พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง


ที่อยู่:
ศาลาไม้สักเรือนไทย วัดใต้ ซอยอ่อนนุช 3 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
โทรศัพท์:
0-2332-8139, 0-2322-4667
วันและเวลาทำการ:
เปิดพุธ-อาทิตย์ 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2548

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 กันยายน 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง

เรือนไม้สักริมคลองประเวศบุรีรมย์ ศาลาริมน้ำท่ามกลางไม้ดัดที่มาจากต้นข่อย วัดโบราณอายุนับร้อยปี เรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในอดีต อีกหลายสิ่งที่หลายคนไม่รู้ว่าอยู่ที่เขตสวนหลวง 

เขตสวนหลวงเดิมเป็นตำบลอยู่ในเขตปกครองของอำเภอพระโขนง จนกระทั่งปีพ.ศ. 2536 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตการปกครองใหม่ โดยรวมพื้นที่แขวงสวนหลวง และบางส่วนของเขตประเวศและเขตคลองเตย มาจัดตั้งเป็นเขตสวนหลวง นั่นเองที่ทำให้วัดมหาบุศย์ที่มีตำนานแม่นากพระโขนงได้มาอยู่ในพื้นที่ของเขตนี้ 

พิพิธภัณฑ์ของเขตสวนหลวงอยู่ในวัดใต้ วัดนี้เป็นวัดโบราณ ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง ตามการคาดคะเนจากรูปทรงเจดีย์เก่า น่าจะถูกสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พิพิธภัณฑ์อยู่ที่ศาลาไม้สักเรือนไทย บริเวณกุฏิของพระสงฆ์ อาสาสมัครที่ทำหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์นี้คือคุณอภินันท์ เตชะวลิตพงษ์

เมื่อเดินขึ้นไปสิ่งที่สะดุดตาคือแผนที่แสดงสถานที่สำคัญของเขตสวนหลวง วัดวาอารามส่วนใหญ่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลำคลอง วัดเหล่านี้ล้วนเป็นวัดเก่าแก่อายุมากกว่าร้อยปีได้แก่ วัดมหาบุศย์ สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายประมาณพ.ศ.2305 วัดใต้สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2346 วัดปากบ่อ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2352 วัดยางสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2394 วัดทองในสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2340 วัดต้นไทรย์สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2327 วัดขจรศิริสร้างสมัยรัชกาลที่ 3 ในราว พ.ศ. 2392 

นอกจากชาวพุทธและวัด ในเขตนี้ยังมีคนมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากประมาณ 80 % ชาวมุสลิมกลุ่มนี้เข้ามาตั้งรกรากในสมัยรัชกาลที่ 3 มัสยิดที่สำคัญได้แก่ มัสยิดอัลเอี๊ยะติซอม (สุเหร่าใหญ่หัวป่า) มัสยิดอัลกุ๊บรอ(สุเหร่าใหญ่) มัสยิดดารุ้สอามีน มัสยิดนูรุ้ลอิสลาม มัสยิดเราฎอติ้ลญันนะฮ์ มัสยิดอัลวารุ้ลอับร๊อด มัสยิดยามีอุ้ลอิสฮาร์ด ชาวมุสลิมสมัยก่อนเป็นกลุ่มที่มาจากปัตตานีและมลายู นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญระดับชาติ นั่นคือศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2494 เนื้อที่ 10 ไร่เศษ คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามได้รวมตัวกันก่อสร้างอาคารขึ้นมาเพื่อมุสลิมทั้งประเทศประกอบพิธีกรรมร่วมกัน เป็นศูนย์กลางติดต่อของชาวมุสลิมระดับชาติ ตัวอาคารประกอบด้วยรูปโดม 6 เหลี่ยม จำนวน19 โดม มีหอคอยสูง56 เมตรเรียกว่า “หออะซาน”

ถ้าพูดถึงสถานที่สำคัญของเขตนี้ที่มีคนแวะเวียนไปเป็นจำนวนมาก ก็ต้องกล่าวถึงวัดมหาบุศย์ วัดนี้เป็นวัดราษฎร์ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประมาณ พ.ศ.2305 เดิมชื่อ “วัดสามบุตร” เล่ากันว่าบุตรชายสามคนพี่น้องร่วมกันสร้างขึ้น ต่อมามีสภาพเป็นวัดร้าง จนกระทั่งพระมหาบุตร จากวัดเลียบ(วัดราชบูรณะ)ได้มาเยี่ยมญาติโยมของท่านซึ่งอยู่ในคลองพระโขนง บรรดาชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ให้ท่านอยู่วัดสามบุตรเพื่อช่วยเป็นผู้นำในการบูรณะวัด เมื่อเสร็จเรียบร้อยชาวบ้านจึงเปลี่ยนนามวัดใหม่มาเป็น“วัดมหาบุตร” แต่ทางราชการได้เขียนเป็นชื่อ “วัดมหาบุศย์” ที่ใช้กันจนถึงปัจจุบัน 

