยังมีสิ่งที่น่าสักการะเยี่ยมชมคือ พระพุทธรูปหยกเขียวบริสุทธิ์ อยู่ภายในศาลาหลวงพ่อหยก พระพุทธรูปองค์นี้ทำมาจากหินหยกสีเขียวทั้งก้อน นำมาจากกลางเหมืองทองคำจากยอดเขาคิงส์เมาเทน ประเทศแคนาดา และก็ยังมีเจ้าแม่กวนอิมหยกเขียวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

วัดอื่นๆ ได้แก่ วัดทุ่งสาธิต วัดนี้ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ รับวัดนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นอารามหลวง จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร ในวัดมีพระอุโบสถที่สวยงาม มีพระเจดีย์จุฬามณีศรีล้านนา ด้านในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 25 องค์ ซึ่งได้จำลองมาจากพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ทุกเดือนเมษายนของทุกปี วัดทุ่งมีการจัดเทศกาลสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ มีการสรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร การละเล่น การออกร้านจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ก็ยังมีวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม เดิมเรียกวัดโคก วัดนี้มีอุโบสถขนาดใหญ่ ประดิษฐานพระประธาน บานประตูหน้าต่างประดับกระจกสวยงาม รอบบริเวณวัดสะอาดร่มรื่นเหมาะสำหรับการมาปฏิบัติธรรม และวัดบุญรอดธรรมาราม ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในแถบนี้และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากการเที่ยววัด เขตพระโขนงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติคือ สวนนกโรงกลั่นบางจาก อยู่ที่ซอยสุขุมวิท 64 เป็นแหล่งดูนกธรรมชาติมีนกหลายพันตัวมากกว่า 60 ชนิดอาศัยอยู่ 

ยังมีใครที่จดจำได้บ้างว่า เขตพระโขนงเคยมีค่ายทหารญี่ปุ่นมาตั้งอยู่ กระบี่นายทหารญี่ปุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ของสิ่งนี้มีคำอธิบายว่า นายทหารญี่ปุ่นได้ให้ไว้ก่อนกลับประเทศ ใกล้กันมีภาพเก่าเห็นเป็นซากปรักหักพังของตัวอาคาร ดูแล้วให้นึกถึงการผ่านเหตุการณ์ในช่วงปี พ.ศ. 2485 ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ เนื่องมาจากรัฐบาลทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลไทยต้องประกาศสงครามกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสอย่างเต็มตัว ผลของสงครามญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้จากระเบิดปรมาณูสองลูกที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้ลงครามยุติเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สิ่งของอื่นๆ ที่คนญี่ปุ่นเหลือไว้เป็นการบอกกล่าวว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมาพำนักอยู่ที่นี่ ได้แก่ โถญี่ปุ่นโบราณ จานญี่ปุ่นโบราณ 

ต่อจากนั้นมาถึงเรื่องเล่าแต่เก่าก่อน แม่นาคพระโขนงอยู่ในสมัยใด ได้มีคนนำไปเทียบระยะเวลาในยุคสมัยนั้น ตามเรื่องเล่าปรัมปราคนที่สามารถปราบวิญญาณอันสุดเฮี้ยนของเธอได้คือ สมเด็จโต วัดระฆัง จึงคาดเดาว่าน่าจะเป็นช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 และการที่วัดมหาบุศย์มีอีกชื่อว่าวัดแม่นาคพระโขนง เกิดมาจากศพของแม่นาคได้ถูกนำมาฝังไว้ที่วัดนี้ เมื่อถามเรื่องแม่นาคกับคุณอ้อม เธอมีท่าทีจริงจัง แล้วเล่าว่าทุกครั้งที่มีการทำหนังต้องมีการบวงสรวง ถ้าไม่ทำมักจะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น สถานที่บวงสรวงอาจทำที่วัดมหาบุศย์หรือสถานที่ฉายหนัง สมัยก่อนที่คุณอ้อมเป็นเด็ก ขณะที่มีการฉายหนังที่วัดนี้ ถ้าไม่ได้บวงสรวง จู่ ๆ จอหนังก็เกิดไฟไหม้

เมื่อกาลเวลาผ่านไป จากพื้นที่เกษตรได้กลายเป็นตึกอาคารร้านค้าที่มีผู้คนอาศัยกันอย่างหนาแน่น ถึงวันนี้เขตพระโขนงไม่ได้มีพื้นที่ทำการเกษตรอีกแล้ว อาณาบริเวณของเขตพระโขนงแต่เดิมมีพื้นที่มากกว่านี้ ในเวลาต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ถึงอย่างนั้นวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อนก็ยังไม่ถูกกลืนหายไปเสียทีเดียว อย่างน้อยที่สุดการได้เดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์เขตพระโขนง ซึมซับเรื่องราวบางฉากบางตอน ขากลับออกไปได้มองเห็นคลองพระโขนง ได้มองเห็นคนเฒ่าคนแก่ที่ยังมีชีวิตอยู่กับลูกหลานในบ้าน เราจะพบว่าทั้งอดีตและปัจจุบันต่างรวมอยู่ในที่เดียวกันนั่นเอง 

สาวิตรี ตลับแป้น :ผู้เขียน/ ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-

สุข สงบใจ ใต้ร่มพระธรรม ที่ “วัดธรรมมงคล”

ขึ้นมาที่ชั้น 3 เป็นส่วนของ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระโขนง” แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก แต่ก็มีประวัติความเป็นมาของเขตพระโขนงแห่งนี้ให้ได้เรียนรู้กันพอสมควร และนอกจากนี้ยังมีการแนะนำสถานทีท่องเที่ยวต่างๆ ในเขตพระโขนงให้เราได้ไปตามรอยกันอีกด้วย
ชื่อผู้แต่ง:
-