ห้างทองตั้งโต๊ะกัง ถือเป็นร้านทองที่เก่าแก่ที่สุดในย่านเยาวราช โดยมีอายุถึงกว่า 140 ปีแล้ว เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าของคือนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง บนชั้น 6 ของห้างทองนี้ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำทองและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการค้าทองคำ ได้แก่ แม่พิมพ์ (บล็อก) ในการปั๊มทองคำหลากหลายแบบ เช่น รูปตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ มงกุฎ หัวใจ ดาว ปราสาท มังกร รูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ม้า แพะ กระต่าย เป็นต้น
โดย: -
วันที่: 12 มิถุนายน 2555
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 6/02/2551
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ทองคำห้างทองตั้งโต๊ะกัง
ห้างทองตั้งโต๊ะกัง เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าของคือนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง จึงตั้งชื่อว่าห้างทองตั้งโต๊ะกัง ด้วยความมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน สมัยก่อนจึงมีร้านทองที่มารับทองจากที่นี่ไปจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จนเรียกติดปากกันว่าทองโต๊ะกังห้างทองตั้งโต๊ะกัง ตั้งอยู่ในซอยวานิช 1 มีอยู่ที่เยาวราชเพียงแห่งเดียว ไม่มีสาขาที่อื่น ตึกของห้างทองเป็นตึกเจ็ดชั้นที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฮอลันดา ส่วนการตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์เป็นแบบจีน ตึกนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยทายาทรุ่นที่สอง การสร้างตึกขึ้นมาใหม่ก็เพื่อรับพระราชทานตราตั้งครุฑจากรัชกาลที่ 6 ในสมัยนั้นถือว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในเยาวราช ตึกนี้เคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้กับกรมศิลปากร
คุณไชยกิจ ตันติกาญจน์ ผู้สืบทอดกิจการรุ่นที่ 4 ได้กล่าวถึงการมาเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่ที่ชั้น 6 ของห้างทองตั้งโต๊ะกัง เริ่มมาจากว่าตึกนี้ได้มีสภาพทรุดโทรม และตั้งแต่ชั้น 4 ขึ้นไปได้ถูกปิดร้างอยู่ถึง 30-40 ปี เนื่องจากคุณปู่และคุณพ่อได้ไปพักอาศัยที่อื่น ตึกนี้จะเป็นเฉพาะสถานที่ทำงาน และพบว่ามีเครื่องมือช่างทำทองสมัยก่อนอยู่เป็นจำนวนมากมาย ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำเครื่องจักรแบบใหม่เข้ามาช่วยทำให้ผลิตได้รวดเร็วกว่าเดิม จึงมีความคิดว่าอยากให้คนรุ่นหลังทราบว่าการทำทองตั้งแต่รุ่นแรกๆทำกันอย่างไร ลำบากแค่ไหนกว่าจะได้ทองรูปพรรณในแต่ละแบบ เมื่อทำการซ่อมแซมตึกจึงได้ใช้พื้นที่ชั้นบนทำเป็นพิพิธภัณฑ์ การลงทุนบูรณะตัวตึกและตกแต่งทำห้องพิพิธภัณฑ์ใช้งบประมาณส่วนตัวประมาณสิบล้านบาท
ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์คือ คุณกิตติ ฤทธิ์ฉิ้ม พนักงานทั่วไป พิพิธภัณฑ์อยู่บริเวณชั้น 6 ของตึก การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มีแม่พิมพ์ในการปั๊มทองคำที่มีลูกค้ามาสั่งทำ บล็อคนี้มีเป็นจำนวนมากหลากหลายแบบ ได้แก่ รูปตราสัญลักษณ์ต่างๆ มงกุฎ หัวใจ ดาว ปราสาท มังกร รูปสัตว์ต่างๆเช่น ม้า แพะ กระต่าย เป็นต้น คุณกิตติอธิบายว่าบล็อกในช่วงแรกจะทำมาจากตะกั่ว ต่อมาเป็นบล็อกโลหะ ใกล้กันที่เห็นเป็นแผ่นกระจกวางซ้อนกัน กระจกเหล่านี้เป็นกระจกบานประตูหน้าต่างที่อยู่กับตัวตึกมาตั้งแต่แรกสร้างมามากกว่า 80 ปี ในการซ่อมแซมได้มีความพยายามหากระจกที่มีลายและสีใกล้เคียงกับของเดิมมาแทนที่ของเดิมที่ชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมาก
