พิพิธภัณฑ์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา


พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านจิตเวชแห่งแรกของไทย เป็นโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งนายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ได้เล็งเห็นว่าประวัติศาสตร์ของจิตเวชศาสตร์ไทยได้เริ่มต้นขึ้นที่นี่เป็นแห่งแรก เป็นแม่แบบการจิตเวชอย่างแท้จริง สมควรที่จะรวบรวมประวัติ วิวัฒนาการของงานและโรงพยาบาลไว้ จึงได้จัดตั้ง "สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา" ขึ้น เพื่อเก็บรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้โบราณที่เคยใช้อยู่ในโรงพยาบาลมาจัดแสดงไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

ที่อยู่:
เลขที่ 112 ถ.สมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน กรุงเทพฯ 10600
โทรศัพท์:
0-2437-1298, 0-2437-0200 ต่อ 4114, 4115
วันและเวลาทำการ:
ปัจจุบันปิดปรับปรุง (เดิมเปิดทุกวัน 9.00-15.00 น.เว้นวันหยุดราชการ)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2528
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

80ปี เขตคลองสานต้องไปเยี่ยมโรงพยาบาลปากคลองสานและพิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: ปีที่12ฉบับที่ 6 เม.ย. 2534

ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

ริมคลองสานอันดูสงบร่มเย็นเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลที่รับหน้าที่ดูแลผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวชมาเนิ่นนาน ที่นี่มีพิพิธภัณฑ์บอกเล่าความเป็นมาและประวัติทางการแพทย์การรักษาของจิตเวชศาสตร์ในประเทศไทยให้ผู้สนใจได้ศึกษาด้วย

อาคารเก่าแก่ที่ดูสวยงามแห่งนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์ของการรักษาผู้ป่วยทางจิตของประเทศไทยไว้อย่างมากมาย เริ่มจากห้องจัดแสดงห้องแรก เป็นห้องเก็บเครื่องไม้เครื่องมือการรักษาแบบเก่าไว้ เช่นเครื่องช็อต กระแสไฟฟ้าที่ใช้กับผู้ป่วยซึ่งยังต้องใช้แบตเตอรี่ชาร์จไฟอยู่ และภาพผู้อำนวยการโรงพยาบาลตลอดจนรายชื่อของผู้อำนวยการแต่ละท่านไว้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เก่าแก่นี้ทำให้ห้องดูขรึมขลังขึ้น ภายในห้องนี้มีถังไม้ขนาดใหญ่พอที่คนจะลงไปนั่งได้ 1 คน เจ้าหน้าที่นำชมเล่าว่าเป็นถังไม้ที่ใช้สำหรับหุงข้าวในยุคที่ยังไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าใช้ ให้ผู้ป่วยซึ่งมีจำนวนมากกินต้องใช้ถังขนาดนี้หลายใบด้วยกัน ใบนี้ทางโรงพยาบาลเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ห้องที่สองเป็นห้องที่ดูสวยงาม อุปกรณ์ตกแต่งเช่นโต๊ะเครื่องแป้ง โต๊ะเขียนหนังสือเหล่านี้ผู้นำชมเล่าว่าเป็นของผู้ป่วยในสมัยก่อนที่เป็นผู้ดี จะมีข้าวของเครื่องใช้ดีๆ ส่วนตัวมาใช้แต่เมื่อเสียชีวิตลงญาติพี่น้องก็ไม่ได้นำกลับจึงกลายเป็นสมบัติของโรงพยาบาลไป โต๊ะบางตัวเป็นโต๊ะทำงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาล ที่ฝาผนังมีรูปของท่านเจ้าพระยาสุรวงส์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เจ้าของเดิมของบ้านหลังนี้ก่อนที่จะบริจาคมาเป็นของโรงพยาบาล และรูปของคณะแพทย์จิตเวชยุคแรกๆ โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงห์แก้วเป็นผู้สอน

สิ่งที่เด่นที่สุดกลางห้องก็คือระฆังใบใหญ่ ถือว่าเป็นระฆังที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก เพราะเป็นระฆังบอกเวลากินข้าวของผู้ป่วยในสมัยก่อน ผู้คนแถบคลองสานที่เกิดทันก็จะเคยได้ยินเสียงระฆังนี้กันทุกคน เพราะมีเสียงดังกังวานไปทั่ว ระฆังใบนี้เมื่อเลิกใช้ถูกนำไปขายแต่มีผู้ซื้อคืนกลับมาเป็นสมบัติของโรงพยาบาล เรื่องเล่านี้มีหลักฐานก็คือรูปถ่ายของโรงอาหารสมัยโบราณซึ่งมีผู้ป่วยนั่งเรียงกันกินข้าวและมีระฆังใบนี้แขวนอยู่ ของจัดแสดงที่อยู่ใกล้กับระฆังก็คือตะเกียงสวยงามหลากหลายแบบ ตะเกียงเป็นสิ่งจำเป็นในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นที่นิยมใช้กันมากจนเกิดการประกวดตะเกียงในสมัยโบราณ โรงพยาบาลแห่งนี้ได้เข้าร่วมประกวดด้วยจึงมีตะเกียงสวยๆ มากมาย ส่วนที่ฝาผนังอีกด้านเป็นภาพของรัชกาลที่ 5 ผู้ริเริ่มให้มีการศึกษาเรื่องผู้ป่วยทางจิตและจัดหาที่รักษาพยาบาลอย่างเป็นรูปแบบ และไม่น่าแปลกใจที่อาคารสวยๆ เก่าแก่อย่างนี้จะได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปีพ.ศ.2530 จากสมเด็จพระเทพฯ ผู้นำชมบอกว่าให้สังเกตพื้นไม้ของอาคารนี้ให้ดีจะมีความลาดเอียงเพราะตัวอาคารเก่าแก่มากแล้ว และเป็นสาเหตุให้ต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าชมด้วย

