ชื่อผู้แต่ง: สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม | ปีที่พิมพ์: 2549
ที่มา: กรุงเทพฯ:สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม | ปีที่พิมพ์: 2550
ที่มา: กรุงเทพฯ:สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: 29 ส.ค. 2557;29-08-2014
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 01 กันยายน 2557
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ
ปืนใหญ่ได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งสนามรบ” เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงและยิงได้ระยะไกล ใช้บุกโจมตีศัตรูในยามศึกสงคราม ตลอดจนป้องกันพระนครในยามสงบโดยนำมาวางไว้ตามเชิงเทินบนป้อมปราการ สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีปืนใหญ่ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น กระบอกที่เก่าที่สุดปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในสมัยอยุธยามีเอกสารโบราณกล่าวถึงปืนใหญ่หลายครั้ง เช่น พระราชพงศาวดารกรุงสยามเล่าไว้ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดเกล้าฯ ให้นำปืนใหญ่ลงเรือไปยิงกองทัพของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ ปืนกระบอกนั้นมีชื่อน่าเกรงขามว่า “ณรายณ์สังหาร” ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถพบหลักฐานเป็นจดหมายขอพระราชทานปืนใหญ่มาจากโชกุนอิเยยัสสุ ประเทศญี่ปุ่น แสดงว่าชาวสยามในสมัยนั้นน่าจะมีการหล่อปืนใหญ่ขึ้นใช้เองแล้ว ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีโรงหล่อปืนใหญ่อยู่ที่หมู่บ้านฮอลันดาภายในกรุงศรีอยุธยา ใช้วัสดุทองเหลือง จัดว่าเป็นปืนคุณภาพดี และได้โปรดเกล้าฯส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ครั้นถึงสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ มีบันทึกกล่าวถึงการใช้ปืนปราบหงสาเพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่าที่ยกมา เมื่อเกิดการเสียกรุงฯ กองทัพพม่าได้ขนปืนใหญ่กลับไปเกือบทั้งหมด ที่ขนไม่ได้ก็ระเบิดทิ้งเสีย
ในสมัยรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไทยยังคงทำสงครามกับกองทัพพม่า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์ มีการหล่อปืนใหญ่ขึ้นเองและนำเข้าจากประเทศตะวันตก ปืนใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ “พญาตานี” ได้มาจากเหตุการณ์ที่พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองทางใต้ ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกทัพไปต่อสู้จนได้รับชัยชนะ ระหว่างนั้นมีข่าวว่าเมืองปัตตานีแข็งข้อ จึงทรงลงไปปราบแล้วนำปืนใหญ่กลับมาสองกระบอกโดยวิธีขนลงเรือ กระบอกหนึ่งจมน้ำระหว่างการเคลื่อนย้าย อีกกระบอกหนึ่งชื่อนางปัตตานีเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 1 ทรงพระราชทานชื่อว่า ”พญาตานี” ต่อมาโปรดเกล้าฯให้หล่อปืนนารายณ์สังหารขึ้นคู่กับพญาตานีพร้อมด้วยปืนใหญ่อีก 6 กระบอกที่หน้าโรงละครใหญ่ริมถนนประตูวิเศษไชยศรี สันนิษฐานว่าน่าจะมีช่างชาวฝรั่งเศสให้คำปรึกษาในการหล่อปืนครั้งนั้น ปืน 6 กระบอกดังกล่าวมีชื่อไพเราะ ดุดัน และคล้องจองกันเป็นคู่ว่า “มารประไลย ไหวอรณพ พิรุณแสนห่า พลิกพสุธาหงาย พระอิศวรปราบจักรวาล พระกาลผลาญโลก” ปัจจุบันปืนทั้งแปดกระบอกตั้งอยู่หน้าศาลาว่าการกลาโหม
