ที่อยู่:
สถาบันอาหาร เลขที่ 2008 ซอยอรุณอัมรินทร์ 36 ถ.อรุณอัมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700
วันและเวลาทำการ:
เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
่jaruwan@nfi.or.th
ของเด่น:
นวัตกรรมอาหารไทย
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
อาคารของศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเชิงสะพานพระราม 8 เป็นอาคารสูงสองชั้น ชั้นล่างเป็นส่วนประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเบื้องต้น มุมขายหนังสือที่พิมพ์โดยสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งหลายเล่มน่าสนใจและไม่ได้มีวางจำหน่ายทั่วไป มีเนื้อหาทั้งในด้านวัฒนธรรม โภชนาการ และวิทยาศาสตร์การอาหาร เช่น อาหารไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน รสมือไทย รู้จักผู้บริโภคมุสลิม Thailand Halal Directory ตลาดอาหารแปรรูป เช่น มุมขายของที่ระลึก ส่วนนิทรรศการทั้งหมดอยู่บนชั้นที่สอง โดยแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ
โซนแรก “สุวรรณภูมิดินแดนอุดมสมบูรณ์”เป็นนิทรรศการเริ่มต้นโหมโรงให้ผู้ชมทำความรู้จักข้าว อาหารหลักและพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยที่ส่งออกมากกว่า 10 ล้านตันต่อปี โดยนำเสนอขั้นตอนการปลูกข้าว ประเพณีเกี่ยวกับการนำทนา เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา เครื่องแต่งกายของชาวนา รวมไปถึงโครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินเพื่อทำการเกษตร อันได้แก่โครงการแกล้งดินที่แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจากกำมะถันในพื้นที่ภาคใต้โดยการ “แกล้งดิน” คือทำให้ดินเปียกและแห้งจนดินเปรี้ยว แล้วปรับสภาพด้วยปูนขาวและเพิ่มธาตุอาหารในดินและควบคุมน้ำใต้ดิน โครงการหญ้าแฝกที่แก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมและการพังทลายจากการกัดเซาะจากฝนและน้ำ และโครงการชั่งหัวมันในพื้นที่ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่มีสภาพแห้งแล้งจากการเพาะปลูกพืชยูคาลิปตัสโดยมีการจัดการเรื่องน้ำและปลูกพืชสวนครัว ผลไม้ และทำปศุสัตว์ โดยนำเสนอในรูปแบบโมเดลและจอทัชสกรีนให้ความรู้
จากนั้นเป็นส่วนจัดแสดง “อาเซียน ศูนย์กลางอาหารโลก” โดยให้ข้อมูลการค้า สินค้าส่งออก และอุตสาหกรรมด้านอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยทำแป็นอินโฟกราฟฟิกเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ในเวลาอันจำกัด
ต่อมาเป็นพื้นที่นำเสนอ “พระอัจฉริยภาพแห่งความอร่อย” โดยนำอีบุ๊ก “ครัวสระปทุม” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ มาขึ้นจอโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ ผู้ชมสามารถคลิกอ่านเพื่อดูรายละเอียดได้
โซนที่สอง “ครบเครื่องครัวไทย”จำลองบรรยกาศห้องครัวแบบร่วมสมัย เพื่อให้ความรู้เรื่องการถนอมอาหาร เคล็ดลับการทำอาหาร ตัวอย่างสมุนไพรไทย วิธีการถนอมอาหารรูปแบบต่างๆ การกินอาหารตามธาตุ รวมถึงจอทัชสกรีนเกมส์ “cooking game” ให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบ วิธีการทำ เคล็ดลับ และสรรพคุณของเมนูไทยต่างๆ มุมต่อมาเป็นนิทรรศการเรื่อง “ห่อ มัด กลัด ร้อย” อธิบายภูมิปัญญาไทยในการประดิษฐ์หีบห่ออาหารที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
