พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง


ที่อยู่:
วัดสุทธาโภชน์ เลขที่ 132 หมู่ 7 ซอยฉลองกรุง 2 แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทรศัพท์:
0-2360-6520, 0-2326-6288
วันและเวลาทำการ:
เปิดพุธ-อาทิตย์ 09.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2548

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 กันยายน 2557

โดย: -

วันที่: 12 กันยายน 2557

โดย: -

วันที่: 12 กันยายน 2557

โดย: -

วันที่: 12 กันยายน 2557

โดย: -

วันที่: 12 กันยายน 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

คู่มือท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง

ชื่อผู้แต่ง: กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร | ปีที่พิมพ์: มปป.

ที่มา: กรุงเทพฯ:กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง

เราคุ้นเคยภาพของบ้านไทยมีศาลาริมน้ำในละครย้อนยุค เสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่กระโดดน้ำจากศาลา ดำผุดดำว่ายอย่างสนุกสนาน พระสงฆ์พายเรือมาบิณฑบาตยามเช้า เป็นที่นั่งเล่นสังสรรค์ของผู้ใหญ่ หรือเป็นที่นั่งปลดปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปกับสายน้ำ ภาพเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตของผู้คนในเขตลาดกระบัง พิพิธภัณฑ์ที่ขยายออกจากห้องเล็กๆ แสดงภาพถ่ายในอดีต บอกเล่าความเป็นมา จัดแสดงวัตถุสิ่งของบางชิ้นพร้อมทั้งแนะนำสถานที่สำคัญในเขตลาดกระบัง 

ด้วยความต้องการปลุกจิตสำนึกของผู้คนทั้งในชุมชนและคนทั่วไป สำนักงานเขตฯ ลาดกระบัง ได้จัดกิจกรรมโดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ แหล่งวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว ของชาวลาดกระบัง” กิจกรรมล่องเรือท่องเที่ยววันนี้เราจะไปเที่ยววัดลาดกระบัง ชมอุโบสถทั้งใหม่และเก่า สักการะหลวงพ่อขาว พระพุทธรูปปางมารวิชัย จากนั้นจะนั่งเรือไปที่ตลาดหัวตะเข้ ตลาดริมน้ำ ด้านในคือชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม ก่อนพักกลางวัน แวะชมภาพวาดและงานศิลปะอื่นๆ ที่หอศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป สถาบันที่ผลิตศิลปินฝีมือเยี่ยมจำนวนมากมาย

เขตลาดกระบังมีจุดเด่นตรงที่ครั้งหนึ่งผู้คนต่างมีวิถีชีวิตริมน้ำ ถ้านับจำนวนที่นี่มีคูคลองมากกว่า 70 คลอง โดยมีคลองสายหลักคือ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองนี้เป็นคลองขุดที่เกิดมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 โดยขุดต่อจากคลองพระโขนงไปเชื่อมกับคลองด่าน ออกสู่แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองนี้มีความยาวถึง 46 กิโลเมตร 

ตอนเช้าก่อนล่องเรือ ร.ต. บุญธรรม หุยประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตลาดกระบัง และคุณปิยาภรณ์ วังวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ได้กล่าวต้อนรับและบอกโปรแกรมการเดินทางคร่าวๆ ความรู้สึกแรกของการได้นั่งอยู่ในเรือที่ล่องไปในคลองขนาดใหญ่ คลองที่นี่กว้างและยาวกว่าคลองอื่นๆ ในกรุงเทพฯ เท่าที่เคยเห็นมา คุณภาพน้ำในคลองจัดว่าดี เมื่อเรือแล่นไป ทุกคนต่างรู้สึกถึงลมเย็นที่พัดผ่านน้ำ สองฟากฝั่งแม่น้ำมองเห็นภาพปัจจุบันและอดีตสลับกันเป็นระยะ ที่อยู่อาศัยแบบอพาร์ตเม้นท์สร้างใหม่มีให้เห็น แต่ที่สะดุดตาและดึงความรู้สึกเห็นจะเป็นบ้านไม้ที่ยังคงอยู่ ทั้งเป็นบ้านเดี่ยวและเป็นแบบเรือนแถว แต่ละบ้านมีศาลาท่าน้ำ มีบ้านไม้บางหลังอยู่ในสภาพผุพัง

