พิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่


ที่อยู่:
บ้านนาอ้อ ถ.เลย-ท่าลี่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย 42000
โทรศัพท์:
042-801-188, 042-811-334
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่

หลวงปู่คำดี ปภาโส หรือ พระครูญาณทัสสี เป็นพระเกจิอาจารย์กรรมฐานที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่ง เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เกิดที่บ้านหนองคู ต.นาหว้า อ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2445 เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายพร และนางหมอก นินเขียว ท่านมีพี่น้อง 6 คน เป็นชาย 3 คน และหญิง 3 คน
 
หลวงปู่คำดีอุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี ที่วัดหนองแวง อ.เมืองขอนแก่น สังกัดมหานิกาย ต่อมาได้ญัตติเป็นพระธรรมยุติ แล้วออกธุดงค์กรรมฐานไปตามจังหวัดต่างๆ จน พ.ศ.2498 ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำผาปู่ หลังจากนั้นท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้มาโดยตลอด
 
วัดถ้ำผาปู่ ปัจจุบันตั้งอยู่ ม.9 บ้านนาอ้อ ต.นาอ้อ อ.เมืองเลย จ.เลย บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเขานิมิต เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2475 แต่เมื่อหลวงปู่คำดี ปภาโส ได้นำสานุศิษย์จากจังหวัดขอนแก่นมาจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ก็ได้มีการพัฒนาวัดและสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น ศาลา หอระฆัง กุฏิ นอกจากนี้ยังได้ตั้งวัดถ้ำผาปู่เป็นวัดธรรมยุต
 
พ.ศ.2499 หลวงปู่คำดีได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูญาณทัสสี พระครูชั้นโทฝ่ายวิปัสสนาธุระ และใน พ.ศ.2521 เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอกฝ่ายวิปัสสนาธุระ
 
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2527 พระครูญาณทัสสี (หลวงปู่คำดี ปภาโส) มรณภาพลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลวที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา กรุงเทพฯ สิริอายุ 82 ปี
 
หลังงานพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์สีทน สีลธโน พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์และประชาชนได้ร่วมกันสร้าง “พิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส” ขึ้น ณ วัดถ้ำผาปู่ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2529 และเสร็จสิ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2531 ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 7 ล้านบาท
 
พิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส เป็นอาคารทรงมณฑปจตุรมุขสูง 32 เมตร ยกพื้นสูง ใต้ถุนโล่ง ล้อมรอบอาคารภายนอกด้วยลานประทักษิณที่อยู่ในระดับต่ำกว่า มีบันไดจากพื้นล่างขึ้นสู่ลานประทักษิณที่ด้านทิศตะวันออก ส่วนบันไดจากลานประทักษิณขึ้นสู่ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์มีอยู่ทั้ง 4 ทิศ
 
ผังอาคารเป็นรูปแปดเหลี่ยม ตัวอาคารทั้งภายนอกและภายในปูด้วยหินอ่อนและหินแกรนิตจากประเทศอิตาลี มีประตูทางเข้าสู่อาคาร 4 ด้าน คือด้านทิศตะวันออก ตะวันตก เหนือ และใต้ บานประตูเป็นไม้สลักลวดลายพันธุ์พฤกษา ส่วนอีก 4 ด้านที่ไม่มีประตูทำเป็นหน้าต่างหลอกยื่นออกมาภายนอก ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นยอดแหลม หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบเกล็ดเต่า รูปทรงหลังคาเป็นจั่วซ้อนลดหลั่นกัน 4 ชั้น ชั้นล่างสุดยื่นออกมาจากตัวอาคาร 4 ด้านเหนือช่องประตูทั้ง 4  ทำให้รูปทรงอาคารเป็นทรงจตุรมุข หน้าจั่วทุกด้านไม่มีลวดลาย รอบจั่วมีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ส่วนบนสุดเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม 
 
