ศูนย์วัฒนธรรมผีขนน้ำ โรงเรียนบ้านนาซ่าว


งานประเพณีผีขนน้ำเป็นงานบุญเดือนหก จัดขึ้นหลังวันวิสาขบูชา ช่วงวันแรม1-3 ค่ำ ถือเป็นงานประจำปีของชาวบ้านตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย จัดขึ้นมาเพื่อเป็นการขอฝนในวิถีชีวิตเกษตรกรรมที่สืบทอดกันมากว่า 300 ปี  กล่าวกันว่าชาวบ้านนาซ่าว แต่เดิมเป็นคนไทยพวน อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จุดศูนย์รวมอยู่ที่ “เจ้าปู่” ที่พำนักในศาลเจ้าปู่นาซ่าว บริเวณปากทางหมู่บ้าน ในพิธีกรรมจะมีการเชิญวิญญาณเจ้าปู่มาเข้าร่างทรง เพื่อมาสื่อสารกับผีขนน้ำ ชาวบ้านจะแต่งกายเป็นวิญญาณของวัวควาย ที่คอยติดตามผู้คนไปตักน้ำหาฟืน จุดเด่นของผีขนน้ำอยู่ที่หน้ากากไม้ มีการเขียนลวดลายสวยงาม ส่วนศูนย์วัฒนธรรมผีขนน้ำ โรงเรียนบ้านนาซ่าว จัดแสดงวัฒนธรรมประเพณีสำคัญของชุมชนคือผีขนน้ำ มีตัวอย่างหน้ากาก และบอกเล่ารายละเอียดสำคัญของประเพณี

ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านนาซ่าว เลขที่ 327 หมู่ 7 บ้านนาซ่าว ถ.เลย-เชียงคาน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย 42110
โทรศัพท์:
042-855132
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
nasao@loei1.go.th
ของเด่น:
หน้ากากผีขนน้ำ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ประเพณีผีขนน้ำ

งานประเพณีผีขนน้ำ เป็นงานบุญเดือนหก จัดขึ้นหลังวันวิสาขบูชา ช่วงวันแรม1-3 ค่ำ ถือเป็นงานประจำปีของชาวบ้านตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย จัดขึ้นมาเพื่อเป็นการขอฝนในวิถีชีวิตเกษตรกรรมที่สืบทอดกันมากว่า 300 ปี  กล่าวกันว่าชาวบ้านนาซ่าว แต่เดิมเป็นคนไทยพวน อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มาตั้งหลักแหล่งทำเกษตรกรรมที่ นาซำหว้า แล้วขยายชุมชนมาที่บ้านสองโนน  แก่นของความเชื่อของประเพณีท้องถิ่นที่นี่คือการนับถือผี  โดยมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่ “เจ้าปู่” ที่พำนักในศาลเจ้าปู่นาซ่าว บริเวณปากทางหมู่บ้านใกล้กับวัดโพธิ์ศรี ในพิธีกรรมจะมีการเชิญวิญญาณเจ้าปู่มาเข้าร่างทรง เพื่อมาสื่อสารกับผีขนน้ำ ซึ่งก็คือชาวบ้านที่แต่งกายเป็นวิญญาณของวัวควาย ที่คอยติดตามผู้คนไปตักน้ำหาฟืนในขณะที่เดินผ่านห้วยหนองคลองบึง  พิธีนี้อีกนัยหนึ่งก็คือการรำลึกถึงบุญคุณวัวควายที่เป็นแรงงานช่วยทำนา

 จุดเด่นของผีขนน้ำอยู่ที่หน้ากากไม้  ไม้ที่ใช้คือไม้เนื้ออ่อนได้แก่ไม้ต้นนุ่น(ต้นงิ้ว)และไม้พญาสัตบรรณ(ต้นตีนเป็ด) มีการเขียนลวดลายสวยงาม ลายโบราณมีชื่อเรียกว่าลายบัวเครือและลายผักแว่น หน้ากากมีการวาดให้หน้าคล้ายวัวควาย ตาโต จมูกโต ฟันใหญ่ ปากมีรอยยิ้ม มีการนำหวายมาตรึงกับหน้ากากให้โค้งเหมือนเขาควาย ใช้กระดาษสีตัดเป็นริ้วประดับ ผมจะทำมาจากกาบกล้วยนำมาผึ่งแดดให้แห้งแล้วถักเป็นเปียให้ดูผมยาว  การแต่งเป็นผีขนน้ำไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อห้าม สามารถแต่งเป็นผีขนน้ำได้ทุกเพศทุกวัย  ผีขนน้ำยังเรียกอีกชื่อว่า แมงหน้างาม

จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่กำลังแต่งกายเพื่อเข้าร่วมพิธี เขาบอกว่าแทบทุกบ้านจะมีหน้ากากไม้อยู่แล้ว ใช้ซ้ำได้ทุกปี ถ้าจะทำใหม่มีคนรับจ้างทำ ราคาประมาณ 500 บาท ถ้าหน้ากากอันไหนผ่านพิธีมาแล้วขายอันละ 1,000 บาท ส่วนเสื้อผ้าใช้เศษผ้าสีต่างๆตัดเป็นริ้วๆให้เป็นเหมือนขนสัตว์  โดยเรื่องเล่ามีอยู่ว่าวิญญาณวัวควายที่ติดตามชาวบ้านเข้าหมู่บ้านมา ได้ทิ้งร่องรอยไว้เป็นขนสัตว์กับเสียงกระดึงที่ไม่สามารถมองเห็นตัว สมัยก่อนจึงเรียกกันว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย” พอเป็นการละเล่นก็เรียกว่า การละเล่นผีขน  หลังจากการละเล่นนี้ ฝนมักจะตกทุกครั้ง จึงเป็นที่มาของคำว่า “ผีขนน้ำ”

งานประเพณีผีขนน้ำเริ่มขึ้นในตอนเช้า  เริ่มจากการเชิญร่างทรงเจ้าปู่จากศาล  แล้วพามาที่ลานกีฬาสถานที่จัดงานของอบต.นาซ่าว  ผู้ประกอบพิธีกรรม ชาวบ้านเรียกว่า จ้ำ เจ้าปู่ในที่นี้คือเจ้าปู่จิรมาณพและเจ้าปู่ผ่านพิภพ ผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ทั้งสองคือ บัวนางหรือเจ้าแม่นางเทียม   สมัยก่อนมีความแตกต่าง โดยก่อนวันงาน จ้ำจะไปบอกชาวบ้านทุกหลังคาเรือน มีการทำพิธีเลี้ยงผีบ้าน มีการบวงสรวงสัตว์โดยนำไปผูกหลักเลี้ยงให้สัตว์ตายเอง แล้วอัญเชิญผีเจ้าปู่และผีบรรพบุรุษให้ลงมากินเครื่องเซ่น ปัจจุบันไม่มีการบวงสรวงด้วยสัตว์แล้ว เครื่องเซ่นเป็นข้าวปลาอาหารตามปกติทั่วไป

จำนวนคนแต่งกายเป็นผีขนน้ำมีหลายร้อยคน ทั้งหน้ากากและชุดสีสันสดใสดูละลานตา  ทุกคนพากันยืนแถวรอกันอย่างเป็นระเบียบ  ใกล้กันมีรถขบวน มีเทพีประจำขบวนนั่งอยู่บนรถ รถสวยงามตกแต่งด้วยผลิตผลการเกษตร  เครื่องจักสานหัตถกรรมพื้นบ้าน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  รถนำขบวนคันที่แต่งเป็นหน้ากากขนาดใหญ่  มีความโดดเด่นสะดุดตามาก

เมื่อร่างทรงเจ้าปู่เดินเข้ามายังลานพิธี  บรรดาผีขนน้ำได้นั่งลง พิธีกรของงานนำเครื่องบูชาไปรับด้วยความนอบน้อม จากนั้นผีขนน้ำจำนวนหนึ่งพากันมาห้อมล้อมเจ้าปู่  พร้อมกับเต้นไปรอบๆด้วยความครึกครื้นตามเสียงเพลงจังหวะสนุกสนาน  ร่างทรงของเจ้าปู่มีสีหน้ายินดีปรีดา สักพักหนึ่ง พิธีกรของงานได้เชิญร่างทรงเจ้าปู่ขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ด้านบนเวที  โดยมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เข้าไปหาร่างทรงเจ้าปู่ มีการจุดเทียนให้ร่างทรงทำพิธีให้ เพื่อเป็นสิริมงคลและให้ได้ตามคำขอ

จากนั้นเป็นพิธีการบนเวที มีบุคคลสำคัญของหน่วยงานต่างๆที่ได้ให้การสนับสนุน ขึ้นมากล่าวเปิดงาน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายกอบต.นาซ่าว และยังมีกรมการข้าว จังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชมกุฏราชวิทยาลัยและททท.จังหวัดเลย ให้การสนับสนุน คุณสิทธิศักดิ์ สารสี นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ อบต.นาซ่าว ได้บอกว่าปีนี้การจัดขบวนแห่มีความแตกต่างจากปีก่อนๆ  มีการจัดรูปแบบงานชัดเจนมากขึ้น มีการแบ่งขบวนของ 15 หมู่บ้านออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีป้ายนำขบวน มีนางรำแต่งชุดรำสวยงามมาร่ายรำ