การที่ประชาชนนิยมเรียกอีกนามหนึ่งว่า “วัดแม่นากพระโขนง” เกิดมาจากตำนานที่มีชื่อเสียงของแม่นากพระโขนง ซึ่งเชื่อกันว่าตายทั้งกลมและศพถูกฝังไว้ในวัดนี้ และได้หลอกหลอนชาวบ้านจนเป็นที่เลื่องลือจนมีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายสิบครั้ง 

ภายในวัดเป็นที่ตั้งของเรือนไม้ทรงไทยหลังเล็ก ปลูกอยู่ใต้ต้นตะเคียน ส่วนรูปปั้นแม่นากนั้นเป็นรูปปั้นหญิงนั่งพับเพียบอยู่บนเรือน ต่อมามีประชาชนเลื่อมใสนำเครื่องเซ่นไหว้มาบูชามากขึ้น จนถึงพ.ศ.2526 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทางวัดจึงได้สร้างศาลหรือเรือนแม่นากพระโขนงขึ้นมาใหม่ ในสถานใกล้เคียงกับหลังเก่า โดยสร้างเป็นอาคารคอนกรีตทรงไทยประยุกต์ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา พร้อมทั้งสร้างรูปปั้นแม่นากเป็นปูนปั้นใหญ่กว่ารูปปั้นเก่า

อีกวัดหนึ่งที่มีความเป็นมาน่าสนใจคือวัดขจรศิริ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานแถบนี้ ประชาชนจึงเรียกกันว่า “วัดขอม” โดยเรื่องของผู้สร้างวัดนั้น สันนิษฐานจากคำบอกเล่าของคนสมัยก่อน จากอักษรขอมที่จารึกอยู่ในใบลานและบนเพดานพระอุโบสถประกอบกับในปี พ.ศ. 2413 มีการขุดพบยอดเจดีย์ทรงพระปรางค์ทำด้วยไม้แบบเดียวกับปรางค์สามยอดที่ลพบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.2483 ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น“วัดขจรศิริ” เช่นในปัจจุบันวัดนี้ตั้งอยู่ริมคลองซึ่งมีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม จึงเป็นที่ซึ่งประชาชนนิยมให้อาหารปลากันเป็นประจำ

ภายในพิพิธภัณฑ์ของเขตนี้มีสิ่งของที่น่าสนใจคือตู้เก็บพระไตรปิฎกใบลานของวัดใต้ที่นำมาจัดแสดง เราจะเห็นรูปแบบของตัวหนังสือและรูปเล่มของเอกสารโบราณทางพุทธศาสนา ส่วนตู้เก็บนั้นเป็นตู้ไม้แกะสลักลวดลายสวยงาม 

อีกด้านหนึ่งเป็นสินค้าของชุมชนของชาวเขตสวนหลวง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ด้านหัตถกรรมการประดิษฐ์ดอกไม้จากวัสดุแปรรูป ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่นำมาทำเป็นโลชั่น สบู่เหลว แชมพูและยาสมานแผลต่างๆ 

สิ่งของที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตชุมชนเป็นพวกอุปกรณ์จับปลา ถ้าใครสนใจเรือที่เคยใช้ในอดีต ในนี้มีภาพเรือที่เคยเป็นพาหนะสำหรับสัญจรทางน้ำเช่น เรือมาด เรือแจว เรืออีแปะ เรือหมู เรือพายม้า เรือม่วง เรือสำปั้น เรือบด หรือเรือป๊าบ

ในด้านชุมชนเขตสวนหลวงมีชมรมอนุรักษ์สืบสานยุทธศิลป์ บ้านภูวศักดิ์ โดยความร่วมมือของเขตสวนหลวงร่วมกับชุมชนพัฒนาริมคลองบ้านป่า เปิดสอนมวยไทยโบราณ (มวยไชยา) กระบี่กระบองแก่เยาวชนผู้สนใจ เพื่ออนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้มิให้สูญหาย สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและเสริมสร้างสุขภาพพลานามัย 

นอกจากนี้บริเวณชุมชนร่วมพัฒนาบ้านป่า (ซอยสะและหมัด) มีการทำกลองรำมะนา เครื่องดนตรีของชาวมุสลิมโดยอาจารย์นักชาย จิเมฆ เป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญา

เกี่ยวกับงานประเพณี คุณอภินันท์บอกว่าเป็นพวกงานวัด งานบุญมหาชาติ งานถวายสลากภัตทุเรียนและผลไม้ งานประเพณีแข่งเรือ ถ้าใครอยากเห็นเรือเก่าที่เคยใช้กันสมัยก่อนยังมีเก็บไว้ตามวัดต่างๆ 

ในการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวงเป็นหนึ่งในหลายเขตที่ย้ำให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งคนกรุงเทพฯ มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ ถึงแม้ทุกวันนี้วิถีชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไป แต่แม่น้ำลำคลองสายเดิมยังคงอยู่เหมือนเช่นดังอดีต

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม 9 กรกฎาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-