ภายในพิพิธภัณฑ์ประดิษฐานรูปปั้นพระครูญาณทัสสี (หลวงปู่คำดี ปภาโส) บนฐานบัวหินอ่อนที่ส่วนตะวันตกของอาคาร รูปปั้นหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เบื้องหน้ารูปปั้นมีอัฐิของหลวงปู่อยู่ในพานแก้วครอบกระจกใส พร้อมด้วยเครื่องสักการะต่างๆ ด้านหลังรูปปั้นแขวนภาพถ่ายหลวงปู่คำดีไว้เหนือประตูด้านทิศตะวันตก
 
ผนังอาคารด้านที่ไม่มีประตูหรือด้านที่เป็นหน้าต่างหลอกทั้ง 4 ด้าน มีการเจาะเข้าไปเป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายตู้ ปิดด้วยกระจกใสมีกุญแจล็อก ภายในตู้จัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร ของใช้ต่างๆ เส้นผม อัฐิ และประวัติโดยย่อของหลวงปู่คำดี รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ แต่ละตู้มีไฟส่องสว่างและป้ายแสดงข้อมูลเบื้องต้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
ตู้จัดแสดงที่ 1 หรือตู้ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ จัดแสดงประวัติโดยย่อ เส้นผม อัฐิที่กลายเป็นพระธาตุ และพัดยศประกอบสมณศักดิ์ของหลวงปู่คำดี หรือพระครูญาณทัสสี พระครูชั้นเอกฝ่ายวิปัสสนาธุระ
 
ตู้จัดแสดงที่ 2 หรือตู้ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จัดแสดงผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ และผ้าอื่นๆของหลวงปู่คำดี
 
ตู้จัดแสดงที่ 3 หรือตู้ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จัดแสดงเครื่องอัฐบริขารสำหรับการออกธุดงค์ของหลวงปู่คำดี พร้อมทั้งพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุที่เชื่อว่าเป็นของพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก เช่น พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร องคุลีมาล พระควัมปติ พระกัจจายะ พระพิมพาเถรี พระโชติยะ พระอนุรุทธ พระสีวลี
 
ตู้จัดแสดงที่ 4 หรือตู้ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ จัดแสดงเครื่องบริขารและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่คำดี เช่น กระติกน้ำร้อน กระเป๋า ช้อม ส้อม เข็ม ด้าย ปากกา แว่นตา ไฟฉาย รองเท้า ไม้เท้า กรรไกรตัดเล็บ
 
นอกจากพิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส แล้ว อนุสรณ์สถานที่ระลึกถึงหลวงปู่คำดีภายในวัดถ้ำผาปู่ยังมีเจดีย์หลวงปู่คำดี ปภาโส ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าวัด สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2536 สำหรับเป็นอนุสรณ์สถานครั้งพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี สร้างเสร็จใน พ.ศ.2537 ตัวเจดีย์สร้างด้วยหินอ่อน ภายในจัดแสดงอัฐบริขารและรูปเหมือนหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่คำดี ปภาโส
 
สภาพภายในวัดถ้ำผาปู่เงียบสงบ เป็นสำนักวิปัสสนาและเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนสงบจิตใจที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะสายปฏิบัติวิปัสสนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ฝูงค่างแว่น ถ้ำต่างๆบนเขานิมิต บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำผาปู่ รอยพระพุทธบาทจำลอง ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เพิงผาบริเวณปากถ้ำพระ
 
พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าสักการะเยี่ยมชมถ้ำผาปู่และวัดถ้ำผาปู่ได้ทุกวัน หากต้องการเข้าชมพิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนผู้สนใจเยี่ยมชมถ้ำพระ พระพุทธบาทจำลอง และภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องติดต่อกับทางวัดก่อน เนื่องจากไม่เปิดให้ขึ้นโดยพลการ สามารถโทรศัพท์ติดต่อกับทางวัดได้ที่หมายเลข 042-801-188, 042-811-334
 
หมายเหตุ สามารถสืบค้นข้อมูลภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์และรายละเอียดอื่นๆของแหล่งโบราณคดีวัดถ้ำผาปู่เพิ่มเติมได้ที่ http://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/วัดถ้ำผาปู่
 
สรุปจากบทความ “พิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส” วัดถ้ำผาปู่ จ.เลยฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย โดย คุณทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
 
คลิกดูบทความ ““พิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส” วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย” ฉบับเต็ม
ชื่อผู้แต่ง:
-