พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดุสิต


ที่อยู่:
อาคารไม้หน้าพิพิธภัณฑ์เด็กสวนเกียกกาย ถ.ทหาร เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์:
0-2241-3490, 0-2241-4504
วันและเวลาทำการ:
เปิดพุธ-อาทิตย์ 10.00-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2548

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 กันยายน 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดุสิต

สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ เกียกกาย มีอะไรที่มากกว่าสวนสาธารณะธรรมดาทั่วไป ที่นี่ถือได้ว่าเป็นปอดอีกแห่งสำหรับคนเมือง และเมื่อขับรถมาติดสัญญาณไฟแดงตรงแยกเกียกกาย พบป้ายบอกทางที่ว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร เขตดุสิต ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีป้ายบอกทางอีก 2-3 ป้ายในทิศทางเดียวกันว่า พิพิธภัณฑ์เด็กสวนเกียกกาย และศูนย์เยาวชนสวนเกียกกาย แสดงว่าเพียงเราเข้าไปในที่แห่งเดียว เราจะได้เรียนรู้อะไรมากมาย

บริเวณนี้แต่เดิมเป็นโรงงานทอผ้าของกระทรวงกลาโหม และอยู่ในชุมชนเกียกกาย เมื่อเดินเข้าไปก็พบอาคารไม้หลังหนึ่ง เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตดุสิต คุณดารณี ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ พาเราไปห้องแรกของพิพิธภัณฑ์ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเขตดุสิต ตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นเงินส่วนพระองค์ซื้อที่ดิน ทางทิศเหนือของพระนครซึ่งเป็นที่สวยติดกับที่นา ระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมกับคลองสามเสน และได้โปรดให้สร้างพลับพลาไว้เป็นที่เสด็จกระทับแรม ทรงพระสำราญพระราชทานนามว่าสวนดุสิต ดังนั้นชื่อของเขตจึงน่าจะมีที่มาจากพระราชวังดุสิตนั่นเอง

เขตดุสิตเป็นเขตพื้นที่เก่าแก่ ทั้งประวัติชุมชน ความเป็นอยู่ ล้วนแล้วแต่มีประวัติมาช้านาน ในห้องแรกทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดบรรยากาศในอดีตของพื้นที่เขตดุสิต มีแผนที่เขตในอดีต และปัจจุบัน, พระราชวังดุสิต พระบรมรูปทรงม้า, แผนผังแสดงพระตำหนักต่างๆ ในพระราชวังดุสิต พระตำหนักสวนดุสิต, พระที่นั่งวิมานเมฆ, พระที่นั่งอัมพรสถาน, พระที่นั่งอนันตสมาคม, วังสุโขทัย, สวนสุนันทา, สวนจิตรลดา, พระราชวังจันทรเกษม สมัยก่อนและปัจจุบัน, โรงช้างต้น และวังปารุสกวัน

ถัดไปทางด้านซ้ายมือของห้องแรก คุณดารณีบอกว่าจัดเป็นห้องแสดงสินค้าจากโครงการหลวงสวนจิตรลดา มีทั้งผลไม้รสต่างๆ สบู่ แชมพู ฯลฯ เพียงแต่มิได้มีจำหน่ายเท่านั้นเอง นอกจากนี้ห้องนี้ยังสามารถสืบค้นข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ห้องสำหรับอ่านหนังสือ และจัดนิทรรศการหมุนเวียนอีกด้วย

ถัดมาอีกห้อง จัดแสดงเรื่องราวของการแต่งกายสมัยรัชกาลที่ 5 ในชุดของเจ้าจอม และพระสนม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-7 ดูแล้วทำให้นึกถึงละคร "สี่แผ่นดิน" จนมา "ทวิภพ" ที่ทำเอาเราติดใจและชื่นชอบชุดของสมัยนั้นเป็นพิเศษ 