จากนั้นมีการเต้นโชว์ของผีขนน้ำของแต่ละขบวน  มีคณะกรรมการตัดสิน อาจารย์จินตนา นนทการ จากโรงเรียนบ้านใหม่  หนึ่งในคณะกรรมการ ได้จับตามองขบวนแห่พร้อมกับมีตารางการให้คะแนนอยู่ในมือ เกณฑ์การตัดสินได้แก่ การจัดขบวน(การตกแต่งรถขบวนด้วยผลิตผลการเกษตร นางรำ เทพี) ขบวนผีขนน้ำ( ท่าเต้น 7 ท่า) ความสวยงามของหน้ากากผีขนน้ำด้วยลวดลายดั้งเดิมและลักษณะเครื่องแต่งกาย  อาจารย์จินตนาบอกว่าท่าเต้น 7 ท่า เป็นการคิดขึ้นมาใหม่โดยอาจารย์สำเนียง ทาก้อม ข้าราชการครูเกษียน แต่ละท่ามีชื่อดังนี้  ท่าออกเหล่า(การเรียกรวมพวกพ้อง) ท่าครอบเจ้าปู่(การคารวะเจ้าปู่) ท่าเล่นบุญ(ความสนุกสนาน) ท่าขอฟ้าขอฝน(ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล) ท่าแมบน้ำซ่ำตม(การเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน) ท่าตอมแหล่ง(การรวมกลุ่มหลังการละเล่น) ท่าลาเลิก(อำลาเจ้าปู่)  

ในขบวนแห่ผีขนน้ำ ยังมีผีขนน้ำกลุ่มที่มีเครื่องดนตรีนำมาเคาะบรรเลงเป็นสีสัน เพิ่มความสนุกสนาน มีกลอง กะลอ  แคน พิณ   แล้วยังมีการนำกระดิ่งมามัดข้างลำตัวให้เกิดเสียง  นอกจากนี้เรายังได้เห็นอารมณ์ขันของชาวบ้านบางคน โดยหน้ากากผีขนน้ำจะมีไม้มามัดเป็นลูกระนาด ไว้ยึดถ่วงน้ำหนักกับหน้ากากไม่ให้หลุดและปิดหน้า  ซึ่งไม้นี้จะห้อยอยู่ที่หลัง มีข้อความที่ทำให้คนอ่านอมยิ้ม เป็นต้นว่า ผีขนน้ำจ้า ดินแดนแห่งตำนาน ทั้งใหญ่ทั้งยาว แจ๋วจริงจัง แอบรักผัวเขา สาวลูกสอง

กิจกรรมที่จัดที่ลานกีฬาของอบต.นาซ่าว ใช้ระยะเวลาประมาณสามชั่วโมง จากนั้นเป็นการเคลื่อนขบวนผีขนน้ำเข้าหมู่บ้านแล้วไปยังวัดโพธิ์ศรี  ระยะทางประมาณ 800 เมตร บรรยากาศในถนนเส้นเล็กในหมู่บ้านมีความครึกครื้น จุดที่มีคณะกรรมการให้คะแนนจะมีชาวบ้านไปรวมตัวกันรอดูการเต้นของผีขนน้ำกันมากเป็นพิเศษ  บางจุดมีช่างภาพไปนั่งบนเรือนชานเพื่อดักรอจับภาพสวยๆ  ในหมู่บ้านเราได้เห็นรูปแบบของบ้านในวิถีชีวิตเกษตรกรรม บ้านไม้แบบพื้นถิ่นมีกองฟืนเป็นท่อนจัดเรียงไว้ใต้ถุนบ้าน 

ขบวนแห่ผีขนน้ำมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่วัดโพธิ์ศรี เมื่อถึงวัดผีขนน้ำได้เดินวนรอบพระอุโบสถสามรอบเป็นอันจบพิธีแล้วแยกย้ายกันไป  ที่วัดโพธิ์ศรีจัดให้มีโรงทาน การออกร้านขายของ มีงานบุญทอดผ้าป่า ส่วนตอนค่ำมีมหรสพเป็นการแสดงหมอลำบนเวที  


บรรณานุกรม

สำเนียง ทาก้อม(ธนิสร หลักชัย เรียบเรียง).ประเพณีผีขนน้ำบ้านนาซ่าว. (ออนไลน์) แหล่งที่มา http://travel.sanook.com/767374/ (9 กรกฎาคม 2560).

จินตนา นนทการ.(วันที่ 12 พฤษภาคม 2560). สัมภาษณ์. อาจารย์โรงเรียนบ้านใหม่ ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย.

สิทธิศักดิ์ สารสี. (วันที่ 11 พฤษภาคม 2560). สัมภาษณ์. นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ อบต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย.

 

ชื่อผู้แต่ง:
สาวิตรี ตลับแป้น