พิพิธภัณฑ์แก้วมุกดาพาณิชย์


ที่อยู่:
252 บ้านปากคลอง ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก 65140
โทรศัพท์:
055 371 260, ติดต่อเทศบาลตำบลบางระกำ
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
เครื่องโลหะเคลือบ, ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เคยจำหน่ายและใช้ในครัวเรือนในช่วง 50 ปี
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 05 กรกฎาคม 2559

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์แก้วมุกดาพาณิชย์


“...แก้วมุกดาคือนามสกุล ส่วนพาณิชยคือผมเล่นของพวกร้านขายของชำ
ทุกคนคิดว่าผมเคยเป็นร้านค้า ผมเอาตัวหนังสือที่มีอยู่แล้วมาจัดทำใหม่
เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเอง”

 
ศุภชัย แก้วมุกดา นักสะสมและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แก้วมุกดาพาณิชย์ เท้าความถึงที่มาชื่อของบ้านที่เปลี่ยนเป็นสถานที่เพื่อการสะสม และเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมข้าวของที่ได้รับการสั่งสมมาหลายสิบปี “เดิมทีชอบ ‘เล่น’มอเตอร์ไซด์ [การแต่งรถและการสะสม]แต่เราเป็นคนบ้านๆ ทุนไม่ค่อยสูง แต่พื้นที่น้ำท่วมสูง เก็บลำบาก ในช่วงเวลาที่ ‘เล่นรถ’บางครั้งเราก็ท่องเที่ยวไปดูรถ ชอบของเก่า บางอย่างไม่เคยเห็นต้องถามเขา แม่บ้าง ย่าบ้าง บางอย่างเราอาจเคยเห็นสมัยเด็กๆ บ้าง คิดว่าอยากเปลี่ยนแนว อย่างนี้ ‘เล่น’ ของใช้ในบ้าน เก็บรักษาง่ายกว่าพวกรถ หนึ่งชิ้นก็มีหนึ่งเรื่องคุย ความสนุกอยู่ตรงนั้น บางจังหวะมีชาวบ้านหิ้วมาให้ เพราะเห็นว่าเราชอบ เราเริ่มถามเรื่องราว เขาเล่าให้ฟัง บางครั้งเป็นของขวัญแต่งงาน ของพวกนี้แบ่งปันด้วยน้ำใจ”

คุณศุภชัยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ พร้อมนำชมบริเวณต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ของสะสม อาณาบริเวณไม่กว้างขวางมากนัก สิ่งต่างๆ ได้รับการจัดแสดงไว้ที่ชั้นสองของเรือนที่พัก ข้าวของที่เห็นจำนวนหนึ่งเป็นเครื่องโลหะเคลือบสีสันฉูดฉาด คุณศุภชัยขยายความเกี่ยวกับการสะสม “ตอนแรกผมชอบพวกสังกะสีเคลือบ อย่างพวกจานช้อน เราเคยใช้กันมาแต่เด็ก ในครั้งที่ผมเริ่มเล่นครั้งแรก ไม่มีข้อมูล ก็อาศัยถามแม่ถามย่าบ้าง ของอย่างนี้หาซื้อได้ง่ายแต่ไม่สามารถเลียนแบบได้ จากนั้นเริ่มต่อยอด เป็นงานสะสมประเภทแก้ว กระติกน้ำ ผมหาข้อมูลในอินเตอร์เนต ได้ข้อมูลและเริ่มหาตลาด เวลาไปเดินตามตลาดนัดมีติดมาบ้าง เมื่อผมเริ่มเป็นที่รู้จักว่าเป็นนักสะสมข้าวของประเภทนี้ เขาแนะนำให้หาตามเว็บไซต์ บางครั้งมีการเปิดขาย บางครั้งมีการแลกเปลี่ยนกัน ผมเองขึ้นกับความพอใจเป็นหลัก ไม่ได้ต้องการแข่งขัน คนในละแวกบ้านจะรู้ความสนใจของผมดี”

ผู้เขียนถามว่า ทำไมถึงกลายเป็นที่รู้สึกของสื่อมวลชน คุณศุภชัยกล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่ง “จริงๆ ตรงนี้ไม่มีใครรู้จัก แม่ผมทำกระหรี่ปั๊บขาย เรียกว่าเป็นที่ขึ้นชื่อในพิษณุโลก บางทีตามต่างจังหวัดด้วย เมื่อสื่อมวลชนมาถ่ายทำเกี่ยวกับกิจการของแม่ แล้วพอเห็นบ้านที่มีของสะสม ก็สอบถามข้อมูล แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เปิด จากนั้น กลายเป็นการบอกเล่ากันปากต่อปาก ทางมหาวิทยาลัยหลายแห่งนำนักศึกษามาชมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ...นอกจากนี้ อย่างมหาวิทยาลัยออกพื้นที่มาสำรวจพื้นที่น้ำท่วม หากกล่าวถึงภัยน้ำท่วมแล้ว บ้านปากคลอง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก มักเป็นที่แรกที่ออกโทรทัศน์ก่อน พอหลายๆ คนเดินทางมาในพื้นที่ และเห็นว่ามีของเก่าสะสม  จึงกลายเป็นจุดที่นักศึกษาและผู้ที่สนใจมาเรียนรู้หรือเข้าชมได้ อาจารย์บางท่านที่นำนักศึกษามายังถามว่าทำไมไม่เก็บเรื่องราวอัตลักษณ์ชุมชนบ้าง”