ในการชั่งทองคำในสมัยก่อนใช้เป็นแบบตราชั่งไม้โบราณ ปัจจุบันเป็นตราชั่งดิจิตอลที่มีความละเอียดสูง วิธีการใช้ตราชั่งไม้โบราณ ทำโดยใส่ตุ้มถ่วงน้ำหนักไว้ด้านใดด้านหนึ่ง แล้วอีกด้านก็ใส่ทองคำ ชั่งให้ระดับทั้งสองข้างสมดุลกัน โดยดูจากเข็มที่ตราชั่งให้อยู่ตรงกลาง ตุ้มมีน้ำหนักตั้งแต่ 100-200 มิลลิกรัม หน่วยน้ำหนักทองคำปัจจุบันเป็นกรัม ถือเป็นหน่วยสากล ส่วนหน่วยเป็นบาทใช้ในประเทศไทย น้ำหนักของทองรูปพรรณ 1 บาทเท่ากับ 15.16 กรัม ทองคำแท่งน้ำหนัก 1 บาทเท่ากับ 15.244 กรัม
ถัดจากนั้นเป็นไหน้ำกรดที่ใช้เก็บน้ำกรดในสมัยก่อน เพื่อใช้ในการสกัดทองคำบริสุทธิ์ที่สั่งทำมาเป็นพิเศษจากจังหวัดราชบุรี กรดที่ใช้ในการทำทองมี 3 ชนิด ได้แก่ กรดดินประสิว กรดกำมะถัน กรดเกลือ ส่วนที่อยู่ในจานเป็นเม็ดโลหะ นั่นคือทองแดง ซึ่งเป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งในการทำให้ทองเป็น 96.5% เพื่อทำเป็นทองรูปพรรณได้ง่ายขึ้น
ถัดจากนั้นจะเป็นป้ายร้านสมัยก่อนและตราครุฑ สังเกตดีดีจะเห็นความแตกต่างที่ตัวเขียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่อันหนึ่งเขียนว่าตั้งโต๊ะกัง อีกอันเขียนตั้นโต๊ะกัง คุณกิตติให้ความเห็นว่าน่าจะเกิดมาจากการฟังผิดเพี้ยน ใกล้กันมีพิมพ์ดีด ลูกคิด ภาพเก่า ใบเสร็จ บรรจุภัณฑ์ใส่ทองให้ลูกค้าง เริ่มแรกเป็นกล่องกระดาษ จากนั้นมาเป็นกล่องสังกะสี แล้วมาเป็นพลาสติก
อีกส่วนจัดแสดงที่วางเป็นโต๊ะเรียงกันอยู่ คือโต๊ะที่ช่างทำทองสมัยก่อนใช้ บนโต๊ะมีเครื่องมือมากมายเป็นประเภทปากคีบ คีมหนีบ ค้อน ตะไบ กรรไกร เหล็กตอก ฯลฯ บนโต๊ะของช่างทำทองที่เห็นเป็นกำไลเรียงกัน อันนั้นคือกำไลหวายดำ ในสมัยก่อนถือเป็นเครื่องรางของขลังที่คนสมัยก่อนนิยมกัน โดยจะนำมาหุ้มทองเป็น 3 ช่วง
ส่วนที่อยู่บนฝาผนังมีภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในครั้งที่เสด็จมาทดลองทำทองด้วยพระองค์เอง ซึ่งเก้าอี้ที่พระองค์มาประทับนั่ง ทางห้างทองตั้งโต๊ะกังได้นำมาตั้งไว้บูชาบริเวณด้านหน้าทางเข้าร้านทองชั้นล่าง อีกภาพหนึ่งเป็นภาพของตึกเก่าก่อนที่จะบูรณะ ซึ่งจะเห็นว่าบริเวณนั้นยังไม่มีตึกสูงเข้ามาเบียด แล้วก็มีภาพต้นตระกูลบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งห้างทองตั้งโต๊ะกัง ส่วนที่เป็นแผ่นทองเหลืองขนาดใหญ่ นั่นคือป้ายร้านในสมัยก่อน เราจะเห็นช่องให้เติมราคาทอง ซึ่งราคาทองสมัยนั้นจะค่อนข้างคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงผันผวนมากเหมือนปัจจุบัน
ในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้ ผู้สนใจยังสามารถชมการหลอมทองผลิตเป็นทองคำแท่งออกจำหน่าย เริ่มตั้งแต่การหลอมด้วยอุณหภูมิ 1064 องศาเซลเซียส จนกระทั่งการตีตรา และการทำทองรูปพรรณ ซึ่งช่างต้องมีความชำนาญและปราณีต
