หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9


ที่อยู่:
สวนหลวง ร. 9 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250
โทรศัพท์:
0-2328-1385-6, 0-2328-1392
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 06.00 - 18.00 น.
ค่าเข้าชม:
10 บาท, ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อได้ที่สำนักงานมูลนิธิ สวนหลวง ร.๙ หอรัชมงคล
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2530
เนื้อหา:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

รวมใจบูรณะ "หอรัชมงคล" เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 10-01-2550(หน้า34)

ที่มา: มติชนรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

งามอร่ามจับใจ เดินเล่นใน “สวนหลวง ร.9”

ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: 22 พ.ย. 2556;22-11-2013

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 05 มีนาคม 2558


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอรัชมงคล สวนหลวง ร.9

หอรัชมงคลเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดและสำคัญที่สุดในสวนหลวง ร.9 เพราะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในศุภมงคลสมัยทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 อาคารตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม ด้านหน้าคืออุทยานมหาราช มีสระน้ำพุขนาดใหญ่สามสระต่อกัน ด้านหลังคือตระพังแก้วซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขุดขึ้นตามพระราชดำริเพื่อให้เป็นที่รับน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม

หอรัชมงคลออกแบบโดยหม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล รูปแบบเป็นอาคารทรง 9 เหลี่ยม หลังคาใช้กระเบื้องเคลือบสีเหลืองอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เส้นสันหลังคาสีขาวโค้งไปรวมกันที่จุดยอดเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมแรงร่วมใจของปวงชนชาวไทย เสาเก้าเหลี่ยมรอบอาคารสูง 5 เมตร หมายถึงพระชนมพรรษา 5 รอบ อาคารมี 2 ชั้นเดินวนได้รอบ ตรงกลางเป็นห้องประชุมใหญ่จุคนได้ประมาณ 500 คน ชั้นล่างมีห้องประชุมและห้องรับเสด็จ ส่วนชั้นบนมีลักษณะเป็นระเบียง ระเบียงชั้นในเป็นส่วนบนของห้องประชุมที่อยู่ตรงกลาง ส่วนระเบียงชั้นนอกแบ่งออกเป็น 9 ห้อง ด้านหน้าของแต่ละห้องเป็นบานกระจกทั้งแผ่นลักษณะคล้ายตู้โชว์หน้าห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ผู้ชมมองเห็นจากภายนอกได้ ตู้กระจกกว้าง 5 เมตร หมายถึงพระชนมพรรษา 5 รอบ วัตถุและเนื้อหาที่จัดแสดงเป็นพระราชจริยวัตรในด้านต่างๆ พระราชกรณียกิจ และของใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งชื่อห้องจัดแสดงไว้คล้องจองกัน ได้แก่ ห้องพระราชประวัติ ฝีพระหัตถ์ฝากประชา กีฬาชื่นบาน งานดนตรี พระราชกรณียกิจ พิพิธกุศลทาน ถิ่นฐานพิทักษ์ บริรักษ์ชาวนาไร่ และโครงการในพระองค์

ห้องแรกคือห้องพระราชประวัติ แสดงพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระราชชนก พระราชชนนี รัชกาลที่ 8 ภาพกับพระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ฯลฯ ด้านขวามีป้ายสถานีรถไฟหัวหินตั้งอยู่มีคำอธิบายเล่าความเป็นมาว่า วันรุ่งขึ้นจากพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี โดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟจิตรลดาไปยังสถานีรถไฟหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประทับแรมที่วังไกลกังวล

ห้องต่อมาคือฝีพระหัตถ์ฝากประชา แสดงผลงานทางศิลปะและทางช่างของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม การถ่ายภาพนิ่ง การถ่ายภาพยนตร์ และงานประดิษฐ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยงานด้านจิตรกรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญจิตรกรไทยบางท่านเข้าเฝ้าฯร่วมสังสรรค์ด้วยในบางโอกาส สำหรับจิตรกรรมฝีพระหัตถ์มีประมาณ 107ภาพ มีทั้งแนวเหมือนจริง เอ็กซ์เพรสชันนิสต์ และนามธรรม ภาพที่ทรงเขียนส่วนมากเป็นภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ส่วนด้านงานช่างทรงออกแบบและต่อเรือใบเอง โดยศึกษาจากตำราและผู้รู้ ทรงใช้โรงไม้ในสวนจิตรลดาเป็นสถานที่ต่อเรือมาตั้งแต่พ.ศ.2507 เรือใบที่ทรงต่อขึ้นมีหลายประเภท สำหรับประเภทม้อธ(International Moth Class) พระราชทานชื่อว่า “มด” “ไมโครมด” และ“ซูเปอร์มด” 

ห้องกีฬาชื่นบาน จัดแสดงอุปกรณ์กีฬาส่วนพระองค์ และฉลองพระองค์ที่ทรงใช้ มีทั้งเรือใบ ไม้แบดมินตัน ฯลฯ รวมถึงบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 พ.ศ.2510 ร่วมกับเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัล

ห้องงานดนตรี จัดแสดงเครื่องดนตรีหลายประเภท โดยเฉพาะเครื่องเป่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน แซกโซโฟน คลาริเนต (Clarinet) ทรัมเป็ต และกีตาร์ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ราว 43 เพลง เพลงแรกคือ “แสงเทียน” นอกจากนั้นทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อสร้างมิตรภาพเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนประเทศตะวันตก บางครั้งทรงร่วมเล่นดนตรีกับนักดนตรีมีชื่อเสียง เช่น เบนนี กู๊ดแมน(Benny Goodman) แจ็ก ทีการ์เด้น (Jack Teagarden) และไลออเนล แฮมพ์ตัน(Lionel Hampton) ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2503 พระปรีชาสามารถด้านดนตรีทำให้สถาบันดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติให้ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ในปีพ.ศ.2530 นอกจากนั้นยังทรงเล่นดนตรีร่วมกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศหลายแห่ง 