การจัดวางปืนใหญ่โบราณเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นำปืนใหญ่จากพระบรมมหาราชวังและวังหน้ามาจัดวางบนสนามด้านหน้าศาลาว่าการกลาโหม สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากพระองค์ทรงเห็นตัวอย่างจากการจัดวางปืนใหญ่หน้าสถาบันวิชาการทหารของประเทศอังกฤษที่ทรงศึกษามา ต่อมาใน พ.ศ.2464 พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดวางปืนใหม่อีกครั้ง มีจำนวนปืนเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือได้จัดทำประวัติปืนใหญ่โบราณของไทยขึ้นเป็นครั้งแรก จึงถือว่าครั้งนี้เป็นการจัดทำพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่กลางแจ้งขึ้น
ปืนใหญ่ที่จัดแสดงที่นี่แบ่งออกเป็นสามกลุ่มตามพื้นที่ของสนามซึ่งถูกคั่นด้วยถนนทางเข้าและทางออก ฝั่งทิศเหนือติดศาลหลักเมือง ตรงกลางเป็นเสาธงชาติมีสนามล้อมรอบ ฝั่งทิศใต้ติดกับกรมแผนที่ทหาร ปัจจุบันจัดแสดงปืนใหญ่ทั้งหมดจำนวน 40 กระบอก จุดเด่นของปืนใหญ่แต่ละกระบอกที่จัดแสดงคือลวดลายประดับโดยส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณท้ายปืน รอบปากกระบอก และส่วนกลางกระบอก บางกระบอกมีรูปที่เพลาและรอบรูชนวนด้วย ลวดลายเหล่านี้แสดงถึงรูปแบบศิลปะที่นิยมกันในยุคที่ปืนกระบอกนั้นถูกสร้างขึ้น เช่น รูปบุคคลมีปีกคล้ายกินนรแต่ศีรษะเป็นฝรั่งมีผมหยิกเป็นวง รูปสิงห์ รูปคชสีห์ ลายไทยแบบที่พบได้ในสถาปัตยกรรม และหลายกระบอกประดับลวดลายแบบตะวันตก
ปืนพญาตานีเป็นปืนเด่นที่สุดด้วยความเป็นมาที่มีสีสันกว่าปืนกระบอกอื่น เอกสารทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงประวัติของปืนกระบอกนี้ว่าหล่อขึ้นในสมัยอยุธยาโดยช่างชาวจีนชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม ครั้งนั้นหล่อปืนขึ้นทั้งหมด 3 กระบอก สองกระบอกแรกสำเร็จด้วยดี เหลือแต่กระบอกที่สามพยายามหล่ออยู่หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงตั้งโต๊ะเซ่นไหว้เอาชีวิตของตนถวายถ้าหล่อปืนได้สำเร็จ ปรากฏว่าเมื่อหล่อได้แล้วนายช่างหล่อปืนจึงไปยืนหน้ากระบอกปืนแล้วจุดทดลองยิง เมื่อปืนลั่นก็พาร่างของเขาลอยหายไปในอากาศ นอกจากนั้นปืนกระบอกนี้ยังมีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในบรรดาปืนที่จัดวางไว้ที่นี่ ใช้วัสดุสำริด ส่วนท้ายปืนเป็นรูปสังข์ปลายงอน ที่เพลามีรูปราชสีห์ บนกระบอกปืนมีจารึกว่า ”พญาตานี” มีห่วงสำหรับยก 4 ห่วง มีรูชนวนบริเวณท้ายปืน ความยาว 6.82 เมตร ตั้งอยู่บริเวณสนามฝั่งทิศใต้
ปืนนารายณ์สังหารซึ่งเป็นปืนคู่ของพญาตานีตั้งอยู่บริเวณสนามฝั่งทิศเหนือ มีลักษณะที่ต่างจากพญาตานีตรงที่กระบอกปืนกว้างและสั้นกว่า ความยาว 4.5 เมตร มีลวดลายน้อยกว่า ปืนทั้งสองกระบอกเป็นปืนลูกโดดประเภทกระสุนวิถีราบ ใช้ยิงระยะไกลเพื่อทำลายป้อมกำแพง