โซนที่สาม “นวัตกรรมอาหารไทยสู่ครัวโลก” นำเสนอข้อมูลสถิติการส่งออกอาหาร และสินค้านนวัตกรรมอาหารไทยที่โดดเด่น อาทิ กล้วยอบสวนผึ้งเสียบไม้ไอติมอร่อยไม่เลอะมือ ข้าวต้มมัดแกงเขียวหวานที่เป็นนวัตกรรมที่สามารถเก็บไว้ได้ยาว แยมลูกหยีที่มีวิตามินสูง เครื่องดื่มตรีผลาปรับสมดุลช่วยระบบทางเดินอาหาร เค้กทองหยอดอายุยาวทำจากแป้งมันฝรั่งลดปริมาณกลูเตน นมเปรี้ยวกรอบขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็กอุดมโปรตีนและแคลเซี่ยม มะพร้าวเผาพร้อมทานเปิดง่ายด้วยปลายนิ้ว ผักเทมปุระอบกรอบ ข้าวตังหน้าต้มยำ เครื่องดื่มทุเรียนพร้อมชงดื่ม เป็นต้น โดยตัวอย่างสินค้านวัตกรรมหลายสิบชนิดดังกล่าวจัดแสดงเรียงรายตามผนังทั้งสองด้านของห้องที่เป็นพื้นที่โล่ง สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่จัดแสดงส่วนนี้เป็นห้องประชุมได้ นับว่าเป็นนวัตกรรมการใช้พื้นที่ที่พยายามทำให้เกิดประโยชน์ใช้สอยให้สูงสุดกันเลยทีเดียว ซึ่งเปิดให้บุคคลภายนอกที่สนใจสามารถเช่าสถานที่ในการจัดประชุมหรืองานเลี้ยงต่างๆ ได้
ว่าที่จริงอาหารไทยเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ไม่รู้จบ มีข้อมูลที่น่าสนใจมหาศาลในมิติต่างๆ ขึ้นกับว่าใครสนใจอะไร ทั้งมิติวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ ฯลฯ ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย พยายามตอบโจทย์ที่หลากหลายนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เรื่องง่ายๆ อย่างอาหารน่าสนใจ พอๆ กับการพยายามสร้าง “ครัวไทยสู่สู่ครัวโลก” เฉกเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดีใครสนใจเรื่องอาหารขอเชิญเยี่ยมชมหาความรู้ ซึ่งในระหว่างนี้อยู่ในช่วงทดลองเปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ และรับฟังคำติชมเพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป
ผู้เขียน:ปณิตา สระวาสี
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 19 ตุลาคม 2558
หนังสือนำชมศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ด้านอาหารไทยที่มีอยู่อย่างมหาศาล ผนวกกับกระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทย อัตลักษณ์และนวัตกรรมอาหารไทย เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เผยแพร่ข้อมูลด้านอาหารไทย ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการชี้นำทิศทางโอกาส และการสร้างสรรค์ร่วมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายของการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน รวมถึงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ภายในมีการจัดแบ่งพื้นที่แสดงนิทรรศการออกเป็ฯ 3 ส่วนได้แก่
ส่วนที่ 1 สุวรรณภูมิดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ (The Golden Land) นำเสนอความอุดมสมบูรณ์ผ่านเรื่องราวของ “ข้าวพันธุ์ไทย” ในฐานะอาหารหลักและสินค้าหลักของประเทศ ทั้งขั้นตอนการทำนาและประเพณีที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชาวนา นอกจากนี้ยังนำโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาจัดแสดง ได้แก่ โครงการหญ้าแฝก โครงการชั่งหัวมัน โครงการแกล้งดิน และโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
ส่วนที่ 2 ครบเครื่องเรื่องครัวไทย (Delight of Thai Taste)นำเสนอนิทรรศการพระอัจฉริยะภาพแห่งความอร่อย ที่แสดงถึงความมีอัจฉริยะภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องการปรุงอาหารที่ทรงคุณค่าในหนังสือครัวสระปทุม นอกจากนี้ยังนำเสนอวัตถุดิบต่างๆ เช่น เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส นำเสนอภูมิปัญญาการถนอมอาหาร มีมุมเกมทำอาหาร เป็นต้น
ส่วนที่ 3 นวัตกรรมอาหารไทยสู่ครัวโลก (The Food of the World)แสดงนวัตกรรมอาหารของไทย และการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการการเดินทางของอาหารไทยไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่สร้างรายได้มหาศาล
ข้อมูลจาก: สูจิบัตรที่ระลึกในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย วันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2558
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
อาหาร อาหารไทย
พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา
จ. กรุงเทพมหานคร
บ้านหมอหวาน
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง
จ. กรุงเทพมหานคร