ห้องถัดมาค่อนข้างน่ากลัวเพราะมีหุ่นจำลองเท่าตัวคน แสดงท่าทางอยู่ในชุดของผู้ป่วยสมัยก่อน มีการจัดแสดงการบำบัดอาการคุ้มคลั่งแบต่างๆ เช่นนอนแช่ในอ่างน้ำร้อนสลับน้ำเย็น ใส่เสื้อมัดมือ ผูกตัวคนไข้ติดกับเตียง หรือขังในห้องขังซึ่งวิธีที่ดูโหดร้ายทารุณเหล่านี้บางชนิดก็เลิกใช้แล้วเพราะถือเป็นการทารุณและละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ในห้องนี้มีการจัดแสดงตำราทางจิตเวชศาสตร์ในยุคต่างๆ ตั้งแต่แปลจากหนังสือภาษาอังกฤษเป็นลายมือของผู้สอนเอง จนกระทั่งมีการพิมพ์หนังสือออกมาจนถึงปัจจุบันที่มีการพัฒนามากขึ้น และมีภาพชาวต่างชาติที่ศึกษาด้านจิตเวช อยู่มากมายหลายท่าน ที่รู้จักกันดีก็คือซิกมันต์ ฟรอยด์ เจ้าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีข่าวคราวเกี่ยวกับการแพทย์ที่วิจัยหรือค้นพบโดยนายแพทย์ชาวไทย เช่นการค้นพบพยาธิในสมองคนเป็นต้น ในห้องนี้ทำให้เราได้ทราบพัฒนาการของการศึกษาด้านจิตเวชศาสตร์ของไทยที่พัฒนามาเป็นลำดับ และมีตู้จัดแสดงตู้หนึ่งมีหนังสือลงพระปรมาภิไธยของทั้งในหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ เจ้าหน้าที่นำชมเล่าว่า เกือบทุกพระองค์เคยเสด็จมาเยี่ยมโรงพยาบาลแห่งนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีแก่คนไทยแม้จะเป็นคนป่วยทางจิตก็ตาม

ห้องสุดท้ายเป็นห้องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยเสด็จมาประทับเมื่อครั้งเสด็จฯมาเยี่ยมโรงพยาบาล ผู้นำชมแนะนำให้กราบนมัสการพระพุทธรูปองค์ใหญ่กลางห้องซึ่งเป็นพระที่อยู่คู่กับโรงพยาบาลแห่งนี้มาช้านานและเป็นที่เคารพของเจ้าหน้าที่ทุกคนอีกด้วย

เมื่อชมภายในพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้วสิ่งที่ไม่ควรจะพลาดก็คือการเดินชมตัวอาคารแห่งนี้ด้วยเพราะเป็นอาคารที่สวยงามสมกับที่ได้รับรางวัล อาคารหลังนี้แบ่งส่วนด้านหน้าและด้านหลังอย่างชัดเจน ด้านหน้าจะเป็นทางขึ้นของเจ้านาย ส่วนด้านหลังจะเป็นทางขึ้นของคนรับใช้ ระเบียงอาคารก็สวยงามร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ และด้านหน้าของอาคารมีรูปปั้นของศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงห์แก้ว บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทยซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งนี้ทุกคน

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องทำหนังสือขออนุญาตก่อนเข้าชม เพราะมีความยุ่งยากเนื่องจากเป็นอาคารที่มีความเก่าแก่และค่อนข้างเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทาง แต่ถ้าได้เข้าชมแล้วจะรู้สึกคุ้มค่าทั้งจากข้อมูลความรู้ที่ได้รับและการได้ชมสถาปัตยกรรมที่สวยงามของสถานที่แห่งนี้ 

มัณฑนา ชอุ่มผล : เขียน
วิรวรรณ์ คำดาวเรือง : ถ่ายภาพ


ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม 3 ธันวาคม 2550

ชื่อผู้แต่ง:
-