สนามฝั่งทิศเหนือบริเวณที่ติดกับศาลหลักเมืองจัดแสดงปืนใหญ่ที่มีขนาดย่อมลงมา ปืนที่เรียงเป็นแถวเหล่านี้มีผู้สันนิษฐานว่านำเข้าจากยุโรป กระบอกที่เก่าที่สุดคือปืนชื่ออัคนิรุท สร้างในสมัยอยุธยาปีพ.ศ.2167 ทำด้วยสำริด บนกระบอกมีจารึกชื่อ มีรูปเครื่องหมายของประเทศสเปนบริเวณท้ายกระบอก จากอักษรบนกระบอกอ่านได้ว่า “BERN ADINO DE AND 1624” ความยาว 2.42 เมตร
ถัดมาเป็นปืนจากประเทศโปรตุเกสชื่อว่าเหราใจร้าย สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2213 หูจับมีรูปร่างคล้ายปลา มีรูปมงกุฎและนกบริเวณท้ายลำกล้องและอักษรอ่านได้ว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่พระเจ้าแผ่นดิน ความยาว 2.27เมตร ส่วนอีกกระบอกหนึ่งเป็นปืนจากประเทศฝรั่งเศสชื่อปราบอังวะ มีจารึกท้ายกระบอกว่าเจ เบรังเยร์ (J. BERENGER) แห่งเมืองดูเอย์ (douai) มีรูปลูกแพร์และลวดลายใบไม้แบบตะวันตกล้อมรูชนวน
จุดที่น่าสนใจคือชื่อของปืนหลายกระบอกแสดงถึงชนชาติต่างๆที่มีความสัมพันธ์ทางทหารกับไทย เช่นชื่อ ขอมดำดิน ไทใหญ่เล่นหน้า ยวนง่าง้าว ฝรั่งร้ายปืนแม่น จีนสาวไส้ มักกะสันแหกค่าย และมุงิดทะลวงฟัน เป็นต้น นอกจากปืนใหญ่แล้ว ยังมีรูปปั้นพญาคชสีห์ สัญลักษณ์ของกระทรวงกลาโหมยืนสง่าอยู่สองข้าง คชสีห์เป็นสัตว์หิมพานต์ ลำตัวเป็นราชสีห์ส่วนหัวเป็นช้าง เป็นตราประจำตำแหน่งของสมุหกลาโหมตั้งแต่สมัยอยุธยา
ผู้เขียน : เกสรา จาติกวณิช
ข้อมูลจาก:
การสำรวจภาคสนามวันที่ 2 พฤษภาคม 2551
ศิริรัจน์ วังศพ่าห์.ปืนใหญ่โบราณในประวัติศาสตร์ชาติไทย,กรุงเทพฯ: สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม, 2550
พลตรีชัชวาล ทัตตานนท์(บรรณาธิการ).120 ปี ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม, กรุงเทพฯ: สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม, 2549.
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
ยลปืนใหญ่ "พญาตาณี" และเหล่าราชาแห่งสนามรบ พร้อมชมน้ำพุดนตรี ที่ “พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ” กระทรวงกลาโหม
เมื่อเอ่ยถึง “กระทรวงกลาโหม” หลายคนคงจะนึกภาพอาคารสีเหลืองทรงยุโรป ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครและวัดพระแก้ว ซึ่งฉันก็มาเที่ยวละแวกนี้อยู่หลายครั้ง โดยสิ่งที่ฉันสนใจที่สุดนอกจากตัวอาคารที่โดดเด่นแล้ว ก็เห็นจะเป็นเหล่าปืนใหญ่โบราณน้อยใหญ่ที่ตั้งประดับเรียงรายอยู่บริเวณด้านหน้าของอาคารกระทรวงกลาโหม ซึ่งฉันก็ได้แค่มองผ่านตา เพราะแม้ทางกระทรวงจะเปิดให้ชมเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแต่ก็กั้นบริเวณไว้ไม่สามารถเข้าไปชมได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังเกรงๆ พี่ทหารที่ยืนเฝ้าขึงขังอยู่แถวนั้นอีกต่างหากแนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี การทหาร ปืนใหญ่ กระทรวงกลาโหม
พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ประปาไทย
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆและพิพิธภัณฑ์ในพระราชวังสวนดุสิต
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์สมุนไพร
จ. กรุงเทพมหานคร