อีกด้านหนึ่งก็จัดแสดงเรื่องราวบุคคลสำคัญ ถึงแม้จะไม่ได้เกิดที่เขตดุสิต แต่ได้สร้างชื่อเสียง และมีผลงานอยู่ในเขตดุสิต ถือเป็นบุคคลที่น่าภาคภูมิใจ เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการสูงสุด และยังเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 10 ของไทย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอันยาวนานมากกว่า 8 ปี ท่านได้รับการยกย่องจากประชาชนควรแก่การเป็นรัฐบุรุษ อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี ถึงแม้ท่านจะวางมือจากการเมืองแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังมี ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ครูสมยศ ทัศนพันธ์ และพรานบูรณ์ หรือนายดวงจันทร์ จันทร์คณา ผู้มีผลงานบทประพันธ์การละคร บทกวี และดนตรีอีกมากมาย

ด้านสาธารณสุข ก็มี รองศาสตราจารย์นายแพทย์สภา ลิมพาณิชยการ คุณหมอผู้มีจิตใจเมตตาปราณี เพราะตั้งแต่คุณหมอเปิดทำการรักษา คุณหมอคิดค่ารักษาเพียงแค่ 5 บาท ถึง 30 บาทเท่านั้น ซึ่งบางคนมารักษาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่าจนถึงรุ่นหลาน

ห้องถัดไปเป็นห้องภูมิปัญญาชาวบ้าน และวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่ในเขตดุสิต เช่น เรือเล็ก บ้านทรงไทย และการแกะสลักผลไม้ สบู่ และการประดิษฐ์ภาพด้วยพลอยสี

และยังมีการแสดงภาพถ่ายของโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานทอผ้าของกระทรวงกลาโหม และการเสด็จเข้าชมโรงงานทอผ้าแห่งนี้ของสมเด็จย่าฯ พร้อมทั้งเครื่องใช้ในโรงงานที่ยังเก็บไว้ นอจากนี้ยังมี โรงผลิตเบียร์ ของบริษัทบุญรอด, การตีทอง, การทำธูป การทำกงเต็ก

อีกด้านของประตูได้จัดแสดงภาพแหล่งท่องเที่ยวในเขตดุสิต เช่น วัดญวน (วัดสมณานัมบริหาร), โบสถ์เซ็นฟรังซิสซาเวีย, โบสถ์คอนเซ็บชั่น, หอสมุดแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุ, หอสมุด วชิรญาน, สวนสัตว์ดุสิต, บ้านพิษณุโลก, ตึกไทยคู่ฟ้า, วังกรมหลวงชุมพร, วังสวนปาริฉัตร (เจ้าจอมมารดาอ่อน), พระตำหนักลัดดาวัลย์, ตำหนักเจ้าจอมมารดาเลื่อน, บ้านมนังคศิลาราชตฤนมัยสมาคม, สถานีรถไฟจิตรลดา, วัดเทวราชกุญชร, วัดราชาธิราช, วัดโบสถ์สามเสน และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งสำคัญ ประวัติปูมบ้านปูมเมืองขนาดนี้ จะไม่นำลูกหลานของท่านมาศึกษาเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตดุสิตแห่งนี้ แถมทั้งพิพิธภัณฑ์เด็ก และบ้านหนังสือที่อยู่ไม่ห่างจากกัน หรือจะพาไปชมของจริงเลย คงดีกว่าปล่อยให้เล่นเกมคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านเป็นไหนๆ ในช่วงปิดเทอมแบบนี้

ถ้ามาจากบางโพ ตรงมา เจอแยกเกียกกายก็เลี้ยวขวา ถ้ามาจากถนนทหาร ขับรถตรงมาเรื่อยๆ เจอแยกเกียกกายก็ตรงเข้าไปเลย ถ้ามาจากถนนสามเสน หรือมาจากสะพานซังฮี้ มาเรื่อยๆ เจอแยกเกียกกายก็เลี้ยวซ้าย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครดูแลพิพิธภัณฑ์ อยู่คอยต้อนรับผู้เยี่ยมชมเป็นอย่างดี

เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ

สำรวจ : 12 มีนาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-