จุดหมายแรกอยู่ที่วัดลาดกระบัง วัดนี้มีพระพุทธบุษโยภาส หรือ “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่อด้วยอิฐพอกปูนสีขาวทั้งองค์ ภายในอุโบสถหลังใหม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสวยงามมาก ภาพด้านหลังองค์พระมีเหล่าเทวดาและช้างเอราวัณ ส่วนผนังใกล้บานหน้าต่างทั้งสองด้านเป็นภาพพุทธประวัติ และที่ไม่ควรพลาดชมคือ อุโบสถหลังเก่าที่สวยงามและมากด้วยความหมายด้วยการร่วมแรงกันสร้างของคนในชุมชน

ในการเที่ยวชมวัด ได้มีวิทยากรท่านหนึ่งคือ อาจารย์ประเสริฐ ฤทธิ์สำเริง มัณฑนากรและนักพัฒนา ในการบรรยายอาจารย์ได้กล่าวไว้ประโยคหนึ่ง ซึ่งอธิบายถึงสาเหตุของความปรักหักพังขาดการดูแลของบ้านริมคลอง หลังจากมีถนนตัดผ่านเข้ามา “เมื่อก่อนริมคลองเป็นหน้าบ้าน แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นหลังบ้าน”

หลังจากนั้น ล่องเรือต่อไปเพื่อไปเยี่ยมชมผลงานศิลปะในหอศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป ก่อนเรือเข้าจอดเทียบท่าที่ตลาดริมน้ำหัวตะเข้ ภาพอดีตของที่นี่ค่อยแจ่มชัดมีชีวิตชีวาขึ้น มีบ้านเรือนที่ยังคงบรรยากาศเก่าๆ อยู่สองฝั่งคลอง สะพานข้ามคลองสำหรับให้ผู้คนสัญจรข้ามไปมาบางจุดยังเป็นสะพานไม้ คณะของเราจะพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่นี่ วันนี้พิเศษที่มีแม่ค้าทำของมาขายมากกว่าทุกวัน ทุกคนได้รับคูปองฟรีแลกซื้ออาหารและของที่ระลึกติดมือกลับบ้าน จากตลาดริมน้ำหัวตะเข้ เดินผ่านเข้าไปในชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม ชั่วอึดใจก็ถึงหอศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป 

หอศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป จัดแสดงงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงที่ได้มอบให้เป็นสมบัติของวิทยาลัย จัดแสดงผลงานของศิษย์เก่า คณาจารย์ และศิษย์ปัจจุบัน เฉพาะแต่ภาพเขียนมีเป็นร้อยภาพมีให้ชมกันละลานตา ถ้าดูกันอย่างจริงๆจังๆ คงต้องใช้เวลาทั้งวัน 

ช่วงบ่ายเราได้ล่องเรือไปที่วัดสุทธาโภชน์ วัดนี้ต่างกับที่อื่นตรงเป็นวัดของชุมชนชาวมอญ ในน้องๆ นักเรียนได้แต่งตัวสวยงามตามแบบชาวมอญมายืนต้อนรับ วันนี้จะมีการเล่นสะบ้าของชาวมอญให้ชมด้วย การเล่นสะบ้าปกติจะมีอยู่ในงานประเพณีสงกรานต์ชาวมอญ วัดนี้เองที่เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง ภายในพิพิธภัณฑ์ได้เล่าถึงประเพณีน่าสืบสานตามแบบอย่างอารยธรรมพื้นเมือง เนื่องจากเขตลาดกระบังมีชุมชนอพยพเข้ามาตั้งรกรากทั้งชาวมอญ ชาวมุสลิม ผนวกกับชุมชนที่อยู่ดั้งเดิม ทำให้เขตลาดกระบังมีประเพณีการละเล่นที่โดดเด่น เช่น ตักบาตรพระร้อย ตักบาตรน้ำผึ้ง แห่หงส์ตะขาบ การเล่นสะบ้า เป็นต้น