เมื่อผู้เขียนสอบถามเพิ่มเติมโดยให้ยกตัวอย่างวัตถุที่ประทับใจหรือมีความหมายสำคัญกับคุณศุภชัย “ของชิ้นผมชอบมาก กระโถนคู่นี้ เมื่อสักปีกว่า มีพายุเข้ามาแถวนี้ บ้านหลายหลังพังหมดเลย ผมเป็นผู้นำท้องถิ่น ต้องคอยให้ความช่วยเหลือ ผมช่วยคุณป้าท่านหนึ่งไว้ โดยนำอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ผมเองเห็นกระโถนคู่นี้เลยได้สอบถาม ได้ความว่า ‘ป้าได้มาตั้งแต่สาวๆ แถวนี้เป็นชาวประมง หาปลาได้ก็เอาปลาไปขายในเมือง ป้าเลยซื้อของที่เป็นคู่ไว้’ในช่วงเวลาประสบภัยนั้น ผมเอาไปไม้ปรับปรุงบ้านแก แกเอาของมาให้แม่ ฝากมาให้ผม เปิดมาเป็นกระโถนคู่นี้ แต่พอเห็นว่า ก็ไม่แน่ใจว่าจะคืนไหม เพราะอยู่กับแกตั้งแต่เป็นสาวๆ แต่กว่าจะให้ใครสักคนจะให้ของที่มีความผูกพันมานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่ที่น้ำใจ บ้านแกค่อนข้างขาดแคลนหน่อย เราคอยไปดูแล”

อีกตัวอย่างหนึ่งจากเกี่ยวกับของสะสมที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือของใช้ในครัวเรือน “ผมรู้จักร้านนี้ตั้งแต่มัธยมฯ เขาขายของพวกนี้ เดินผ่านร้านมาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก เมื่อเราเริ่มโตขึ้น ลูกหลานไม่ได้ขายของ แต่ยังคงเก็บสินค้าที่เคยเป็นร้ายขายส่งของชำ/ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครอบครัว ทุกคนรู้ว่า ซื้อของไม่ได้ เขาให้ดูแต่ไม่ขาย ...กว่าแกจะใจอ่อนให้ซื้อ คุยกันจนสนิท ตัวแกไม่สะสม ตอนหลังขนมาขายให้หมด เช่น ผงซักฟอก สินค้าพวกนี้เป็นของค้างโกดังสมัยเตี่ย”
เมื่อผู้เขียนสอบถามถึงการแลกเปลี่ยน คุณศุภชัยให้คำตอบว่า “ผมจะซื้อพวกนี้ นอกจากนี้มีการแปลกเปลี่ยนผ่านเว็บไซต์ เราต้องเปลี่ยนเป็นทุนเพื่อหาซื้อสิ่งอื่น การรวมตัวในกลุ่มที่ ‘เล่น’ของสะสมนั้นไม่มี จะมีเพียงแต่เพื่อนเก่าๆ ที่เคยเล่นมอเตอร์ไซด์ น้องรุ่นใหม่ๆ สนใจเรื่องป้าย [ร้านค้า]ผมเองไม่คิดว่าคนสนใจมากมาย ส่วนตอนหลังมีสื่อมวลชนเข้ามา ก็เปิดให้ชมมากขึ้น ผมยินดี ไม่ได้ปิดกั้น ในช่วงเวลาหนึ่งคิดว่าไม่น่าสนใจมากมาย แต่เราไม่คิดว่า บางอย่างสำคัญกับคนอื่น ‘ทุน’เป็นกำลังสำคัญ”

เมื่อผู้เขียนสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวในพื้นที่ คุณศุภชัยกล่าวถึงโครงการที่ตนเองเสนอให้กับเทศบาล แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก “แต่ก่อน ราว พ.ศ.2520 มีตลาดสดหน้าวัดหลวงปู่แขก เป็นเรือนห้องแถวไม้เหมือนตลาดสามชุก แต่ด้วยวัดในตอนนี้ต้องการพื้นที่คืนเพื่อขยายกำแพงวัด วัดซื้อคืนพื้นที่และชาวบ้านรื้อถอนเรือนออกหมด ในช่วงสองสามปีมานี้ตั้งใจว่าอยากทำถนนคนเดิน นายกเทศมนตรีก็ซื้อห้องแถวไม้เก่า ตั้งใจว่าจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน แต่ตอนหลังยอมขายให้วัด

...หลายคนไม่ได้คำนึงวิถีชีวิต บ้านปากคลองเป็นบริเวณสำคัญสำคัญ เพราะเคยมีเรือเกลือ เรือขนโอ่งเดินเรือในแม่น้ำยมที่เชื่อมคลองบางแก้ว เมื่อก่อนมีท่าเรือหลังอำเภอ แต่ตอนนี้เรือวิ่งไม่ได้ เพราะมีฝายกั้นน้ำ ตลาดจึงตั้งอยู่ริมน้ำ แต่เมื่อมีการตัดถนน ตลาดขยายออกไป ตอนนี้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

...ตอนที่ทำกิจกรรมถนนคนเดิน เพื่อกันพื้นที่เรือนแถวโบราณ เคยเก็บภาพเก่าๆ แต่ไม่ปรากฏภาพถ่ายมากนัก เราเองอยากประติดประต่อเรื่องราว เป็นเรื่องเล่า ‘เส้นทางน้ำเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่’ในเขตพื้นที่เทศบาล ไม่มีพื้นที่ปลูกข้าว แต่เป็นเขตรอบนอก ชุมชนผมดั้งเดิมคือการทำประมงเพราะเป็นแหล่งปลา สมบูรณ์มาก แต่ในปัจจุบัน คนขายต้องรับมาขายจากที่อื่น” คุณศุภชัยเล่าปิดท้ายในการสนทนาในวันนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องของชุมชน แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ เพราะเห็นเพียงแต่ว่าเป็นเพราะตนเองเป็นคนสนใจของเก่าๆ เท่านั้น.

ชีวสิทธิ์  บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 13 มกราคม 2559
ชื่อผู้แต่ง:
-