การผลิตทองรูปพรรณสาเหตุที่ต้องใช้ทอง 96.5 % เนื่องมาจากว่าสามารถทำลวดลายได้มากกว่าและมีความแข็งแรงมากกว่าใช้ทอง 99.99 % อย่างทองรูปพรรณของห้างทองตั้งโต๊ะกังจะมีความโดดเด่นอยู่ตรงที่สร้อยคอ ที่ทำออกมาแล้วจะใส่สบาย เพราะว่าช่างที่ทำจะใช้ความประณีตเป็นพิเศษ ปัจจุบันแนวโน้มการจำหน่ายทองรูปพรรณค่อนข้างลดน้อยลง คนจะนิยมซื้อทองคำแท่งกันมากกว่า ซึ่งก็ส่งผลทำให้จำนวนของช่างทำทองลดน้อยลงไปด้วย
ในการเปิดให้เข้าชม เมื่อก่อนนี้มีการเปิดห้องชั้น 4 สิ่งของจัดแสดงมีพวกหยก จานโบราณ ปรากฏว่ามีของมีค่าสูญหาย จึงได้ปิดห้องนี้ จะเปิดเฉพาะห้องชั้นบน
-----------------------------------------------------
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 8 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554
----------------------------------------------------
การเดินทาง :พิพิธภัณฑ์ทองคำตั้งโต๊ะกัง อยู่ในซอยวานิช 1 ย่านเยาวราช การเดินทางสะดวกรวดเร็วด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินมาลงที่สถานีหัวลำโพงแล้วต่อรถตุ๊กๆหรือแท็กซี่ไปเยาวราช
-----------------------------------------
อ้างอิง : พิพิธภัณฑ์ห้างทองโต๊ะกัง. http://www.creativeculturethailand.com/
detail_page.php?sub_id=4332 [Accessed 12/09/2011]
พิพิธภัณฑ์ทองคำฯตั้งโต๊ะกัง ตำนานทองคำแห่งเยาวราช http://www.manager.co.th/
Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9510000014828 [Accessed 12/09/2011]
รอบรู้เรื่องทองคำ.http://www.arunsawat.com/board/index.php?
topic=2894.0;wap2 [Accessed 12/09/2011]
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
พิพิธภัณฑ์ทองคำฯตั้งโต๊ะกัง ตำนานทองคำแห่งเยาวราช
พอใกล้ถึงวันตรุษจีน หรือวันปีใหม่ของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งหลาย มองไปทางไหนก็มีแต่สีแดงกับสีทอง โดยเฉพาะแถวๆ ย่านเยาวราชนั้น สีแดงกับทองเต็มพรืดไปหมดโดยสีแดงนั้นเป็นสีมงคลของชาวจีน เชื่อกันว่าหากใส่เสื้อผ้าสีแดงในวันตรุษจีนจะทำให้พบแต่ความโชคดี ส่วนสีทองนั้นก็เป็นสีมงคลเช่นกัน มีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง และแน่นอนว่าหมายถึงทองคำที่ตอนนี้ราคาพุ่งขึ้นสูงถึงบาทละ 14,000 แล้วด้วย พูดถึงเรื่องทองขึ้นมา ฉันก็นึกได้ว่า ที่ย่านเยาวราชนี้เป็นย่านที่มีร้านทองมากที่สุด คือมีถึง 132 ร้านด้วยกัน แต่มีร้านทองร้านหนึ่งที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นร้านทองที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้ โดยมีอายุถึงกว่า 140 ปีแล้ว นั่นก็คือ "ห้างทองตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งวันนี้ฉันก็ได้แวะเวียนมาเยี่ยมชมห้างทองแห่งนี้ แต่ไม่ได้มาซื้อทองแต่อย่างใดเพราะสตางค์ในกระเป๋ามีไม่พอ แต่ที่มาชมก็เพราะว่านอกจากที่นี่จะขายทองแล้ว ก็ยังได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำทองให้ดูกันอีกด้วย นั่นก็คือ "พิพิธภัณฑ์ทองคำห้างทองตั้งโต๊ะกัง" นั่นเองแนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ทองคำ ช่างทอง เครื่องมือช่าง ทอง ทองโต๊ะกัง
หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จ. กรุงเทพมหานคร
อาคารพิพิธภัณฑ์ ภปร. วัดบวรนิเวศวิหาร
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆและพิพิธภัณฑ์ในพระราชวังสวนดุสิต
จ. กรุงเทพมหานคร