ในส่วนของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลาดกระบัง เขตลาดกระบังเดิมเป็นอำเภอชื่อ “อำเภอแสนแสบ” ราวปี พ.ศ. 2468-2469 พลเอกสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงลพบุรีราเมศร์ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นทรงเห็นว่าชื่อของอำเภอแสนแสบไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพราะคลองแสนแสบเป็นคลองที่ผ่านไปทางอำเภอมีนบุรี มิได้ผ่านมาทางอำเภอแสนแสบแต่อย่างใด จึงทรงให้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอแสนแสบ” เป็น “อำเภอลาดกระบัง” 

ในที่นี้บุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชน คือเจ้าจอมมารดากลิ่น (ซ่อนกลิ่น) ใกล้กับอาคารพิพิธภัณฑ์มีอนุสรณ์สถานเจ้าจอมมารดากลิ่น ท่านเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 มีเชื้อสายมอญ ได้สร้างวัดสุทธาโภชน์เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนพระปริยัติธรรม และเป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุและสามเณร และเป็นผู้สานสัมพันธ์ระหว่างชาวรามัญกับชาวไทยในท้องถิ่นลาดกระบังให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข นอกจากนี้ท่านยังเป็นสตรีคนแรกที่แปลนวนิยายภาษาอังกฤษ

บุคคลสำคัญอีกท่านที่คือ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหกลาโหมในรัชกาลที่ 5 ท่านได้จับจองที่ดินบริเวณริมคลองเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ โดยตั้งใจจะให้ที่ดินผืนนี้เป็นสถานศึกษาและหน่วยงานราชการมากมาย เช่น หอสมุดแห่งชาติลาดกระบังเฉลิมพระเกียรติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โรงเรียนพรตพิทยาพยัต วิทยาลัยช่างศิลป เป็นต้น

นอกจากวัดลาดกระบังและวัดสุทธาโภชน์ที่อยู่ในการเดินทางครั้งนี้ ยังมีวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือวัดทิพพาวาส วัดนี้มีอุโบสถที่สร้างด้วยไม้สักทอง มีอายุประมาณ 100 ปี อุโบสถหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งผิดกับที่อื่น ทั้งนี้เป็นการสร้างตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งมีลำคลองอยู่ด้านหน้า

ภายในวัดสุทธาโภชน์ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายที่ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เรือมาด เรือเหล่านี้เมื่อก่อนอยู่ในวิถีชีวิตการทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน และใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมาตามที่ต่างๆ ตัวเรือมักทำด้วยไม้สักและไม้ตะเคียน แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีการนำมาใช้ เรือมาดเหล่านี้ชาวบ้านได้นำมาบริจาคให้กับวัดและทางวัดมีฝ่ายซ่อมบำรุง ซึ่งน่าจะมีมากกว่า 50 ลำ ในงานประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ได้มีการนำเรือเหล่านี้ออกมาใช้ งานตักบาตรพระร้อยจัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกหลังวันออกพรรษาของทุกปี นอกจากนี้ยังมีเรือนไม้สักโบราณ ข้างในมีข้าวของเครื่องใช้ของพระภิกษุ มีหินบดยา ตู้เก็บพระไตรปิฎก

ก่อนกลับได้มีการสาธิตการเล่นสะบ้ามอญ น้องๆ นักเรียนหญิงและนักเรียนชาย แต่งกายตามแบบชาวมอญ ฝ่ายหญิงเป็นตัวแทนของสาวคลองมอญ ฝ่ายชายเป็นตัวแทนของหนุ่มคลองสาม งานประเพณีนี้ทำให้หนุ่มสาวมีโอกาสได้ทำความรู้จักกัน การแสดงจบลงด้วยความสนุกสนาน 

กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นความสุดพิเศษให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม หลายภาคส่วนได้ประสานงานกันเพื่อพลิกฟื้นวิถีชีวิตริมน้ำ อนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงาม พร้อมกันกับส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เขตลาดกระบังตั้งเป้าหมายว่าปีหน้าจะทำกิจกรรมเช่นนี้อีก เพราะเล็งเห็นว่าการเริ่มต้นทำสิ่งเล็กๆ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต 

สาวิตรี ตลับแป้น ผู้เขียน / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามวันที่ 21 มิถุนายน 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-