ห้องพระราชกรณียกิจ จัดไว้คล้ายกับห้องทำงานคือมีโต๊ะทำงาน บนโต๊ะมีแผนที่ อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า และชั้นหนังสืออยู่ด้านหลัง ข้อมูลจากป้ายเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบวิทยุขึ้นเองตั้งแต่ทรงศึกษาชั้นประถม ทรงออกแบบเสาอากาศจากวัสดุที่หาได้ทั่วไป แต่มีประสิทธิภาพในการรับสัญญาณในทุกภูมิประเทศ

เนื้อหาในห้องพิพิธกุศลทานกล่าวถึงงานที่ทรงช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เช่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ สงเคราะห์ด้านการศึกษา มูลนิธิราชประชาสมาสัยช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนและครอบครัวทั้งด้านการรักษาและการศึกษา เป็นต้น ห้องถัดมาคือถิ่นฐานพิทักษ์ แสดงเกี่ยวกับการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ วัตถุที่จัดแสดงเป็นของที่ระลึกจากประมุขและบุคคลสำคัญของประเทศนั้นๆ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้เกษตรกรพึ่งตัวเองได้ ทรงเน้นให้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ายั่งยืน ในห้องบริรักษ์ชาวนาไร่ จึงจัดแสดงเกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตร มีแบบจำลองแสดงการแบ่งที่ดินออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งปลูกข้าว ส่วนหนึ่งปลูกพืชไร่พืชสวน อีกส่วนหนึ่งขุดสระน้ำ นอกจากนั้นทรงประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งได้นำมาใช้ในตระพังแก้วด้วย 

ห้องสุดท้ายคือห้องโครงการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ตั้งโครงการเกี่ยวกับการเกษตรกรรม ทรงทดลองปลูกข้าวในนาที่ได้จำลองลักษณะดินจากภาคต่างๆเพื่อคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ มีพระราชดำริให้วิจัยระยะเวลาเก็บข้าวให้มีคุณภาพ ตั้งโรงสีข้าว นำแกลบมาอัดเป็นท่อนเพื่อใช้หุงต้ม ด้านปศุสัตว์ทรงทำการวิจัยครบวงจร ตั้งแต่ระบบเก็บนม การจำหน่าย และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ภายในห้องนี้แสดงแบบจำลองโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ประกอบด้วยป่าไม้สาธิต นาข้าวทดลอง โรงสีข้าวทดลอง ยุ้งข้าว โรงบดแกลบ บ่อปลานิล โรงนมยู เอช ที โรงนมผงสวนดุสิต โรงเนยแข็งมหามงคล โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ โรงบ่มเพาะเห็ด ธนาคารพืชพันธุ์ และโรงผลิตแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ผนังรอบระเบียงชั้นบนภายในห้องประชุม ติดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงาน และทรงกิจกรรมต่างๆ เช่น ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพทรงกีฬาหลายประเภท เช่นสกีน้ำ สกีหิมะ เรือใบ ภาพพระราชทานคัมภีร์อัลกุรอานที่โปรดเกล้าฯให้แปลเป็นภาษาไทยแก่ผู้นำศาสนาอิสลามที่จังหวัดนราธิวาส ส่วนใต้ภาพเหล่านี้มีตู้กระจกติดผนังจัดแสดงของที่ประมุขและบุคคลสำคัญทูลเกล้าฯถวาย ในการเสด็จเยือนต่างประเทศ เช่น แจกันโลหะเคลือบสี ลวดลายดอกไม้และนก จากประธานาธิบดีแห่งประเทศไต้หวัน กระถางหยกสามขาสีเขียว สลักและฉลุลวดลาย จากสาธารณรัฐประชาชนจีน แจกันกระเบื้องเคลือบลายดอกไม้สีทอง จากประเทศญี่ปุ่น จานโลหะเงินสลักคำถวายพระพรจากนายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา และ รถม้าทำด้วยเงิน จากประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมมีการจัดงานประจำปี คืองานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 ซึ่งมีการจุดเทียนถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาด้วย

ทางผู้ดูแลหอรัชมงคลได้ปรับปรุงการจัดแสดงและเพิ่มวัตถุจัดแสดงเมื่อกลางปีพ.ศ.2551 ปัญหาในการจัดแสดงคือแสงแดดซึ่งทำให้สิ่งจัดแสดงซีดจางเสื่อมสภาพไปบ้าง มีการแก้ปัญหาโดยการติดตั้งแผงกันแดดไว้บางส่วน 

เรื่อง/ภาพ เกสรา จาติกวนิช

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม : 5 สิงหาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-

งามอร่ามจับใจ เดินเล่นใน “สวนหลวง ร.9”

ปลายๆ ปีแบบนี้ ในเมืองกรุงก็เริ่มมีอากาศเย็นๆ เข้ามาเยือนให้รู้สึกสบายตัวบ้างแล้ว แบบนี้ก็เหมาะกับการออกไปเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจที่สวนสาธารณะ รับลมเย็นๆ สูดอากาศสดชื่น และไปชมต้นไม้ดอกไม้นานาพันธุ์ที่แข่งขันกันชูช่อสวยงาม ซึ่งในกรุงเทพฯ ของเรา ก็มีสวนสาธารณะมากมายหลายที่ แต่วันนี้ฉันขอไปเดินเล่นที่ “สวนหลวง ร.9” สวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ ด้านตะวันออกเฉียงใต้ แถวๆ หนองบอน เขตประเวศ
ชื่อผู้แต่ง:
-

ชื่อผู้แต่ง:
-